เปิดบทสัมภาษณ์ “บิลลี่” กับวิถีในแก่งกระจาน “ป่าคือเรา เราคือป่า”

เปิดบทสัมภาษณ์ “บิลลี่” กับวิถีในแก่งกระจาน “ป่าคือเรา เราคือป่า”

หมายเหตุ ; งานเขียนชิ้นนี้  เป็นต้นฉบับงานสารคดีที่ นศ.มหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้สัมภาษณ์บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ  และผู้เกี่ยวข้องหลายคนกรณีวิถีกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ลูกศิลป์”    
 

ป่าคือเรา เราคือป่า”

วิถีกะเหรี่ยงแห่งป่าใหญ่แก่งกระจาน

 

                                                                                                   เรื่อง: อรปวีณ์  วงศ์วชิรา  ผุสดี อินต๊ะชมภู 

                ความจริงกลางผืนป่า

                ย้อนไปเมื่อกลางปีพ.ศ.2554 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีปรากฎเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ หลังเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ทหารตกติดต่อกันถึง 3 ลำ คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนรวม 17 ราย

                โศกนาฎกรรมดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั้งประเทศ และมีพลังมากพอจนกลบข้อเท็จจริงที่ว่าเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่ตกมารับเจ้าหน้าที่ที่เสร็จสิ้นจากปฏิบัติการผลักดันชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ป่าเเก่งกระจานตาม“ยุทธการตะนาวศรี”ด้วยการเผาบ้านจำนวน 21 หลังคาเรือน รวมทั้งยุ้งฉางเก็บข้าว

                หลังความเศร้าโศกของสังคมจางหายไป เรื่องราวของชาวไทยกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ปรากฏเป็นข่าวขึ้นอีกครั้งในฐานะ “เหยื่อ” ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์

                ขณะที่นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้สัมภาษณ์ว่า คนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “กะหร่าง”มาจากประเทศพม่า ไม่ใช่คนไทย นอกจากบุกรุกพื้นที่อุทยานฯแล้ว ยังครอบครองอาวุธสงคราม ถางทำลายป่า เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชเสพติดกัญชา เป็นผู้ค้ายาเสพติด สนับสนุนชาวพม่าในการลักลอบเข้าประเทศ เเละสนับสนุนกองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธ(KNU)

                มาตรการที่รัฐใช้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความเป็นพลเมือง ตลอดจนสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาพึงมีพึงได้รับ

 

                “บรรพบุรุษเราอยู่มากว่า 100 ปี”

“บิลลี่” พอละจี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเเม่เพรียง ชาวไทยกะเหรี่ยงหมู่บ้านบางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีเปิดเผยว่า หลังจากเกิดเรื่องขึ้น ชาวบ้านที่ถูกเผาบ้านได้ลงมาขออยู่อาศัยกับญาติพี่น้องที่หมู่บ้านบางกลอยล่างและได้รวบรวมคำบอกเล่าหลักฐานต่างๆเพื่อพิสูจน์ว่าบรรพบุรุษของพวกตนได้อาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจานและต้นน้ำเพชรบุรีมานานนับร้อยกว่าปีแล้ว

                “เราเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่บ้านใจเเผ่นดินก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานในปีพ.ศ.2524 โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน เช่น เหรียญชาวเขาที่รัฐทำขึ้นในระหว่างปีพ.ศ.2506 เพื่อแจกชาวเขาทั่วประเทศไว้แสดงตนว่าเป็นพลเมืองไทย และทะเบียนราษฎรชาวเขาที่ยืนยันความเป็นคนดั้งเดิมของที่นี่ ฉะนั้นเราไม่ได้เป็นผู้บุกรุกป่า ไม่ได้ทำอะไรผิด” บิลลี่ยืนยัน

                ข้อมูลของบิลลี่สอดคล้องกับเอกสารของมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่ารายงานการสำรวจเขตแดนระหว่างรัฐบาลสยามกับอังกฤษในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ. 2407 เพื่อปักปันเขตแดนไทย-อังกฤษก็ระบุว่ามีชาวกะเหรี่ยงและละว้าอยู่ตามชายแดนต้นน้ำตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

                ร้อยปีต่อมา หลังจากเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2509 ชุมชนกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีจมอยู่ใต้ผืนน้ำ บวกกับเหตุการณ์ที่รัฐดำเนินการกดดันปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯและแนวร่วมอย่างหนักระหว่างปีพ.ศ.2508-2514พวกเขาจึงอพยพโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตป่าดงดิบเข้าไปถึงต้นน้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประโดน ห้วยแม่เพรียง แม่น้ำบางกลอยโป่งลึก บ้านใจแผ่นดิน ก่อนที่อุทยานฯจะเริ่มผลักดันให้ออกจากผืนป่าในปี 2539 จนถึงปัจจุบัน

               

                เปิดแผนผลักดันและอพยพชาวกะเหรี่ยง

                บิลลี่เล่าย้อนถึงการผลักดันพวกเขาออกจากพื้นที่ป่าว่า อุทยานฯเริ่มจากการเตือนชาวบ้านก่อนว่าอยู่ไม่ได้ เพราะบุกรุกป่า เเต่ชาวบ้านเห็นว่าพวกตนไม่ได้บุกรุก เพราะบรรพบุรุษอาศัยอยู่มานานจนถึงรุ่นลูกหลาน จึงอยู่ต่อไป ทำให้ถูกยึดเครื่องมือทำไร่ ถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกป่า คนที่ถูกจับก็มักปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ถึงที่สุด เพราะอย่างไรก็ต่อสู้ไม่ได้เเละไม่มีเงินประกันตัว

                “มีการผลักดันให้อพยพลงมาหลายครั้ง ครั้งใหญ่คือเมื่อปีพ.ศ.2539 ที่เกินครึ่งหนึ่งของพี่น้องชาวไทยกะเหรี่ยงเลือกที่จะอพยพลงมาอยู่บ้านบางกลอยล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุทยานจัดสรรให้ แต่เมื่อลงมาอยู่ข้างล่าง ก็ไม่มีอาหารประทังชีวิต ไม่เคยชินกับพื้นที่ทำให้ทำมาหากินไม่ได้ บางคนอุทยานฯก็ไม่ได้เตรียมพื้นที่ให้ หรือพื้นที่มีจำกัด ต้องเเบ่งกับคนที่มาอยู่เดิม จึงอพยพกลับขึ้นไปในป่าข้างบนอีก ยิ่งมีการเผาบ้านเเละเผายุ้งข้าว ก็ทำให้ชาวบ้านหนีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บางกลอยบน เขาเลือกที่จะอยู่ในป่าเพราะเป็นที่ดั้งเดิมของเขา”

                บิลลี่เห็นว่าการผลักดันของอุทยานเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากพื้นที่บางกลอยล่างในขณะนี้มีชาวไทยกะเหรี่ยงอาศัยกันอยู่แน่นขนัด จึงควรให้ชาวไทยกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนอาศัยอยู่ในป่าต่อไปได้ เเต่ต้องมีมาตรการเเละกฎกติกาที่ทำให้เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าพวกตนไม่ได้ทำลายป่า  ซึ่งควรเป็นการพูดคุยตกลงกันมากกว่าการผลักดัน

” ถึงเเม้บางคนจะไม่มีเหรียญ หรือทะเบียนราษฎร์ เเต่สามารถยืนยันความเป็นคนดั้งเดิมได้ด้วยการที่เห็นกัน รู้จักกันมายาวนานหลายรุ่น การที่พวกเราส่วนใหญ่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์เกิดจากวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่เเต่ในป่า ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าการมีอาหารไว้เลี้ยงชีพเเละที่อยู่ทำกิน ผมคิดว่าเรามีหลักฐาน และต้องต่อสู้เพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อไม่ต้องหนีไปมา จึงอยากให้มีการเจรจากันระหว่างชาวบ้านเเละเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อยากให้มีองค์กรเข้ามาช่วยเหลือเป็นผู้ประสาน ที่ผ่านมาเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านทำได้เพียงเเค่หลบเเละวิ่งหนีด้วยความกลัว เราไม่เคยหารือระหว่างชาวบ้านด้วยกันเพื่อหาทางออก ไม่เคยต่อรอง ยอมจำนนมาตลอด”

                ทางด้านประพันธ์ จิตต์เทศ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจอุทยานเเห่งชาติเเก่งกระจานเปิดเผยว่า ปัจจุบันอุทยานฯมีแผนดำเนินการผลักดันและอพยพชาวไทยกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างจริงจังในปีพ.ศ.2552 และพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณต้นน้ำถูกบุกรุกอย่างหนัก

                “มีผู้บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยเยอะมากมองจากเฮลิคอปเตอร์ลงไปจะเห็นบริเวณทำไร่ชัดว่ามีรูปร่างคล้ายเเอ่งไข่ดาว โดยเฉพาะปีพ.ศ.2552 – 2553  ในปีพ.ศ.2555 จึงกวดขันเข้าไปดูเเลมากยิ่งขึ้น จนเหลือน้อยลงประมาณเเค่ 5 – 6 จุด โดยใช้การบินในการสำรวจพื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็เจอเเต่ที่รกร้างไปเเล้ว”

                เจ้าหน้าที่อุทยานฯกล่าวต่อไปว่า เมื่อพบผู้บุกรุกจะใช้การเจรจาหลายครั้ง กระทั่งเห็นว่าพวกเขาไม่ออกจากป่าเเน่ จึงตัดสินใจเผาเพิงพักและสิ่งปลูกสร้าง

                “เรามีสิทธิเผาเพราะเป็นพื้นที่ในเขตของเรา ตอนที่เผาก็ได้อพยพข้าวของเเละตัวพวกเขาออกมา เเละขนของลงมาให้ข้างล่าง ซึ่งถ้าปล่อยให้พวกเขาบุกรุกไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต่อป่าต้นน้ำ ผิดกฎของอุทยาน ในแต่ละปี เขาจะทำไร่เลื่อนลอย1 จุด เมื่อครบ 8 ปี ก็จะวนกลับมาทำที่เดิม ซึ่งการทำไร่จุดหนึ่ง จะใช้พื้นที่ประมาณ 5 -10 ไร่ มีหลายจุดเเละห่างกันปัจจุบันคนที่เข้ามาบุกรุกยังลักลอบปลูกกัญชา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องดูเเล”

                ในการผลักดันชาวบ้านที่อยู่อาศัยในป่าให้ออกนอกพื้นที่ป่านั้น ประพันธ์ยอมรับว่า เป็นงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีอุปสรรคเรื่องความเข้าใจทางภาษา

                “คนที่อยู่ในป่า เราเอาพวกเขาลงมาหมด ยกเว้นชาวบ้านที่อยู่โป่งลึก – บางกลอย เพราะพวกเขาอยู่มาก่อนตั้งอุทยานฯ จึงให้ย้ายจากบริเวณใจเเผ่นดินหรือบางกลอยลงมาที่บ้านโป่งลึกและบางกลอยล่าง เเต่บางครั้งเมื่อเอาเขาลงมา เขาก็ขึ้นไปอีก เพราะมีข้าวของ มีไร่อยู่บนนั้น จะเอาเขาออกจากพื้นที่เลยก็ไม่ได้ บางครั้งเราก็ให้ขึ้นไปหาของป่าได้ เเต่ห้ามล่าสัตว์ หรือบุกรุกที่ป่า ซึ่งนโยบายที่จะใช้เเต่ละครั้งนั้น จะปรับไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า”

                หัวหน้าชุดเฉพาะกิจฯยังกล่าวอีกว่า หลังจากนำชาวบ้านบางกลอยบนลงมา อุทยานฯก็ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ทั้งหมด 1,000 ไร่ มีชาวบ้าน 900 – 1,000 คน เเบ่งให้คนละ 1 ไร่ ครอบครัวหนึ่งมี 5 คน อาจเเบ่งเป็นพืชที่ปลูกพืชทำกินเอง 2.5 ไร่ เเละเป็นพื้นที่ทำนาขั้นบันไดอีก 2.5 ไร่ ซึ่งได้ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระสอนวิธีการทำ เเละมีเเผนระยะยาวที่ไม่ให้กลับขึ้นไปข้างบนอีก

                “ นอกจากที่ดินทำกินเเล้ว ยังได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนให้เด็กๆกว่า 400 คนโดยสอนภาษาไทยเป็นภาษากลาง เเละจังหวัดก็ยังเข้ามาช่วยเรื่องชลประทาน การหาเมล็ดข้าว การปลูกพืช ทำนาขั้นบันได พัฒนาเเหล่งน้ำ การสร้างฝาย การอบรมอาสาพิทักษ์ป่า เพื่อให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง เเต่ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นคือ พวกเขายังหากินตามพื้นที่ที่จัดให้ไม่เป็น เพราะอยู่ด้านบน พวกเขาสามารถอยู่กินอย่างสบาย จึงต้องสอนเเละอาศัยเวลาในการปรับพื้นที่เเละปรับตัว”

                                           “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ  ,ปลัดอำเภอวิรุฬ ทองสุทธิ์

 

                เสียงจากบางกลอยล่าง

                “มานะ” หรือเอกสิทธิ์ เจริญสุข ชาวไทยกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่างเล่าว่า ตนตามพ่อแม่ลงมาอยู่บางกลอยล่างตอน8 ขวบ เพราะรัฐผลักดันให้ออกจากป่าในปีพ.ศ.2539 หลังจากอพยพลงมาต้องมาแบ่งบ้านอยู่กับญาติที่ลงมาอยู่ก่อน ยิ่งเมื่อชาวบ้านถูกผลักดันลงมาเรื่อยๆหมู่บ้านก็ยิ่งแออัดขึ้น อยู่กัน 80-90 ครอบครัวในพื้นที่จำกัดที่ได้รับการจัดสรรจากอุทยานฯ

                “วิถีชีวิตข้างบนแตกต่างจากด้านล่าง ตอนอยู่ในป่าพ่อแม่ใช้วิธีปลูกไร่หมุนเวียน เมื่อทำไร่จุดนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ ก็จะทิ้งไว้ให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวแล้วไปทำที่อื่นต่อ จนครบ 8 ปี จึงจะวนกลับมาทำที่ไร่ที่จุดเดิม พืชไม่ได้ปลูกไว้ขาย แต่ปลูกไว้กิน มีข้าว ถั่ว แตง แตงเปรี้ยว พริก ข้าวฟ่าง กระเจี๊ยบ มะเขือ ส่วนใหญ่จะปลูกกัน 30-40 ชนิด หมุนเวียนกัน เพราะไม่ได้ให้ผลพร้อมกัน บางอย่างก็เป็นพืชข้ามปี เช่น มะเขือ พริก บางอย่างให้ผลเสร็จก็ตาย เช่น ถั่วพู พอย้ายลงมาที่บ้านบางกลอยล่างจะทำไร่แบบเดียวกัน ก็ต้องถางที่ในป่าเพิ่ม เพราะเรารู้จักแต่การทำไร่หมุนเวียน ไม่รู้วิธีทำไร่อยู่กับที่เดิมซ้ำๆ แม้เจ้าหน้าที่จะสอนให้ทำนาขั้นบันได แต่หลายคนก็ยังงงๆ ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำอย่างไร บางคนก็ปรับตัวกับวิถีข้างล่างไม่ได้ ก็ขึ้นไปข้างบนอีก ส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่ที่ไม่มีความรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ข้างล่าง”

                นอกจากนี้ การที่พื้นที่ตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่าแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งไหลจากบางกลอยบนลงมาที่หมู่บ้านโป่งลึก จึงต้องสูบน้ำมาใช้ แต่เครื่องสูบน้ำพังบ่อย ชาวบ้านจึงขาดแคลนน้ำ

                “ ตอนนี้ข้าวในนาขั้นบันไดที่เจ้าหน้าที่มาสอนให้ปลูกกำลังตั้งท้อง จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม ถ้าขาดน้ำ ข้าวก็จะเหี่ยว  จึงต้องอาศัยน้ำฝน ถ้าฝนเว้นช่วง 1-2 สัปดาห์ก็พอได้ เเต่ถ้าเกินไปกว่านั้น ข้าวก็อาจถึงตาย”

                เอกสิทธิ์บอกว่า การที่ที่ดินทำกินมีไม่เพียงพอ และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวไทยกะเหรี่ยงจำเป็นต้องซื้ออาหาร เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ต้องลงมาทำงานรับจ้างภายนอก ซึ่งก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ เนื่องจากส่วนใหญ่จะขาดความชำนาญ จึงโดนกดและโกงค่าจ้างอยู่บ่อยๆ

                “เวลาได้ยินคนพูดว่า กะเหรี่ยงทำลายป่าก็ยังงงๆว่า จะตอบเขาอย่างไร เพราะเท่าที่เราเห็นป่าก็ยังเหมือนเดิม”เอกสิทธิ์ ทิ้งท้าย

                เช่นเดียวกับบิลลี่ที่เสริมว่า ตนเกิดมาบรรพบุรุษก็อยู่ในป่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ เเสดงให้เห็นว่าการอยู่อาศัยของพวกตนไม่ได้ทำลายพื้นที่ป่า

                “เราจัดการป่าโดยทำไร่หมุนเวียน ซึ่งมีระยะเวลาให้ป่าฟื้นขึ้นมา สภาพดินก็จะดี เพราะมีใบไม้ทับถมเเละกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนทำไร่ที่รู้ว่าป่าส่วนไหนจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ หรือการทำให้ต้นไม้คลุมหน้าน้ำ ไม่ทับร่องน้ำ เพราะน้ำจะเเห้ง เเละสายน้ำจะไม่ร่มเย็น เพราะเราเชื่อว่าน้ำก็มีเจ้าที่ที่ต้องเคารพเเละดูเเลรักษา การอยู่ในป่าของเราจึงอยู่แบบพึ่งพาและรักษาป่า ถ้าป่าไม่อุดมสมบูรณ์ เราก็อยู่ไม่ได้”

               

            “ไร่หมุนเวียน”ภูมิปัญญาชนเผ่า

                ประเสริฐ ตระการศุภกร ประธานสมาคมศูนย์รวมการศึกษาเเละวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทยอธิบายว่า “ไร่หมุนเวียน”ของชาวกะเหรี่ยงเป็นที่รู้จักในนาม “ไร่เลื่อนลอย” ซึ่งเป็นคำที่นักวิชาการเรียกโดยไม่ได้พิจารณาถึงความรู้ภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังการทำไร่แบบนี้

                “จริงๆแล้วการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการทำไร่ที่ปล่อยให้ที่ดินเพาะปลูกฟื้นตัวเเบบธรรมชาติ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ เเต่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา รัฐมีนโยบายควบคุมการทำลายป่าโดยมองว่าไร่เลื่อนลอยคือสาเหตุหนึ่งที่ทำลายป่า คนทั่วไปจึงมีอคติต่อไร่เลื่อนลอยนำไปสู่ระบบคิดของทางราชการว่าการทำไร่เลื่อนลอยเป็นสิ่งที่ไม่ดี ส่งผลต่อการมีอคติทางชาติพันธุ์”

                อาจารย์ประเสริฐกล่าวต่อไปว่า ไร่หมุนเวียนกับชาวไทยกะเหรี่ยงมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม มีพิธีกรรมที่แฝงจิตวิทยาระหว่างคนกับผืนป่าที่ต้องพึ่งพาเเละดูเเลซึ่งกันเเละกัน และเนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนจะเป็นอาชีพเเรกเเละอาชีพหลักของชาวกะเหรี่ยง คนที่จะทำไร่หมุนเวียนได้นั้น จึงจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ มีความรู้ในการใช้พื้นที่

                “มีการคัดเลือกคนที่จะทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ คนทำจะต้องรู้ว่าไร่ของตัวเองมีอายุเท่าใด มีการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการเลือกพื้นที่ทำไร่ มีการตรวจสอบเมล็ดข้าวในหลุม เเละการตรวจสอบระบบนิเวศว่าจะมีผลกระทบอย่างไรผ่านความเชื่อที่ยึดถือกันมานาน”

                อาจารย์ประเสิรฐบอกว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 300 ล้านคนที่ยังใช้การเพาะปลูกเเบบนี้ และมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับเเละชี้ถึงประโยชน์ของการปลูกพืชวิธีดังกล่าว ในประเทศไทยเองอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง จังหวัดอุทัยธานี เเละทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ก็ยังมีการปลูกพืชเเบบไร่หมุนเวียน เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ เช่น เอื้อต่อการอนุรักษ์ป่า ส่งผลต่อความหลากหลายของของระบบนิเวศ เพราะมีการปล่อยให้พืชฟื้นตัวเเละเเพร่พันธุ์ ฉะนั้น ที่ไหนมีไร่หมุนเวียน ที่นั่นก็จะมีสัตว์ป่าเยอะ และขณะที่ไร่ฟื้นตัวจะสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าป่าใหญ่ ทำให้ลดมลภาวะโลกร้อนได้

                “ต้องยอมรับว่านักป่าไม้ในบ้านเราส่วนใหญ่มีวิธีคิดที่ปฏิเสธไร่หมุนเวียน ซึ่งในความเป็นจริงควรยกระดับวิธีทำไร่แบบนี้ให้ยั่งยืน รัฐต้องศึกษาอย่างจริงจังไม่ใช่นำความรู้สึกมาตัดสิน ซึ่งพิสูจน์ได้จากงานวิจัยของต่างประเทศที่ศึกษาป่าไม้จำนวน 600 แห่งใน 16 ประเทศแล้ว พบว่าชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้ดีกว่ารัฐถึง 4 เท่า โดยที่ใช้ฐานทางวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดการป่าจนเกิดความยั่งยืน”

                คุณค่าของการทำไร่หมุนเวียนยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานระดับชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ไร่หมุนเวียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา

               

                นาขั้นบันได ปฐมบทใหม่แห่งการเรียนรู้

                วิรุฬ ทองสุทธิ์ ปลัดอำเภอแก่งกระจานกล่าวว่า ปัญหาหลักของชาวไทยกะเหรี่ยงหลังถูกผลักดันออกจากป่า คือความเป็นอยู่เเละการทำเกษตร ซึ่งหน่วยงานรัฐกลัวว่าพวกเขาจะเข้าไปบุกรุกป่า เพราะวัฒนธรรมของพวกเขาจะอาศัยอยู่ใกล้เเหล่งน้ำ จึงกลัวว่าจะมีผลต่อต้นน้ำในอนาคต เลยต้องดูเเลให้อยู่ในขอบเขต การดำเนินการต่างๆต้องยึดตามกฎหมายของอุทยาน เเต่ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังไม่ชินกับพื้นที่ที่เขาอยู่ เเละวิถีการเกษตรที่พวกเขาไม่เคยทำ

                “เเนวทางการเเก้ปัญหาจะต้องทำให้พวกเขามีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้ ไม่รบกวนสภาพเเวดล้อม  ซึ่งเดิมทีเขาทำไร่เลื่อนลอย ผลผลิตจะได้น้อย จึงมีโครงการที่ทางราชการเเละมูลนิธิปิดทองหลังพระช่วยกันทำคือ การทำนาขั้นบันได ซึ่งชาวบ้านมีเสียงตอบรับดีกับโครงการนี้ มีฝ่ายสาธารณสุขเข้าไปตรวจเลือดเพื่อหาโรคต่างๆ  เกษตรจังหวัดเข้ามาสอนเรื่องการเพาะปลูก เเละการเลี้ยงสัตว์ เเละพัฒนาชุมชนสอนเรื่องการออมเงิน”

                ณัฐพล จิรสกุลไทย ผู้จัดการเเผนกส่งเสริมเเละพัฒนากิจกรรม มูลนิธิปิดทองหลังพระเล่าว่า กระทรวงมหาดไทยติดต่อให้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงโป่งลึก – บางกลอย จึงได้ช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ให้เงินสนับสนุนในการซื้ออาหารในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้พวกเขาได้ปรับตัว จากเเต่เดิมที่ต้องเข้าป่าเพื่อไปหาอาหาร ส่วนปัญหาการขาดเเคลนน้ำ มูลนิธิเเก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยสูบน้ำขึ้นมาจากเเม่น้ำเพชร เเล้วมากักไว้ในบ่อของหมู่บ้าน

                “จุดประสงค์หลัก คือ ทำอย่างไรให้พวกเขาได้อยู่รอด มีข้าวให้กิน เเต่เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาลาดชัน จึงต้องทำนาเเบบขั้นบันได ซึ่งทำตามเเนวเเผนการพัฒนาเชิงประยุกต์ตามเเนวพระราชดำริของพระราชินี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2555 โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อำเภอเเละจังหวัด เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้ประโยชน์สูงสุด”   

                นาขั้นบันไดจะมีทั้งหมด 300 ไร่ ซึ่งณัฐพลบอกว่า เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจัดสรรโดยพิจารณาจากจำนวนครัวเรือนและกำลังในการทำนา เเต่บางคนก็ไม่มีที่ดินทำกิน เพราะมาทีหลัง ก็ต้องขอเเบ่งจากญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่บ้านเเละชาวบ้าน เพราะทางอุทยานฯไม่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มจากที่กำหนดไว้

                “ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มทำเเนวคันนา เเบ่งเวรกันมาทำ ข้าวที่ปลูกไว้ก็จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้  ภายหลังจากนี้ก็จะดูเเลเรื่องพืชหลังนา หรือการจะปลูกอะไรต่อหลังจากการทำนา”

                ด้านขวัญชีวัน บัวเเดง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยามนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวในเเง่หลักสิทธิมนุษยชนว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนตั้งเเต่เกิดมา ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะคิดเเละทำอะไรต่างๆด้วยตนเอง สิทธิที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง และสิทธิในทรัพย์สิน ฉะนั้นการผลักดันชาวไทยกะเหรี่ยงโดยการเผาบ้าน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพวกเขา ถึงเเม้จะอ้างเรื่องทำลายป่า เเต่ความเป็นจริงนั้นทำไม่ได้

                “การไปย้ายพวกเขาลงมาจากที่ที่เคยอยู่ พยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้  เช่น ให้ทำนาขั้นบันไดเเทนการทำไร่หมุนเวียน โดยที่พวกเขาไม่เต็มใจรับ เป็นการละเมิดสิทธิของเขา รัฐอาจจะอ้างเรื่องเขตอนุรักษ์ว่ารัฐมีสิทธิที่จะจัดการ เเต่โดยทั่วไปแล้วหลักสิทธิมนุษยชนต้องสูงกว่าหลักปฏิบัติทั่วไป และทางออกที่ควรจะเป็นในเรื่องนี้คือการจัดการเเบบมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่เองต้องยอมรับว่าการดูเเลป่าไม้เองนั้นอาจไม่ทั่วถึง ต้องให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน”

 

                การต่อสู้และพิสูจน์ตัวตน

                หลังจากบ้านเรือนและยุ้งข้าวถูกเผา ชาวไทยกะเหรี่ยงจำนวน 6 คน นำโดยปู่โคอี้ มีมิ วัย 103ปีได้ยื่นฟ้องต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำเลยที่ 2 ฐานละเมิดเรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,622,500 บาท และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษเดิม รวมทั้งได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยมีทนายความจากสภาทนายความเป็นผู้ว่าความให้ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

                สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ เเรงงานข้ามชาติ เเละผู้พลัดถิ่น สภาทนายความเปิดเผยว่า คณะทำงานได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่พบว่า ข้อหาที่อุทยานเเห่งชาติกล่าวหาล้วนไม่เป็นความจริง เพราะชาวบ้านเกือบ 80% มีบัตรมีเลข5 ขึ้นต้นบนบัตร ซึ่งเเสดงว่าเป็นไทยมาตั้งเเต่กำเนิด บรรพบุรุษเป็นคนไทย เเละมีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย อาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ค้ายาเสพติด เเละไม่เกี่ยวกับกองกำลังเคเอ็นยู เพราะอยู่ฝั่งไทย ไม่เคยข้ามไปฝั่งพม่า การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว ถือเป็นการใส่ร้ายทางชาติพันธุ์ นำไปสู่การเกลียดชัง

                “การผลักดันพวกเขาไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ถึงเเม้หัวหน้าอุทยานเเห่งชาติจะชี้แจงว่าใช้อำนาจตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานเเห่งชาติ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจัดการพื้นที่ตรงนั้น เเต่ข้อกฎหมายก็ไม่ได้เขียนว่า “เผา”เเต่ใช้คำว่า”รื้อถอน” เเละการใช้อำนาจตามมาตรา 22 จะต้องปฏิบัติตามวิธีพิจารณาทางปกครอง เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตรวจสอบให้ครบว่ามีการกระทำผิดเเน่นอน  เช่น มีการบุกรุก มีการติดป้ายครั้งที่ 1 เเจ้งให้ทราบ มีการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้เเสดงหลักฐานถึงสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัย ถ้ายังไม่มีใครมาเเสดงสิทธิ์ จะต้องมีการเตือนครั้งที่ 2 ถ้าไม่เเสดงอีก จึงนำไปสู่การฟ้องศาล จนกระทั่งศาลมีคำสั่งถึงที่สุดเเล้ว เจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปในพื้นที่เเละดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นป่าดังเดิมได้ อย่างกรณีของอุทยานเเห่งชาติทับลานในการขับไล่รีสอร์ตที่บุกรุกป่า ไม่ใช่มาเผาบ้านเขา”

                นอกจากนี้ สถานะความเป็นพลเมืองไทยยังได้รับการรับรองโดยหน่วยงานในท้องที่ วิรุฬ ทองสุทธิ์ ปลัดอำเภอเเก่งกระจานให้สัมภาษณ์ว่า ทางอำเภอได้นำหลักฐานไปเเสดงต่ออุทยานฯ เช่น ฐานข้อมูลเบื้องต้นของประชากรที่อำเภอเก็บไว้และบัตรเลขศูนย์ ซึ่งในส่วนนี้อุทยานฯอาจจะเชื่อ เเต่ก็เชื่อเเบบไม่สนิทใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดชายเเดน

                “การให้บัตรเลขศูนย์กับชาวไทยกะเหรี่ยงเป็นวิธีป้องกันการลักลอบเข้ามาทางชายเเดน โดยจะสำรวจคนในหมู่บ้านด้วยการสืบพยานจากจากผู้ใหญ่บ้านเเต่ละหมู่บ้านเป็นหลัก เมื่อสำรวจเสร็จก็จะให้บัตรเลขศูนย์กับพวกเขา ปัญหาคือพวกเขายังมีบัตรประชาชนกันไม่ครบทุกคน เรากำลังเร่งสำรวจสำมะโนครัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบการสื่อสารด้านภาษา ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะรุ่นเเรกฟังเเละพูดภาษาไม่ได้ มีเพียงเเค่ 30 % ของชาวบ้านเท่านั้นที่สื่อสารได้”

               

            บทส่งท้าย

                แม้ว่าในวันนี้ ศาลจะยังไม่ได้พิจารณาตัดสินคดีที่พวกเขาร่วมใจกันต่อสู้ แต่ชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจานก็ยังคงยืนยันวิถีของพวกเขาว่าต้องไปเป็นตามถ้อยคำที่ว่า“ได้กินจากน้ำต้องรักษาป่า ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า” หลักปรัชญาที่ไม่เพียงแต่สะท้อนวิถีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ “อยู่เพื่อให้และรับอย่างสมดุล”ของบรรพชนกะเหรี่ยงเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงวิถีแห่งตัวตนของกะเหรี่ยงอีกด้วย

 

                 

 ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในไร่หมุนเวียน แหล่งอาหารดำรงชีพตามที่บรรพบุรุษทำสืบต่อกันมา (รูปจากบิลลี่มอบให้ประกอบบทความ)

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ