ผู้แทนเครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือถึงผู้แทน UN ประจำประเทศไทย บริเวณหน้าที่ทำการ UN ถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
5 ภูมิภาค / เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ‘บ้านมั่นคงชนบท 5 ภาค เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ เริ่มรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2528 โดยกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัย ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค กล่าวว่า วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ประกอบด้วย เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทภาคเหนือ เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทภาคกลางและตะวันตก เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก และเครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทภาคใต้ ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอที่รวบรวมมาจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาดังนี้
1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้บรรจุประเด็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง สิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชน
2.ให้รัฐบาลกำหนดประเด็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย เป็นวาระสำคัญของชาติ โดยมีนโยบายหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนปฏิบัติการและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
3.ให้มีนโยบายการแบ่งปันที่ดินรัฐทุกประเภท เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง
4.ให้สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนปฏิบัติการนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินสำหรับผู้มีรายได้น้อยในทุกระดับ และส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจในการดำเนินการไปยังกลไกระดับท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วม
5.ให้จัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทุกระดับ ในโครงการพัฒนาของภาครัฐทุกโครงการ ต้องมีส่วนร่วมของชุมชนผู้เดือดร้อน 6.ให้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้เพียงพอและเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา
7.ให้จัดทำแผนงานและมาตรการสนับสนุน ช่วยเหลือที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม สำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ เช่น ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง ชุมชนริมคูคลองทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยริมคูคลอง
ผู้แทนกระทรวงคมนาคม (ซ้าย)มอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ ให้ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (ขวา) เพื่อให้ชุมชนปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม 2 ตุลาคม
8.ให้มีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน โดยป่าชุมชนชายเลนควรได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับสิทธิประโยชน์
9.ให้มีกลไกร่วม ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่มีหน่วยงานภาครัฐ และขบวนองค์กรชุมชนเป็นองค์ประกอบ และให้กลไกดังกล่าวมีอำนาจในการขออนุญาตใช้ที่ดินรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย เช่น คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติระดับจังหวัด คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย และการกำหนดผังเมืองตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
10.ให้องค์กรชุมชน มีส่วนร่วมในการกำหนด กำกับ ติดตาม ประเมินผล การบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่มีผลกระทบต่อที่ดินทำกิน ป่าชุมชน วิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น 11.ให้บูรณการการสำรวจข้อมูลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานเจ้าของที่ดิน เพื่อกำหนดเป้าหมายด้านจำนวนและระยะเวลาที่ชัดเจน ในการดำเนินการอนุมัติพื้นที่ คทช. (คทช. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ-มีหน้าที่อนุมัติ จัดสรรที่ดินรัฐ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก.ให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยและทำกิน)
ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก 2 ตุลาคม 2566 หน้ากระทรวงคมนาคม
12.ให้ทบทวน แก้ไขการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ในทุกประเภทที่ดินที่ไม่เอื้อต่อสิทธิการอยู่อาศัย ทำกินของชุมชน และการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.และ ร่างอนุบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562
13.ให้รัฐบาลผ่อนผันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราคงที่ขั้นต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านมั่นคง
14.ให้กรมเจ้าท่ากำหนดเขตที่ดินให้ชัดเจน มีนโยบายอนุญาตให้องค์กรชุมชนใช้ที่ดินในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และจัดการทรัพยากร และกำหนดค่าเช่าในอัตราขั้นต่ำที่เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย
15.ให้เร่งออกกฎหมายลูก มาตรา 64 , 65 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการรับรองสิทธิและบังคับใช้กฎหมายสำหรับพื้นที่อนุรักษ์ ในระหว่างนี้ควรมีมาตรการป้องกันการบุกรุกเพิ่ม ไม่ควรกำหนดอนุบัญญัติที่ขัดแย้งกับกฎหมายแม่ และมอบอำนาจในการอนุมัติแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจบริบทพื้นที่และสามารถดำเนินงานได้รวดเร็ว
16.ให้มีการปรับปรุงกฎหมายทางทะเล ซึ่งมีส่วนที่จำกัดสิทธิของประชาชนมากเกินไป ควรยกเลิกโครงการก่อสร้างที่ทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง และแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานทางทะเล มาตรา 65 ซึ่งไม่เอื้อให้ชุมชนสามารถเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้
17.ให้รัฐสนับสนุนให้องค์กรชุมชนจัดทำแผนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต รวมทั้งการสร้างพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ในระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด พร้อมสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้แก่สถาบันการเงินชุมชนหรือกลุ่มองค์กรชุมชนโดยตรง โดยเฉพาะงบประมาณการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์เจรจากับขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก ประเด็นการสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เพื่ออยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.
18.ให้สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ในกลุ่มองค์กรที่จะดำเนินโครงการบ้านมั่นคง และเพิ่มวัตถุประสงค์ ระเบียบสหกรณ์บริการในสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้สามารถดำเนินแผนธุรกิจที่นอกเหนือจากเรื่องที่อยู่อาศัย 19.ให้สนับสนุนเพื่อยกระดับกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณ
20.ให้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากความหลากหลายทางชีวภาพ มีการใช้เทคโนโลยีและยกระดับสู่วิสาหกิจในท้องถิ่น 21.ให้มีการยกเว้นโครงการคาร์บอนเครดิต ที่ทำลายความหลากทางชีวภาพและการฟอกเขียว กำกับให้ภาคธุรกิจลดคาร์บอน จากการผลิตของตนเองก่อนที่จะใช้ภาคป่าไม้ชดเชยทางเดียว รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ และมีการปรึกษาหารือชุมชน
22.ให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนแผนการจัดการป่าโดยมีกองทุนในการสนับสนุนชุมชนให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ และงบประมาณต้องสามารถตรวจสอบได้ 23.ให้พัฒนาศักยภาพด้านความรู้กฎหมายและการจัดการป่าชุมชน แก่บุคลากรทั้งภาครัฐ คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดและระดับชุมชน โดยสร้างกลไกการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม
นายสมคิด เชื้อคง (เสื้อขาว) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีออกมารับข้อเสนอจากภาคประชาชนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกบริเวณถนนราชดำเนินนอก (2 ตุลาคม)
***********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)