เภสัช มช. สามารถพัฒนา ฟักข้าวนาโนลบริ้วรอย
ผลงานของคนไทยคนแรกได้รับรางวัล IFSCC Host Society Award 2011
“ฟักข้าว” ยังไปได้อีกไกลในระดับอุตสาหกรรม ล่าสุดนักวิจัย เภสัช มช. พัฒนาครีมอนุภาคนาโนจากน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว พบตำรับลดริ้วรอยได้ผลดีและมีความคงตัวสูง แสดงถึงศักยภาพนักวิจัยไทย คว้ารางวัลนานาชาติจากสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ แนะส่งเสริมการปลูกฟักข้าวสู่ระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
รศ.ดร.ภก.สุรพล นธการกิจกุล หัวหน้าทีมวิจัย เผยผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอยจากน้ำมันของเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโน (Development of Anti-wrinkle Cosmetic from Aril Oil of Momordica cochinchinesis (Lour.) Spreng in Nanostructured Lipid Carriers) ได้รับรางวัล IFSCC Host Society Award 2011 โดยเป็นผลงานของคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ จากงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 (IFSCC 2011) ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นับเป็นการประชุมระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทยโดยสมาคมนักเคมีเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย ซึ่งมี รศ.ดร.ภญ.พรรณวิภา กฤษฏาพงษ์ เป็นประธานจัดงาน และเป็นครั้งที่ 21 ของประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิชาชีพในอุตสาหกรรมเคมีเครื่องสำอางและความงามจากประเทศสมาชิกของสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ (IFSCC) รวม 47 ประเทศ มีสมาชิกจำนวนกว่า 15,000 คน ในการจัดประชุมดังกล่าวผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงผลงานวิจัยและศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโดยมุ่งเน้นมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเครื่องสำอางจากสารธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
ผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอยจากน้ำมันของเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว ในอนุภาคไขมันระดับนาโน นั้นเป็นการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ของทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือหัวหน้าโครงการ รศ.ดร.ภก. สุรพล นธการกิจกุล นางสาวณัฏฐิณี นันตาลิต รศ.ดร.ภญ. พาณี ศิริสะอาด รศ.ดร.ภญ. สุพร จารุมณี และ ผศ.ดร.เกียรติศักด์ พลสงคราม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ โดย รศ.ดร.ภก. สุรพล กล่าวถึงที่มาของการวิจัยว่า ฟักข้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng วงศ์ Cucurbitaceae เดิมมีถิ่นกำเนิดประเทศเอเชียเขตร้อน ในเมืองไทยมีมากในเขตภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งหมอพื้นบ้านใช้ภูมิปัญญาในการนำฟักข้าวเป็นยารักษาโรคและเป็นอาหาร ในการศึกษาทีมวิจัยได้นำเยื่อหุ้มเมล็ดมาสกัดน้ำมัน ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และพัฒนาตำรับเครื่องสำอางชะลอความแก่โดยการทดสอบประสิทธิภาพการลดรอยเหี่ยวย่นในอาสาสมัครและมีการเผยแพร่ในการประชุมมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2550 และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น
รศ.ดร.สุรพล กล่าวย้ำว่า "จากผลการวิจัยครั้งนั้น สร้างกระแสให้มีการปลูกฟักข้าวและนำมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ ไอศกรีม ในระดับชุมชน นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสบู่และครีมบำรุงผิวจากฟักข้าว เป็นสินค้าระดับ OTOP และSME อย่างไรก็ดี การผลิตเพื่อแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมนั้นต้องมีการวางแผนการปลูกที่ดี รวมถึงการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ขั้นตอนในการแปรรูปจะต้องตรวจสอบความคงตัวและมาตรฐานสารสำคัญในฟักข้าว ตลอดจนต้องมีการประเมินประสิทธิผลตามมาตรฐานสากล จึงจะสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานส่งออกได้"
ปัจจุบัน ตลาดเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอยมีการขยายตัวเพิ่มและการแข่งขันสูง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากธรรมชาติที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หากได้มีการตรวจสอบคุณภาพและประเมินประสิทธิภาพอย่างจริงจัง มักพบปัญหาเรื่องความคงตัวและการออกฤทธิ์ลดลงเมื่อเก็บผลิตภัณฑ์ไว้นาน
ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้สกัดน้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวมาศึกษาตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีโดยวิธี HPLC พบว่าลายพิมพ์นิ้วมือตรงกับของสารมาตรฐานไลโคปีนและกลุ่มเบต้าแคโรทีน ซึ่งสารประกอบกลุ่มนี้สลายตัวได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแสงและอุณหภูมิสูง ทีมวิจัยจึงหาวิธีเพิ่มความคงตัวโดยการเตรียมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวให้อยู่ในรูปอนุภาคไขมันระดับนาโนและนำไปใส่ในตำรับครีมพื้น ซึ่งอนุภาคไขมันระดับนาโนที่เก็บกักน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสามารถเตรียมด้วยเทคนิคการปั่นผสมที่ความดันสูง พบว่าที่ความดัน 1,000 บาร์ จำนวน 5 รอบ ได้อนุภาคที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีไม่เกิดการแยกชั้น เมื่อใช้เครื่องวัดขนาดอนุภาค (Photon correlation spectroscopy) วัดพบว่า มีขนาดอนุภาคเฉลี่ยไม่เกิน 200 นาโนเมตร การกระจายตัวอนุภาคใกล้เคียง โดยรูปร่างของอนุภาคมีลักษณะกลมมีความคงตัวดี จากนั้นนำตำรับครีมพื้นผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโน มาทดสอบความคงสภาพของตำรับที่สภาวะเร่งด้วยอุณหภูมิแบบร้อนสลับเย็น และที่สภาวะอุณหภูมิต่างๆ 4°C, 25°C และ 45°C นาน 90 วัน พบว่า มีลักษณะทางกายภาพที่ดี ไม่เกิดการแยกชั้น และผลของอุณหภูมิและแสง ต่อความคงตัวของเบต้าแคโรทีนในน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว พบว่าในทุกสภาวะของตำรับครีมพื้นผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโนมีเปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ของเบต้าแคโรทีนสูง
ในการศึกษาประสิทธิภาพการลดริ้วรอย โดยใช้เครื่องมือ Skin Visiometer พบว่าหลังใช้ผลิตภัณฑ์วันละ 2 ครั้ง อย่างต่อเนื่องนาน 8 สัปดาห์ บริเวณที่ใช้ครีมผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโน สามารถลดริ้วรอยของผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้ และบริเวณผิวหนังที่ใช้ครีมพื้นผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคนาโนมีประสิทธิภาพลดริ้วรอยได้ดีกว่าบริเวณที่ใช้ครีมผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาครีมผสมน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคนาโนให้มีประสิทธิภาพลดริ้วรอยและมีความคงตัวดี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่พืชท้องถิ่นของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนได้ในอนาคต.