เครือข่ายผู้สูงอายุภาคเหนือ ถกปฏิรูปกิจการสลาก สานต่อแนวคิดปฏิรูประบบการคลังเพื่อสังคม จัดสรรรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใหม่ นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (13 มกราคม 2557) ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายผู้สูงอายุจากหลายจังหวัดในภาคเหนือมาร่วมประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการปฏิรูปกิจการสลากเพื่อสังคมและขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม
โดยเครือข่ายผู้สูงอายุภาคเหนือ อันประกอบด้วย มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ร่วมกับสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯและเครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคม เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม จึงเห็นพ้องกันว่าควรจัดเวทีสานพลังเครือข่ายผู้สูงอายุฯขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการสลากเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องในวันนี้ เนื่องจากเห็นว่า การทำงานด้านการพัฒนาสังคมของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่มีทั้งนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ประชากรกลุ่มเฉพาะ และประชาชนอาสา ได้ร่วมขับเคลื่อนสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมมาอย่างยาวนาน แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญของภาคประชาสังคม คือ การขาดความต่อเนื่องและการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ขาดกลไกสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม
จากผลการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ได้มีมติเรื่อง “การสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยมีข้อสรุปสำคัญเรื่อง การปฏิรูประบบการคลังเพื่อสังคม โดยเสนอให้มีการจัดสรรรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใหม่ และนำรายได้ดังกล่าวที่มีการปรับสัดส่วนใหม่แล้ว มาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยเป็นลักษณะกองทุนที่สนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการลดหรือจำกัดการเล่นการพนันและอบายมุขทุกประเภทและทุกรูปแบบ
เหตุผลที่ต้องนำรายได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เนื่องจากขณะนี้การจำหน่ายสลากของไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้จากการจำหน่ายสลากเป็นสำคัญ แต่ยังไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม อีกทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการรายได้จากการขายสลากสำหรับการนำไปใช้เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด (ต่างจากการจำหน่ายสลากในต่างประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดสรรเงินรายได้ไปใช้สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์) จึงมีแนวความคิดจะนำเงินบางส่วนจากการจำหน่ายสลากไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยมีหลักการว่า รายได้สลากส่วนใหญ่เป็นเงินที่มาจากคนที่มีรายได้น้อย จึงควรจัดสรรกลับไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มคนที่เป็นผู้ซื้อสลากในด้านต่างๆ
หลังจากที่มีมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติดังกล่าวแล้ว ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านคนพิการ องค์กรรัฐ และนักวิชาการ ได้มีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประสานพลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบายร่วมขับเคลื่อนให้เกิดกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม หรือ“กองทุนภาคประชาสังคม”ที่มีประสิทธิภาพสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสในสังคม
โดยเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมได้นำมติสมัชชาฯ มาทำงานร่วมกับวุฒิสภา เพื่อผลักดันให้มติดังกล่าวเป็นรูปธรรม ซึ่งวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย และสืบเนื่องจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ….(ฉบับประชาชน) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เกิดกองทุนด้านการพัฒนาสังคมของประเทศไทย ที่มีธรรมาธิบาล สร้างนวัตกรรม พัฒนาระบบ และคล่องตัว เอื้อต่อการดำเนินงานพัฒนาสังคมของภาคประชาสังคม และพร้อมกันนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก ได้พัฒนาร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ…. (ฉบับประชาชน) ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบการค้าสลากของประเทศไทย ให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการค้าสลากรายย่อย และประชาชนผู้ซื้อสลาก รวมทั้งเงินรายได้อันเกิดจากการจำหน่ายสลากจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมในรูปของเงินสนับสนุนกองทุนต่างๆ
ทั้งนี้ ภายใน2 ปีนี้ เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมจะร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนให้พรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายและพัฒนากฎหมายกองทุนภาคประชาสังคม และปรับปรุงกฎหมายกิจการสลากเพื่อสังคม โดยมีงานวิชาการรองรับ พร้อมทั้งมีเครือข่ายภาคประชาชนที่มีการเชื่อมประสานขับเคลื่อนสนับสนุนการปฏิรูปกิจการสลากเพื่อสังคมและการมีกองทุนด้านภาคประชาสังคมขึ้นในประเทศไทย
เครือข่ายผู้สูงอายุนับเป็นเครือข่ายหนึ่งที่มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดกองทุนภาคประชาสังคม รวมทั้งร่วมปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เป็นกิจการสลากเพื่อสังคมดังนั้น จึงเห็นควรจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปกิจการสลากเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมให้กับเครือข่ายผู้สูงอายุตลอดจนระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมและการปฏิรูปสลากของเครือข่ายผู้สูงอายุทุกกลุ่ม
กิจกรรม
09.45 – 12.00 น. เวทีเสวนา : สถานการณ์การทำงานของเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ
• คุณค่าของเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุที่มีต่อสังคม
• สถานการณ์คนทำงาน / งบประมาณ
• ความจำเป็นในการมีกองทุนภาคประชาสังคม
ร่วมเสวนาโดย
1) คุณสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ
2) แกนนำเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่
3) แกนนำเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่
ร่วมดำเนินรายการเสวนา
o คุณวันชัย บุญประชา
คณะทำงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม
o คุณธนากร คมกฤส
ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน
เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนและนำเสนอ
13.00 – 15.00 น. การปฏิรูปกิจการสลากเพื่อสังคมและกองทุนภาคประชาสังคม
• ข้อมูลการบริหารจัดการสลากของประเทศไทย
• บทเรียนการจัดสรรเงินสลากของต่างประเทศ
• สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับประชาชน 2 ฉบับ
1) ร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. …
2) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. …
นำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนโดย
o คุณธนากรคมกฤส
o คุณวันชัย บุญประชา
15.00 – 16.00 น. เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : แนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปสลากและจัดตั้งกองทุนภาคประชาสังคม