“วันที่อยู่อาศัยโลก 2566” คนจนรวมพลังจี้รัฐแก้ไขปัญหา ที่ดินสาธารณะใน กทม.-ริมคลอง-ที่ดินรถไฟ-ท่าเรือ ฯลฯ

“วันที่อยู่อาศัยโลก 2566” คนจนรวมพลังจี้รัฐแก้ไขปัญหา ที่ดินสาธารณะใน กทม.-ริมคลอง-ที่ดินรถไฟ-ท่าเรือ ฯลฯ

ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดินจากผู้แทนชุมชนต่างๆ

กรุงเทพฯ /  วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้คึกคัก  ตัวแทนคนจนทั่วประเทศ 3,000 คน จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค  บ้านมั่นคง  ฯลฯ  ร่วมเดินรณรงค์จากศาลาว่าการ กทม.-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ถนนราชดำเนินนอก-ทำเนียบรัฐบาล  จี้หน่วย งานรัฐแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  เช่น  ที่ดินสาธารณะใน กทม.-การรถไฟฯ-การท่าเรือ-ที่ดิน ส.ป.ก.   ด้าน พอช.ร่วมมือ รฟท.เดินหน้าสร้างความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมราง  ประเดิม 14 ชุมชน  จาก 300 ชุมชน 27,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก  UN-Habitat  หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  เริ่มรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2528  โดยกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

2
วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ UN  จัดประชุมที่กรุงบากู  ประเทศอาเซอร์ไบจาน

วันที่อยู่อาศัยโลก 2566

วันที่อยู่อาศัยโลก หรือ ‘World Habitat Day’ ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม   โดยภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดงาน  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  เครือข่ายบ้านมั่นคง  ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นมา  และจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ตามภูมิภาคต่างๆ

เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหา  ข้อเสนอแนะ  ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย  เช่น  ปัญหาชุมชนในที่ดินสาธารณะ  ที่ดิน  ริมคลอง  ลำรางสาธารณะ  ในกรุงเทพมหานคร  ข้อเสนอการนำอาคารร้าง  ตึกร้างใน กทม.มาพัฒนาเป็นห้องเช่าราคาถูก  ฯลฯ

ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั่วประเทศ  ที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย  ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)    ชุมชนชายฝั่งทะเล   ฯลฯ  รวมทั้งนำเสนอพื้นที่รูปธรรมที่มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว  เช่น  ที่ดินในเขตป่าไม้ที่อำเภอแม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ที่ดินชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันที่ จ.กระบี่  ฯลฯ

3

‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม. พร้อมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

เช้าวันนี้ (2 ตุลาคม) ตั้งแต่เวลา 8 .00 น.  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  เครือข่ายบ้านมั่นคง  ขบวนองค์กรชุมชน  5 ภาค ฯลฯ  จากทั่วประเทศ  เช่น  เชียงใหม่  ขอนแก่น  ตรัง  สงขลา ประมาณ  3,000 คน  ได้รวมตัวกันที่ลานคนเมือง  ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  เพื่อส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมหาทางแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะใน กทม.ร่วมกับคณะผู้บริหาร กทม.  นำโดยนายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หลังจากนั้น  นายชัชชาติ  ผู้ว่า กทม. ได้ออกมาพบปะกับผู้ชุมนุม  และกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น   ที่ชุมชนคลองลำไผ่  เขตคลองสามวา  ซึ่งชุมชนขอใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแต่มีความล่าช้า   กทม.ก็จะเร่งดำเนินการ รวมทั้งอีก 4-5 โครงการ   ส่วนการขอจัดตั้งชุมชน  ซึ่งเดิมมีไม่ถึง 100 ครัวเรือน กทม.จะไม่รับรองการจัดตั้งชุมชนนั้น  กทม.จะเร่งรัดการจัดตั้ง  เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิเหมือนกับชุมชนทั่วไปที่มีการจัดตั้งและได้รับการรับรองจาก กทม.แล้ว เช่น ได้รับงบพัฒนาชุมชน  200,000 บาท  การเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคก็จะเร่งรัดเช่นกัน

“กรณีรวมตัวกันจัดหาที่ดินแปลงใหญ่  เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยร่วมกัน  และแบ่งที่ดินเป็นแปลงเล็กเพื่อสร้างบ้าน  แต่ต้องเสียภาษีที่ดินแปลงใหญ่ กทม.จะไปคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อจะแก้ไขปัญหาเรื่องภาษี   เพราะเป็นบ้านราคาถูก  ส่วนเรื่องห้องเช่าราคาถูกจะใช้พื้นที่ กทม.หรือหน่วยงานอื่น  เพื่อทำห้องเช่าอยู่อาศัยชั่วคราว สำหรับคนเปราะบาง  ยังไม่แข็งแรง  เมื่อแข็งแรงแล้วจะได้ไปหาที่อยู่อาศัยถาวร”  ผู้ว่าฯ  กทม.ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยใน กทม.

4
ผู้ว่า กทม.รับมอบข้อเสนอจากชาวชุมชน

ข้อเรียกร้องจากสลัม 4 ภาค

          เนืองนิช ชิดนอก ผู้แทนชุมชนในที่ดินสาธารณะใน กทม. จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค  บอกถึงข้อเสนอต่อนายชัชชาติ  ผู้ว่า กทม. ว่ามีทั้งหมด 15 ข้อ  เช่น  1. ให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานในการขอใช้ที่ดินสาธารณะ และที่ดินของหน่วยงานกรุงเทพหมานคร เพื่อให้ชุมชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุน

2.กรุงเทพมหานครต้องหยุดการใช้กฎหมาย ปว.44 ที่มาจากอำนาจเผด็จการ และลิดรอนสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกระบวนการยกเลิกกฎหมาย ปว.44 นี้

3.ให้มีมาตรการที่ชัดเจน  ให้ชุมชนสามารถปรับปรุงสร้างความมั่นคงการอยู่อาศัยในที่เดิมได้ โดยมีหลักเกณฑ์  เช่น  ต้องเป็นชุมชนที่ไม่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง หรืออยู่ในสภาพที่ขัดขวางการระบายน้ำ และมีพื้นที่ในการปรับปรุงจัดผังการอยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบไม่ขัดขวางการระบายน้ำ  เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ในการระบายน้ำได้ ให้ชุมชนสามารถจัดผังการอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม

4.กรณีชุมชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ให้กรุงเทพมหานครขอใช้ที่ดินสาธารณะในเมือง เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการย้ายไปสร้างชุมชนใหม่  5.ให้กรุงเทพมหานครสนับสนุน และสำรวจชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะริมคลอง ในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อมูลชุมชนที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา

6.ให้ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถจดแจ้งชุมชนได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัย และแรงงานที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ได้เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐาน  และกรุงเทพมหานครสามารถนำข้อมูลใช้ในการทำแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7.ให้มีนโยบายการเก็บภาษีแบบรายแปลงย่อยตามการอยู่อาศัยจริง หรือตามทะเบียนบ้านของผู้อยู่อาศัยในโครงการ     8.จัดทำข้อมูลชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกัน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, กรุงเทพมหานคร, องค์กรชุมชน)  9.ต้องการการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร ในการอำนวยการ การจัดสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง และการพัฒนาสาธารณูปโภค

10.ให้แจ้งนโยบายการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง และประสานงานกับสำนักงานเขต ให้มีการสนับสนุน และมีแผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ร่วมกัน ระหว่างองค์กรชุมชน สำนักงานเขต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

11.ให้มีการดำเนินการนำร่องห้องเช่าราคาถูกย่านหัวลำโพง ร่วมกับ สสส.  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และกำลังดำเนินการที่ศูนย์คนไร้บ้าน จ. ปทุมธานี และก่อสร้างแล้วเสร็จที่ซอยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  จึงต้องการการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการสร้างรูปธรรมที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกให้หลากหลาย รองรับผู้เช่าห้องในเมือง และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับคนเริ่มต้นทำงานของกรุงเทพมหานคร   ฯลฯ

5
ขบวนเตรียมเคลื่อนจากลานคนเมือง กทม. ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เสียงจากคนจนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หลังจากเจรจากับผู้ว่ากรุงเทมหานครแล้ว  ขบวนรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกได้เคลื่อนขบวนมาทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย   โดยผู้ร่วมขบวนร่วมกันประกาศเจตนารมณ์  มีใจความสำคัญว่า  สังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย 91 ปี  มีรัฐประหาร 13 ครั้ง  มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ  มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก มหาเศรษฐี 40 ครอบครัว ครอบครองทรัพย์สินประเทศเกือบ 30%  คนรวยเพียงครอบครัวเดียวมีที่ดินมากเท่ากับพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการทั้งจังหวัด ในขณะที่คนไร้ที่ดินไร้บ้านมีจำนวนมาก ประชาชนไร้สวัสดิการ  ไร้สิทธิ์  ไร้เสียง…

“ในโอกาสการครบรอบ 37 ปี วันที่อยู่อาศัยโลก และ 91 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องการรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษา พยาบาล  ค่าแรงที่เป็นธรรม  หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ  บำนาญประชาชน  เงินคนพิการ  เงินอุดหนุนเด็กในครรภ์และเด็กแรกเกิดจนเติบโต  โดยไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และต้องเป็นสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการสร้างสังคมประชาธิปไตย เราขอประกาศเนื่องในโอกาสวันที่อยู่อาศัยโลก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เสียงจากคนจนดังก้องที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

6
ผู้แทนกระทรวงคมนาคม (ซ้าย) มอบสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.ให้ผู้แทน พอช. (ขวา)

รฟท.-พม.-พอช.หนุนพัฒนาชุมชนริมรางทั่วประเทศ

ส่วนที่หน้ากระทรวงคมนาคม  ซึ่งมีนโยบายนำที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้ชุมชนได้เช่าอาศัยอยู่อย่างถูกต้อง  เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุกเป็นชุมชนเช่าที่ดินอยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมายนั้น  ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก  โดยตัวแทนชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.  ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินจากนายสุรพงษ์  อึ้งอัมพรวิไล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)  จำนวน  4 ชุมชนแรก

อย่างไรก็ตาม  นางสาวกรรณิการ์  ปู่จินะ  ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. ของชุมชนที่ดำเนินการยื่นขอเช่าที่ดิน รฟท. แล้ว  ประกอบด้วย 1.แปลงที่ดินรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบโครงการก่อสร้างเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิอู่ตะเภา) บริเวณริมบึงมักกะสัน ซอยหมอเหล็ง กรุงเทพฯ      2.แปลงที่ดินรองรับชุมชนรถไฟสามัคคี จ.เชียงใหม่  3.แปลงที่ดินรองรับชุมชนพญาเสือ จ.พิษณุโลก  และ4.แปลงที่ดินรองรับชุมชนบ้านเดื่อ 1 และชุมชนเก่าจาน 4 จ.อุดรธานี

ส่วน 4 ชุมชนแรกที่รับมอบสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.วันนี้  คือ  ชุมชนหนองแวงตาชู  จ.ขอนแก่น  106 ครัวเรือน  ที่ดิน 8,520 ตารางเมตร  ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดตรัง 3 ชุมชน  รวม 133  ครัวเรือน  เนื้อที่รวมกว่า 10,000 ตารางเมตร  ระยะเวลาเช่า 30 ปี  ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566-31 ตุลาคม 2596  อัตราค่าเช่าผ่อนปรนตารางเมตรละ 9 บาท

โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมขน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ปลูกสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  เพื่อให้ชาวชุมชนริมรางรถไฟมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้านต่อไป  เช่น  ส่งเสริมเรื่องอาชีพ  การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนช่วยเหลือดูแลกัน  การดูแลรักษาสิ่งวแดล้อม  จัดการขยะ  ฯลฯ

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ‘พอช.’  กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.นี้  พอช.มีแผนดำเนินการภายใน  5  ปี  เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570   ขณะนี้ชุมชนต่างๆ จำนวน 300 ชุมชน   ในที่ดิน รฟท.35 จังหวัด จำนวน  27,084  ครัวเรือน  กำลังเร่งสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือน  เพื่อจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. (กรณีอยู่ในที่ดินเดิมได้)  หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่  โดยในวันนี้เป็นการมอบสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. 4 ชุมชนแรก  ส่วนปีนี้  พอช. มีแผนดำเนินการทั้งหมด 14 ชุมชน  รวม 883 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด 119 ล้านบาทเศษ

7
ผู้แทน 4 ชุมชนที่ได้รับสัญญาเช่าที่ดินจาก  รฟท.

มติ ครม. 14 มีนาคม 2566 แก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ   ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่สองข้างทางรถไฟ  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ปัญหา

โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566   เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดทำแผนงานรองรับชุมชนต่างๆ  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เช่น  สำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ  ทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.  สนับสนุนสินเชื่อ  งบประมาณ (บางส่วน) เงินอุดหนุน  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่  หรือจัดซื้อ  จัดหาที่ดินแปลงใหม่  ในกรณีที่ไม่สามารถใช้หรือเช่าที่ดินจาก รฟท.ได้  ส่วน รฟท.จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท. ผ่าน พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่

8
ตัวแทนชาวชุมชนคลองเตยร่วมขบวนรณรงค์

คนคลองเตยขอปันที่ดินการท่าเรือฯ

นางประไพ  สานุสันต์   ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  ในฐานะผู้แทน 26 ชุมชนในที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย  บอกว่า  การท่าเรือฯ มีแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยเชิงพาณิชย์  เพื่อทำเป็นศูนย์ประชุม  โรงแรม  ศูนย์แสดงสินค้า  อาคารพาณิชย์  ฯลฯ  ในที่ดินทั้งหมด 2,353 ไร่  และจะมีการรื้อย้ายชุมชนแออัดคลองเตย 26 ชุมชนออกไป  โดยมีโครงการ “Smart  Community รองรับชาวคลองเตย

โครงการ Smart  Community  เพื่อรองรับชาวชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยในพื้นที่การท่าเรือฯ ประมาณ 6,000 ครอบครัว  โดยการท่าเรือฯ จะจัดสรรพื้นที่ในคลองเตย 58  ไร่  เพื่อสร้างชุมชนใหม่  และมีข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวคลองเตยเลือก  คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่การท่าเรือจะสร้างให้  2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณหนองจอก  และ3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่หรือกลับภูมิลำเนา  โดยการท่าเรือเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อต้นปี 2562  

ประธานสภาองค์กรชุมชนฯ บอกว่า  ชุมชนแออัด 26 ชุมชนกระจายกันอยู่ในพื้นที่การท่าเรือฯ  ประมาณ 450 ไร่  ประชากรกว่า 80,000 คน  ที่ผ่านมาชาวชุมชนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ของการท่าเรือฯ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากว่า 60 ปี   ปัจจุบันการท่าเรือฯ จัดทำแผนพัฒนาที่ดิน จะรื้อย้าย 26ชุมชนออกจากพื้นที่เดิม เพื่อสร้างรายได้ทางธุรกิจของการท่าเรือฯ   โดยขาดการรับฟัง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ความสับสันในการแก้ไขปัญหามาหลายปี

“เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย ผู้แทนชุมชนแออัดทั้ง 26 ชุมชน    จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลดังนี้  1.ขอแบ่งปันที่ดินร้อยละ 20 ของที่ดินของการท่าเรือฯ ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่ที่อาศัยอยู่เดิม โดย 26 ชุมชน ยินยอมรื้อย้ายจากพื้นที่เดิมที่กระจายกันอยู่ เพื่อให้การท่าเรือฯ นำไปทำประโยชน์ทางธุรกิจได้สะดวก  โดยให้ชาวชุมชนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   และ กทม.จัดที่อยู่อาศัยและบริหารจัดการพื้นที่

และ 2.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย   โดยมีสัดส่วนจากชาวชุมชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่  ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อทำการสำรวจความต้องการของชาวชุมชน และทบทวนข้อเสนอต่างๆ   เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของชาวชุมชน” ประธานสภาฯ  บอกถึงข้อเสนอ

9
ชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  ร่วม “แป๋งเมือง”  หรือเปลี่ยนแปลง  พัฒนาเมืองเชียงใหม่

“ที่อยู่อาศัย คือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”

ในช่วงท้ายขอการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2566  ขบวนรณรงค์ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล  บริเวณตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ  โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล  และมีตัวแทนเข้าไปเจจาข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยต่อรัฐบาล  เช่น   รัฐบาลต้องจัดทำประชามติเพื่อให้เกิดกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการเลือกตั้ง สสร. 100 %   รัฐธรรมนูญจะต้องให้ความสำคัญต่อที่อยู่อาศัยโดยการบรรจุเนื้อหา “ที่อยู่อาศัย คือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ

การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนจนเข้าถึงได้  หลักการ  1.รัฐบาลต้องมีนโยบายและสั่งการไปยังกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง  2.รัฐบาลต้องมีนโยบายสั่งการถึงหน่วยงานไม่ใช้มาตการทางกฎหมายมาไล่รื้อชุมชน และให้มีกระบวนการพูดคุยหาทางออกแก้ปัญหาร่วมกันทั้งหน่วยงานและประชาชน

3.ให้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร และโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

4.รัฐบาลต้องทบทวนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวมที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อ-เช่า ที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับรายแปลงย่อยที่แต่ละครัวเรือนครอบครองจริง

ข้อเสนอถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1.ให้มีนโยบายสนับสนุนการจัดที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับคนไร้บ้าน คนจนเมือง และผู้มีรายได้น้อยทั่วไป โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนจนเมืองกลุ่มต่างๆ

2.ปรับเกณฑ์งบประมาณของโครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราว (ไฟไหม้-ไล่รื้อ) ให้สอดคล้องกับต้นทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จาก 18,000 บาท เป็น 36,000 บาท เพื่อตั้งหลักก่อนจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  ฯลฯ

10
เครือข่ายประชาชนมอบหนังสือข้อเรียกร้องให้ผู้แทน UN ประจำประเทศไทย
11
สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ  (เสื้อสีขาว) รับมอบข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช.

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ