ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนย้ายถิ่นออกจากเมืองใหญ่ ส่วนมากเป็นแรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ ซึ่งเหตุผลที่สำคัญ คือ การขาดรายได้ หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ การกลับบ้านเกิดจึงเป็นอีกทางเลือก “หวังมีชีวิตรอด” และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่
ข้อมูลจากการสำรวจการย้ายถิ่นจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2565 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง ตุลาคม – ธันวาคม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการคลี่คลายของ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประชากรมีการโยกย้ายที่อยู่ตามสมาชิกในครัวเรือน แต่ผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นประชากรแฝงในพื้นที่ ผลการสำรวจในปี 2565 พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวน 8.09 แสนคน คิดเป็นอัตราการย้ายถิ่น 1.2 ของประชากรทั้งประเทศ (69.91 ล้านคน) จากการสำรวจ พบว่า อัตราการย้ายถิ่นสุทธิของภาคเหนือ และภาคกลาง มีผู้ย้ายถิ่นเข้ามากกว่าผู้ย้ายถิ่นออก ส่วนกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีผู้ย้ายถิ่นเข้าน้อยกว่าผู้ย้ายถิ่นออก
ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายแรงงานคืนถิ่น (ภาคอีสาน) ณ บ้านสวนซุมแซง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 13.00-15.00 น. อยู่ดีมีแฮง ได้ร่วมบันทึกและถ่ายทอดสดออนไลน์ เปิดเวทีออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น “แรงงานคืนถิ่น” โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม-Thai Volunteer Service ร่วมกับ สถาบันการจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลับบ้าน อาสาคืนถิ่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงรูปธรรมงานและร่วมกันพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ เพื่อนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วย องค์กร ที่เกี่ยวข้อง
4 ข้อเสนอแรงงานคืนถิ่นอีสานถึงรัฐบาลไทย
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายแรงงานคืนถิ่น (ภาคอีสาน) เป็นอีกโอกาสสำคัญให้เครือข่ายแรงงานคืนถิ่นร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แสดงความคิดเห็น และระดมข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การยะกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยแบ่งออกเป็นหลายประเด็น ซึ่งทีมงานกองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮง ได้เรียบเรียงเพื่อหารือในวงสนทนาใน 4 ฉากทัศน์ เพื่อเป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลไทยผ่านเครือข่ายแรงงานคืนถิ่นภาคอีสาน ดังนี้
001 แรงงานคืนถิ่นกับรัฐบาลดิจิทัล
แรงงานคืนถิ่นร่วมกับหน่วยงานในระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงนโยบายรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลาย กระจัดกระจาย ให้สามารถสืบค้นและเข้าถึงง่ายเป็น Big data เพื่อจัดทำแผนที่ผู้ประกอบการ ในระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลดิจิทัล (digital government) เพื่อแสดงประเภท ตำแหน่งที่อยู่ และลักษณะกิจการของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการแสดงให้เห็นแผนที่ฐานทรัพยากรของพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การทำแผนที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสในการเข้าถึงของผู้บริโภคและช่องทางการตลาดแก่แรงงานคืนถิ่นผ่านการประกอบการ
002 แรงงานคืนถิ่นกับพื้นที่ปฏิบัติการทดลอง
แรงงานคืนถิ่นร่วมกับคนในชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ท้องที่ ออกแบบกระบวนการ และลงมือปฏิบัติการจริงในชุมชน โดยมีการติดตามผลการทำงาน และหนุนเสริม ทั้ง สถานที่ กลไกการทำงาน กิจกรรมด้านการเงิน ความรู้บุคลากร และเครื่องมือให้แรงงานคืนถิ่นสามารถทดลองปฏิบัติกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือลองผิดลองถูกในพื้นที่ชุมชนถิ่นฐานของตัวเอง ทั้ง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมชุมชน ผ่านพื้นที่ปฏิบัติการทดลองทางสังคม และนำไปสู่การแก้ปัญหาและออกแบบอนาคตร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม
003 แรงงานคืนถิ่นกับกองหนุน 360 องศา
แรงงานคืนถิ่น ร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานคืนถิ่นมีทุนในการขับเคลื่อนกิจกรรมสาธารณะที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและเด็กเยาวชนในพื้นที่ ทั้ง ทุนทรัพยากรบุคคล ทุนทรัพย์ ข้อมูลความรู้ ทุนภูมิปัญญา เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุซึ่งเป็นทุนทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าของชุมชน ที่แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีศักยภาพด้านการเรียนรู้ดิจิทัลให้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นชุมชนร่วมกัน
004 แรงงานคืนถิ่นกับกองทุนสวัสดิการ
แรงงานคืนถิ่นร่วมกับหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคเอกชน และรัฐบาล เห็นความสำคัญพร้อมสนับสนุนรูปธรรมการทำงานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนผ่านการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานคืนถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชน โดยมีกลไกการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ให้แรงงานคืนถิ่นและคนในชุมชน สามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการ ของสมาชิกชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ประเด็นหารือแลกเปลี่ยน ยังเป็นโจทย์สำคัญที่แรงงานคืนถิ่นบอกว่าจำเป็นต้องสื่อสารและได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย เพื่อกระจายอำนาจและคุณภาพชีวิตที่ดีไปยังชุมชนท้องถิ่นโดยแท้จริง
แรงงานคืนถิ่น ความหวังของชุมชน
“ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากการกลับบ้านมันมีแต่ความรัก มันคือความหวังที่ทุกคนพูดถึง…”สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน แลกเปลี่ยนถึงความผูกพันผ่านสายตาแรงงานถิ่นิ่น และเล่าถึงสถานการณ์สังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนไปผ่านการกลับบ้านแรงงาน
“สังคมชนบทที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ แรงงานที่มีคุณภาพ ปัญญาชนที่เรียนจบ หรือคนที่มีประสบการณ์ก็ต่างอาศัยเมืองใหญ่เป็นที่พักพิง ซึ่งปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ความหวัง คนที่จะไปอาศัยเมืองใหญ่ก็สร้างเศรษฐกิจ และคนที่ไปแล้วก็คิดว่าจะหวนกลับมาอยู่ที่พื้นที่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการกลับมารอบใหม่นี้ ภายใต้นโยบายก็ไม่สนับสนุนด้วยนะ อันนี้ต้องพูดตรง ๆ
ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้สนใจว่าจะให้คนกลับมาอย่างไร ภาคอุตสาหกรรมสนใจว่าจะหล่อเลี้ยงคนที่ทำงานในบริษัทให้อยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในการกลับบ้านมันจึงเป็นความหมายที่พูดถึงว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่อสังคมก้าวสู่สังคมสูงวัยที่อาศัยตากับยายคอยดูหลานแล้วก็เลี้ยงผ่านโทรศัพท์ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กภายใต้โลกดิจิทัล และสุดท้ายมันก็กลายเป็นปัญหาทางสังคม คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะส่งต่อโลกใบนี้ให้กับลูกหลานได้อย่างไร จะส่งชุมชนที่กำลังงดงามอาศัยธรรมชาติอยู่พึ่งพิงเป็นหน่วยการผลิตรายใหญ่ของประเทศหล่อเลี้ยงคน ให้มาอยู่กับท้องถิ่นได้อย่างไร
ในขณะที่สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมเกษตรกำลังกลืนกิน การครอบครองปัจจัยการผลิต และอาหารของสังคมความหวังของคนคืนถิ่น ที่นี่คือความหวังที่จะกลับมากอบกู้เอาบ้านเราเมืองชุมชน และครอบครัวตัวเอง มันไม่มีความหวังอื่นแล้ว นอกจากการที่อาศัยคนที่เคยอยู่กับไร่กับนา แล้วไปแสวงหางานทำที่อื่น มีความประทับใจมีความภูมิใจ กับถิ่นกำเนิดสายรกของตัวเองที่เป็นอยู่มีความรักไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากการกลับบ้านมันมีแต่ความรัก มันคือความหวังที่ทุกคนพูดถึง
จะเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจอย่างไร จะสร้างการยอมรับของคนในชุมชนอย่างไร แล้วจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของชุมชนยังไง อันนี้เป็นโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่พวกเรามานั่งคุยกันและสำคัญก็คือว่าข้อเสนอที่น้อง ๆ คิดกันขึ้นมามันเป็นปัญหาว่า มันทำคนเดียวไม่ได้ ปัญหามันซับซ้อน ปัญหามันยิ่งใหญ่ แล้วถ้าข้อเสนอ 3 เรื่องนี้เนี่ยมันทำไม่ได้ก็หมายความว่าบางเรื่องที่เขาพยายามทำอีก มันก็เป็น
ห้องปฏิบัติการชุมชน สนามชีวิต
“Local lap หมายถึงบ้านของเรา บ้านของคนกลับบ้าน lap ก็คือพื้นที่ปฏิบัติการ ทดลองใช้ชีวิตที่บ้าน ทดลองใช้ชีวิตอยู่บ้านจริง ๆ เราเองเคยใช้ชีวิตอยู่บ้านมาตั้งแต่เด็ก แต่พอเราห่างหายไป แล้วโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก เราออกจากบ้านไปเราก็มีทักษะใหม่กลับมา แล้วจะให้เรามาทำเกษตรกรเป็นเกษตรกรทำไร่ทำนาที่ใช้แรงงานหนัก ๆ มันก็ไม่ได้แล้ว เราต้องเอา skills ใหม่ ๆ ที่เราได้กลับ มาทดลองทำที่บ้านของตัวเอง” ปาริฉัตร ดอกแก้ว อาสาคืนถิ่นรุ่น 4 ภาคอีสาน ย้ำถึงบทบาทและความคาดหวังในการเป็นกำลังสำคัญของชุมชนจากคนรุ่นใหม่
“ผมเป็นแรงงานคืนถิ่น กลับมาบ้านได้ปีนี้เป็นปีที่ 7 ผ่านการเริ่มต้นที่ค่อนข้างมืดมนนะครับ” อาญาสิทธิ์ เหล่าชัย กลุ่มข้าวอินทรีย์อารยะฟาร์มเกริ่นถึงเส้นทางการกลับบ้านของเขา
“เราก็เห็นว่ามันจะมีตัวไหนมาเสริมให้เรานะครับ ค่อนข้างมืดมนหมดนะ ไม่ค่อยเห็นว่ามีสิ่งดี ๆ ในชุมชนอยู่จุดไหนบ้าง ที่โดดเด่นตรงไหนบ้าง ถามว่า พอได้เข้าไปหาหน่วยงานต่าง ๆ พอเราทำงานผ่านจุดเริ่มต้นมา เราสามารถที่จะปรับทักษะของตัวเองซึ่งทักษะที่เคยมีมันไม่ได้เกี่ยวข้องที่มีในชุมชนเราเลย เราก็ต้องมาทำการเรียนรู้จากผู้รู้จากผู้เฒ่า ผู้แก่ นะครับ ก็มีหลายเรื่องหลายราวที่เราต้องเรียนรู้ปรับตัวขยายผลสู่ชุมชน”
โจทย์ใหญ่คนคืนถิ่น สวัสดิการและความมั่นคง
“จากการคุยตั้งแต่เริ่มต้น ทุกคนที่มาในวันนี้เคยเป็นลูกจ้างประจำอยู่ในส่วนของประกันสังคม…” เสรี นุตไว ผู้ประกอบการไร่แสงชัย เริ่มต้นทบทวนประสบการณ์ร่วมก่อนกลับบ้าน ในวันที่หลายคนเคยเป็นแรงงานประจำ และต้องมาแก้โจทย์เรื่องสวัสดิการเมื่อพวกเขาต้องเป็นแรงงานกลับบ้านและอยู่นอกระบบ “เพื่อให้เป็นสวัสดิการเหมือนกันนะครับ เท่ากันเท่าเทียมกัน ในตัวกฎหมายตัว พ.ร.บ. ตัวนี้อาจจะเป็นตัวใหญ่หน่อยนะครับ ก็คือเราคงแก้ไขไม่ได้ ต้องให้รัฐบาลนะครับช่วยผลักดันแก้ไขในหมวดของเรื่องของความเสมอภาค เรื่องสวัสดิการ
แม้กระทั่งเรื่องของรายได้ในส่วนบุคคลที่ออกมาส่วนที่ 2 คือ เรื่องของการจัดตั้งกองทุนนะครับ มันจะเป็นทางเลือกนะครับ สำหรับคนที่อยู่ในระบบที่จะออกมาทำงานเหมือนกับพวกเรานะครับ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาเหมือนกับพี่น้องมาแชร์นะครับ เรื่องของกองทุนก็เช่นกันนะครับ ในการที่จะประกอบธุรกิจเพิ่มเติมอยากจะให้รัฐบาลมีการผลักดันกองทุนให้คนกลุ่มนี้เข้าถึง อย่างเช่น ชาวไร่ชาวนา ก็จะมี ธกส. เป็นแหล่งเงินทุนของเขา ของเราก็เหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้ มันจะได้เป็นแนวทางหนึ่งของธุรกิจช่วยเหลือชุมชน”
เราทุกคน คือ แรงงาน
“คือเรามองว่า แรงงานคืนถิ่นเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมีทักษะในการที่จะทำงานกับคนอื่นได้พอสมควร ถึงย้อนกลับมามาชุมชนมาบ้านของตัวเอง แต่การตั้งต้นบางอย่างมันต้องอาศัยความร่วมมือ และการเชื่อมประสานในหลายส่วน” เกษณี ซื่อรัมย์ สมาคมป่าชุมชนอีสาน ย้ำถึงปัจจัยที่จะเชื่อมและหนุนเสริมการทำงานของแรงงานคืนถิ่น
“อย่างกลับมาบ้าน ตัวเองอาจจะมีเพื่อน แต่ว่ามันไม่มีเครือข่ายไม่มี Connection อะไร ที่จะไปทำงานในชุมชน ซึ่งในชุมชนก็มีความหลากหลาย แต่พอกลับมาผู้เฒ่าผู้แก่เต็มบ้าน มีแค่เด็กที่อยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วผู้ปกครองไปทำงานต่างจังหวัด นอกจากทักษะที่เป็นเรื่องวิชาชีพของเขาแล้ว คนรุ่นใหม่ หรือว่าคนแรงงานที่กลับมา ก็อาจจะเป็นความหวังของชุมชนในการที่จะมอบหมายร่วมมือในการพัฒนาชุมชนกับผู้สูงอายุกับเด็กที่อยู่ในชุมชนด้วย
เพราะฉะนั้น เขาไม่ควรจะโดดเดี่ยวที่จะทำงานเพียงลำพัง ในการที่จะดูแลคนในชุมชน ไม่ว่าภาครัฐหรือว่าเอกชนเอง สามารถเข้ามาแบบสนับสนุน ทั้งทุนงบประมาณในการที่จะให้เขาได้ทำงานอย่างมีความสุข เพื่อที่จะด้วย support สิ่งต่าง ๆ ที่ชุมชนกำลังมีปัญหา เช่น ผู้สูงอายุมาชุมชนอาจจะมีผู้สูงอายุไม่ได้อยู่กับลูกหลานบุคคลเหล่านี้ ถ้ามีทักษะ หรือว่ามีทุนในการที่จะให้เขาขับเคลื่อนแล้วก็ไปช่วยดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว จะทำให้มีประสบการณ์แล้วก็ทำให้งานมากขึ้น”
สุเมธ ปานจำลอง ยังทวนท้ายอีกว่า “น้อง ๆ ยังบอกอีกว่าการกลับมาแปลกก็มีหลายคนถามว่าทำไมต้องกลับมาได้ เขาบอกว่าหลักประกันที่อยู่ในหมู่บ้านเยอะกว่า ซึ่งหลักประกันที่เรามองไม่เห็น คือหนึ่ง เขามีที่ดิน บางคนมีบ้านแต่กลับมาก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร มีหลักประกันมีกองทุนต่าง ๆเยอะแยะไปหมดเลยกองทุนวันละล้าน กองทุนละล้าน กองทุนฌาปนกิจเต็มไปหมดเลย แล้วมีความเป็นความเป็นญาติพี่น้อง อันนี้คือหลักประกันที่น้อง ๆ บอกว่าการกลับมามันต้องกลับมาด้วยความหมายใหม่ ไม่ใช่กลับมาด้วยเหตุผลว่าเป็นหนี้แล้วกลับมาเอาตัวไม่รอด แต่เหตุผลที่ต้องกลับมาคือสร้างความเปลี่ยนแปลงในถิ่นที่กำเนิดของตัวเอง”
นี่เป็นเพียงบางส่วนข้อเสนอของแรงงานคืนถิ่น ที่ชวนคุยแลกเปลี่ยนในวง ที่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของถิ่นฐาน ด้วยการนำเทคโนโลยี การปรับตัวเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนย้ายกลับมาบ้านเกิด มีลู่ทางในการทำมาหากินได้อย่างมั่นคง”