10 ปีความรุนแรงภาคใต้ กับ 1 ปีที่สันติภาพกำลังเดินทาง

10 ปีความรุนแรงภาคใต้ กับ 1 ปีที่สันติภาพกำลังเดินทาง

 10  ปีความรุนแรงภาคใต้ กับ 1 ปีที่สันติภาพกำลังเดินทาง

 

ความขัดแย้งที่ก่อตัวเป็นความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้านับหมุดหมายที่ความรุนแรงปะทุขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปี 2547 กับเหตุการณ์ตากใบ และอีกหลายเหตุการณ์ ต่อเนื่อง  จนถึงวันนี้ก็นับ 10 ปี แล้ว ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ได้เริ่มต้นและเดินทางมาจะครบ 1 ปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556  นี้ 

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ความขัดแย้ง ความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพปาตานี”  โดยความร่วมมือของ  ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน(RCSD) ศูนย์ศึกษาชาติพันธ์และการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ และศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถานีวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี    ความสำคัญของเวทีนี้คือมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพมาร่วมพูดคุยเช่น  ดาโต๊ะสรี อาห์มัด  ซัมซามิน ฮาซิม  อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี    รศ.ดร.มาร์ค  ตามไท นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสันติภาพ  ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี   นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ผู้เป็นหนึ่งในคณะที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี  จากมหาวิทยาลัยพายัพ นักวิชาการผู้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในตนเองคือเป็นมุสลิมจีนและเป็นคนเหนือจากจังหวัดเชียงใหม่

   

1 ปีกับบทบาทผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย

ดาโต๊ะสรี อาห์มัด  ซัมซามิน ฮาซิม  ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานคณะทำงานร่วมว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้ของไทย  กล่าวว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นมาได้ประมาณ 1 ปีมีการประชุมอย่างเป็นทางการหลายครั้ง แต่ก็มีการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายพยายามเข้ามามีส่วนร่วม  อาจะชะงักไปบ้าง เพราะขณะนี้เกิดสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย  ทำให้ไม่มีตัวแทนทางฝ่ายรัฐอย่างเป็นทางการ   แต่กระบวนการทั้งหมดไม่ได้ถือว่าล้มเหลว ยังคงเดินหน้าไป เพราะเพิ่งเริ่มต้นมาได้เพียง 1 ปีและเรากำลังดำเนินการกับปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อนยาวนาน 

 ดาโต๊ะ ซัมซามิน  แบ่งปันประสบการณ์ว่า ข้อท้าทายของกระบวนการสันติภาพภาคใต้มีหลายประเด็น เช่นเรื่องของภาษา  ที่เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มขบวนการที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์  ทำได้ง่ายเนื่องจากใช้ภาษาอังกฤษ แต่ในกรณีของภาคใต้ของไทย จะมี 3 ภาษาไปเกี่ยวข้องคือผู้ดำเนินการใช้ภาษาอังกฤษ ตัวแทนประเทศไทยใช้ภาษาไทย ส่วนตัวแทนขบวนการใช้ภาษายะวี   

“การประชุมส่วนใหญ่เป็นความพยายามให้เกิดกระบวนการสานเสวนา  ไม่ได้เป็นการเจรจา   สิ่งที่พูดคุยเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามทำความเข้าใจทั้งข้อมูลและความรู้สึก  และยอมรับในสิ่งที่แต่ละฝ่ายพูด  นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ทั้งสองฝ่ายคุยอย่างเป็นทางการ และทำบันทึกการประชุมไว้ด้วย จึงอยากเน้นว่ากระบวนการสานเสวนานั้น สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจ ความไว้วางใจต่อกันและกัน เพื่อที่จะพร้อมนั่งพูดคุย พิจารณาปัญหาอย่างจริงๆ และทั้งสองฝ่ายพยายามเอาชนะความรุนแรงด้วยความร่วมมือ”

ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวการพูดคุยสันติภาพระหว่างกันอย่างเป็นทางการแล้ว  จึงมีการจับตา มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมาก หลายครั้งมีข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้าง ปรากฏตามสื่อ ทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด ทำให้คู่เจรจา ฝ่ายผู้ดำเนินการได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเพื่อให้รายละเอียดที่ถูกต้อง  แต่แม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกตีความแตกต่างกันไป บางคนตีความว่า มีปัญหา มีการแทรกแซง จนคู่เจรจาอาจเกิดความกังวลได้   เปรียบเทียบกับกระบวนการสันติภาพของฟิลิปปินส์ที่มินดาเนา  ที่เริ่มปี 2544 ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้นำกระบวนการ จน 2549  ก็ยังไม่มีผู้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ  เขาเก็บทุกอย่างเป็นความลับหมด ไม่มีการประกาศก่อนประชุม ไม่มีสื่อมาจับจ้อง แม้จะมีการทำใบแถลงข่าว แต่สื่อไม่ได้เข้ามามาก แต่ในกระบวนการสันติภาพของภาคใต้  ทุกครั้งที่ประชุมมีการแถลงข่าว มีความคาดหวังต่างๆ มี  มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ  แต่ว่าจำเป็นต้องทำให้เป็นกระบวนการที่เปิดเผย ซึ่งก็เป็นเรื่องท้าทาย

ยืนยันไม่ล้มเหลว-ความสำเร็จคือได้เห็นความรู้สึกซึ่งกันและกัน 

ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวว่าความสำเร็จที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นครั้งแรกที่คู่กรณีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อการสามารถร่วมเจรจากันได้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ แสดงความจริงใจในการสานเสวนาต่อไปและมีกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ หลายฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมด้วย เช่นที่ผ่านมาก็มีกลุ่มพูโลที่เข้ามา

“เราได้พบกับตัวแทนหลายระดับของ BRN     มีตัวแทนของกลุ่มพูโลเข้าร่วม ในพูโลแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยที่เราได้พูดคุยกัน สุดท้ายเขาก็รวมเป็นกลุ่มและส่งตัวแทนเข้าสานเสวนา    ความพยายามให้มีตัวแทน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมให้มาก กระตุ้นให้เขาได้พูดคุยกัน  และขยายผลให้มีส่วนร่วมให้หลากหลายขึ้น  ท่ามกลางปัญหาที่ซับซ้อน  เชื่อว่ายังมีหลายกลุ่มคิดว่าตนเองควรมีส่วนร่วมด้วย”

ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวด้วยว่า  ในช่วงเทศกาลถือศีลอดในปีที่แล้ว ในกระบวนการพูดคุยมีเสนอให้หยุดยิง ซึ่งทุกฝ่ายก็ตกลงกัน  ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้อเสนอที่จะไม่โจมตีเป้าหมายที่อ่อนไหว  เช่นเด็ก ผู้หญิง  ซึ่งหลังจากตกลงกันในช่วงหลายเดือนแรก การโจมตีกลุ่มเหล่านี้ลดลงมาก    อย่างไรก็ตาม 

“อาจมีการมองว่ายังคงมีความรุนแรงอยู่ในภาคใต้  บางคนบอกว่าไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ผมอยากบอกว่า แม้จะมีปัญหาอยู่ แต่บรรลุความสำเร็จในระดับหนึ่ง  ไม่ว่าจะสำเร็จแบบไหนก็ตาม   การเกิดความสนใจในสาธารณะ เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง การมีภาคประชาสังคม กลุ่มนักศึกษาอภิปรายประเด็นนี้มากขึ้น  ไม่เฉพาะที่ปัตตานี แม้แต่ที่เชียงใหม่ ก็มีความสนใจเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้มากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกิดขึ้น  เป็นกระบวนการที่ส่งผลดีและช่วยให้ประชาชนมีอีกมุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้กว้างขึ้น   เวลาที่มีระเบิด เดิมมีการบอกว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน  แต่ปัจจุบันเริ่มมามีคำถามว่าใครเป็นคนทำ   เมื่อปี 2551 มีการสำรวจความคิดเห็นรัฐสภาไทยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น  ตอนนั้นมีการใช้คำว่าผู้ก่อการร้าย โจรใต้ เป็นการปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น แต่หลังจากเริ่มกระบวนการนี้ คนมีอีกมุมมองในการมองปัญหานี้   

ดะโต๊ะชัมชามิน กล่าวด้วยว่า ประเทศมาเลเซียแสดงเจตจำนงที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสันติภาพ  เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลต่อประเทศมาเลเซียด้วย    เราจึงต้องการให้มีทางออก  

“นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่เรายังมีความหวังว่าถึงจะหยุดความรุนแรงไม่ได้ อย่างน้อยก็น่าจะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้  เรามองโลกในแง่ดีว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการหยุดยิงในระดับหนึ่งได้  แต่จะต้องมีการประชุมอย่างเป็นทางการ ระหว่างตัวแทนทั้งสองฝ่าย”   

ผู้ร่วมวงเสวนาตั้งคำถามว่าว่า ในการพูดคุยกัน  ความต้องการของผู้เจรจา BRN   กับความต้องการของประชาชนทั่วไปเหมือนหรือสอดคล้องกันหรือไม่   ดะโต๊ะซัมซามินกล่าวว่า ทุกกลุ่มมีความทุกข์และปัญหากับสิทธิ์ของชาวมลายู และความเชื่อมั่นต่ออัตลักษณ์ของมลายู  ในฐานะของผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ก็ได้ให้เขาแสดงออกถึงปัญหาและความต้องการ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกิดขึ้น  แต่ไม่ว่าเราคุยกับกลุ่มไหนในแง่ข้อเรียกร้อง สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการคือสันติภาพ  แต่ว่าแนวคิดเรื่องสันติภาพก็แตกต่างกันไป   บางกลุ่มบอกว่าสันติภาพหมายถึงไม่มีความรุนแรงเลย บางคนบอกว่าถึงไม่มีความรุนแรงแต่ยังยากจนอยู่ก็เป็นปัญหา ซึ่งในบทบาทของมาเลเซียหวังว่าจะประสานงานให้เห็นทัศนะของกันและกัน 

เป้าหมายยุติความรุนแรง

ดะโต๊ะซัมซามินพูดถึง โรดแมบการเจรจาสันติภาพ  ว่าเป้าหมายคือหยุดความรุนแรง  โดยมีประสบการณ์ที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์  ที่เป็นการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ  สิ่งที่กิดขึ้นครั้งแรกคือการสร้างความรู้สึกปลอดภัย  ให้ชาวบ้านมั่นใจในการใช้ชีวิต เป็นเป้าหมายแรกที่บรรลุได้ หลังจากมีข้อตกลงหยุดยิง   สำหรับในปัตตานีขั้นตอนแรกคือให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย มั่นคงในชีวิต  ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าใช้ชีวิตอย่างสงบสุขก็จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ    สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการหยุดยิงได้อย่างจริงจังคือให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน แสดงเจตจำนง ปฏิบัติตามความรับผิดชอบ เป็นโรดแมพที่อยู่ในใจ   แต่เมื่อไม่มีการประชุมอย่างเป็นทางการ  การแสดงความรับผิดชอบจึงเกิดขึ้นไม่ได้  ดังนั้นการประชุมอย่างเป็นทางการก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะให้มีข้อตกลงหยุดยิงและสองฝ่ายลงนาน  แต่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตนในฐานะคนกลางอาจไม่สามารถให้ความเห็นได้   แต่ยังคงหวังว่า กระบวนการสันติภาพเป็นทางออกของปัญหา 

มีผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นว่า คนทั่วไปในสังคมไทยอาจยังไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อให้คนเข้าใจสาเหตุความขัดแย้ง ควรจะทำอะไรให้คนไทยเข้าใจถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น  ในความพยายามผนวกปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามในอดีต

ดะโต๊ะซัมซามินบอกว่า  นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตนเดินทางมาที่เชียงใหม่ เพื่อให้มีการพูดคุย เพราะแม้แต่คนในสามจังหวัดก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน   1 ปี หลังลงนามในฉันทามติกระบวนการพูดคุยสันติภาพ  ก็หวังว่าจะมีการพูดคุย อภิปรายกันมากขึ้น และมีคนจากภาคอื่นๆ มาประชุมด้วย ในอดีต เวลาพูดถึงสามจังหวัดชานแดนใต้ก็จะพูดถึงระเบิด  การแบ่งแยกดินแดน แต่ในพื้นที่สิ่งที่เขาพูดไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน ดังนั้น การคุยในที่สาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ   ความพยายามให้คนเห็นต่างมีโอกาสได้คุยกันเป็นสิ่งสำคัญ การรับฟังกันเป็นสิ่งสำคัญ”

 

สันติภาพที่ยั่งยืนไม่ใช่ข้อตกลงชั่วคราว

ในช่วงที่ 2 ของงานมีการอภิปรายหัวข้อ 10 ปีความรุนแรง กับ 1 ปี กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสันติภาพอย่าง รศ.ดร.มาร์ค  ตามไท   และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ผู้เป็นหนึ่งในคณะที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพครั้งนี้อย่าง ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี   และนักวิชาการผู้เป็นมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี  จากมหาวิทยาลัยพายัพ

 รศ.ดร.มาร์ค ซึ่งมีประสบการณ์พูดคุยกับขบวนการปาตานีมาประมาณ 7 ปี และ การเกี่ยวข้องกับขบวนการเจรจาสันติภาพที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สเปน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา มองว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน  แต่อาจจะมีโครงสร้างบางอย่างร่วมกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจบริบทของความขัดแย้งตนคิดว่าเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน  ไม่ใช่ข้อตกลงชั่วคราว หรือเพียงการร่างสัญญา  แต่สันติภาพที่ยั่งยื่น จะเกิดขึ้นได้จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ   แต่จะเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างใคร  ต้องไม่ใช่คนที่นั่งอยู่ในห้องเจรจาเท่านั้น  แต่หมายถึงคนปัตตานีกับรัฐไทย   

ซึ่งการจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อได้ตนเห็นว่าจะต้องดำเนินการ 4 อย่างคือ 

1.เริ่มต้นจัดการกับอดีต   เพราะเป็นหนามยอกอกของกลุ่มขบวนการและคนในพื้นที่  โดยรัฐไทยต้องอธิบายคนปัตตานี  ว่าทำเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาจะต้องใช้นโยบายที่เมื่อมองย้อนหลังไปพบว่านโยบายนั้นผิด รัฐไทยขอโทษ คนปัตตานีให้อภัย     แต่ปัญหาคือมีการเคยลองทำตอนตนเป็นประธานกรรมการพูดคุย  ซึ่งพบว่า ใครจะเป็นประธานรัฐไทยนั้น   ไม่มีความแน่ใจ  ว่าหากมีการเปลี่ยนผู้นำแล้วจะยังคงใช่อีกหรือไม่  ส่วนการที่จะให้คนปัตตานีให้อภัยก็ไม่ชัดว่า  ใครให้อภัย     แต่ตราบใดที่ไม่มี “ขอโทษและให้อภัย” สองส่วนนี้ การคุยกันจะเป็นเพียงแค่การจัดงานเฉยๆ และอย่างดีที่สุดก็เพียงแต่ทำสัญญาหยุดยิงชั่วคราว ซึ่งก็ดีกว่าไม่มีอะไร เพียงแต่คิดว่ามันไม่ใช่คำตอบ

อ.มาร์คกล่าวว่า  อาจดูเหมือนทฤษฎี ที่ชอบพูดเรื่อง “ขอโทษ และให้อภัย” ซึ่งในระดับปัจเจกบุคคลก็พอมีให้เห็น  แต่พอเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคม  เริ่มไม่ชัดเจน   ว่าสังคมขอโทษอย่างไร  และการให้อภัยแบบองค์รวมยิ่งเป็นเรื่องยาก    ในสังคมปัตตานีพบเห็นว่ามีปัจเจกให้อภัยอยู่  แต่สิ่งที่จะเป็นคือ คนปัตตานีให้อภัยจะทำอย่างไร แต่ก็ต้องเริ่มหาแนวทาง มิเช่นนั้นหากเข้าพูดคุยปัญหาก็จะย้อนกลับไปที่อดีตตลอดเวลา เพราะเข้าคุยจะย้อนกลับตลอด

2.ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง  กับการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน หรือการหาวิธีอยู่ร่วมกันแบบใหม่ 

3.กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพในปัตตานี   แต่ไม่เพียงพอ ยังมีอีกสองสามส่วนที่สำคัญ  เช่น  การยอมรับของสังคมไทยโดยส่วนรวมเกี่ยวกับวิถีใหม่ของการอยู่ร่วม หมายถึงยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงของการอยู่ร่วมกัน  มิใช่ขอให้หยุดยิงแล้วอยู่เหมือนเดิมมันก็ไม่ใช่  และที่สำคัญความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในปัตตานีเองจะเป็นตัวกดดัน และเป็นผู้ถือคำตอบอยู่  ซึ่งพวกเขาจะต้องพูดออกมาว่าอยากอยู่อย่างสันติสุข  และที่สำคัญความเข้มแข็งของการเมืองไทย   แต่ตราบใดที่ไม่แก้ไขการเมืองภาพรวมของไทย  จะไปทำของที่เป็นเรื่องเฉพาะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง     

พื้นที่พอใจกระบวนการเจรจาสันติภาพจากฐานล่าง

  ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า  สันติภาพต้องมีกระบวนการที่ยาวนาน หลายชั้น และต่อเนื่อง   การเจรจาเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง   ข้างล่างยังมีส่วนที่ใหญ่และลึกกว่า เพราะมีองค์ประกอบของคนส่วนต่างๆ ในสังคม และเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก

  กระบวนการสันติภาพ เป็นกระบวนการทางสังคม  ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง ต้องอาศัยคนหลายฝ่าย    ถ้าเรารอเพียงแค่หยุดยิงอย่างเดียวคงไม่ใช่หากปัญหาในเชิงโครงสร้าง รากเหง้าไม่ได้แก้ เป็นสิ่งท้าทายที่เราเผชิญในปัจจุบัน

สำหรับตนเอง มองกระบวนการสันติภาพในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่ามีความสำเร็จคือมีการประกาศ และยอมรับพูดคุย ของทั้งสองฝ่าย มีความพยายามลดความรุนแรง   ซึ่งมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และเกิดสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ไม่ใช่คู่เจรจาและเป็นพลังที่สำคัญ  คือคนในสามจังหวัดตื่นตัว ให้การยอมรับสนับสนุนค่อนข้างมาก  ในช่วงครั้งแรกมีการทำโพล์ประชาชนในพื้นที่พบว่า  60 % ของกลุ่มตัวอย่า 2,000 คน เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ  ต่อมาจัดทำเป็นครั้งที่ 2 พบความคิดเห็นที่เห็นด้วย  70 %  สะท้อนว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต้องการให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น ซึ่งตรงจจุดนี้ตนเห็นว่ เป็นพลังมากกว่า  ความต้องการของประชาชนที่แสดงออกมา  เติบโตมาก แม้จะไม่เข้มแข็งพอ   แต่เติบโตอย่างมาก มีการทำเวทีจำนวนมาก  มีคนไทยพุทธในพื้นที่ที่ช่วงแรกระมัดะวังไม่เข้าร่วมเปิดเผยตัว แต่ตอนนี้มีการขึ้นเวทีสันติภาพ  อภิปราย  ตั้งเป็นเครือข่ายเป็นกลุ่มคนไทยพุทธเพื่อสันติภาพ   บรรยากาศของการพูดคุยระหว่างประชาชนมากขึ้น   มีการเจรจาระดับด้านล่าง ระดับประชาชน เกิดการขับเคลื่อนมา ทำให้ตนมองว่ายังมีอนาคตอยู่  ทั้งๆ ที่การพูดคุยระดับผู้นำ  ชะงักลงก็ตาม 

ความสงบของภาคใต้เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจของสังคม

สำหรับทัศนคติคนไทยส่วนใหญ่ต่อสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้  เป็นปัญหาจริๆ เพราะคนไทยส่วนใหญ่  เห็นว่าปัญหาภาคใต้ไกลตัว  เราได้พยายามสื่อไปยังวงกว้าง แต่ยังจำกัด คนจับประเด็นภาพความรุนแรง ความโกรธแค้น ไม่พอใจ ทั้งที่อารมณ์ของคนในพื้นที่เปลี่ยนไป แต่ภายนอกมองมาไม่เปลี่ยน สะท้อนความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยดีนักและสะท้อนให้เห็นในความขัดแย้งที่ส่วนกลางด้วย ซึ่งแนวทางสันติภาพจะเกิดยากหากมีความรู้สึกหรือการแสดงออกที่รุนแรง 

“อนาคตของกระบวนการสันติภาพอยู่กับความรู้สึก อารมณ์ของคนส่วนใหญ๋ในประเทศไทยด้วย  ถ้าเราจะเดินไปในแนวทางสันติภาพ ทำอย่างไรจะให้โมเดลภาคใต้ กระดอนไปสู่ด้านบน  อย่างน้อย มองเห็นว่า ในความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น  คนที่นั่นยังพยายามจะให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ   แต่ความขัดแย้งในกรุงเทพที่หันไปหาความรุนแรง แทนที่จะหันไปหาสันติภาพ  เมื่อถอดประสบการณ์แล้วเห็นว่า ควรจะสร้างพื้นที่กลาง พื้นที่ร่วมของประชาชน  จะเป็นแรงหนุน ให้เกิดการพูดคุยของผู้ขัดแย้ง   ถ้าเราใช้ประสพการณ์ภาคใต้ไปแก้ปัญหาส่วนกลาง แล้วเราจึงจะกลับไปแก้ปัญหาภาคใต้ได้  การเดินทางของสันติภาพ มีความต่อเนื่อง มีกลไก  หากเราจะมีกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ที่ยั่งยืน ต้องให้แนวทางสันติภาพเกิดกับสังคมไทยส่วนใหญ่ด้วย”

รูปธรรมการให้อภัยแบบองค์รวมเพื่อพลิกบรรยากาศ

ผศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า  โจทย์ใหญ่สันติภาพชายแดนใต้ เกี่ยววข้องกับภาวะการเมืองที่เป็นเช่นนี้อยู่ด้วย  สิ่งที่ตนคิดคือปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาชายแดน  แต่เป็นปัญหาการยอมรับกับสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่  ซึ่งต้องจะทำความเข้าใจ  แพราะแม้ไม่ใช่คนใต้  แต่มุสลิม หรือคนเหนือก็ได้รับผลกระทบ เช่นกรณีเกิดเหตุการณ์ครูจูหลิง หรือผู้พิพากษาชาวสารภีเสียชีวิต ช่วงนั้นมีใบปลิวโจมตีชาวมุสลิมในภาคเหนือ  ผู้หญิงมุสลิมถูกชี้หน้าด่ากลางสี่แยก    

ตนเห็นว่าเรื่องการให้อภัยจากส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ และมีตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งแต่มีการให้อภัยกันเป็นต้น

ผศ.ดร.สุชาติ  ยกตัวอย่างหมู่บ้านชาเตี๊ยงที่ยูนนาน ประเทศจีน  ซึ่งช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนราวปี  1974-75   หมู่บ้านนี้ถูกทหารล้อมนานนับสัปดาห์ เกิดการต่อสู้จนในที่สุดบ้าน 4,000 กว่าหลังถูกเผา คนตาย 1,600 ศพ  

“ผมเดินทางไปที่ฝังศพชาวมุสลิมที่นั่นพบอนุสาวรีย์อัชชาหีบ ซึ่งบ่งบอกถึงว่าคนพวกนี้ตายในนามของพระเจ้า แล้วมีชื่อภาษาจีนเรียงต่อท้าย ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองฮาลีลายอ จะมีพี่น้องชาวมุสลิมล้อมอนุสาวรีย์เพื่อละหมาด ซึ่งในพิธีนั้นจะเชิญคนของรัฐบาลจีนมาร่วมงานด้วย  การที่เขาทำเช่นนี้เพื่อให้เกิดการจดจำ เพื่อที่จะได้ให้อภัย และจดจำว่าไม่ให้ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะเราจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไป  ตัวอย่างนี้จะพอเป็นรูปธรรมของการให้อภัยจากส่วนรวมได้หรือไม่”

ผศ.ดร.สุชาติกล่าวว่า รัฐไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างการจดจำในลักษณะนี้ แม้แต่นักวิชาการมุสลิมเองก็ไม่ให้ความสำคัญ ครั้งหนึ่งนักศึกษาเคยถามอาจารย์มุสลิมท่านหนึ่งว่า มีอนุสาวรีย์ในเมืองตั้งมากมายแต่ทำไม ไม่มีอนุสาวรีย์ตากใบ อาจารย์ท่านนั้นตอบว่าจะสร้างขึ้นมาทำไม สร้างขึ้นมาเพื่อให้จดจำอะไร

ผศ.ดร.สุชาติ ยังกล่าวถึง  การที่ในพื้นที่มีโครงการนำผู้นำ เยาวชนมุสลิมภาคใต้มาดูเยี่ยมพี่น้องมุสลิมตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันในวิถีที่แตกต่างหลากหลาย แต่ แทนที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เช่นเป็นต้นว่า ชุมชนมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยสามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธที่เป็นคนกลุ่มใหญ่อย่างไร กลับกลายเป็นว่า พาไปกินข้าวซอย ชมดอยสุเทพ พอเด็กกลับไปกลับกลายเป็นความตึงเครียด เพราะบางครั้งก็พาไปดูในสิ่งที่ผิดหลักศาสนา เช่นการแสดงที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้สิ่งที่ละเอียดอ่อน  

“กระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนนั้น ควรเริ่มสร้างตั้งแต่ความขัดแย้งยังไม่เกิด การสร้างสันติภาพไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างเมื่อความขัดแย้งมันเกิด การสร้างสันติภาพอาจจะต้องเตรียมพื้นฐานอะไรอีกมากมายเพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศหรือเงื่อนไขของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าประเด็นในภาคใต้ที่มันมีทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ความเป็นมุสลิม ความเป็นชาติพันธ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง” ผศ.ดร.สุชาติ กล่าว

ผศ.ดร..ศรีสมภพกล่าวถึงกรณีกลุ่มเยาวชนของมลายู ว่าเป็นกลุ่มพลังที่สำคัญ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่เขากล้าพูด และรัฐไทยเปิดให้เขาแสดงออก  มิเช่นนั้นเขาอยู่ใต้ดิน  หากมีพื้นที่กลางในที่สาธาณ ก็จะปลอดภัย   เราต้องยอมรับว่าควรรู้สึกเชื่อมันในอัตลักษณ์ หรือต่อชาติพันธุ์นิยมมาเลย์ที่สูงมากมีอยู่ ซึ่งถ้าเรายอมรับว่ามีอยู่ แต่หาทางออกที่ยึดแนวทาง ไม่ใช้ความรุนแรง

รศ.ดร.มาร์คกล่าวว่า เรามองข้ามพลังของการขอโทษไม่ได้  เพราะเห็นตัวอย่างในหลายประเทศ เช่นที่ อ.สุชาตินำเสนอ  กรณีภาคใต้การขอโทษและให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ใครจะขอโทษได้ ใครให้อภัยได้ สำหรับเขาแล้วผู้ขอโทษคือสถาบัน  รัฐไทย  และผู้แทนให้อภัยคนเห็นว่าสามจังหวัดมีพลังที่จะเป็นตัวให้อภัยคือศาสนา  ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ จะพลิกบรรยากาศได้  แม้เรื่องจะยังไม่จบเลยทีเดียว    ปัญหาหลักในสามจังหวัดชายแดนใต้คือความระแวง การระแวงคือเรื่องของใจ ตราบใดที่มองปัญหาสามจังหวัดเป็นเรื่องความมั่นคงก็จบ  เพราะปัญหาที่แท้จริงเป็นปัญหาจริยธรรมการอยู่ร่วมกัน  จึงเป็นเรื่องที่ น่าจะศึกษาดูถึงแนวทางทำให้เกิดเรื่อขอโทษและให้อภัย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ