วันนี้ 22 ก.ย. 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY เปิดแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 7 ย้ำ ประชาชนต้องการให้มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นจากการรับฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่
Peace Survey เป็นการวิจัยเชิงสำรวจอย่างเป็นระบบเพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่ ความเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ หาดใหญ่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ต่อปัญหาความไม่สงบ การสร้างสันติภาพและประเด็นอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งสาเหตุของปัญหาและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลสรุปสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลาตั้งแต่พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 22,166 ครั้ง ความรุนแรงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 7,520 คน และผู้บาดเจ็บ 13,968 คน
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ประธานคณะทำงานวิชาการ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 หลังจากการพูดคุยสันติภาพในครั้งแรก และเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงตามลำดับจนถึงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่ผลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กลับสะท้อนออกมาในทางที่ยังคงรู้สึกว่า สถานการณ์เหมือนเดิมไม่ได้ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงลดลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนคือ การรับรู้ของภาคประชาชนมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายรัฐ ซึ่งในระยะหลังรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มสูงขึ้นของการวิสามัญฆาตกรรม และความรุนแรงเหล่านี้มักไม่ถูกนำไปพูดคุยบนเวทีสาธารณะ
ด้านนางสมใจ ชูชาติ ผู้นำชุมชน ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ประชาชน 33.6 ไม่เคยได้ยินข่าวการพูดคุยเรื่องสันติภาพและสันติสุขเลย ดังนั้นการสื่อสารเป็นข้อท้าทายสำคัญ ประชาชนคาดหวังว่าการปรึกษาหารือสาธารณะ จะเป็นกลไกสื่อสารระหว่างคู่เจรจากับประชาชน โดยฝ่ายที่ประชาชนอยากฟังข้อมูลมากที่สุดจากรัฐบาล ร้อยละ 55.4 รองลงมาคือนักวิชาการ ร้อยละ 50 และภาคประชาสังคม ร้อยละ 49.8 นอกจากนี้ ต้องมีการสื่อสารไปยังคนในและนอกพื้นที่ได้เข้าใจและรับรู้เท่าทันในประเด็นที่เป็นข้อตกลงหรือข้อที่ยังเป็นที่ถกเถียง
จากการประมวลผลทั้งข้อมูลเชิงปริมาณจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,312 คน และข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ผู้นำความคิดเห็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและประชาชนกลุ่มต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่ จำนวน 85 คน นำมาสู่การเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลใหม่ทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้
อ่าน 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่และเรื่องเร่งด่วน
- ดำเนินมาตรการลดความรุนแรงตามข้อตกลงสันติภาพ ทั้งความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง โดยมีใจความสำคัญ 3 ประการคือ หลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อนหรือพลเรือน, เสริมศักยภาพของชุมชนในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของตนเองโดยปราศจากอาวุธ และเจ้าหน้าที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมผู้มีความเห็นต่างจากรัฐที่ต่อสู้ในระหว่างการปิดล้อมตรวจค้น
- แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ผ่านองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ , ควรมีการตั้งคณะกรรมการซึี่งประกอบด้วยกลุ่มคนจากหลายฝ่ายเพื่อสอบสวน , ใช้กระบวนการทางการเมืองและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับ , กลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของจนท และควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- มีกลไกการเมืองและกลไกทางกฎหมายรองรับกระบวนการพูดคุยที่ครอบคลุมทุกฝ่าย
- พัฒนาและปรับปรุงกลไกการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การทำให้กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้เป็นวาระสาธารณะ
- เพิ่มบทบาทของประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทุกฝ่าย โดยประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการหารือสาธารณะโดยไม่ถูกคุกคาม และควรตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐ, BRN และภาคประชาชน
- กระจายอำนาจมากขึ้น ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่
- การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่โอกาสการสร้างสันติภาพเชิงบวกและยั่งยืน
นอกจากข้อเสนอท้ัง 7 ข้อข้างต้น ในช่วงท้ายของการถาม-ตอบระว่างผู้ร่วมงานเสวนาและนักวิชาการเครือข่าย Peace Survey ยังพบข้อสรุปที่น่าสนใจบางประการจากผลการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว
สรุปประเด็นที่คำถามน่าสนใจจากช่วงแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
- ปัจจุบันนิยามของความรุนแรงมีขอบเขตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยามความรุนแรงรวมไปถึง การจำกัดสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกสาธารณะ หรือการดำเนินการและใช้ความรุนแรงการทางด้านกฎหมาย จึงส่งผลให้ แม้สถิติความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ลดลงแต่ประชาชนยังคงรู้สึกว่า สถานการณ์ความรุนแรงยังเหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
- ในแง่ของการรับฟังและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ภาคประชาชนต้องการมากที่สุดคือ ฝ่ายรัฐ อนุมานได้ว่าเป็นเพราะในปัจจุบันรัฐยังไม่มีการสื่อสารที่มากเพียงพอ
- การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนที่สำคัญที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ยากคือ ข้อจำกัดของข้อมูลและข้อปฏิบัติในการเข้าพูดคุยกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้
สำรวจผลการวิจัยที่น่าสนใจ การสำรวจ 7 ครั้งที่ผ่านมา
ดังจะเห็นได้ว่าสเปคตรัมแห่งความหวังพบว่าประชาชนสนับสนุนการพูดคุยสูงถึง 70.3 แต่ความก้าวหน้าของพูดคุยต่ำกว่ากึ่งหนึ่งหรือมีคะแนนเพียง 33.7 เท่านั้น หมายความว่าความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติภาพไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง
อนึ่ง เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการวิชาการและองค์กรภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 25 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต่อสภาพการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ โครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 7 ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของรายงานได้