“มุม” – ประภาส ปิ่นตบแต่ง : เครื่องมือใหม่ของขบวนการคนจนไทย

“มุม” – ประภาส ปิ่นตบแต่ง : เครื่องมือใหม่ของขบวนการคนจนไทย

“มุม” – ประภาส ปิ่นตบแต่ง : เครื่องมือใหม่ของขบวนการคนจนไทย

ที่มา – สารตั้งต้น ฉบับที่ 1 : ตุลาคม 2551

 

“ผมว่านักข่าวพลเมืองมีความ สำคัญมาก ตอนนี้ชุมชนอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะอยู่ท่ามกลางการปะทะประสานจากข้างนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานทรัพยากรหรือเรื่องอะไรก็ตาม นักการเมืองก็เข้ามา เพราะฉะนั้น นักข่าวพลเมืองก็คือคนที่อยู่บนฐานการต่อสู้ของชุมชน แต่การต่อสู้ท่ามกลางการปะทะประสานมันใหญ่ จึงต้องการสร้างพลังทั้งจากภายในซึ่งก็ต้องสร้างความเข้มแข็งกันเองก่อนด้วย และก็สื่อสารกับสังคมข้างนอกไปพร้อมกัน”

นี่คือความเห็นของ ‘ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง’ นักวิชาการรัฐศาสตร์ติดดินที่คลุกคลีอยู่กับขบวนการคนยากจนมานาน คือตะกอนประสบการณ์ ตั้งแต่การต่อสู้ร่วมกับขบวนการคนจนระดับชาติอย่างสมัชชาคนจนในฐานะนัก วิชาการ สู่การต่อสู้ร่วมกับ “ชาวนา ต.คลองโยง จ.นครปฐม” ชุมชนเกษตรกรรมของตัวเองในฐานะ “นักข่าวพลเมือง”

วันนี้ ประภาส บอกว่า เขาค้นพบ ‘เครื่องมือใหม่’ ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “พื้นที่ทางสังคม” ของชาวบ้าน จากแต่เดิมที่ใช้การเดินขบวน-ปิดถนน-ล้อมทำเนียบ และอีกสารพัดวิธีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

“พื้นที่การต่อสู้ของคนซึ่งไม่มีช่องทาง หรือทรัพยากรในระบบการเมืองปกตินั้น แต่เดิม ชาวบ้านต้องทำแบบสมัชชาคนจน เช่น ปิดทำเนียบให้เป็นข่าว ยอมให้ตัวเองถูกจับ ยอมเสี่ยงอันตราย ยอมผิดกฎหมาย ต้องแลกเอาความทุกข์ความยาก ความเจ็บปวด เพื่อให้ได้พื้นที่เพื่อสื่อสารกับสังคม หรือที่เราเรียกกันว่า ‘การเมืองบนถนน’ แต่วันนี้ มีพื้นที่สื่อสาธารณะใหม่ๆ ทั้งเว็บไซต์จำนวนมากและทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ความเป็นนักข่าวพลเมืองทำให้ชาวบ้านก้าวพ้นจากตรงนั้น”

“ก้าวพ้นจากความเสี่ยง ก้าวพ้นความทุกข์ความยาก ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครอยากทำ แต่มันไม่มีช่องทาง ตอนนี้เรามีช่องทางแล้ว เราต้องมาช่วยกันคิด มาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพราะเราใช้พื้นที่ข่าวพลเมืองได้โดยไม่ต้องลงทุนด้วยความทุกข์ความยากและ ความเสี่ยงทั้งหลาย”

ด้วยสายตาที่พินิจพิจารณา เขาบอกว่า พัฒนาการของการรายงานข่าวพลเมืองในช่วงหลังไปไกลมาก ทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาไปได้เยอะ แม้กระบวนการแก้ปัญหานั้นจะยังไปไม่สุดก็ตาม แต่กระบวนการต่อสู้ที่เริ่มด้วยการรายงานข่าวจากพลเมือง เป็นกลวิธีทำให้ชาวบ้านต้องนำข้อมูลข้อเท็จจริงคลี่ออกมาทีละประเด็นแล้ว เลือกหยิบขึ้นมาสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งในระดับสังคมวงกว้าง และในชุมชนด้วยกันเอง

“ประสบการณ์ทำข่าวพลเมืองในพื้นที่คลองโยง บ้านผม ทำให้เห็นว่า สื่อที่ใช้มีสองด้าน ผมอยากให้พื้นที่อื่นที่จะกำลังทำ ลองดูว่า การ ‘สื่อ’ กับคนข้างนอกก็เป็นเรื่องสำคัญ เวลาเรา ‘สื่อ’ ข้างนอกก็ต้องนึกถึงประเด็นที่เป็นสาธารณะ ประเด็นที่มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ กับอีกด้านหนึ่ง ‘สื่อ’ เหล่านี้ สามารถนำกลับมาใช้ในพื้นที่ได้ด้วย”

สื่อถูกนำกลับมาใช้ในพื้นที่ได้อย่างไร?

“ทั้งข่าวพลเมืองที่สื่อสารกับสาธารณะแล้ว และภาพวีดีโอที่ถ่ายเก็บไว้เวลาพวกผมไปเจรจาเรื่องที่ดินกับเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็เอากลับมาฉายในพื้นที่อีกครั้ง คนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยต่อสู้มาก่อนอย่างชาวนาคลองโยง เดิมเขารู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนในสังคม แต่เวลาเขาเห็นปัญหาของเขาไปปรากฏในทีวี เขารู้สึกว่าไอ้คนที่จะสู้ร่วมกันกับพวกเขา กลุ่มเล็กๆ นี่ มันก็พอมีพลังนะ พูดง่ายๆ ก็คือ ตัวตนที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะได้กลับมาเสริมพลัง (ตัวตน) ชาวบ้านนอกจอทีวีด้วย ยิ่งเรื่องของเขาได้ถูกสื่อออกไปอยู่เป็นระยะ ช่วงหลังๆ คนก็เข้ามาร่วมกันต่อสู้มากขึ้น ต่างจากตอนแรกที่เขามีความกลัวอยู่ ผมคิดว่าเรื่องสำคัญก็คือ เขาเห็นตัวตนของตัวเอง เห็นตัวตนของชุมชนผ่านสื่อเหล่านี้  กลายเป็นว่า สื่อที่เราทำเองกลับไปหมุนชุมชนด้วย เราจึงได้รู้จักสื่อในอีกมิติในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม และกิจกรรมการเคลื่อนไหวด้วย”

“ช่วงหลังๆ ผมเริ่มเห็นพลังของสื่อแบบนี้มากขึ้น ตอนนี้เราต้องรู้จักเครื่องไม้เครื่องมือ ต้องเรียนรู้พื้นที่ด้วย คนที่จะเข้ามาจับเรื่องนี้ต้องรู้ว่าพื้นที่เราอยู่ตรงไหน หมายถึงทั้งพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นสื่ออีกแบบหนึ่งที่เราทำเองได้ เราต้องเห็นพลังของมันทั้ง 2 ด้าน ว่าจะเอามาใช้อย่างไร อัตลักษณ์ของตัวเองคืออะไร แต่ไม่ใช่ไปหาพลังชุมชนแบบหาว่าบ้านไหนสานตะกร้าสวยนะ (หัวเราะ)”

เขามองว่า ในอนาคต นักข่าวพลเมืองกับการสื่อสารสมัยใหม่ สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สื่อออนไลน์ หรือสื่อทีวี จะมีความสำคัญมากขึ้น คนในกระบวนการต่อสู้ต้องมานั่งคิดกันใหม่

“ในสมัชชาคนจนเองก็คุยกันว่าการต่อสู้มี ‘พื้นที่ใหม่’ เกิดขึ้น เพราะสื่อกำลังปฏิวัติตัวเอง และประชาชนก็ต้องช่วยปฏิวัติสื่อด้วย อันนี้สำคัญ นักข่าวพลเมืองสำคัญในแง่ที่ว่า เราต้องช่วยปฏิวัติสื่อจากข้างล่างจริงๆ ซึ่งไม่ใช่แบบคำรณ หว่างหวังศรี ซึ่งก็สนุกดี (หัวเราะ) หรือว่า คนค้นคน ก็เป็นสารคดี ความรู้ที่ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง หรือข่าวปัญหาชาวบ้านของช่อง 7 นะ แต่จะต้องเป็นข่าวที่มาจากข้างล่างจริงๆ”

ถามว่าชาวบ้านทำข่าวพลเมืองเองได้ไหม? ดร.ประภาสตอบหนักแน่น “ทำด้ายยยยย!”

“ตอนนี้ในเชิงเครื่องไม้เครื่องมือ มีคนในชุมชนทำได้เยอะ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ ผมเห็นเครือข่ายอีสานเขาทำได้เยอะ หรือในพื้นที่อื่นๆ ถ้าเป็นเครือข่ายที่ไม่ใหม่นัก กล้องวีดีโอ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค เครื่องไม้เครื่องมือพวกนี้ในระดับเอ็นจีโอพี่เลี้ยงมีหมด ผมเชื่อว่าเราพัฒนากระบวนการสื่อสารได้ แต่ถามว่ายากไหม ยากครับ อย่างที่นครปฐมบ้านผม ทีมจากทีวีไทยก็ลงไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงเยอะเหมือนกันนะ เราก็ได้แต่วางโครงใหญ่ๆ เขาไปช่วยดูเรื่องภาพ  มีที่ผมทำเองจริงๆ ตัดต่อเองมีแค่ 1-2 ตอนเท่านั้นเอง จากที่ออกไปทั้งหมด 6 ตอน”

“สรุปคือว่าในเชิงเทคนิค การทำข่าวพลเมืองมันลำบากนิดหน่อย แต่ผมคิดว่าเราฝึกได้ พัฒนาได้ และจริงๆ ผมเชื่อว่าชาวบ้านทำได้ แต่ต้องมีคนไปเป็นพี่เลี้ยงก่อนระยะแรก แล้วใช้ศักยภาพเครือข่ายเอ็นจีโอที่เขามีเป็นพี่เลี้ยงประคับประคองต่อไป และในที่สุดแล้ว เมื่อพวกเขาตั้งขบวนได้ เขาจะเติบโตโดยสื่อสารได้อย่างมีพลัง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคต”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ