หากพูดถึงหาดใหญ่ ชื่อของกิมหยง ตลาดที่ตั้งอยู่กลางเมืองน่าจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ แต่หากพูดกันถึงจุดไข่แดงหรือใจกลางเมือง ใจกลางย่านเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ และเป็นแหล่งสตรีทฟู๊ดขึ้นชื่อสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยแล้ว คงหนีไม่พ้น “ถนนเสน่หานุสร”
ไม่ว่าสองข้างทางของถนนคนเดินจะคึกคักเพียงใด แต่สิ่งที่สวนทางกันคืนห้างสรรพสินค้าของย่านนี้กลับเงียบสนิท มีนักท่องเที่ยวน้อยมากหากเทียบกับร้านอาหารสตรีทฟู๊ดด้านล่าง นานวันเข้าห้างเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกลืมไปของผู้คน
ภัฏ รักษ์ทองธนา หรือนอท ผู้จัด Sanehar Paradiso เล่าถึงวัตถุประสงค์แรกของการเลือกพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองหาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของห้างลีการ์เดนส์พลาซ่า ส่วนชื่อ “Sanehar Paradiso” คือการนำคำว่า “Sanehar” มรามาจากชื่อถนนเสน่หานุสร ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างแห่งนี้ รวมกับคำว่า “Paradiso” เอามาจากชื่อหนัง Cinema Paradiso ซึ่งนอทบอกว่าเป็นหนังที่มีความหมายถึง “การระลึกความหลัง”
“เอาง่าย ๆ คืออะไรที่กรุงเทพฯ มีเราก็สามารถมีได้ เอาเข้ามาจัดแสดงที่นี่ได้ น้อง ๆ หรือคนในเมืองก็มีโอกาสมาสัมผัสได้ เห็นความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรมและรสนิยมที่เป็นสากลร่วมสมัย และพวกเขาสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้”
ภัฏ รักษ์ทองธนา ผู้จัด Sanehar Paradiso
งานเปิดบ้าน Sanehar paradiso จัดขึ้นครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องาน Sanehar Open House ณ ชั้น 2 ลีการ์เดนส์ พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ ที่รวบรวมเยาวชน กลุ่มขับเคลื่อนเมือง และศิลปินชาวหาดใหญ่ มาร่วมกันถ่ายทอดผลงานของตัวเองเพื่อสื่อสารกับคนหาดใหญ่ และนักท่องเที่ยวของเมือง
“เมืองเรากำลังเป็นเมืองแห่งโอกาสตอนนี้น้อง ๆ กำลังกลับมาอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือความหลากหลายวันนี้เราโอเพ่นเฮาส์ให้ดูว่าเมืองหาดใหญ่มีกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เป็นพื้นที่แห่งโอกาสคือให้เยาวชนที่ทำอะไรอยู่สักอย่างได้เปิดตัว เป็นพื้นที่ให้เขาได้ปล่อยของ ให้รู้ว่าศิลปะมันไม่ได้ยาก ในการที่จะดำรงอยู่ในตัวเขา เป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาทำอะไรต่อไป และภูมิใจในสิ่งที่ทำอยู่” นอททิ้งทายถึงความคาดหวังของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในครั้งนี้
“งานชุด “ยังอยาก” เป็นงาน digital painting ที่เคยทำไว้เมื่อปีที่แล้ว และเคยเอาโชว์เป็นในงานเล็ก ๆ มีทางทีมไปชวนมาจัดที่อีกครั้งเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเรา งานครั้งนี้ของเรามีจัดแสดงทั้งหมด 9 ชิ้น ได้มาจากความอยากที่ได้ยินทุกคนบ่นกัน บวกกับไพ่ทาโร่ ที่ใช้ดู(ทำนาย)อดีต ปัจจุบัน อนาคต” วรกานต์ เก้าวิชา หรือ MEW MEW ศิลปินหน้าใหม่ชาวหาดใหญ่ที่ร่วมจัดแสดงผลงานในการเปิดตัว Sanehar paradiso ครั้งนี้
นิทรรศการชุด “ยังอยาก” ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “9 ความอยาก” ที่ยังอยู่ ของคนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดออกมาเป็นสีสันสดใส 9 ภาพ เพื่อชวนทุกคนไปสำรวจว่า “เด็กสมัยนี้” อยากทำอะไร และชวนทำนายดูว่าความอยากเหล่านั้นจะเราไปในทิศทางใดบ้าง วรกานต์ เก้าวิชา
“ตั้งแต่ช่วงประถม ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกว่ามีการเปิดพื้นที่เยอะขนาดนี้มาก่อน เมื่อก่อนเมื่อเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะ เราก็จะนึกถึงสวนสาธารณะ หอดูดาวของเทศบาล แต่พอยุคหลัง ๆ มารู้สึกว่ามันเกิดพื้นที่ที่มีความพร้อมมากขึ้น” เธอเล่าย้อนถึงชีวิตในเมืองหาดใหญ่ของเธอกับความทรงจำในเรื่องพื้นที่สาธารณะ
“ช่วงหลังโควิด-19 เรารู้สึกว่าคนรุ่นเรา เยาวชนมีความกระตือรือร้นในการอยากมีส่วนร่วมกับเมืองมากขึ้น มีความสนใจ ไฟแรงขึ้น อาจเป็นเพราะช่วงนั้นเราอยู่ในช่วงมัธยมปลายด้วย ซึ่งดูแค่สังคมของเรา และเยาวชนรู้สึกว่าทุกคนให้ความสนใจกับการพัฒนาเมืองมากขึ้น” วรกานต์ เล่าถึงปรากฎการณ์ที่เธอสังเกตุเห็นในช่วงที่ผ่านมา
ณัฐวัฒน์ ปาลสุข หรือไอซ์ หนึ่งในผู้จัดแสดงงานครั้งนี้ภายใต้นิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกของเจ้าตัวที่ใช้ชื่อว่า MOODDY IS HAPPY, MOODDY IS HAPPY. In the mood for lonely ที่ปัจจุบันเป็นบาริสต้าประจำคาเฟ่เล็ก ๆ ในเมืองหาดใหญ่ และเลือกใช้ช่วงเวลาว่างถ่ายภาพเพื่อบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง
“ผมแค่ถ่ายรูปช่วงเวลานั้นที่ผมรู้สึกชอบบรรยากาศตอนนั้น แต่ว่าผมไม่ได้เป็นช่างภาพ เพียงแค่เปิดร้านเพื่อให้คนมารวมกัน คุยกัน แล้วชงกาแฟให้เขาดื่ม ตื่นเต้นเพราะไม่เคยมีนิทรรศการแบบนี้มาก่อนในชีวิต เห็นคนที่ชอบงานเรา เราก็รู้สึกดีใจ” ไอซ์เล่าถึงผลตอบรับจากนิทรรศการครั้งแรกของเขา
“จากเดิมที่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา(คนเดียว) แต่วันนี้สปอตไลท์ส่องเข้าไปหาแล้วคนได้เห็นศักยภาพของคนทำงานศิลปะ คนได้เห็นพื้นที่ที่สามารถแสดงงานศิลปะได้ เหมือนกับว่าสังคมให้โอกาสงานศิลปะมากขึ้น”
ณัฐวัฒน์ ปาลสุข
“สังคมมันเปลี่ยนไป คนกล้าที่จะออกมาทำอะไรบางอย่างมากขึ้น รู้สึกดีที่เมืองให้โอกาสคนมากขึ้น แม้การเปลี่ยนแปลงของเมืองเหมือนวงล้อที่หมุนไปเรื่อย ๆ บางคนยังคงยึดวงล้อไปได้อย่างเหนียวแน่ แต่ขณะเดียวกันเมืองก็ยังรองรับคนที่พักเหนื่อยแล้วกลับมาเกาะวงล้อใหม่ และยังสามาถตามทันเพราะวงล้อของเมืองไม่เร็วไป ก็หวังว่าจะมีพื้นที่แบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อให้คนอีกหลาย ๆ คนได้แสดงศักยภาพของตัวเอง แล้วมีพื้นที่ให้เขาได้ออกมาสาดสีอย่างที่เขาต้องการ” ไอซ์ ทิ้งทายด้วยความคาดหวังว่าจะเกิดพื้นที่อย่างนี้เพิ่มมากขึ้นในหาดใหญ่
รัตนสุดา ถาวรรัตน์ จากกลุ่มมานีมานะ ที่นำผลงาน “Born in the Layers กำเนิดโดยเสน่หา” ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะตัดกระดาษ (paper cut) ที่ชวนมาสำรวจและตั้งคำถามกับจุดเริ่มต้นของชีวิต ที่เผชิญกับกรอบ เส้น สภาพแวดล้อม อันทับซ้อนที่ไม่อาจคาดเดา
“มีทั้งโรงเรียนทางเลือก มีเยาวชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำงานที่หาดใหญ่ กลุ่มที่ทำเรื่องเมือง หรือแม้กระทั่งละครเวทีจากกรุงเทพฯ มาร่วมเล่น มาร่วมทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่แห่งศิลปะจริง ๆ มันคือศิลปะที่ไม่ได้ยึดโยงกับใคร แล้วพอมีพื้นที่แบบนี้ ใครก็ได้ที่จะผลิตงานหรือแสดงงานของตัวเองออกมา” เธอพูดถึงโอกาสที่ทุกคนจะเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้น