“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ส่องซอดมองอีสาน ผ่านงานเพลง-หมอลำ

“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ส่องซอดมองอีสาน ผ่านงานเพลง-หมอลำ

หากจะพูดถึงประโยคฮิตประจำเดือนกันยายน 2566 ถ้าคุณเล่น Social Media เชื่อว่าหลายคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ประโยคไวรัลจากคลิปบรรยากาศการแสดงหมอลำที่มีผู้หญิงร้องขึ้นมา พร้อมด้วยเนื้อเพลงที่ค่อนข้างจะล่อแหลม

วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอีสาน หรือความสนุกสนาน อะไรกันแน่ที่แฝงอยู่กับคลิปดังข้ามเวลา ที่แม้จะผ่านไปกว่า 30 ปี แต่ก็ยังถูกหยิบเอามาพูดถึงในสังคมไทย วันนี้เราลองมาวิเคราะห์ร่วมกัน

หมอลำหรือเพลงอีสาน ต้องใช้คำไม่สุภาพหรือ ?

“วัฒนธรรม หรือ ภาษา ที่ใช้ในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หมอลำมีอยู่เพื่อหนึ่งสร้างความสนุกสนาน สองเพื่อบอกข่าว แจ้งข่าว ประชาสัมพันธ์ ในความเป็นอีสาน หมอลำนั้นมีมายาวนาน และภาษาที่สองแง่สามง่ามก็ถูกใช้มานาน เพื่อปลุกให้ตื่น หรือให้สนใจฟังหมอลำมากขึ้น”

ผศ.ชอบ​ ดีสวนโคก​ นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ได้ให้ความเห็นกับคลิปไวรัลที่ถูกพูดถึง และเชื่อมโยงไปกับประวัติศาสตร์หมอลำที่เคยมีมา ว่าคำสองแง่สองง่ามนั้นเป็นคำที่คนสนใหญ่ใช้ในการปลุกพลัง จากความเมื่อยล้า เช่น ไปทำงาน ขุดบ่อ ขุดสวน แล้วเมื่อยล้า ก็ร่วมกันร้องเพลงลำและสอดแทรกคำเข้าไปเพื่อปลุกให้ตื่น หรือสร้างความฮึกเหิมให้มีแรงในการทำงานต่อ

และมันก็กลายเป็น 1 ในครรลองหมอลำที่สืบทอดกันมา ว่าถ้ามีคำสองแง่สองง่าม เวลาไปทำการแสดงสดซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลากลางคืน จะช่วยกระตุ้นให้คนที่กำลังง่วงหลับ ตื่นขึ้นและสนใจหมอลำมากขึ้นนั้นเอง ซึ่งคนอีสานส่วนใหญ่มองว่ามันไม่ใช่ความหยาบโลนเสียทีเดียว แต่มันสอดแทรกความสนุกสนานอยู่ในนั้นมากกว่า ไม่ควรเอาวัฒนธรรมหรือความเข้าใจของภาคอื่นมาเป็นตัวตัดสิน

“แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของกาลเทศะ ทำให้มันถูกกาลเทศะ ซึ่งจริง ๆ มันมีมานานแล้ว ต้องรู้จักปรับใช้ เพราะกาลเวลาเปลี่ยน ความเชื่อก็เปลี่ยนไป และเราต้องดูด้วยว่าในบริบทสังคมหรือชุมชนนั้น ถ้าจะนำไปแสดงได้หรือไม่ เช่น ในคลิปก็ถูกนำมาใช้ และผู้ชมก็ไม่ได้มองว่าหยาบคาย ก็สนุกสนาน ปรบมือ แต่บางพื้นที่ถ้ามองว่าใช้ไม่ได้ ก็ไม่สมควรใช้”

Social Media เข้ามา ทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นสาธารณะ มันกำลังสะท้อนอะไร ?

แม้จะบอกว่านั่นเป็นการบันทึกการแสดงเฉพาะกลุ่ม หรือดูแค่บางพื้นที่ แต่เมื่อมันถูกเผยแพร่สู่สาธารณะจะด้วยความจงใจหรือไม่ มันกลายเป็นทุกคนสามารถเข้าถึงได้ คนที่ไม่ได้อยากดู ก็ดู ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำอะไรในสื่อออนไลน์หรือสื่อต่าง ๆ เป็นร่องรอยแห่งโลกดิจิทัลที่ต้องให้ความสนใจ

“ก่อนยุค Social Media คือยุคสื่อมวลชน คือทีวี และวิทยุ สมัยนั้นก็มี กบว. คอยเข้ามากำกับดูแลและเซนเซอร์อยู่แล้วในบางเรื่อง ซึ่งบางทีก็ขัดหูขัดตาคนรุ่นใหม่ หรือคนเฉพาะกลุ่มอยู่บ้าง แต่ถามว่าถ้าไม่จำกัดเลยจะมีผลกระทบอะไรไหม ก็ต้องมีการกำกับเพราะมีเด็กเยาวชนดูอยู่เหมือนกัน แต่การกำกับแบบนี้เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว กลายเป็นสื่อที่ต้องกำกับดูแลตนเอง จัดเรตความเหมาะสมกันเอง

เพศ ภาษา ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากในการกำกับดูแล ไม่ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชน หรือให้เข้าถึงด้วยความเหมาะสม ต่างประเทศก็มีการกำกับในเรื่องภาษาเช่นกัน เช่นที่สหรัฐอเมริกา มีการถกเถียงในเรื่องของการใช้คำว่า FXXK ซึ่งบางคนมองว่าหยาบคาย แต่บางคนก็มองว่าเป็นคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เห็นจะหยาบคาย ก็ถกเถียงใช้เวลานานพอสมควร จนได้บทสรุปที่ว่าใช้ได้ แต่ขอให้ใช้ในรายการหรือช่วงหลัง 4 ทุ่มเป็นต้นไป เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอนไปก่อน เป็นต้น”

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทยและอดีต กสทช. ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องการกำกับดูแลภาษา ที่ถูกใช้มาในแต่ละยุค ซึ่งที่กล่าวมาไม่ได้ครอบคลุมในสื่อออนไลน์ ยังไม่ได้มีแนวทางชัดเจน หรือสามารถทำได้แบบยุคสื่อมวลชน เพราะมันเผยแพร่เร็ว หลากหลาย

ปัจจุบันอาจจะได้เห็นการกำกับจาก Social Media กันเองเช่น บางแอปพลิเคชันมีการเซนเซอร์บางคำในการค้นหา หรือ ปิดภาพที่มีความรุนแรง แต่ก็นับว่ายังเป็นโจทย์สำคัญในการกำกับดูแลอยู่ว่าจะจัดการได้อย่างไร

“ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกำกับดูแล หรือ ให้ข้อมูลกับลูก ๆ ของคุณ ถ้าเราให้ Internet ลูกก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ยุคนี้อยู่ในยุคปรองดอง ไม่ใช่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์กันไม่ได้ เรายิ่งต้องวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ด้วยเหตุผลและข้อมูล เหมือนปรัชญาจากตะวันตก แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยในสิ่งที่คุณพูด แต่เราจะยืนหยัดเต็มที่ให้คุณได้พูดในสิ่งที่คุณอยากพูด ตราบใดที่ความคิดเห็นของคุณไม่สร้างภัยอันตราย”

คุณผู้อ่านสามารถไปติดตามฟังคลิปทั้งหมดได้ ในวงโสเหล่ออนไลน์ อีสานชวนคิด #อีสานขานข่าว ตอน ส่องซอดมองอีสาน ผ่านงานเพลง-หมอลำ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา

https://fb.watch/nblowvKpY1/

ร่องรอยแห่งโลกดิจิทัล หรือ Digital Footprint เป็นคำสำคัญที่ต้องรู้จัก

ร่องรอยแห่งโลกดิจิทัล หรือ digital footprint คือข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือผู้ท่องโลกออนไลน์ทั้งหลายจ ได้ทิ้งข้อมูลเอาไว้บนโลกดิจิทัล ซึ่งสามารถถูกติดตามและถูกนำไปใช้ได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงอินสตาแกรม ตลอดจนการใช้บริการเว็บไซต์ มันจะยังคงอยู่ไม่จางหายไป แม้จะเจ้าจะลบทิ้ง แต่ก็สามารถมีคนค้นหาและเอากลับคืนมาได้ เช่นเดียวกับกรณีคลิปไวรัลที่แม้จะหายไปนานกว่า 30 ปี แต่ก็มีคนหยิบเอากลับขึ้นมาบนโลกออนไลน์ใหม่ได้อีกครั้ง

Digital Footprint ที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของเรา ยังส่งผลต่อการทำงานได้ด้วย เพราะปัจจุบันหลายองค์กรนอกจากขอดูประวัติการทำงานผ่าน Resume หรือ Portfolio แล้ว ยังเข้าไปสืบค้นประวัติของคุณผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน เพื่อให้เข้าถึงและรู้จักตัวตนของผู้สมัครมากยิ่งขึ้น ว่ามีความเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่

โดยจากผลสำรวจของ CareerBuilder (ปี 2022) พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 70% ยอมรับว่าใช้โซเชียลมีเดียในการค้นหาข้อมูลผู้สมัครประกอบการพิจารณา โดยกว่า 40% ปฏิเสธที่จะรับผู้สมัครเข้าทำงานหากโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลในทางไม่เหมาะสม ฉะนั้นการที่จะโพสต์ ไลก์ แชร์ หรือคอมเมนต์ใด ๆ ขอให้คงความเป็นมืออาชีพ และมีความคิดสร้างสรรค์ไว้เป็นหลัก

มากกว่าประโยคฮิต สิ่งที่ซ่อนอยู่ในคลิปคือวิถีวัฒนธรรมความเป็นหมอลำของอีสาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อหลอมความคิดและค่านิยมของคนในสังคม ที่แม้จะห่างกันกว่า 30 ปี แต่เราก็จะเห็นพัฒนาการและการปรับตัวตามยุคสมัยของหมอลำ แต่ควรจะอยู่ในกาลเทศะ และการเป็นหูเป็นตาร่วมกันในสังคม เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ