“ฟื้นคืนผืนป่า ดอนคำพวง” กสม.-รร.-เทศบาล-ปชช. เตรียมร่วมปลูกป่า “วันสิ่งแวดล้อมโลก”

“ฟื้นคืนผืนป่า ดอนคำพวง” กสม.-รร.-เทศบาล-ปชช. เตรียมร่วมปลูกป่า “วันสิ่งแวดล้อมโลก”

ความขัดแย้งยาวนานบนดินแดนกรรมสิทธิ์สีเทา ‘ดอนคำพวง’ เกาะดินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำมูน ในเขต ต.กุมชมภู อ.พิบูลมังสามา และ ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี พื้นที่จำนวน 400 ไร่ อยู่ห่างจากแก่งสะพือไปทางทิศตะวันออกตามลำน้ำมูนประมาณ 4 กิโลเมตร ยังคงไร้ข้อสรุปปัจจุบัน พื้นที่ป่ากว่า 30 ไร่ ของดอนคำพวงถูกตัดโค่นไปเป็นจำนวนมาก

วันที่ 5 มิ.ย. 2559 ในโอกาส “วันสิ่งแวดล้อมโลก” คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับเทศบาลตำบลกุดชมภู โรงเรียนบ้านหินลาดแสนตอ สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล และประชาชน 19 ชุมชน รอบริมดอนคำพวง กำหนดจัดกิจกรรมปลูกป่า “ฟื้นคืนผืนป่า ดอนคำพวง” ณ บริเวณดอนคำพวง บ้านแสนตอ ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

20160306201219.jpg

สำหรับชาวบ้านโดยรอบ ดอนคำพวงเป็นดอนดินกลางแม่น้ำมูน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีไม้ยางนา และไม้อื่น ๆ หลากหลายชนิดอยู่อย่างหนาแน่น เป็นแหล่งเก็บเห็ด แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอย และเป็นที่หลบพายุของคนหาปลา ที่สำคัญบริเวณป่าริมดอนยังเป็นแหล่อนุบาลลูกปลาของแม่น้ำมูนด้วย

กรณีความขัดแย้งที่ดิน ‘ดอนคำพวง’ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปี 2543 ที่มีเอกชนเดินเรื่องขอออกเอกสารสิทธิ์ โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินมาจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินที่มีการครอบครองและทำประโยชน์บนพื้นที่ดอนคำพวงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ถูกชาวบ้านคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2544 ชาวบ้านในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ดอนคำพวง” ได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง การละเมิดสิทธิชุมชน กรณีการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ดอนคำพวง

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2549 กสม.ได้มีมติระบุถึงมาตรการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ต้องยกเลิกคำขอออกเอกสารสิทธิ์ของผู้ถูกร้องทันที 2.กรมที่ดิน และองค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภูในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลที่ดินสาธารณะประโยชน์ ต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการดอนคำพวง โดยอาจสนับสนุนให้เกิดการจัดการในรูปแบบป่าชุมชนตามที่ชาวบ้านต้องการ หรือรูปแบบอื่นที่ชุมชนท้องถิ่นเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ให้มีการเริ่มดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้ 

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1.รัฐต้องเร่งรัดในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณะประโยชน์ทุกประเภท โดยให้ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน 2.รัฐต้องเร่งรัดในการตรา พ.ร.บ.รับรองสิทธิชุมชน 

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวก็ไม่ได้มีการนำมาดำเนินการแต่อย่างใด

กระทั่งเดือน ม.ค. 2559 เอกชนรายเดิมได้มาขอออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดิมอีกครั้ง โดยอ้างว่ามีคำสั่งศาลรับรองให้มีสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 เอกชนได้นำกลุ่มคนและเลื่อยยนต์พร้อมด้วยรถแทรกเตอร์ไปทำการตัดฟันและโค่นต้นไม้บนดอนคำพวงเป็นจำนวนมาก โดยไม้ที่ถูกตัดโค่นมี “ไม้ยางนา” ด้วยจำนวน 11 ต้น ซึ่งในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเทศบาลตำบลกุดชมภู ได้เข้าไปจับและอายัดของกลางไว้ได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้

20160306201257.jpg

ต่อมาในวันที่ 18 มี.ค. 2559 เอกชนรายเดิมได้พาเจ้าพนักงานที่ดิน เข้าทำการรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ มีสภาพเป็นซากต้นไม้ตายเกลื่อน (ไม้ที่ถูกตัดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559) กระจายอยู่เต็มพื้นที่ จึงทำให้เทศบาลตำบลกุดชมภู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถรับรองแนวเขตที่ดินได้ ขณะที่มีชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงกว่า 1,000 คน มาแสดงตัวเพื่อคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ ในดังกล่าวด้วย

พื้นที่ดอนคำพวงเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบต่อจนมาถึงปัจจุบัน การที่มีนายทุนมาอ้างสิทธิ์เป็นของตนเอง จึงทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นระหว่างสิทธิ์เอกชนกับสิทธิชุมชน ในขณะที่เขตแดนแห่งกรรมสิทธิ์ก็ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มา จึงกล่าวได้ว่า “โฉนดบนความขัดแย้ง” และ “แดนกรรมสิทธิ์สีเทา” ได้จุดชนวนความขัดแย้งขื้นมาแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ