เมื่อป่าชุมชนกว่า 200 แห่ง กำลังกลายเป็น ‘ป่าคาร์บอน’ ฟังเสียงสะท้อน ลดโลกร้อนได้จริงไหม ?

เมื่อป่าชุมชนกว่า 200 แห่ง กำลังกลายเป็น ‘ป่าคาร์บอน’ ฟังเสียงสะท้อน ลดโลกร้อนได้จริงไหม ?

รัฐบาลประยุทธ์ และรัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาโลกร้อน โลกรวน ด้วยนโยบาย ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)’ โดยในช่วง 20 กว่าปีนี้เน้นการ ‘ดูดกลับ’ ก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ ‘ชดเชย’ การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการซื้อคาร์บอนเครดิต

ชุมชนชายฝั่งดูแลรักษาฟื้นฟูป่าชายเลน เป็นระยะเวลา 10-30 ปี

ข้อมูลในปี 2564 ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ รวมเนื้อที่ 177.94 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2580 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.60 รวมเนื้อที่ 128.12 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประมาณ 49.82 ล้านไร่

ข้อมูลจากกรอบร่างยุทธศาสตร์พื้นที่สีเขียว ระบุเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดังนี้ (1) เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติ จากร้อยละ 31.58 เนื้อที่ 102.17 ล้านไร่ เป็นร้อยละ 35 เนื้อที่ 113.23 ล้านไร่ หรือเพิ่มอีกประมาณ 11.06 ล้านไร่ (2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ จากร้อยละ 8.02 เนื้อที่ 25.95 ล้านไร่ เป็นร้อยละ 15 เนื้อที่ 48.53 ล้านไร่ หรือเพิ่มอีกประมาณ 22.58 ล้านไร่ (3) เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ/เพื่อการเรียนรู้ จากร้อยละ 2-3 เนื้อที่ 6.47-9.70 ล้านไร่ เป็นร้อยละ 5 เนื้อที่ 16.18 ล้านไร่

หลังจากนั้น อีก 27 ปี หรือภายใน พ.ศ. 2593 จึงจะ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50

เมื่อรัฐบาลผ่อนผันให้ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสามารถปล่อยก๊าซได้อีก 20 กว่าปี ป่าชุมชนจึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่กรมป่าไม้ 12,231 แห่ง เนื้อที่ 6,308,712 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีป่าชุมชนในพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนจะถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีเงินทุนสนับสนุน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตจำนวนหนึ่ง

3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยมี ‘ป่าคาร์บอน’ 18 จังหวัด 211 ป่าชุมชน

จากการรวบรวมข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน โดยเป็นป่าชุมชน (ป่าบก) 129 แห่ง ป่าชุมชนชายเลน 82 แห่ง รวมปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอน ประมาณ 1,904,463 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนี้

1) กรณีป่าชุมชน (ป่าบก)

ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2566 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปภัมภ์ ได้ดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนา ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก GISTDA และภาคเอกชน กว่า 20 บริษัท มีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน 129 แห่ง เนื้อที่ 194,850 ไร่ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และกระบี่ ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้ 500,000 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2) กรณีป่าชุมชนชายเลน

ในปี พ.ศ. 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง ขอเชิญชวนชุมชนชายฝั่ง/ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น/ชุมชนชายฝั่ง ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน สามารถเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มี.ค. – ก.ย. 66 มีการออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งผลการอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ ครั้งที่ 1/2566 ครั้งที่ 2/2566 ครั้งที่ 2/2566 (เพิ่มเติม) ครั้งที่ 3/2566 และ ครั้งที่ 4/2566 โดยมีชุมชนได้รับอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 82 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 149,411 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร

เมื่อคำนวณปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอนในพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน เนื้อที่ประมาณ 149,411 ไร่ ในอัตราไร่ละ 9.4 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พบว่าดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้ปีละประมาณ 1,404,463.4 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ ป่าชายเลนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าบก

เสียงสะท้อน คาร์บอนเครดิตฟอกเขียว ไม่หยุดปล่อยคาร์บอน ไม่ลดโลกร้อน

การนำป่าชุมชนและป่าอื่นๆ ไปเป็นป่าคาร์บอน ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการฟอกเขียว หรือสร้างความชอบธรรมให้ธุรกิจที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน โลกรวน คาร์บอนเครดิตไม่สามารถสร้างสำนึกให้ธุรกิจที่ได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดการปล่อยก๊าซ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และยังเป็นการผลักภาระให้กับชุมชน สังคม และโลกอีกด้วย

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า หลักคิดคาร์บอนเครดิตป่าไม้ผิดตรงที่เอาธรรมชาติเป็นเครื่องจักร เอาชุมชนเป็นแรงงานรับจ้าง ผลิตสิทธิการปล่อยคาร์บอนราคาถูกให้ทุนรายใหญ่ใช้เสริมความมั่งคั่งจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังอ้างว่าช่วยโลกช่วยชุมชนด้วย ตลาดคาร์บอนไม่ควรให้เกิดการฟอกเขียว ที่เอากลุ่มทุนที่ยังไม่รับผิดขอบเข้าสู่ตลาดเหล่านั้น เราอาจมีมาตรการอื่นๆ ที่จะสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้กับผู้ทำความดี มีมาตรการควบคุมกำกับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ภายใต้กรอบคาร์บอนเครดิตไปไม่ถึงสิ่งเหล่านั้น

ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐ พยายามมาทำความเข้าใจกับชุมชนในแง่ที่ว่า ชุมชนจะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ได้เม็ดเงินจากการดูแลทรัพยากร แต่บอกไม่หมดว่าคนซื้อจะซื้อไปทำอะไร ไม่บอกให้ชัดว่าคนซื้อต้องการเอาไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองอยากปล่อยต่อไป ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ และเป็นธุรกิจแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดการฟอกเขียว เท่ากับว่าเรากำลังเอาธรรมชาติ เอาชุมชนมาเป็นผู้แบกภาระให้อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดโลกร้อนยังคงเติบโตต่อไปใช่ไหม แล้วเม็ดเงินที่ชาวบ้านได้มันจะคุ้มกันไหม ถ้าจะต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรของตนเอง

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นมหกรรมของการฟอกเขียว เป็นมหกรรมแย่งยึดทรัพยากรของพี่น้องโดยภาครัฐยกไปให้กลุ่มทุน ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อน แต่คือการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนที่ยังปล่อยมลพิษ ด้วยการสร้างกลไกการตลาด เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ใครยอมรับก็เท่ากับร่วมกันทำลายโลกใบนี้อย่างเห็นแก่ตัวที่สุด

ในส่วนสัญญาคาร์บอนเครดิตระหว่างชุมชนกับบริษัทแห่งหนึ่ง พบว่าการแบ่งผลประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิต บริษัทได้ถึง 70% ชุมชนได้ 20% หน่วยงานรัฐได้ 10% เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ได้ปลูกป่าเอง ชุมชนดูแลรักษาป่าชายเลนกันมาหลายสิบปี จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ ต้นไม้โตแล้ว สามารถนำไปขายคาร์บอนเครดิตได้เลย อยู่ๆ สิทธิในการรักษาป่า การใช้ประโยชน์จากป่า หรือแม้กระทั่งประโยชน์การขายคาร์บอนเครดิตตกอยู่กับกลุ่มทุน แบบนี้เป็นการชุบมือเปิบไหม มีคำถามว่าทำไมชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนไม่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่เป็นข้อสังเกตว่านี่เป็นวิธีการแย่งยึดฐานทรัพยากรของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

กันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

กันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนต้องเป็นธรรม หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกเขตอุทยานฯ ประกาศทับที่ หากตัดโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกใหม่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายข้อหาทำให้โลกร้อน แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้โลกร้อนกลับไม่ถูกเรียกค่าเสียหายอะไร เขาต้องการให้เราปลูกป่าเพื่อชดเชยกับสิ่งที่เขาปล่อยมา เขาได้เครดิตในการปล่อยคาร์บอนต่อ ทำโรงงานต่อ หรือทำเพิ่มมากขึ้น เขาไม่ได้ลดของเขาเลย บริษัทเอาคาร์บอนเครดิตจากชุมชนไปขายต่อ เขาได้กำไร เขาไม่หยุดปล่อยคาร์บอน ลดโลกร้อนไม่ได้

คาร์บอนเครดิตกู้วิกฤตโลกร้อนจริงไหม ? ใครได้ ใครเสีย อย่างไร ? เราจำเป็นต้องพิจารณาในมิติความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รับผิดชอบต่อโลกอย่างแท้จริงด้วยการลดละเลิกการปล่อยก๊าซพิษตั้งแต่วันนี้ ในส่วนรัฐบาลไทยควรเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรออีก 27 ปี !

  • แหล่งข้อมูล
https://www.dmcr.go.th
https://www.dmcr.go.th/detailAll/64566/nws/0/
https://www.mnre.go.th/th/infographic/detail/3070
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1084030
https://forestinfo.forest.go.th/fCom_area.aspx
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000059856

อ่านบทความก่อนหน้านี้

4 เรื่องที่ควรรู้ เมื่อรัฐบาลเศรษฐาสานต่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จากรัฐบาลประยุทธ์
https://thecitizen.plus/node/86607

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ