‘แร่’ ทรัพย์ในดิน สินใต้ถุนบ้าน

‘แร่’ ทรัพย์ในดิน สินใต้ถุนบ้าน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยาแร่
ที่มา—วารสาร เส้นทางสีเขียว ฉบับที่ 29 ‘แร่’ ทรัพย์ในดิน…สินใต้ถุนบ้าน?

จากการได้ลงไปทำงานกับชุมชน และศึกษาเก็บข้อมูลระบบนิเวศ การบริหารจัดการน้ำ เมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อทางเลือกการบริหารจัดการน้ำรูปแบบอื่นๆ นอกจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นปากแม่น้ำสงคราม ทำให้เลิศศักดิ์รู้ว่า รัฐและทุนกำลังพัฒนาโครงการทำเหมืองใต้ดิน เพื่อขุดเอาแร่โปแตชและเกลือออกมาทำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและปิโตรเคมี โดยระบุพื้นที่ให้สัมปทานทำเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานีเอาไว้เป็น ลำดับแรก

เลิศศักดิ์ เริ่มนำข้อมูลนั้นไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่โครงการฯ เริ่มค้นคว้าข้อมูลทางด้านเทคนิค/กระบวนการตกแต่งแร่โปแตชและเกลือหิน ผลกระทบ/ผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่โปแตชในต่างประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง/นโยบายส่งเสริมการทำเหมืองแร่ของประเทศ รวมทั้งขยายกรอบงานไปถึงการติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรที่ทำการติดตามปัญหา/ผล กระทบจากการทำเหมืองแร่ของต่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนดูงานการทำเหมืองแร่และโครงการพัฒนาต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูล ได้รู้ถึงสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพอันพึงมี ในการต่อต้านคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ จนก่อเกิดเป็น ‘เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย’ ขึ้นมาในเวลานี้

+มีส่วนอย่างไรบ้างในการผลักดันประเด็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่และผลกระทบจากการทำเหมือง ในระดับพื้นที่และนโยบาย

ที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่กระจัดกระจายมาก และสังคมรับรู้น้อยเพียงไม่กี่กรณีดังๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์โทรทัศน์และช่องทางสื่ออื่นๆ ซึ่งเป็นกรณีผลกระทบของเหมืองที่เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น และยิ่งไปกว่านั้นมักมีความเข้าใจไม่ครบถ้วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องการทำเหมืองถ่านหินแม่เมาะ ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ตัวโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงว่าเป็นต้นตอ ของปัญหาหรือเป็นแหล่งทำให้เกิดสารพิษ เช่น กำมะถัน หรือไนโตรเจน ที่ฟุ้งกระจายในอากาศ จริงๆ แล้วผลกระทบเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่การขุดเจาะเอาถ่านหินก่อนนำไปเข้าสู่โรง ไฟฟ้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือน สารพิษจากวัตถุระเบิดและเสียงจากการระเบิด การปนเปื้อนสารพิษฝุ่นถ่านหินที่ปลิวฟุ้งในชั้นบรรยากาศเข้าสู่ร่างกาย แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินถูกทำให้เสียสภาพและปนเปื้อนสารพิษ แหล่งต้นน้ำ/ป่าน้ำซับซึมถูกทำลาย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในระยะหลังๆ เราเริ่มพูดกันถึงปัญหาและผลกระทบก่อนที่เหมืองจะเกิดขึ้นมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้มีส่วนร่วม และตัดสินใจ จากการปกปิดข้อมูลข่าวสาร แต่ตอนนี้เริ่มมีประชาชนในพื้นที่การสำรวจและทำเหมืองแร่ต่างๆ ออกมาพูดกันมากขึ้น และในช่วงปีที่ผ่านมาเสียงของประชาชนในพื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ต่างๆ เริ่มดังขึ้นจากการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

ปีที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับนักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เพื่อคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ พ.ศ. …. จนทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ขอถอนร่างออกจากกฤษฎีกาเพื่อนำไป พิจารณาทบทวนใหม่

ปีนี้เรากำลังวางแผนเคลื่อนไหวร่วมกันอาจจะเป็นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลใน ส่วนของประเด็นเหมืองแร่ประมาณ 10 กว่าพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่การสำรวจและทำเหมืองแร่ ต่างๆ ที่มาเข้าร่วม และจะผลักดันนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ใหม่ ด้วยหลักการใหม่ คือ แร่จะต้องไม่เป็นของรัฐ จะต้องเป็นของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ในส่วนพื้นที่ส่วนรวมอื่นๆ เช่น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณประโยชน์ จะต้องเป็นสิทธิร่วมระหว่างรัฐ ชุมชนท้องถิ่นและสาธารณะ และบทลงโทษจากกิจการเหมืองแร่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในลักษณะที่กำหนด โทษให้ผู้ก่อมลพิษเหมืองแร่คืออาชญากรรม จะต้องมีโทษเท่าๆ กับโทษทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ ละเว้นหรือจงใจก็ตาม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่มีความรับผิดชอบสูงสุดต่อผลกระทบที่คุณได้ ทำให้มันเกิดขึ้นมา

+ที่ผ่านมา นโยบาย และทิศทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่ในประเทศเป็นอย่างไร

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2444 นับตั้งแต่มีกฎหมายแร่ฉบับแรกบังคับใช้เนิ่นนานเพียงใดแล้ว ร้อยกว่าปีที่เราบัญญัติหลักการให้ แร่เป็นของรัฐ และเปิดให้สัมปทาน โดยทำให้หมวดบทลงโทษของกฎหมายแร่เป็นหมัน คือไม่สามารถที่จะบังคับเอาผิดใดๆ กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ หรืออาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่สมเหตุสมผลกับความเสียหายหรือผลกระทบที่ผู้ประกอบการทำให้เกิดขึ้น เช่น ในมาตรา 68 ของกฎหมายแร่ 2510 บัญญัติว่า ผู้ถือประทานบัตรจะต้องจัดการป้องกันมิให้น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายไปทำให้ ทางน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเสื่อมประโยชน์แก่การใช้ทางน้ำนั้น มาตรา 69 บัญญัติว่าในการทำเหมืองหรือแต่งแร่ ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรกระทำหรือละเว้นกระทำการใดอันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน แต่บทลงโทษในมาตรา 138 กลับระบุว่าหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้ปรับเพียง 2 พันบาท

หมายถึงกฎหมายแร่มีบทบัญญัติที่สามารถละเว้นการฟื้นฟูเหมืองได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของกระบวนการทำเหมือง หรือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะบังคับหรือไล่เบี้ยให้ผู้ประกอบ การต้องจัดการฟื้นฟูเหมืองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถบังคับเอาผิดใดๆ กับผู้ประกอบการได้ หรือแสร้งปล่อยปละละเลยไปเสีย เช่น โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือ มีพื้นที่ในการฟื้นฟูจากการทำเหมืองประมาณ 3,700 ไร่ ต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟู 628.8 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามก็เสียค่าปรับเพียง 2,000 บาทเท่านั้น

บ้านเรามีนักวิชาการที่เก่งกาจสามารถด้านธรณีวิทยาและด้านวิศวกรเหมือง แร่เยอะแยะ แต่นโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำเหมืองแร่กำหนดไว้แค่ทำหน้าที่อนุมัติสัมปทาน สำรวจและทำเหมืองแร่ให้กับต่างชาติเท่านั้น ส่วนเขาจะทำเหมืองแร่ด้วยวิธีการใด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนหรือไม่ ให้นิ่งเฉยไว้ อย่าไปใส่ใจ

ข้อข้องใจของผม ร้อยกว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับแรกบังคับใช้ รัฐ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองและผู้ประกอบการเหมืองแร่ มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทำให้ประชาชนในพื้นที่เหมืองแร่ต่างๆ ในประเทศไทยต้องบาดเจ็บล้มตายไปกี่รายแล้ว

ร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเราไม่สามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่สร้างความ เข้มแข็งและมั่นคงให้กับประเทศชาติและประชาชนได้เลย สิ่งที่เราทำมันบิดเบี้ยวสวนทางคือประเทศชาติและประชาชนไทยมีแต่ความอ่อนแอ จากพิษภัยที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่ เราต้องนำเงินภาษีรายได้จากภาคเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ของชาติมารองรับหรือแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพของประชาชนที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่

+การทำเหมืองแร่มีความสำคัญกับประเทศมากน้อยแค่ไหน

มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาความเจริญความทันสมัยให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รายได้จากภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่สามารถนำมาพัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนได้อย่างสมบูรณ์พูนสุข สร้างประชาธิปไตยที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน แต่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าระบบให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่มีลักษณะแบบโจรปล้นแผ่นดิน ประชาชน คือขโมยสินแร่ที่อยู่ในที่ดินของประชาชนไป โดยเจ้าของที่ดินไม่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าสินแร่ที่อยู่ในเนื้อดินตัวเอง เลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว มิหนำซ้ำผลกระทบส่วนใหญ่กลับตกอยู่บนผืนดินที่ประชาชนใช้สอย โดยค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐได้ไปนอกจากจะไม่เคยถึงมือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก การทำเหมืองแร่ ยังไม่มีความคุ้มค่าต่อการสูญเสียทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำมาชดเชย ชดใช้ ฟื้นฟู เยียวยาใดๆ ได้เลย

+ที่ผ่านมา กรณีการทำเหมืองแร่ใดที่คิดว่าส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด

กรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ที่รุนแรงมากในไทยมีอยู่ด้วยกัน 7 กรณี 3 กรณีแรก คือ เหมืองที่หยุดดำเนินการแล้ว กรณีแรก-ก็คือไข้ดำจากสารหนูที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุกที่อำเภอร่อน พิบูลย์ นครศรีธรรมราช สอง-การทำลายทรัพยากรทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำจากการทำ เหมืองแร่ดีบุกในทะเลตั้งแต่ชายฝั่งระนองไปจนถึงภูเก็ตขององค์การเหมืองแร่ ทะเล สาม-กรณีการทำเหมืองแร่ตะกั่วที่ทำให้สารพิษตะกั่วและอื่นๆ ไหลลงไปในลำห้วยคลิตี้ที่อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในกลุ่มที่สอง คือเหมืองที่ยังดำเนินการอยู่ คือกรณีการปนเปื้อนแคดเมียมในลำห้วย ดินและต้นข้าวที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก ที่ทำให้ประชาชนหลายร้อยคนมีอาการเจ็บปวดตามข้อกระดูกและเป็นเหตุทำให้ไตวาย ที่เรียกกันว่าโรคอิไต-อิไต เช่นเดียวกับการทำเหมืองสังกะสีที่แถบแม่น้ำจินสุ โทยามา ประเทศญี่ปุ่น การเจ็บป่วยจากฝุ่นกำมะถันและสารพิษอื่นๆ ของชาวบ้านจากการทำเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ ลำปาง และการทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย และบริเวณรอยต่อ 3จังหวัด ของพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ตามลำดับ

ความน่าสนใจที่สุดอยู่ที่ ในทุกกรณีไม่มีกรณีใดเลยที่หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาและผล กระทบที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วงลงได้ ความจริงแทบไม่ได้แก้ไขปัญหาและผลกระทบใดๆ ด้วยซ้ำ ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาและผลกระทบหมักหมม สร้างความทุกข์ใจให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

+ทำอย่างไรถึงจะทำให้เหมืองแร่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด กฎหมายข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ พ.ร.บ.แร่ ไม่เพียงพอหรือ ควรแก้ไขหรือไม่ อย่างไร

จะต้องแก้ไขนโยบายและกฎระเบียบใหม่โดยเรื่องแร่จะต้องไม่เป็นเรื่องหลัก แต่สิทธิในที่ดินจะต้องเป็นเรื่องหลัก

ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่แร่ตกอยู่ในมือของรัฐได้สร้างความเจ็บปวด ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายมามากพอแล้ว

ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนมุมมองหรือกระบวนทัศน์ใหม่ ด้วยการให้เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของแร่ ทำควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎระเบียบในการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจ อนาคตตัวเองอย่างแท้จริง ผู้ให้อนุญาตนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ต้องเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน และหากประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินอนุญาตให้นำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว นอกจากค่าที่ดินที่ได้รับต่อหน้าเมื่อขายที่ดินให้กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ แล้ว ค่าภาคหลวงแร่และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ ที่เป็นรายได้ระยะยาวตามอายุประทานบัตร จะต้องแบ่งปันกันระหว่างประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับรัฐเท่าๆ กัน ไม่ใช่ตกไปอยู่ในมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะ นี้ ส่วนพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกันจะต้องกำหนดหลักการให้ เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ร่วมกันระหว่างรัฐ ชุมชนท้องถิ่นและสาธารณะ

ถ้าแร่เป็นของประชาชนที่ถือสิทธิครอบครองที่ดินเมื่อไหร่ เมื่อนั้นการพัฒนาเหมืองแร่จะอยู่ในจุดสมดุลและเหมาะสมต่อผลประโยชน์และผล กระทบที่ประเทศชาติและประชาชนรับได้ จึงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และการกดขี่ข่มเหงต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐกระทำกับประชาชนได้

ประเด็นต่อมาหากไม่สามารถผลักดันนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ในการเพิ่มมูลค่าแร่จากอุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ด้วยน้ำมือของคนไทย เราเองแล้ว ก็ควรหยุดหรือชะลอการให้สัมปทานแร่ชนิดนั้นๆ เอาไว้ก่อน ไม่ใช่ส่งเสริมหรือมีนโยบายขุดแร่เอาไปขายเหมือนเช่นที่ทำอยู่นี้อีกต่อไป เพราะการกระทำเยี่ยงนี้นำมาซึ่งความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ต่อความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในบ้าน เมืองเราเลย

แร่ต้องเป็นของประชาชนไทยร่วมกับรัฐ และเป็นของประชาชนที่ถือสิทธิครอบครองที่ดินด้วยถึงจะยุติธรรม คงต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจกันในสังคมไทย จริงๆ แล้วหลักการดังกล่าวเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะสร้างความเข้าใจ แต่ไม่ง่ายที่จะปฏิบัติ …แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงที่เกิดขึ้นได้ว่าโลกกำลังเหวี่ยงเข้า สู่ภาวะวิกฤตจากภัยธรรมชาติรอบด้านและรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าระดับความรุนแรงของภัยพิบัติต่างๆ ยังมีต่อเนื่องให้เห็นและมีความถี่มากยิ่งขึ้น ประเทศต่างๆ จะต้องหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อทำให้โลกปรับเข้าสู่จุดสมดุลที่ไม่เป็น ตัวเร่งภัยพิบัติให้แสดงอาการรุนแรง

ยังไงก็ตามยังคงมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ผมคิดว่าประชาชนมีพลังเต็มเปี่ยมที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมาย ให้ได้ในอนาคตอันใกล้ ส่วนจะทำอย่างไรบ้าง เช่น ต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ได้พูดไว้แล้วในคำถามที่ผ่านๆ มา

+ในประเทศไทยควรจะมีการจำกัด ให้ทำเหมืองแร่ชนิดใดบ้าง หรือห้ามทำชนิดใดบ้าง

แร่ชนิดใดก็ตามที่ซ้อนทับลงไปในพื้นที่ชุมชน หรือมีเขตเหมืองแร่ใกล้กับชุมชนจนนำมาซึ่งผลกระทบไม่ควรให้มีเหมืองแร่ชนิด นั้นเกิดขึ้นได้ บ้านเราต่างจากการทำเหมืองแร่ในซีกโลกเหนือมาก เพราะความแออัดหนาแน่นของประชากร ที่ซีกโลกเหนือแทบไม่มีเหมืองแร่ใดที่อยู่ใกล้เขตชุมชนที่พักอาศัยและเขต เกษตรกรรมเลย อยู่ไกลมากระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เพราะฉะนั้น ผลกระทบจะไม่ถึงประชาชน หรือหากมีเหมืองแร่ที่อยู่ใกล้กับชุมชนมาก กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจะละเอียดมากถึงขนาดให้ชุมชนมีอำนาจตัดสินใจ ที่จะให้มีเหมืองแร่นั้นเกิดขึ้นหรือไม่ รวมทั้งการชดเชย ชดใช้ในการโยกย้ายจะสูงมาก และการที่ประชาชนในชุมชนนั้นๆ ได้ประโยชน์จากมูลค่าแร่นั้นด้วย

+ถ้ากระแสโลกคือความยั่งยืน สมดุลของการใช้ทรัพยากรแร่ควรจะอยู่ตรงไหน อย่างไร

ควรใช้เพื่อคำนึงถึงความขาดแคลนภายในประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่ขุดแร่ดิบเพื่อเน้นการส่งออก เพื่อหวังตัวเลข GDP ที่เติบโตประเดี๋ยวประด๋าว แต่ไม่สามารถชี้วัดความยั่งยืนใดๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่คิดเพียงแค่ว่าแต่ละ ปีงบประมาณจะต้องทำผลงานด้วยการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ เพื่อทำรายงานประจำปีว่าภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศในปีนั้นมากมายเพียงใด ซึ่งนั่นเป็นนโยบายและกฎระเบียบที่ทำให้ประชาชนในชาติอ่อนแอไม่สามารถพึ่งพา ตัวเองได้

+ถ้าสามารถทำให้ผลประโยชน์จากการสำรวจและเหมืองแร่มีการแบ่งปัน ที่เป็นธรรม ชุมชนท้องถิ่นจะยอมรับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เหมือนกรณีที่ผ่านมาได้หรือ

ก่อนที่จะวางหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ ต้องวางหลักการเรื่องสิทธิในแร่เสียก่อน เมื่อวางหลักการสิทธิในแร่ว่าเป็นของประชาชนได้แล้ว จึงวางหลักการการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากสินแร่ตามหลัง แล้วต่อมาจึงวางหลักการเรื่องกฎระเบียบและบทลงโทษเกี่ยวกับการป้องกันและ แก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนต้องเฉียบขาดถึงขั้น ผู้ก่อมลพิษเหมืองแร่คืออาชญากร ต้องกำหนดโทษให้เทียบเท่ากับกฎหมายอาญา ไม่ว่าผู้ประกอบการเหมืองแร่จะกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ละเว้นหรือจงใจใดๆ ก็ตาม และจะต้องไม่มีบทยกเว้นโทษให้กับผู้ประกอบการทั้งสิ้น เพื่อทำให้กฎหมายเข้มงวด รัดกุม แก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จริง

การวางหลักการทั้ง 3 ประการนี้ให้สิทธิการตัดสินใจต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินอย่างเต็มที่ หากเจ้าของที่ดินยินยอมให้สัมปทานเหมืองแร่ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการทำเหมืองแร่ได้

+ความคิดเห็น “ประเทศไทยควรจะเป็นเขตปลอดเหมืองแร่” ?

เขตชุมชนทั้งหมด เขตป่าไม้ทั้งหมด แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม เขตที่สาธารณประโยชน์ใช้สอยร่วมกันของประชาชน แหล่งน้ำ ลำธาร ชายฝั่งทะเล ภูเขาซึ่งมีธรรมชาติสวยสดงดงาม ควรเป็นเขตปลอดเหมืองแร่อย่างเด็ดขาด

สมควรเน้นให้ชัดในคำถามข้อนี้ว่า ถึงแม้จะเกิดการแก้ไขกฎระเบียบให้แร่เป็นของประชาชนเจ้าของที่ดินได้ แต่ในเขตชุมชนถึงแม้ประชาชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในชุมชนนั้น ก็ตาม ก็ไม่สามารถขายที่ดินในเขตชุมชนให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ เพราะชุมชนเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของความเข้มแข็งของบ้านเมืองและประเทศ ชาติ ไม่สมควรให้สิทธิเอกชนเพียงแค่ไม่กี่รายเป็นตัวการนำพาความล่มสลายมาสู่ ชุมชนได้ เช่นที่หมู่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เกิดจากน้ำมือของคนเพียงไม่กี่คนในหมู่บ้านที่ชักนำและข่มขู่ให้คนในหมู่ บ้านต้องขายที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยในเขตหมู่บ้านให้กับผู้ประกอบการ เหมืองแร่ จนทำให้คนที่เหลืออยู่พลอยรับเคราะห์จากการที่หน่วยงานรัฐได้ยุบโรงเรียน ทิ้งไป ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา วัด ศาลาเอนกประสงค์ พื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในหมู่บ้านถูกตัดงบการพัฒนาทิ้งไปหมดสิ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ