คนจนรวมพลังจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ รณรงค์แก้ปัญหาทั่วประเทศ

คนจนรวมพลังจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ รณรงค์แก้ปัญหาทั่วประเทศ

ผู้ร่วมแถลงข่าว  และชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 160 คน  แสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’(15 ก.ย.ที่ พอช.)

            พอช. / คนจนรวมพลังจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ รณรงค์แก้ปัญหาทั่วประเทศ ทั้งชุมชนในกรุงเทพฯ  และต่างจังหวัด  เช่น ชุมชนในที่ดิน รฟท. ชุมชนคลองเตยที่ดินการท่าเรือฯ  ห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนทำงานในเมือง  การแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลอง  ชายฝั่งทะเล  ฯลฯ  โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  เวทีนำเสนอปัญหา  แนวทางแก้ไข  และเดินรณรงค์ครั้งใหญ่เกือบ 3 พันคน  2 ตุลาคมนี้ที่คมนาคมยูเอ็นทำเนียบรัฐบาล

          UN – HABITAT   หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม  UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Resilence urban economies, Cities as drivers of growth and recovery” เศรษฐกิจเมืองที่ยืดหยุ่น มีเมืองเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูและสร้างความเจริญ”

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs  ทั่วโลก  จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี  เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน

ในประเทศไทย  เครือข่ายคนจนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สหพันธ์ชุมชนแออัดคลองเตย   ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  ฯลฯ  ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  การแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล  ที่ดิน ส.ป.ก.  ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ  ฯลฯ

รวมพลังจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’

โดยในวันนี้ (15 กันยายน)  องค์กรด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  โดยนางสาวกรรณิการ์  ปู่จินะ  ประธานเครือข่าย  มูลนิธิดวงประทีป   โดยนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ  เลขาธิการมูลนิธิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ โดยนายกฤษดา  สมประสงค์   ผู้อำนวยการสถาบันฯ ผู้แทนเครือข่ายเมือง โดยนางพรทิพย์  วงศ์จอม และผู้แทนเครือข่ายชนบท  โดยนายสมบูรณ์  สิงกิ่ง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ

จากซ้าย  นายสมบูรณ์, นางประทีป, นายกฤษดา,  นางสาวกรรณิการ์ และนางพรทิพย์

 นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช.  กล่าวว่า  วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีของการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 โดยผู้ที่ทำเรื่องที่อยู่อาศัยในทุกภูมิภาคได้มารวมกันเพื่อจัดงานรณรงค์   ซึ่ง พอช.ร่วมกับภาคีการพัฒนาจะจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในเรื่องที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ระหว่างเดือนกันยายน – พฤษจิกายนนี้   โดยมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น คือ

1.การนำเสนอสภาพปัญหาของการพัฒนาที่อยู่อาศัย  2.สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาที่อยู่  3.กลไกในการผลักดันการแก้ไขปัญหา  คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน สู่กลไกการพัฒนาของหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง   4.การเชื่อมโยงเครือข่าย  และ 5.เสนอพื้นที่รูปธรรมที่ประสบความสำเร็จให้ทุกภาคส่วนรับรู้  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน เรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม ภาพรวมทั้งจังหวัด

เช่น  โครงการแม่แจ่มโมเดล  จ. เชียงใหม่  ปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองต่างๆ  พื้นที่รูปธรรมคลองเปรม  คลองแม่ข่า  ผู้มีรายได้น้อยใจกลางเมือง  ชุมชนคลองเตย เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทำอย่างไรให้มีบ้านที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ลูกหลานที่เติบโตมาพร้อมกับความมั่นคงในภายภาคหน้า การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย  เช่น  บ้านเช่าราคาถูก

             “การจัดงาน 2 เดือนนี้ จะมีเวทีกิจกรรมที่หลากหลาย  การรณรงค์ให้ภาคีต่างๆ เข้าใจ ในบางพื้นที่มีการยกเสาเอกร่วมกัน  พอช.จะทำหน้าที่หนุนเสริมขบวนพี่น้ององค์กรชุมชน  ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ประสานความร่วมมือหน่วยงานราชการต่างๆ หนุนการทำงานของพี่น้อง ให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ขอให้เราได้เดินไปด้วยกัน ร่วมพลังกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายร่วมกัน”  นายกฤษดา  ผอ.พอช.กล่าว

ชุมชนริมทางรถไฟที่ จ.นคราชสีมา  ขณะนี้กำลังสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  โดยการรถไฟฯ ให้เช่าที่ดิน  พอช.สนับสนุนตามโครงการบ้านมั่นคง

คนคลองเตยเสนอรัฐ “แบ่งปันที่ดิน 10 เปอร์เซ็นต์”

        นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป  กล่าวว่า  เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องได้รับสิทธิ์ในการดู  ปีนี้เป็นปีที่ 38 ที่ได้มีการจัดรณรงค์ (UN เริ่มรณรงค์จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในปี 2528) เพื่อให้ประชาชนได้พูดถึงสิทธิที่พึงจะได้  คนยากจนส่วนใหญ่จะโง่ จน เจ็บ มีการศึกษาน้อย โอกาสน้อย แต่ที่ พอช. มีการจัดกิจกรรม  ต้องขอบคุณ  คุณสมสุข บุญญะบัญชา ขอบคุณอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (อดีตผู้บริหาร พอช.)ที่วางรากฐานที่สำคัญให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิที่อยู่อาศัย ได้รับการสืบสานต่อ โดยเฉพาะ ผอ.กฤษฎา มีประสบ การณ์ทำงานกับมหาดไทย สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมาตลอด

       “ปีนี้มาถึงจุดที่พูดว่า เราจะลดความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือการให้ชาวบ้าน ประชาชนคนยากไร้ในเมืองที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นแรงงานราคาถูก  เจ้าของที่ดิน การรถไฟ การท่าเรือ เราขอแบ่งที่ดินที่มีอยู่มากมาย  การท่าเรือเวนคืนที่ดินมาจากชาวนา ชาวสวน จำนวน  2,353 ไร่ เราขอแบ่ง 10เปอร์เซ็นต์มาเป็นที่อยู่อาศัยให้คนจนที่เป็นกำลังของเศรษฐกิจในเมือง ที่ดินการรถไฟหลายหมื่นไร่ ขอสัก 10 เปอร์เซ็นต์   เราปล่อยให้ระบบรวยกระจุกจนกระจายเป็นร้อยปีมาได้อย่างไร ?  ถึงเวลาที่ประชาชนต้องบอกว่าขอแบ่งสิทธิ์ ขอเศษเนื้อมาหน่อยให้คนในระดับล่าง ให้เรามีส่วนร่วมคิด  วางแผน สร้างชุมชน สังคมที่มีความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำให้เป็นรูปธรรม”  นางประทีปกล่าว

เธอบอกว่า  ในวันที่ 17 กันยายนนี้   ชาวคลองเตยจะจัดงาน “การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย”  ที่มูลนิธิดวงประทีป   เพื่อจะขอแบ่งพื้นที่สัก 10 เปอร์เซ็นต์  มาจัดเป็นที่อยู่อาศัย  โดยเฉพาะชุมชนคลองเตยที่มีคนยากจนอาศัยอยู่มากที่สุด   โดยจะเสนอแบ่งปันที่ดิน หรือ “land sharing”  เพราะการแบ่งปันเป็นเรื่องที่สังคมไทยมีมายาวนาน  คนที่มีมากเจือจานให้คนมีน้อย ให้ได้รับการร่วมกันพัฒนา สร้างสังคมที่ดีงาม

ท่าเรือคลองเตย  กรุงเทพฯ  มีที่ดินกว่า 2,300 ไร่  ชาวคลองเตยขอแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์มาสร้างที่อยู่อาศัย รองรับชาวชุมชนคลองเตย 43 ชุมชน  ประมาณ 80,000 คน 

เสียงจาก “สลัม 4 ภาค” และคนจนเมือง

             นางสาวกรรณิการ์ ปู่จินะ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ยังคงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ  กลุ่มที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ในที่ดินการรถไฟ การท่าเรือ ที่ดินสาธารณะริมคูคลอง กลุ่มคนไร้บ้าน คนจนกลุ่มใหม่ที่ยังไม่ปรากฎตัวชัดเจน เช่น คนเช่าบ้านราคาถูก อาศัยในตึกร้าง ไม่มีหลักประกันที่มั่นคง เนื่องจากไม่มีนโยบายการจัดการที่ดินอย่างจริงจัง

“ในนามเครือข่ายสลัมสี่ภาค จึงจัดกิจกรรมให้เห็นสภาพปัญหา และข้อเสนอจากชุมชน  การแก้ไขปัญหา เช่น  เวทีการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดคลองเตย วันที่ 17 กันนยายนนี้  จะจัดงาน ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินการท่าเรือ’ ที่มูลนิธิดวงประทีป  วันที่ 18 กันยายน  เวทีพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินคลองและที่ดินสาธารณะ  วันที่  20 กันยายน ‘นวัตกรรมที่อยู่อาศัยห้องเช่าราคาถูก’   เพื่อประมวลมาตรการนำเสนอต่อรัฐบาล  และหวังว่าจะบรรลุผลต่อไป”  ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคยกตัวอย่างกิจกรรมที่จะจัดขึ้น

             นางพรทิพย์ วงศ์จอม ผู้แทนเครือข่ายเมือง  และผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาธร  กล่าวว่า  เมื่อปี 2547 เกิดไฟไหม้ที่ชุมชนสวนพลู   กว่า 800 ครอบครัวเดือดร้อน  หมดเนื้อหมดตัว นั่งมองกำแพงคิดว่าจริงเหรอ นึกว่าฝันไป   แต่ก็มีพี่น้องเครือข่ายลงไปให้ข้อมูล  ทำให้เราได้สติ ว่าเรายังมีทาง เรามี พอช. มีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  เราไม่รู้จักโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.เลย   แต่ก็ได้ศึกษา  และรวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา

“ทีแรกคิดว่าเขาจะสร้างเป็นแฟลตให้เราอยู่ เราจะอยู่อย่างไร เรามีรถเข็น ขายของ บางคนขับแท็กซี่ พ่อแม่ติดเตียงจะปีนขึ้นไปอย่างไร  ? แต่เราก็ขอสู้ก่อน เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง  ทำไมเราจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เราก็ปรับปรุงในรูปแบบของบ้านมั่นคง ทำให้เราได้อยู่บ้านในเมืองกรุง อยู่สาธร ตึกข้างๆ 14 ล้านได้ห้องเล็กๆ ตายกี่ชาติก็ไม่ได้เจอแบบนี้ บ้านมั่นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินกำลังถ้าพวกเราสามัคคีกัน พวกเราต้องมั่นคง ข้างในต้องมั่นคง”  นางพรทิพย์บอกถึงช่วงที่เริ่มทำบ้านมั่นคงหลังเกิดไฟไหม้

เธอบอกด้วยว่า  นอกจากจะทำเรื่องบ้าน  จนมีที่อยู่อาศัยมั่นคงกลางเมืองแล้ว   ชุมชนยังทำหลายเรื่อง  เช่น  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ปลูกผักเป็นอาหาร  ช่วงโควิด-19  ทำครัวกลางแจกอาหารในชุมชน และชุมชนรอบข้าง  ตอนแรกใช้ผักที่ปลูก  ใช้เงินกองทุนในชุมชน  ตอนหลังจึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน

นอกจากนี้เมื่อพี่น้องคนจนเกิดปัญหา  เช่น  ไฟไหม้ตรงไหนต้องวิ่งไปช่วยดู  หรือถูกไล่รื้อ เราสะเทือนใจ พี่น้องตรงไหนเดือดร้อนเราไปช่วยกัน ศักดิ์ศรีของคนจน ถ้าไม่กอดกันให้มั่นคงจะแย่ เราต้องกอดกันให้มั่นคง เมื่อก่อนไปไหนตำรวจล้อมไปหมด แต่เราไม่เคยกลัว เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราอยากมีบ้านอยู่

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ

เสียงจากคนจนชนบท

นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง ผู้แทนเครือข่ายชนบท  และผู้นำตำบลวังน้ำเขียว  อ.วังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า เมื่อก่อนมีการไล่รื้อ ต่อสู้ที่วังน้ำเขียว เป็นความเจ็บปวดของพี่น้องชนบท เจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 4,000 คนขึ้นรถไปรื้อบ้าน    พี่น้องในชนบทเขตพื้นที่ป่าห่างไกล  มีความทุกข์ยาก เช่น  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 1,000 ครอบครัว ถ้าเราขึ้นศาลถูกตัดสินทันที ความเจ็บปวดกับคดีความยังอยู่ เรายังต่อสู้อยู่  เขตป่าสงวนกว่า  3,000 ครอบครัว คนเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ไม่มีการพิสูจน์ว่าประชาชนอยู่มาก่อนป่าหรือไม่ ?

ในภาคชนบทที่ทำโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช. เรามีโอกาสทำงาน ในชนบทก็อยู่ในพื้นที่ทหาร ชลประทาน  ฯลฯ ไม่มีความมั่นคงเหมือนกัน ที่ดินในชนบทที่มีปัญหา 3,000 -4,000 ชุมชน ได้ดำเนินการไปเพียง 100 กว่าชุมชน ซึ่งยังนับว่าน้อย  ในช่วงวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  เราจะจัดเวที “สรุปบทเรียนพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดิน ส.ป.ก.” ที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร   อ.บางประอิน  จ.พระนครศรีอยุธยา  วันที่ 15 – 16 ตุลาคมนี้

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานสรุปบทเรียนพื้นที่ฝั่งอันดามัน เกาะลันตา จ.กระบี่  “การขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินชุมชนชายฝั่ง” ที่ จ. กระบี่   การแก้ปัญหาทั้งจังหวัด  ทั้งเมือง “แม่แจ่มโมเดล”  และ “ชุมชนริมคลองแม่ข่า” จัดที่เชียงใหม่  ซึ่งเป็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกับร่วมกับท้องถิ่น ทุกภาคส่วน  เช่น ที่แม่แจ่ม นายอำเภอ นายก อบต.  เทศบาล เอาด้วย เราต้องผลักดันเชิงนโยบาย และเราต้องสร้างพื้นที่รูปธรรมด้วย

นอกจากนี้นายสมบูรณ์ยังมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่รวบรวมมาจากพี่น้องในชนบท  เช่น 1. ค่าวัสดุในการสร้าง-ซ่อมบ้านแพงมากขึ้น เงื่อนไขของ พอช. สนับสนุนการซ่อมบ้านหลังละ 25,000 บาทไม่พอ  ควรเพิ่มเป็น 40,000 บาท

2.ที่ดินของรัฐที่มีอยู่มากมาย เช่น  ที่ดินทหาร กรมธนารักษ์  กรมทางหลวง  ที่ดินว่างเปล่าของรัฐ  ควรเอามาให้ชาวบ้านเป็นทุนตั้งต้น ทำให้มีประโยชน์กว่าไปซื้อที่ดินเอกชน  3.กระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหา ระเบียบกฎหมายบางอย่าง เช่น อบต.ไม่มีอำนาจในการแก้ปัญหา ในทางปฏิบัติทำได้ยาก  ปลัด อบต.ถ้าไม่มีระเบียบ จะไม่ทำ ต้องแก้กฎหมายตรงนี้  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายป่าไม้   กฎหมายที่เป็นอุปสรรค

“และข้อสุดท้าย  ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยควรเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล คนไทยไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยไม่ได้  เราไม่อยากเห็นภาพคนเอาป้ายไวนิลหาเสียงไปทำที่อยู่ให้ลูกให้หลาน”  ผู้แทนชนบทกล่าวย้ำ

โดยจะมีการจัดกิจต่างๆ ตลอดช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน  2566 ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  เช่น  วันที่ 15 กันยายน  เวทีวิชาการ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ที่ พอช.  วันที่ 17 กันยายน  เวทีวิชาการ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย  คลองเตย ที่มูลนิธิดวงประทีป   วันที่ 18 กันยายน  เวทีวิชาการ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินริมคลอง  ที่ดินสาธารณะ  ที่ พอช.  ฯลฯ

นอกจากนี้ในวันที่ 2 ตุลาคม  ซึ่งเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  สมาชิกเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  เช่น  สลัม 4 ภาค  สอช.  ฯลฯ  จะระดมสมาชิกประมาณ 3,000 คน  เพื่อเดินรณรงค์และยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา  ลดอุปสรรคต่างๆ โดยจะมีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินนอก  บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย  และทำเนียบรัฐบาล

แผน 5 ปีแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ   ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนสองข้างทางรถไฟ  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหา

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566   เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ

โดยในปี 2566   พอช. มี  6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ  คือ  1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน   ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน  เขตราชเทวี  จำนวน  306  ครอบครัว  โดย พอช. อยู่ระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย

2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา  43 ครอบครัว  3.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก  30 ครอบครัว   4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.ขอนแก่น 169  ครอบครัว  และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225  ครอบครัว  รวมทั้งหมด 939 ครอบครัวที่จะดำเนินการในปีนี้

ส่วนรูปแบบการดำเนินการนั้น  จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้)  โดยเช่าที่ดิน รฟท.  การก่อสร้างบ้านในที่ดินใหม่   หรือจัดซื้อ-เช่าในโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ  ฯลฯ

ส่วนชุมชนต่างๆ อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลครอบครัวที่เดือดร้อน  ต้องการเช่าที่ดิน รฟท.  เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน  และดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.ต่อไป

โครงการรถไฟรางคู่จากกรุงเทพฯ ลงสู่ภาคใต้  หากรวมชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางจะมี 300 ชุมชน  ประมาณ 27,000 ครัวเรือน

‘Smart  Community’ ที่คลองเตย

        ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  รัฐบาลมีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตยให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ   โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ  เนื้อที่  2,353 ไร่  มูลค่านับแสนล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีโครงการ Smart  Community เพื่อรองรับชาวชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยในพื้นที่การท่าเรือประมาณ 13,000 ครอบครัว  ซึ่งจะต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม  โดยมีข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวชุมชนเลือก  คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่การท่าเรือจะสร้างให้  2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณหนองจอก  และ3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่  โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อต้นปี 2562  อย่างไรก็ตาม  โครงการพัฒนาท่าเรือและที่อยู่อาศัยของชาวคลองเตยจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

กระนั้นก็ตาม  ชาวชุมชนคลองเตยยังคงรวมตัวกันเพื่อติดตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งนำมาเป็นประเด็นในการรณรงค์เคลื่อนไหวเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566 นี้ด้วย

โดยที่ผ่านมา  องค์กรที่เคลื่อนไหวในนาม ‘สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย’  ได้มีข้อเสนอต่อโครงการดังกล่าว  เช่น  การท่าเรือแห่งประเทศไทย   มีแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  มีการตั้งคณะกรรมการ 1 คณะ  และคณะทำงาน 3 คณะ  ซึ่งแต่ละคณะมีประธานกรรมการชุมชน ผู้แทนองค์กร สหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมด้วย  แต่มีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง  เป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน  เนื่องจากไม่ได้มีมติเห็นชอบจากที่ประชุมทั้ง 4 คณะ  และไม่ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ  รับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชน

รูปแบบอาคาร   ขนาดห้องพักที่มีเพียงขนาดเดียวของโครงการฯ  อาจตอบสนองการอยู่อาศัยของคนบางกลุ่ม

ซึ่งมีจำนวนน้อย    แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวชุมชนจำนวนมาก ยังมิต้องพูดถึงการที่ชาวชุมชนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้น

“สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  ขอให้ทบทวนโครงการ Smart Community  และขอเสนอแนวทางกระบวนการทำงานกับชุมชน  โดยได้จัดทำข้อมูล  กระบวนการทำงาน  การออกแบบ  รูปแบบอาคาร  และห้องพัก เป็นวิดีทัศน์  เอกสาร   เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกระบวนการ  ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ วิถีชีวิต อาชีพ รายได้ของชาวชุมชน  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”

โมเดลอาคารสูงของการท่าเรือฯ ที่ชาวบ้านขอมีส่วนร่วม  และขอแบ่งปันที่ดินเพื่อจะสร้างที่อยู่อาศัยให้ตรงกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนจน

นวัตกรรมที่อยู่อาศัย: ห้องเช่าราคาถูก

จากสถานการณ์ของคนจนเมือง มีช่องว่างทางนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มคนจนเมืองที่มีศักยภาพต่ำในทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้เช่าห้องราคาถูกอยู่อาศัย  มีอาชีพและรายได้ไม่มั่นคงสม่ำเสมอ กลุ่มคนไร้บ้านที่พอจะมีรายได้เช่าห้องในราคาถูก ๆ เพื่อให้พ้นจากสภาวะการไร้บ้าน และหลายคนตลอดทั้งชีวิตอยู่ในสถานะของผู้เช่าห้อง   เสี่ยงจะหลุดมาเป็นคนไร้บ้าน ถ้าไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่าห้อง

“การพัฒนานโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก”ที่มีหลักประกันความมั่นคงสำหรับผู้เช่าห้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ของคนจนเมือง จนเกิดแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ห้องเช่าราคาถูก  โดยในเบื้องต้นมี  3 แนวทาง คือ 1.ให้ชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง จัดสร้าง หรือปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนเป็นห้องเช่าราคาถูก  2.พัฒนาปรับปรุงอาคารร้าง โดยความร่วมมือกับภาคีหลายภาคส่วน  เช่น  กรุงเทพมหานคร   สำนักงาน ทรัพย์สินพระมหากษติย์  และ 3.จัดหาที่ดินว่างเปล่า สร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้เช่า

โดยขณะนี้มีพื้นที่รูปธรรมนำร่องในการดำเนินงานห้องเช่าราคาถูก2 พื้นที่ คือ ศูนย์คนไร้บ้าน บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี  และอาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  กรุงเทพฯ

ส่วนกลุ่มเป้าหมาย  เช่น   1.คนไร้บ้านที่มีความพร้อม  มีความต้องการมีที่อยู่อาศัย  ในราคาที่พอจ่ายได้  2.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย  มีงานไม่ประจำ  ไม่มั่นคง  เช่น  รับจ้างรายวัน  กรรมกร  คนที่เพิ่งเข้าเมืองมาหางานทำ  3.คนตกงาน  4.คนมีปัญหาครอบครัว  5 นักเรียน  นักศึกษา  ที่ครอบครัวมีรายได้น้อย ฯลฯ

เงื่อนไขที่ตอบสนองต่อผู้ต้องการห้องเช่าราคาถูก  เช่น  ไม่ต้องเก็บเงินค้ำประกันการเช่าห้อง  ขนาดห้องประมาณ 4X4 ตารางเมตร  มีห้องน้ำในตัว  หรือห้องน้ำรวม  ค่าเช่าไม่เกิน 1 พันบาทต่อเดือน (ห้องเช่ารายวัน  วันละไม่เกิน 50 บาท)  ฯลฯ

ผู้ร่วมงานแถลงข่าววันที่อยู่อาศัยโลก 2566
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ