คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนนักปกป้องสิทธิที่มีการขับเคลื่อนวาระทางสังคมในระดับพื้นที่หลากหลายประเด็น ได้แก่ ทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน เหมืองแร่ ผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้มีความหลากหลาย กลุ่มคนไร้บ้าน การชุมนุมทางการเมือง การศึกษา และสิทธิผู้บริโภค ณ ที่โรงแรมพิมานการ์เด้น บูติก โฮเทล จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 6 – 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
“สถิติที่รวบรวมจากกระทรวงแรงงานของประเทศไทย สวีเดน และฟินแลนด์ ระบุว่า นับตั้งแต่ระบบโควตาเริ่มขึ้นในปี 2549 มีจำนวนวีซ่าแรงงานไปเก็บเบอร์รีทั้งสิ้น 118,798 วีซ่า แต่ละปีคนงานกว่า 60 % จะเป็นคนงานใหม่ที่ถูกหลอกให้เชื่อว่าการยอมจ่ายค่าใช้จ่ายเงิน 150,000 บาท และการทำงานหนัก 70 วัน โดยไม่หยุดพัก เพราะเชื่อว่าจะทำให้พวกเราได้เงินแสนกลับบ้าน แต่ความเป็นจริงคือพวกเราจำนวนมาก ถูกหลอกไปทำงานฟรี ต้องจำยอมทนทำงานตลอดฤดูกาล ถูกกดดันเรื่องหนี้สินที่กู้ไปจากเมืองไทย และหนี้จากบริษัทเบอร์รีป่า ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูล มีรายการผู้เสียหายที่ประสบปัญหาโดยตรงรวมกันกว่า 2,000 คน” ไพรสันติ จุ้มอังวะ แรงงานชาวไทยผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานเก็บเบอร์รีในฟินแลนด์ ซึ่งเขาเรียกว่า “เบอร์รีเลือด” ไล่เรียงสถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิแรงงานเก็บเบอร์รีป่าในต่างประเทศ ซึ่งมีการต่อสู้เรียกร้องตามขั้นตอนทางกฎหมายหลังถูกหลอกจ้างงานไม่เป็นธรรม ขณะยื่นหนังสือข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเร่งด่วนแก่เหยื่อแรงงานเกษตรกรไทย
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจาก จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ และเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือและข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษชยนแห่งชาติ ให้มีการใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องนักปกป้องสิทธิ โดยให้มีการลงพื้นที่เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิจากทั้งรัฐและเอกชนจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
1. การใช้มาตการเชิงรุกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทันทีที่มีการแจ้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือการแต่งตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบการละเมิด การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดแนวทางการประสานงานกับหน่วยราชการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
2. การทำความเข้าใจและบันทึกความเข้าใจหรือข้อตกลงกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าใจบทบาทของประชาชนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และจัดทำมาตรการป้องกันมิให้มีการละเมิด ตลอดจนติดตามข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐหรือเอกชนในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
3. การทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงผลักดันให้มีการดำเนินการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
4. การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการจัดทำข้อมูลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และในการจัดทำรายงาน ควรระบุข้อจำกัดขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาเพิ่มเติมทรัพยากรให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นในการปกป้องและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“ในภาคอีสาน เราก็จะเห็นว่ามันไม่ได้มีแค่ประเด็นปัญหาเรื่องทรัพยากร แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น เป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องของบุคคล เรื่องของสถานะบุคคล เรื่องของพี่น้องคนไร้บ้าน ถ้ามันมีโอกาสมีวงคุยแบบนี้ เขาก็จะสามารถติดตามหรือสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้มากขึ้น และเราคิดว่ามันเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะมีการเปิดศูนย์ที่ภาคอีสาน และเราอยากมาฟังในมุมของ กสม.ด้วย ในบทบาทที่เขาอยากจะทำหรือว่าเขาทำได้จะดูแลคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมันเป็นอย่างไร” จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ
“การมีเจ้าหน้าที่ กสม.มาตั้งที่ขอนแก่นเป็นเรื่องดี เราจะได้ใกล้ชิดกับองค์กรที่เราได้ข้อมูลข้อเท็จจริง ก็เหมือนได้ปรึกษา มีความรู้ถูกต้องชัดเจนในเรื่องสิทธิ อย่างเครือข่ายคนไร้บ้านเรามีปัญหาซับซ้อนที่จะต้องใช้ระยะเวลา” อารีภรณ์ คะยัด เครือข่ายคนไร้บ่าน บ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น มองถึงโอกาสในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และร่วมหาทางออกผ่านการทำงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“ครั้งนี้เหมือนมาดูสถานการณ์ของภาคอีสานในภาพรวม ตั้งใจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights defenders ) มันมีความสำคัญอย่างไร แล้วก็ในทางสิทธิมนุษยชนระดับสากล เราจะใช้คำนี้ ซึ่งถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าถึงเป้าหมายของเวทีประชุมในเบื้องต้นซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่
“ถ้าหากว่าเราถูกดำเนินการฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการที่เรียกว่าถูกคุกคาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เขาก็จะได้รู้ว่าเขาจะมีกลไกร้องเรียนอย่างไร เขาได้รู้กฎหมายกระบวนการยุติธรรมว่าเขาควรจะปกป้องสิทธิตัวเองอย่างไร และเขาสามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนให้กับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในหลายภาคส่วนที่ทำอย่างไร เพราะฉะนั้นในกรณีเรื่องราวเหล่านี้เราต้องเหมือนกับปูทางให้เห็นให้ตระหนัก แล้วถ้ามีกรณีร้องเรียนเราก็จะสามารถที่จะทำให้ศาล อัยการ ทนายความ ได้ตระหนักว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องพัฒนากฎหมาย แล้วก็ต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาระหว่างที่เขาถูกฟ้องคดี ทั้งเรื่องของทนายความ การปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี หรือต้องมีการแก้กฎหมาย เช่น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายข่าวกรอง กฎหมายความมั่นคง และอีกอย่างเราเปิดสำนักงานในภาคอีสานด้วย ซึ่งก็จะเริ่มทำการ 2 ตุลาคมนี้”
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจัดตั้งและการดำเนินงานตามหลักการปารีส (Paris Principles) ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ (National Human Rights Institution) โดยมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 247 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 และ มาตรา 26พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 การทำงานที่สำคัญคือ การตรวจสอบเรื่องร้องเรียน การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการตรวจสอบการทำงานและส่งต่อข้อมูล กับนักปกป้องสิทธิ เพื่อให้มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้การทำงานของพื้นที่ร่วมกับเครือข่าย