‘สวมหมวกใส่รองเท้า’ ให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน

‘สวมหมวกใส่รองเท้า’ ให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน

วิทยาลัยชุมชนน่าน ออกแบบโมเดล “สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” พร้อมทั้งจัดการเรียนรู้ หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่สีเขียวถูกทำลายอย่างรวดเร็วในเขตจังหวัดน่าน

ภาพรวมเบื้องต้น

จังหวัดน่าน อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน มีเขตชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาซึ่งมีพื้นที่เป็นลูกคลื่น ลอนชันเกิน 30 องศา ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนลูกคลื่นลอนลาดตามลุ่มน้ำจะเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำ น่าน สา ว้า ปัว และกอน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในอดีตน่านเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันสภาพภูมิประเทศได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นภูเขาหลายลูกกลายสภาพเป็นเขาหัวโล้น

หากมองอย่างผิวเผินอาจสรุปว่าปัญหาเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดตามสภาพภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะเห็นว่าปัญหาภูเขาหัวโล้นนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การตัดไม้ทำลายป่า ที่จะสามารถแก้ไขด้วยการผุดโครงการปลูกป่า ขึ้นตามกระแสอนุรักษ์ หากแต่การแก้ปัญหาสภาพภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมนั้นต้องใช้ระยะเวลานานในการที่จะคืนสภาพดอยสีเขียว อีกทั้งยังต้องลงลึกไปถึงการแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนเสียก่อนจึงจะเห็นผล เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง พื้นที่ราบเพื่อการเกษตรมีน้อยมาก ในขณะที่เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามการขยายตัวของชุมชน ปัญหาการรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกินจึงไม่อาจหลีกเลี่ยง

ดังนั้น การแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมจึงต้องศึกษาลงลึกโดยเริ่มจากระดับครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อหาทางออกให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพ โดยหลีกเลี่ยงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการรุกพื้นที่ป่าให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำการฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายเพื่อให้ภาพภูเขาสีเขียวกลับคืนมา แม้ภาพภูเขาหัวโล้นจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน อย่างไรก็ตาม ป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ ยังคงไม่มีการบุกรุกทำลายมากนักเนื่องด้วยยังอยู่ในความดูแลของทางราชการ อีกทั้งเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามขับเคลื่อนโครงการรักษาป่าต้นน้ำในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน 

สืบเนื่องจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นกังวลถึงทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดน่านได้ถูกทำลายไปเป็นอันมาก ทางจังหวัดจึงได้จัดประชุมองค์กรเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดน่าน จาก 94 ตำบล 47 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการลดการทำลายป่าไม้บนพื้นที่สูงและทำให้ป่ากลับคืนมา จากมติที่ประชุม วิทยาลัยชุมชนน่าน ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริงโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกองค์กรเครือข่าย ผลจากการบูรณาการจึงได้มีการตกลงทำข้อบัญญัติในการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและพัฒนาพื้นที่ทำกิน ในขณะนี้มีจำนวน 34 ตำบล ที่มีข้อบัญญัติเพื่อใช้เป็นหลักการและแนวทางในการดูแลพื้นที่ของตนเอง

วิทยาลัยชุมชนน่าน ได้วางแผนการทำงานแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น โดยยึดถือเป้าหมายต้นแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม” ออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นำศาสตร์พระราชามาใช้เป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องหลักการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผสมผสานกับข้อเท็จจริงในหลักภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกรในพื้นที่ จนได้กรอบการทำงานที่ให้ชื่อว่า “สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน”

กรองปัญหาเพื่อคำตอบที่ชัด

ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดน่าน พื้นที่มากกว่า 80% เป็นภูเขาสูง สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ 4 ส่วนนี้ ส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดคือส่วนพื้นที่ทำกิน การขยายพื้นที่ทำกินของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผืนป่าถูกรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวโพด เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดให้ผลกำไรต่อไร่ต่ำ ดังนั้น หากเกษตรกรต้องการมีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพก็จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้ได้มาก ภาพภูเขาหัวโล้นจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ถูกหลักคือการเผาซากไร่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พื้นที่คงสภาพภูเขาหัวโล้น อีกทั้งยังเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อนของทุกปี และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่ผ่านการเพาะปลูกไปได้ระยะหนึ่งก็จะถูกทิ้งร้างเพื่อให้ดินได้พักตัวสะสมธาตุอาหาร พื้นที่ส่วนนี้เกษตรกรจะไม่ปลูกพืชยืนต้นทดแทนแต่จะใช้สารเคมีทำลายวัชพืชหรือใช้วิธีเผา ทั้งนี้เพราะเกรงว่ารัฐจะไม่อนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ทำกินได้อีก ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านจึงยังคงสภาพเดิมและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มีการรณรงค์ปลูกป่ากันหลายต่อหลายโครงการในหลายปีที่ผ่านมา 

จังหวัดน่านมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7.17 ไร่ หรือ 11,472.07 ตารางกิโลเมตร
ภูเขาหัวโล้นส่วนใหญ่อยู่ในส่วนพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพด 800,000 ไร่ (ข้อมูล ปี……)

20152006013248.jpg

รูปแบบการดำเนินงาน

จากข้อมูลดังกล่าว วิทยาลัยชุมชนน่าน ได้ออกแบบโมเดล “สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” ที่ได้แนวคิดจากศาสตร์พระราชาเรื่องหลักการต้นน้ำ(ป่าไม้) กลางน้ำ(เกษตรกรรม) และปลายน้ำ(ประมง) โดยมีกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนปฏิบัติเพื่อนำไปใช้เป็นแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จะแบ่งพื้นที่ภูเขาหัวโล้นออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนยอดดอย (ต้นน้ำ) ส่วนกลางดอย (กลางน้ำ) และส่วนเชิงดอย (ปลายน้ำ)

ศาสตร์พระราชา
20152006013337.jpg
20152006013407.jpg

ส่วนยอดดอย: ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนที่สุด พื้นที่สีเขียวจะต้องเร่งสร้างเสริมให้เกิดขึ้นตามแผนการทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ จากภาระงานที่ต้องปลูกป่าไม้ยืนต้นเพื่อเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชไร่ให้เป็นพื้นที่ป่าตามหลักการศาสตร์พระราชา “ต้นน้ำ คือ ป่าไม้” การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมหมวกสีเขียวให้ภูเขาหัวโล้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การชักชวนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่มาปลูกไม้ยืนต้นเพื่อสร้างป่าอาจไม่สามารถทำได้ง่ายตามหลักการที่ควรจะเป็น เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดเป็นอาชีพสร้างรายได้ของครอบครัวเกษตรกร ทางออกในเรื่องนี้จึงควรเป็นวิธีที่ประนีประนอมโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตและข้อมูลทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน การให้ความรู้ถึงประโยชน์ของป่าไม้ที่ให้ผลโดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกร และการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในด้านรายได้เพื่อการยังชีพของครอบครัว จึงน่าจะเป็นกระบวนการที่สามารถนำมาปฏิบัติจริงเพื่อให้การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้บรรลุจุดมุ่งหมายได้

ส่วนกลางดอย: พื้นที่ส่วนนี้กำหนดให้คงไว้เป็นส่วนพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ตามศาสตร์พระราชาถือเป็นพื้นที่ส่วน “กลางน้ำ” ที่ควรกันไว้สำหรับการกสิกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพดและยังขาดความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์และการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลจะไหลลงสู่แหล่งน้ำหมด ดังนั้น เมื่อถึงหน้าแล้งปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงพบได้บ่อย การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกพืชไร่ที่ถูกต้องและการบริหารจัดการน้ำจึงถือเป็นภาระงานที่สำคัญในลำดับต่อไป 

ส่วนเชิงดอย: พื้นที่เชิงเขาเมื่อเทียบกับส่วนบนแล้วผืนดินจะเก็บกักน้ำได้มากกว่า กระแสน้ำที่ไหลบ่าจากบนดอยลงมาจะรวมกันเป็นสายน้ำ เล็กบ้างใหญ่บ้างทำให้เกิดลำน้ำ ลำห้วย หรือแม่น้ำ ไหลเป็นสายไปสู่พื้นที่ราบต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลาง พื้นที่ส่วนนี้เปรียบได้กับส่วน “ปลายน้ำ” ควรจะอุดมสมบูรณ์กว่าส่วนอื่นและเป็นพื้นที่เหมาะกับการประมง หากระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนนี้ยังมีความลาดชันและเป็นลอนคลื่น อีกทั้งยังถูกใช้งานจากคนในชุมชนทั้งเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และการประมงน้ำจืด ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น การปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเกษตรทำให้จำนวนไม้ยืนต้นมีไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาน้ำป่าหลากในฤดูฝนและน้ำแห้งขอดในฤดูแล้ง การใช้สารเคมีต่อเนื่องสะสมทำให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการประมงน้ำจืด การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ส่วนนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อลดกำลังของกระแสน้ำหลากในฤดูฝน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กและปลูกพืชชุ่มน้ำเพื่อรักษาดินให้อุ้มน้ำเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้งในฤดูร้อนอย่างยั่งยืน สนับสนุนส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี เมื่อแหล่งน้ำสะอาดขึ้นและตะกอนดินที่ถูกกระแสน้ำพัดลงมาทับถมลดน้อยลง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำรวมถึงปลาน้ำจืดสายพันธุ์ต่างๆจะเพิ่มมากขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่อง ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้การประมงในพื้นที่ส่วนนี้เป็นผลดียิ่งขึ้น การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมรองเท้าให้ภูเขานั่นเอง

ระยะการทำงาน

แผนการทำงานภายใต้โมเดลนี้ คณะทำงานตั้งเป้าหมายพื้นที่ปฏิบัติงานในเบื้องต้น ประมาณ 100 ไร่ โดยแบ่งการทำงานออกได้เป็น 2 ระยะคือ

1.ระยะชดเชย (ช่วง 1 – 3 ปีแรก): การปฏิบัติงานในระยะนี้จะต้องอาศัยเงินทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกร

คณะทำงานเข้าพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ส่วนยอดดอยและเชิงดอย ในเรื่องหลักการเบื้องต้น แผนการทำงาน และแผนการช่วยเหลือในด้านการเงิน เมื่อเกษตรกรตกลงใจเข้าร่วมในการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จะต้องทำการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ทำกินของตนเอง ในส่วนของพันธุ์ไม้และการปลูกนั้นเกษตรกรเป็นผู้คัดเลือกและจัดการด้วยตนเอง คณะทำงานจัดหาเงินทดแทนรายได้ที่เกษตรกรเสียไปจากการไม่ได้ปลูกพืชไร่ คิดเป็นจำนวนเงิน 1,600 บาท ต่อไร่ ต่อปี

2.ระยะตอบแทน (ช่วง ปีที่ 4 – 5): การปฏิบัติงานในระยะนี้เป็นระยะติดตามผล

นับแต่เมื่อเกษตรกรตกลงเข้าร่วมในการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จนกระทั่งไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้มีอายุล่วงเข้าปีที่ 4 เป็นต้นไปก็จะนำต้นไม้เหล่านั้นเข้าสู่ “โครงการธนาคารต้นไม้” หรือ โครงการ Credit Carbon ซึ่งเกษตรกรจะมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนที่มาจากการคำนวณโดยใช้เส้นรอบวงของต้นไม้เหล่านั้น

วิทยาลัยชุมชนน่าน พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต

ด้วยพันธกิจหลักและกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา ของ วิทยาลัยชุมชนน่าน ที่มุ่งหวังพัฒนาท้องถิ่นให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสภาพระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม และคนในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิต มีอาชีพการงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิต ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) รวมทั้งสิ้น 10 วิชา รายวิชาละ 60 ชั่วโมงโดยประมาณ สำหรับจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Family Base Learning ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมในโมเดล“สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” โดยมีลำดับการเรียนรู้ตามลักษณะขั้นบันไดทั้งหมด 5 ขั้น เริ่มจาก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถอดบทเรียน และขยายผล

ใช้ระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 5 ปี ผู้เรียนจะเป็นสมาชิกของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ที่กำหนดในเบื้องต้น 100 ไร่ หรือ 8 – 15 ครอบครัวโดยประมาณ เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ 4 – 5 คน สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 1 ห้องเรียน ครูผู้สอนจะเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการเกษตร โดย วิทยาลัยชุมชนน่าน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาครูผู้สอน ค่าสอน หลักสูตรและรายวิชารวมถึงแผนการเรียนการสอน ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้เรียน

20152006013519.jpg

วิทยาลัยชุมชนน่าน ออกแบบโมเดล “สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” พร้อมทั้งจัดการเรียนรู้ หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่สีเขียวถูกทำลายอย่างรวดเร็วในเขตจังหวัดน่าน เป็นการทำงานสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำของคนทั้งประเทศ และเพื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ