เมื่อลูกวัยรุ่นสนใจการเมือง เราจะสร้างพลังที่สืบเนื่องได้อย่างไร : บทเรียนจากลูกชายไปเป็นนักข่าวพลเมือง ThaiPBS
ขี้นชื่อว่าการเมือง ในมโนความคิดของคนเป็นพ่อแม่ทั่วไปมักจะมองว่า เป็นเรื่องของเกมที่มีกลิ่นอายความสกปรก ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย ผลประโยชน์ร้อยแปดพันเก้า หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจต่างๆที่ดูซับซ้อน หนักหนาเกินกว่าที่เด็กเยาวชนวัยรุ่นควรจะได้รับรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงมักไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน มาเรียนรู้การเมืองมากนัก ไม่ค่อยสนใจให้ความรู้เกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะในเชิงวิพากษ์กับวัยรุ่นมากนัก อย่างมากก็จะมีอยู่ในแบบเรียน ตำราเรียนที่เป็นลักษณะเน้นการท่องจำ เหมือนกับการจดจำประวัติพระพุทธเจ้า และวันสำคัญทางพุทธศาสนาแทนที่จะเน้นให้คิดเชิงวิพากษ์ และอภิปรายต่างๆ
วัยรุ่นในปัจจุบันมีความสนใจใคร่รู้ และแสดงออกทางการเมืองกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จะเป็นด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ เช่น ระบบการเลี้ยงดูในหลายครอบครัวที่หันมาใช้วินัยเชิงบวกและจิตปัญญาศึกษาในบ้าน การให้ความรู้รวมถึงกิจกรรมการเลือกตั้งสภานักเรียนในโรงเรียน กิจกรรมชุมนุมต่างๆในสถาบันการศึกษา กระแสสื่อโซเชียล กระแสการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งดนตรี หนัง แนวประชาธิปไตยมากมาย การรับรู้ความเคลื่อนไหวตลอดจนซึมซับเอาวัฒนธรรมสากลทั้งจากตะวันตกและเอเชียที่วัยรุ่นเขามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ฯลฯ
ปรากฏการณ์ที่วัยรุ่นให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบปัจจุบันเป็นปรากฏการณ์ที่คนรุ่นพ่อแม่อย่างเราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน บางคนที่เป็นพ่อแม่ก็ตกใจ ไม่รู้จะรับมือยังไง พ่อแม่บางคนก็ขุ่นเคืองใจ แต่บางคนก็มองเป็นโอกาสสนับสนุน บางคนก็ขัดแย้งกันระหว่างความคิดภายในบ้าน ฯลฯ ผมเลยอยากเล่าประสบการณ์ของตนเองกับลูกวัยรุ่นมาแชร์เพื่อเป็นอีกพื้นที่แลกเปลี่ยนทางสังคมกันนะครับ
ปีนี้ ลูกชายเพิ่งอายุได้ 16 ปีแต่ด้วยความที่เขาชอบคิดวิเคราะห์เวลามีกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนหรือข้อสงสัยในการเรียนก็ชอบที่จะเอามาอภิปรายกับพ่อแม่อยู่เนืองๆ จนมาถึงเรื่องรัฐบาลก็มีหลายอย่างที่เขารู้สึกว่าต้องปรับเปลี่ยน ส่วนตัวเขาเองก็สนับสนุนแนวทางของพรรคการเมืองบางพรรคแต่ผู้นำบางพรรคเขาก็ชังขี้หน้า เวลากินข้าวด้วยกัน เวลานั่งรถ บางทีลูกก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้คุยอะไรยาวมากมาย
ผมเห็นว่าลูกมีความสนใจในเรื่องการเมืองแบบนี้ โอเคล่ะ 16 ปี ยังไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่กระนั้น ความสนใจเรื่องราวการเมืองก็คือเรื่องราวของบ้านเมืองกฎหมายต่างๆที่จะมาเกี่ยวข้องกับทุกคนในประเทศก็เป็นสิ่งที่ดี ที่เด็กเรียนรู้ได้ เหมือนเพศศึกษา ยุคใหม่นี้ เราก็ปรับความเชื่อให้สอนได้ตั้งแต่ประถม
เราจะทำยังไงให้ลูกหาข้อมูลได้รอบด้าน มีความตั้งใจมีความสนใจในอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นก็ดี แต่ก็ต้องมีความรอบรู้ในหลากหลายมุม พ่อแม่อย่างเราก็มีข้อจำกัดและเราก็ไม่รู้ว่าโรงเรียนสอนเรื่องนี้แก่ลูกเรายังไง
พอดีก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางสื่อสาธารณะ Thai PBS เขาได้ประสานมาทางผม ซึ่งส่วนตัวเคยเป็นแกนนำสื่อสร้างสรรค์และเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลแกนประสานภาคประชาชนดีเด่นภาคเหนือ ปีอะไรก็จำไม่ได้แล้ว ทาง Thai PBS ประสานเข้ามาเรื่องอยากจะให้หาทาบทามคนมาเป็นนักข่าวพลเมืองจิตอาสาเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่แม่ฮ่องสอนครั้งนี้ ซึ่งตัวผมเองในฐานะสวมหมวกหลายใบ ตอนนี้จะให้ลงไปลุยทำข่าวภาคสนามเองเห็นทีจะไม่เหมาะ
ผมเลยสอบถามไปทาง ThaiPBS แล้วว่าแม่ฮ่องสอนมีคนสมัครเข้ามาบ้างหรือยังเขาก็ตอบว่ามีมาแล้ว 2 พื้นที่ทางแม่ฮ่องสอนมีมาทางสายใต้ ส่วนทางสายเหนือยังไม่มี อืมมมม…งั้นลองให้ลูกชายไปสมัครดูดีไหม ผมก็ลองสอบถามเจ้าลูกชายดูว่าสนใจไหมเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ฝึกฝน เขาอาจจะไม่ได้มีประกาศนียบัตรอะไรชัดๆให้เราแต่เราก็สามารถเอาไปเพิ่มเติมใน portfolio ที่เราทำเพื่อสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ และยังมี link ไปที่ตัวคลิปวีดีโอที่เรารายงานข่าวเป็นหลักฐานได้อีกด้วยซึ่งโอกาสอย่างนี้มีมาไม่บ่อยนักนะลูกนะ
ลูกชายวัยรุ่นฟังแล้วก็สนใจ ผมก็เลยให้ทางเขาสมัครเข้าไปทางไลน์ศูนย์ข่าว Thai PBS ภาคเหนือ จากนั้นเขาก็มีกระบวนการนัดประชุม Zoom Meeting อบรมให้ความรู้ว่าสิ่งที่นักข่าวพลเมืองจะต้องทำในช่วงวันเลือกตั้งมีอะไรบ้าง บางอย่างทำได้บางอย่างทำไม่ได้ อะไรเป็นจริยธรรมของนักข่าว การไม่เอาความคิดเห็นของตนเองเข้าไปตัดสิน คำถามบางคำถามที่อาจจะเป็นการชี้นำก็ต้องระวัง การถ่ายรูปจะต้องมีมารยาทอย่างไร มีสิ่งไหนที่เราต้องไม่ไปละเมิดหรือเผลอทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้บ้าง ฯลฯ
ลูกประชุมกับ Thai PBS ไปแล้วเขาคิดว่าน่าจะได้ความรู้เชิงทฤษฎีมากพอสมควรเพราะประชุมหลายชั่วโมงทีเดียว แต่ในภาคปฏิบัติแม้ว่าลูกชายจะคุ้นเคยมาบ้างกับการถ่ายหนังสั้นคลิปสั้นๆกับชุมนุมในโรงเรียน แต่นี่เป็นการถ่ายทำอีกแบบซึ่งเป็นแบบการทำจริงในพื้นที่จะต้องทำอย่างไร ตรงนี้ผมในฐานะพ่อที่เคยทำเรื่องการสื่อสารภาคพลเมืองเป็นนักข่าวในพื้นที่มาอยู่บ้างก็เลยได้ลงไปช่วยอยู่เบื้องหลัง ไปช่วยทำบทร่วมกัน ไปช่วยถ่ายภาพ ในวันที่ลูกชายลงไปถ่ายทำจริง
ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกวัยรุ่นกับพ่อที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา แอบดีใจที่ลูกชายพูดภาษาไทใหญ่ สัมภาษณ์ชาวบ้านพื้นถิ่นที่นี่ได้ด้วย แล้วทำซับไตเติ้ลอธิบายความหมายแก่ผู้ชม
ถึงเวลาสัมภาษณ์จะดูแข็งๆ เพราะยังใหม่ถอดด้าม แต่ก็ให้กำลังใจลูกว่าเขาทำได้ดีมาก และผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทุกครอบครัวสามารถที่จะใช้โอกาสหรือกิจกรรมต่างๆสอดแทรกให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเมืองอย่างสร้างสรรค์ได้ ทั้งนี้ ไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมทำข่าวนะครับ อาจจะเป็นกิจกรรมอื่นๆก็ได้ให้เขารู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่พูดคุยอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ได้ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปบ้างแต่เราก็ได้ฝึกรับฟังอย่างเป็นกลาง ฝึกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวบนฐานของหน้าที่ที่เราทำอยู่ในสังคม รวมถึงได้ความรู้อื่นๆ อันเป็นความรู้ทางการเมืองนอกตำราซึ่งหาไม่ได้ในการเรียนเรื่องการเมืองการปกครองไทยในแบบเรียน
อนึ่ง ลูกชายไม่ได้เป็นนักข่าวมืออาชีพนะครับแต่เป็นนักข่าวจิตอาสาที่เพิ่งมาฝึกรายงานครั้งแรก และน่าจะเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในการรายงานจับตาสถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ ก็ต้องขอบคุณทาง Thai PBS ที่ให้โอกาส เปิดพื้นที่เล็กๆที่ทรงคุณค่าความหมาย รายงานข่าวของวัยรุ่นอาจจะดูบ้านๆแต่ก็เป็นความตั้งใจและสัมผัสได้ถึงความจริงใจที่มีต่อชุมชนและประเทศชาติ สนใจติดตามดูได้จากทางลิงค์นี้ครับ
หมายเหตุ : บันทึกนี้ Re-write มาจากบล็อก Gotoknow ที่ผมเคยพิมพ์ไว้เมื่อ 12 มิ.ย. 2566 ( ดูบันทึกได้จากลิงค์ https://www.gotoknow.org/posts/713153 )พอดีมีน้องๆจาก ไทยพีบีเอส ถ้าจำไม่ผิดชือน้องอักษร ไปเห็นเข้า เห็นว่าน่าสนใจ มีคนเข้าไปอ่านหลักพัน ก็เลยชักชวนให้ผมนำมาลงใน thecitizen.plus นี้อีกทาง เพื่อขยายสร้างการเรียนรู้แก่สังคม ต้องขอขอบคุณทางทีมงานไทยพีบีเอส ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ