‘ฟอร์ติฟายไรท์’ ชี้ ‘หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ได้รับเกียรติแต่ยังต้องการการคุ้มครอง

‘ฟอร์ติฟายไรท์’ ชี้ ‘หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ได้รับเกียรติแต่ยังต้องการการคุ้มครอง

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ร่วมยินดี 2 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และ 2 องค์กร รับรางวัลคณะกรรมการสิทธิ์ฯ เชิดชูเกียรติ ‘ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน’ แต่ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงถูกคุกคาม แนะไทยรับประกันการคุ้มครอง

7 มี.ค. 2559 องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ออกแถลงการณ์ ‘ประเทศไทย: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับเกียรติแต่ยังต้องการการคุ้มครอง’ เนื่องจากวันนี้ (7 มี.ค. 2550) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาวันสตรีสากล ประจำปี 2559 “การประกาศเกียรติยศสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และมีการมอบเกียรติบัตร ให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง คือ 

1.พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้แสวงหาความยุติธรรมกรณีการหายตัวไปของสามี คือ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ 
2.อัจฉรา อัชฌายกชาติ นักข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
3.กลุ่มหญิงสู้ชีวิต (LOL) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้หญิงที่กลับจากต่างประเทศที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ข้ามชาติ
4.กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งปกป้องบ้านเกิดโดยการคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

20160703203453.jpg

ประเทศไทย: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับเกียรติแต่ยังต้องการการคุ้มครอง

นักรณรงค์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ และนักต่อสู้เพื่อชุมชนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ

(กรุงเทพฯ 7 มีนาคม 2559)— องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) กล่าวว่า วันนี้ ผู้หญิงสองคนและองค์กรซึ่งนำโดยผู้หญิงอีกสององค์กรในประเทศไทยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง ประเทศไทยควรรับประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการคุ้มครอง
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบเกียรติบัตรผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 แก่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้แสวงหาความยุติธรรมกรณีการหายตัวไปของสามี พอละจี หรือ “บิลลี่” รักจงเจริญ นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 พร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อัจฉรา อัชฌายกชาติ นักข่าวอาวุโสผู้มีประสบการณ์การทำงานกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มากว่า 20 ปี และรายงานข่าวเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “กลุ่มหญิงสู้ชีวิต” ซึ่งเป็นกลุ่มหญิงไทยผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ในต่างแดนและผู้หญิง “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จากจังหวัดเลยซึ่งประท้วงการทำเหมืองแร่ที่เป็นอันตรายในประเทศไทยโดยใช้สันติวิธี
 
“ผู้หญิงผู้กล้าหาญเหล่านี้ได้ยืนหยัดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เผชิญหน้ากับการคุกคาม การเพิกเฉย และหลายครั้งต้องเผชิญกับอันตรายถึงชีวิต” เอมี สมิท (Amy Smith) ผู้อำนวยการ องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าว “ผู้หญิงคือหัวใจหลักของการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนใประเทศไทยและเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะอยู่เบื้องหลังเพื่อสนับสนุนพวกเธอ”
 
การประกาศเกียรติยศในวันนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้า วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2559 เพียงหนึ่งวัน
 
องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ติดตามและบันทึกสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกรณี บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำและทองแดง ในจังหวัดเลย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำลงอย่างถาวร และแก้ไขปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนรากหญ้าที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากหกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีรายงานข่าวว่าบริษัทเหมืองแร่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง การข่มขู่ และการดำเนินคดีในศาลกับสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
 
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญากับสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านอื่นๆ ที่ร่วมประท้วงคัดค้านการทำเหมืองแร่จำนวน 33 คน รวมถึงกรณีล่าสุดบริษัทแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททางอาญากับเด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาทจากชาวบ้านด้วยข้อกล่าวหาว่าทำลายชื่อเสียงและธุรกิจของบริษัท
 
นางระนอง กองแสน อายุ 53 ปี สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกล่าวว่า “แม่ๆ ก็รู้สึกดีและภูมิใจที่ยังมีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านและชุมชน เราทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เสียสละเพื่อปกป้องทรัพยากรในถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อที่จะรักษาไว้ให้ลูกหลาน”
 
ผู้หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเลยและทั่วประเทศไทย องค์กรฟอร์ติฟายไรท์กล่าว  
 
องค์การสหประชาชาติให้การยอมรับว่า “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือ “บุคคล กลุ่มคนหรือสมาคม..ที่มีส่วนช่วย..ขจัดเสียซึ่งการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คนและบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษในบริบทของการทำงาน รวมถึงคุ้มครอง สิทธิการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิที่จะแสวงหา ได้มา ได้รับ และถือข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 ประเทศไทยให้การรับรองมติครั้งล่าสุดขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่จะเคารพสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและแก้ไขผลกระทบในด้านลบซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาเหล่านั้นด้วย
 
องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวว่า รางวัลในวันนี้ได้ส่องไฟเจิดจ้าให้เห็นถึง บทบาทสำคัญและความท้าทายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการดึงความสนใจมาที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่จำเป็นต้องได้รับความสนใจอย่างยิ่งในประเทศไทย
 
“นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้งถูกลงโทษและไม่ได้รับรางวัลใดๆ จากกิจกรรมการทำงานของพวกเขา” เอมี  สมิท กล่าว “ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการรับรองว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและได้รับคำชื่นชมในคุณูปการที่พวกเขามีต่อประเทศชาติ”

 

 

อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ: http://us10.campaign-archive2.com/?u=f15b18127e37f74088063b773&id=a82a0c71fa

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ