‘นักสื่อสารชุมชนต้องรับใช้ชุมชน’ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานร่วมสร้างนักสื่อสารชุมชน

‘นักสื่อสารชุมชนต้องรับใช้ชุมชน’ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานร่วมสร้างนักสื่อสารชุมชน

20150810195241.jpg

รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 2 – 4 ต.ค. 2558 สำนักเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเวทีอบรม “นักข่าวพลเมือง จุดประกายสื่อโดยชุมชน” ณ วัดดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น โดยมีวิทยากร อาทิ สุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สโมสรนักเขียนภาคอีสาน สำนักสื่อสารการพัฒนาจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมนำเสนอมุมมองประเด็นการทำสื่อ การเก็บข้อมูล รวมทั้งเทคนิคงานเขียนข่าว บทความ การจัดทำคลิปวิดีโอ รวมถึงการสอนการเล่นละครให้กับเยาวชน ให้กับผู้เข้าร่วม 

ปัจจุบัน แม้พื้นที่สื่อสาธารณะจะเปิดกว้างในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนได้มากขึ้น ทั้งในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ แต่คนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่กับปัญหานั้น ยังเข้าถึงหรือใช้ช่องทางเพื่อนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาสู่สังคมวงกว้างอย่างเต็มอัตราส่วนมากนัก 

และจากข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักที่ไม่สามารถลงมาทำข่าวในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่และบ่อยครั้ง ฉะนั้น การที่คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมามีบทบาททางด้านการผลิตสื่อให้ได้ และให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการด้านการสื่อสารด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ทันสถานการณ์ เพื่อจุดกระแสจากมุมส่วนใน ออกสู่สังคมภายนอกให้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม อย่างสูงสุด

ผู้มาเข้าร่วมอบรม ล้วนเป็นเยาวชนมาจากหลายพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานซึ่งต่างได้รับปัญหาผลกระทบด้านที่ดินทำกิน และวิทยากรรวมกว่า 30 ชีวิต กว่าจะฝ่าข้ามเส้นทางขรุขระ กันดาร คดเคี้ยว เลาะไปตามความสูงและลาดชันของเทือกเขา ผนวกกับสภาพถนนที่แสนแย่ แต่ในที่สุดก็เข้าพื้นที่ได้และร่วมกันทำกิจกรรมกระทั่งมาถึงกำหนดการของวันสุดท้าย

จากระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร จากปากทางเข้าทางบ้านโคกมน ต.โคกมน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ บ้านตาดฟ้า – ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องที่ทำกินที่อยู่อาศัยทับซ้อนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ ซึ่งปัญหาได้ดำเนินมานานกว่า 20 ปี จวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังคงอยู่ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง และยังไม่สามารถหาข้อยุติที่จะเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้

20150810195410.jpg

นายหนูเอก แสงจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้มาแต่ยุคแรกๆ เล่าความย้อนหลังว่า ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2508 ภายหลังจากพื้นที่ดินทำกินมาแต่บรรพบุรุษ ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลาน 

ต่อมาในปี 2529 กรมป่าไม้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้สัมปทานการทำไม้ในเขตป่าสงวนฯ ส่งผลให้มีการทำลายป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการตัดไม้นอกเขตสัมปทาน ชาวบ้านจึงร่วมต่อสู้คัดค้าน พร้อมทำเรื่องร้องเรียนต่อภาครัฐ อย่างไรก็ตามการสัมปทานตัดไม้ยังคงดำเนินการกันต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย 

การต่อสู้ยังไม่จบเพียงนั้น โครงการพัฒนาป่าดงลาน โดยเจ้าหน้าที่นำต้นไม้ไปปลูกในบริเวณพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จึงเกิดการรวมตัวคัดค้านอีกครั้ง โดยได้ทำการรื้อถอนกล้าไม้ที่กรมป่าไม้นำมาปลูก พร้อมยื่นกีฎาร้องทุกข์ต่อสำนักราชเลขาธิการ ขอพระราชทานให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่เรื่องเงียบหายไป 

นายหนูเอก เล่าอีกว่า ชาวบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน เป็นอีกหนึ่งในหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ถูกให้อพยพออกจากที่ดินทำกิน ในปี 2533 ได้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) โดยรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฎว่าโดนหลอก เพราะที่จัดสรรให้เป็นที่ดินที่มีเจ้าของแล้ว ผู้เดือดร้อนในภาคอีสานจึงร่วมกันต่อสู้เรียกร้อง กระทั่งสามารถล้มโครงการฯ คจก.ไปได้เมื่อปี 2535 

หลังจากคืนกลับมายังที่ดินทำกินเดิม กลายเป็นว่าได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งชาติภูผาม่านไปแต่ปี 2534 แล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันต่อสู้เพื่อผลักดันให้รัฐร่วมแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน เกิดโครงการจอมป่า ในรูปแบบที่ให้ชุมชนสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ เมื่อปี 2550 ทำให้ชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกและเก็บหาทรัพยากรจากป่าได้ 

นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เช่น ในป่าชุมชน จะเลือกเก็บพืชบางชนิดในช่วงเวลาเฉพาะของแต่ละปี และคอยดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถทำมาหากินอยู่มาได้ถึงปัจจุบันนี้

หนูเอก กล่าวต่อมาว่า จากที่เคยอยู่อาศัยทำการเพาะปลูก ทั้งเก็บหาทรัพยากรจากป่า ต่อมาเกิดรัฐประหาร โดยคณะ คสช.ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ ด้วยความเกรงจะถูกอพยพซ้ำรอยเดิมขึ้นมาอีก ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.58 จึงร่วมกันไปพบกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และนายอำเภอ เพื่อร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การจัดการทรัพยากรนั้นชุมชนต้องมีส่วนร่วมด้วย ฉะนั้นจะมีการลงสำรวจสิทธิ์ที่ดินทำกินโดยไม่ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการจอมป่า ไม่ได้เด็ดขาด 

“ชุมชนมีสิทธิจัดการด้วยจิตสำนึกที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยชุมชนเอง และมีกฎข้อระเบียบของการอนุรักษ์ผืนป่าอยู่แล้ว รัฐจะมาจัดการเองโดยพละการ และไล่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ หากรัฐคงพยายามดังเช่นนี้อีก ชาวบ้านก็จะร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อทวงคืนสิทธิในที่ทำกินเดิม กลับมาเช่นกัน” หนูเอก กล่าวทิ้งท้าย

20150810195517.jpg

การอบรมใช้ศาลาวัดเป็นพื้นที่ ทุกคนกินข้าวร่วมกันที่วัด ปรุงโดยฝีมือของชาวบ้าน ไม่มีค่าเดินทาง แม้บางชุมชนจะมาจากร้อยเอ็ด บางคนมาไกลจากสกลนคร ที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับซ้อนที่ดินทำกิน อย่างกรณีปัญหาล่าสุดที่ยายจันทรา บุคคดี ถูกเจ้าหน้าที่รุกขึ้นไปตัดสวนยางกว่า 2,000 ต้น

ผู้มาร่วมอบรมต่างมีแววตามุ่งมั่น เต็มไปด้วยความหวังเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตสื่อ เผยแพร่เรื่องราวของพวกเขาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ เข้าใจ สำคัญสุดคือ เพื่อให้ภาครัฐเกิดความตระหนักในสิ่งที่ชาวบ้านถูกกระทำ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ท้ายที่สุดนี้ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เป็นเพียงคนเล็กๆ ไม่เด่นดัง หาใช่คนมีชื่อเสียง รวมทั้งไม่ใช่บุคคลของสาธารณะ เราผลิตสื่อขึ้นมาด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ เพื่อความฝันที่จะทำให้เกิดประโยชน์อันทรงคุณค่าต่อสังคมและชุมชนที่พวกเขาเหล่านั้นอาศัยอยู่ได้ด้วยความงดงามที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ