ผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาช้านาน หากแต่ภายใต้ระบบทุนนิยมซึ่งเน้นกำไรสูงสุดในทุกวันนี้ คุณภาพชีวิตของแรงงานดูเหมือนจะสวนทางกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เติบโต เป็นความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ไม่ว่าเราจะสังเกตเห็นหรือไม่ก็ตาม การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมนั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์แรงงานไทยมาตลอดเช่นกัน
ก(ล)างเมืองสนทนา วันที่ 27 เมษายน 2557 นำเสนอภาพยนตร์สารคดีก(ล)างเมือง ตอน “ท้องไม่รับ” บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของแรงงานหญิง ในระบบการจ้างงานที่คนตัวเล็กๆ ไม่อาจฝันถึงชีวิตที่ดีได้ แรงงานหญิงต้องรับบทบาทมากมาย เป็นทั้งแม่ ทั้งเมีย เป็นทั้งคนงาน พวกเธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และพวกเธอสู้อย่างไร
จากสารคดีสะท้อนการต่อสู้ของแรงงานหญิง สู่คำถามต่อไป ใช่หรือไม่ว่า ขบวนแรงงานไทยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมายาวนาน แต่อำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเองนั้นยังน้อยเหลือเกิน วันนี้ หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจต้องลงไปสู้ในสนามการเมืองด้วยตัวเองหรือเปล่า?
‘ชลณัฏฐ์ โกยกุล’ คุยเรื่องนี้กับ ‘หนิง – จิตรา คชเดช’ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ นักกิจกรรมทางสังคมผู้มีบทบาทโดดเด่นในยุคการเมืองเสื้อสี จากสถานะแรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้าง วันนี้นอกจากบทบาทนักเคลื่อนไหวแล้ว เธอยังกลายมาเป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตยที่เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
‘จิตรา’ บอกว่า ที่ผ่านมานั้นกรรมกรไทยใช้เครื่องมือที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม เดินขบวน ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ ยึดโรงงาน กระทั่งเข้าสู่ขบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ทว่าทั้งหมดที่ทำมา มิได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน
เธอคาดหวังว่า การสร้างพรรคการเมืองของแรงงาน จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง และเธอเชื่อว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องเพ้อฝัน
+ เริ่มต้นจากภาพของแรงงานหญิงในภาพยนตร์สารคดี “ท้องไม่รับ” ดูแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ
สารคดีเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของคนงาน ซึ่งอาจจะถ่ายทอดมาแค่บางส่วน คนดูอาจจะเห็นแค่เล็กๆ แต่จริงๆ แล้วมันหนักมาก หนักกว่านี้อีกหลายเท่าเลยนะคะ
หนังสารคดีนี้เป็นเรื่องของผู้หญิงที่ท้อง 2 คน คนหนึ่งเป็นแรงงานหญิงที่ท้องแล้วก็ออกมาต่อสู้กับสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิในระหว่างที่ตัวเองท้อง นั่นหมายถึงความไม่มั่นคงในชีวิตนะ เพราะเขาอาจจะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกเลิกจ้าง แต่การต่อสู้มันก็มีโอกาสเหมือนกันที่เขาจะได้รับชัยชนะ และก็กลับเข้าไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ส่วนอีกคนหนึ่งก็เป็นแรงงานหญิงที่ท้อง แล้วก็ถูกเปลี่ยนย้ายงาน ทำให้รายได้ลดลง และไม่ได้ทำโอที ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ผู้หญิงท้องเนี่ย กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำโอที แต่ก็มีบางคนเหมือนกันเวลาที่เขาท้อง เขาก็แอบหรือหลบซ่อนเพื่อที่จะได้ทำโอทีไปจนท้องโต จนทุกคนรู้แล้ว เป็นที่เปิดเผยแล้วถึงได้หยุดทำโอที
นั่นสะท้อนว่าการทำงานปัจจุบัน มันไม่มีสิทธิเสรีภาพมากพอที่จะดูแลคนงาน แล้วก็ค่าจ้างที่ได้รับมันไม่ได้มากพอ ต้องทำโอทีเสริมด้วย อย่างเช่น คนที่ไปทำงานในโรงงานเนี่ย เวลาเขาไปดูรับสมัครงาน คนส่วนใหญ่มักจะไปดูว่ามีโอทีมั้ย ไม่ได้มองว่ามีสวัสดิการอะไรมั้ย มีความมั่นคงอะไรบ้าง สิ่งที่เขาไปดูเวลาสมัครงานก็คือ ถ้ามีโอทีเขา ก็อยากจะทำงาน เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่มันจะเพิ่มขึ้นมาค่ะ
+ ภาพที่เราเห็น คือแรงงานหญิงไม่ได้มีความหมายแค่เพียงแรงงานคนทำงาน แต่มีความเป็นแม่ มีความเป็นเมียด้วย รัฐหรือว่านายจ้างควรจะมาดูแลตรงนี้หรือควรจะมองตรงนี้อย่างไรคะ
ถ้าคิดในมุมของนายจ้างเนอะ ถ้าเกิดคุณอยากได้แรงงานที่มีคุณภาพ เป็นแรงงานรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ คุณก็ต้องดูแลคนงานตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะอนาคต เด็กที่คลอดออกมาเนี่ย ถ้าในสังคมอุตสาหกรรมก็เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ในสังคมภาคเกษตรก็เข้าสู่ระบบภาคเกษตรอยู่แล้วเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าคุณต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ คุณต้องดูแลตั้งแต่ในท้องนะคะ รัฐเองอยากได้ประชากรหรือประชาชนของประเทศที่มีคุณภาพ คุณก็ต้องดูแลเขาตั้งแต่ในท้อง
มีการดูแลอย่างไรนะคะ เราพูดกันมาเยอะล่ะเรื่องการดูแลคนที่จะเกิดมาเป็นประชาชนเนี่ย ก็คือจะต้องดูแลเติมเต็มในส่วนที่มันขาด ก็คือการมีรัฐสวัสดิการ ก็คือดูแลตั้งแต่เกิดยันตายเลย
ดูแลยังไงตั้งแต่เกิดยันตาย? ก็คือเป็นคนงานในโรงงานเนี่ย ต้องดูแลตั้งแต่ในระหว่างท้อง จะต้องมีการบำรุง จะต้องมีอาหารที่พอเพียงที่กินเข้าไปแล้วเด็กจะได้รับการดูแลอย่างดี ต้องดูแลในเรื่องของสุขอนามัย การตรวจเช็ค เข้าถึงแพทย์ แล้วก็พอคลอดออกมา ก็ควรจะมีสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งอยู่ในชุมชน อยู่ในโรงงานนะคะ ซึ่งรัฐกับเจ้าของโรงงานหรือนายทุนสามารถร่วมมือกันทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ในขณะเดียวกัน คนที่ทำงานส่วนใหญ่ชอบพูดว่า ฉันทำงานเก็บเงิน ก็เพราะว่าฉันต้องการเอาไว้ให้ลูกได้เรียนหนังสือ สร้างบ้านก็เพื่อไว้ในลูก ทุกอย่างเหมือนกับเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องกังวลว่าเราเนี่ยจะต้องทำงานเพื่อเก็บเงินให้ลูกได้เรียนหนังสือมั้ย ถ้ารัฐส่งเสริมเรื่องการเรียนฟรี ฟรีจริงๆ นะคะ ก็คือสามารถที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาได้ดี เมื่อเรียนจบแล้ว สิ่งสำคัญคือคนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะต้องมีงานทำ รัฐก็ต้องการันตีว่าจะต้องมีงานทำ เมื่อมีงานทำ นั่นหมายถึงว่าค่าตอบแทนของการทำงานก็จะต้องสามารถที่จะดำรงชีพได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ดูแลคนอื่นได้ด้วยหนึ่งคน อันนี้เป็นหลักสากลด้วยนะคะ ว่าค่าจ้างเนี่ยจะต้องสามารถดูแลตัวเองได้กับคนอีกสองคน ถ้าเรามีระบบแบบนี้ เราก็สามารถที่จะมีชีวิตที่ดีได้ค่ะ
+ ในภาพที่ใหญ่ขึ้นของแรงงานทั่วไปในระบบอุตสาหกรรม จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณจิตราและก็จากสิ่งที่เคยพบเจอมา ปัญหาใหญ่ของแรงงานในระบบอุตสาหกรรมคืออะไร
ปัญหาใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมเลยคือ ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ค่าจ้างไม่พอต่อการดำรงชีพ ทั้งสามอย่างนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ปัญหาทั้งหมดมันสามารถแก้ไขได้
แก้ไขยังไง? ก็คือโรงงานจะต้องดูในเรื่องของความปลอดภัยจากการทำงานให้กับคนงานที่เข้าไปทำงานในโรงงาน เรื่องของอันตรายจากการทำงาน จากสารเคมี เรื่องของความปลอดภัยจากเครื่องไม้เครื่องมือที่เราใช้ จะไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
อันที่สองก็คือ ความมั่นคงในการทำงาน ต้องการันตีว่าคนที่เข้าไปทำงานในโรงงานแล้วเนี่ย การมีความมั่นคงในการทำงานถือเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลยนะ เพราะว่าถ้าเกิดเราทำงานไปเนี่ย 3 เดือน 5 เดือน แล้วถูกเลิกจ้างนี่ มันไม่สามารถวางแผนชีวิตอะไรไว้ได้เลย แต่ว่าถ้าเรามีความมั่นคง เราคิดว่าเราจะทำงานกับบริษัท 20-30 ปี เราก็สามารถวางแผนที่จะซื้อบ้านซื้อรถ ซื้ออะไรได้หมดเลย อันนี้ก็คือความมั่นคงในการทำงาน
อีกอันนึงก็คือ เรื่องจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพมันดูกันยังไงนะคะ ก็ต้องสามารถดูแลคนอีก 2 คนได้ คราวนี้หลายคนก็บอก อุ๊ย อย่างนั้นมันดูกันยาก เพราะว่าเวลาปรับค่าจ้าง จากที่ผ่านมาใช่มั้ยคะ รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าจ้าง 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ มันก็เกิดปัญหา 300 บาทแล้วก็ยังไม่พอกิน เท่าไหร่มันถึงจะพอกิน อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะว่าเรื่องค่าจ้างเนี่ยนะ พอเรามีแผน รัฐบาลมีแผนจะปรับค่าจ้างนะคะ ค่าครองชีพก็ขึ้นเลย ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าวินมอเตอร์ไซค์ ขึ้นหมดเลยนะคะ ค่าพาหนะขึ้นหมดเลย เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้ค่าครองชีพมันสูงขึ้น ค่าจ้างจะขึ้นเท่าไหร่มันก็ไม่พอ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมองนะ คนงานส่วนใหญ่เนี่ยเป็นแรงงานย้ายถิ่น ถูกมั้ยคะ การเป็นแรงงานย้ายถิ่นมันไม่มีบ้านที่จะมาอยู่ใกล้ๆ โรงงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือที่อยู่อาศัย เราประเมินดูค่าจ้างขั้นต่ำได้วันละ 300 สามสิบวันได้เดือนละ 9 พัน ค่าเช่าบ้านปัจจุบันอยู่ที่ 2 พัน ค่าน้ำค่าไฟด้วยอยู่ที่ 2,500–3,000 บาทนะคะ เพราะฉะนั้นเงินค่าจ้างที่ได้เนี่ย จ่ายค่าเช่าบ้านก็ครึ่งนึงเข้าไปแล้ว ก็ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 60 เปอร์เซ็นต์เขาเอาไปทำอะไรบ้าง ก็ต้องไปกินไปใช้ ซึ่งมันไม่พอ
เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องไปประกันในเรื่องของที่อยู่อาศัย จะต้องอยู่ซักประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างนะคะ แล้วก็ค่าอาหาร ค่าอุปโภคบริโภค จะต้องมีการกำหนดว่าอะไรบ้างที่ไม่ควรจะขึ้น เพราะว่าสินค้าที่คนงานกินใช้อยู่เนี่ย มันไม่ได้มีอะไรมาก เพราะไม่ได้ไปกินฟูจิ ไม่ได้ไปกินเอ็มเค ไม่ได้ไปกินอะไรอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็แกงถุง ข้าวเปล่า เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้มันประกันได้นะว่า ไม่อนุญาตให้ขึ้น หรือถ้าจะขึ้นเนี่ยรัฐก็ต้องมีการกำหนด มีการประกันว่า ข้าวไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ อะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วก็ค่าวินมอเตอร์ไซค์ ค่าวินมอเตอร์ไซค์นี่ขึ้นที 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะ 5 บาทขึ้นเป็น 10 บาท แต่คนอาจจะรู้สึกว่าขึ้น 10 บาทไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเราคิดสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก ในขณะที่ค่าจ้างปรับ 5-7 เปอร์เซ็นต์ แต่ค่าวินมอเตอร์ไซค์ขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็สำคัญมาก ต้องควบคุม
อีกทางหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า จะต้องส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ การมีสหภาพแรงงานมันช่วยอะไร สหภาพแรงงานก็ช่วยในเรื่องของการต่อรองค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อรองเรื่องโบนัส ต่อรองเรื่องสวัสดิการ เรื่องค่ารถ บริษัทอาจจะจัดรถรับส่งให้นะคะ เรื่องค่ารักษาพยาบาล เรื่องของทุนการศึกษาบุตร เรื่องของการเรียกร้อง เรื่องสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ รวมถึงต่อรองค่าอาหารในโรงงานได้ด้วย
บางโรงงานนะ อยากจะเอ่ยชื่อจังเลย บริษัทนึงผลิตอาหารเนี่ยค่ะ ผลิตนม ก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท มันสามารถต่อรองกันได้ คือเข้าไปในโรงงานเนี่ยกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท กินข้าวแกงจานละ 10 บาท หรือบางโรงงานเขาทำไว้ดีมากเลยนะคะ อาหารฟรี แต่ว่าตักเป็นถ้วยๆ นึกออกมั้ยคะ ที่เป็นแบบถาดหลุมอะค่ะ บางโรงงานเขาสามารถต่อรองกันได้ก็มีข้าวเปล่าฟรี อันนี้ถ้าเรามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง เราก็สามารถสร้างอำนาจการต่อรองได้ อันนี้บริษัทก็จัดให้ได้
ทางหนึ่งรัฐก็ต้องส่งเสริมเรื่องของการเรียนฟรี เรื่องของการมีสถานรับเลี้ยงเด็ก เรื่องของการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกับคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาได้
+ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การรวมตัวของแรงงานสหภาพแรงงานของบ้านเรา โดยภาพรวม อาจจะยังไม่ได้มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง อย่างเพียงพอ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้คะ
อันนี้แหล่ะสำคัญมากเลย เพราะว่าในต่างประเทศมันมีการรวมตัวเรียกร้องของขบวนการแรงงาน และก็สหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ก็ทำให้นายทุนก็ย้ายทุน ย้ายหนีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง พอมาอยู่ที่เมืองไทยเนี่ย เราจะสังเกตเห็นได้ว่า คือนโยบายต่างๆ เนี่ยมันเกิดจากรัฐใช่มั้ยคะ นโยบายต่างๆ เกิดจากรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
คราวนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด การจะออกกฎหมายต่างๆ หรือออกนโยบายต่างๆ เนี่ยก็ผ่าน ส.ส. ตัวแทนของประชาชน ผ่านรัฐสภา ปัญหาคือ มันไม่มีตัวแทนของกรรมกรหรือไม่มีตัวแทนของคนงาน มันกลายเป็นตัวแทนของนายทุน เป็นตัวแทนของบริษัทนั้นนี้ เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายต่างๆ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของฐานเสียงหรือมวลชนของตัวเองใช่มั้ยคะ เนี่ยค่ะ อันนี้คือปัญหาใหญ่
+ พี่หนิงบอกว่าไม่มีตัวแทนของแรงงาน แต่ถ้านับดูปริมาณแรงงานในระบบประกันสังคมของเรามีเป็น 10 ล้านคน นอกระบบอีก 10-20 ล้านคน ก็เยอะนะคะ ทำไมถึงไม่มีอำนาจต่อรองในการที่จะเกิดนโยบายใหม่ๆ ที่จะเอื้อต่อแรงงานบ้าง
อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกเหมือนกัน อย่างพี่เป็นแรงงานย้ายถิ่น ปัจจุบันก็มีทะเบียนบ้านอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะฉะนั้นเวลาเลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้งตัวแทน เลือกตั้ง ส.ว. พี่ต้องกลับไปเลือกตั้งที่สุพรรณบุรี เพราะฉะนั้นแรงงานที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง อยู่ในย่านอุตสาหกรรม สมุทรปราการ กรุงเทพ หรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย กลายเป็นว่าพวกเขาไม่มีเสียงที่สร้างอำนาจการต่อรองได้ เพราะว่าเวลาเลือกตั้งที พวกเขาก็ต้องกลับไปเลือกตั้งในต่างจังหวัด ไปขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ เชียงใหม่ เชียงราย บางคนก็ไม่ไปเลือกตั้งนะ เหตุที่ไม่ไปเลือกตั้งเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายสูง ก็ทำให้เขาเสียสิทธิการเรียกร้องทางการเมือง คนที่ไปเลือกตั้งก็ไปเลือกตั้งตัวแทนท้องถิ่น ไม่ได้เลือกตั้งตัวแทนที่อยู่ในพื้นที่ทำงาน เวลาเกิดปัญหาในพื้นที่ทำงานก็ไปร้องเรียนส.ส.ในพื้นที่ทำงานเนี่ย ร้องเรียนได้ แต่เขาก็รู้สึกว่า เฮ้ย คุณไม่ใช่ฐานเสียงหลักอ่ะ คุณไม่ใช่ฐานเสียงหลัก ก็อาจจะไม่แก้ไขปัญหาให้ได้ กลายเป็นพลเมืองแฝงที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ ไม่มีอะไรที่จะสร้างอำนาจการต่อรองได้
+ แสดงว่าถ้าเราแก้ไขให้แรงงานสามารถเลือกตั้งในเขตที่ตัวเองพำนักอยู่หรือว่าทำงานได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้
ก็คิดว่าจะดีขึ้น ไม่ต้องเอาตามที่อยู่ก็ได้ เอาตามพื้นที่ทำงาน เหมือนที่อยู่ตามประกันสังคม ก็สามารถเลือกตั้ง ส.ส.
ทางนึงก็สร้างอำนาจการต่อรอง ถ้ายังไม่มีตัวแทนเป็นของตัวเองนะ ก็ได้สร้างอำนาจการต่อรอง เช่น บางสหภาพแรงงานมีสมาชิกถึงหนึ่งหมื่นคน ตอนนี้ ส.ส. ใช้เสียงแค่ 1-2 หมื่น ก็ได้เป็น ส.ส. แล้วนะ ลองคิดดูสิโรงงานหนึ่งมีคนงานหมื่นคน เขาอาจจะตั้งประธานสหภาพเขาเป็นตัวแทน แล้วคนงานก็แห่กันไปเลือก เขาอาจจะได้เป็น ส.ส. ได้สบายๆ แบบง่ายๆ เลยนะคะ แต่ว่าอันนี้แหล่ะ เราต้องไปแก้กฎหมายให้สามารถเลือกตั้งส.ส. ในพื้นที่ทำงานได้
+ ทำไมการเลือกตั้งถึงมีความสำคัญกับแรงงานมากมายขนาดนี้
คนงานเนี่ยเขาจะสัมผัสกับเรื่องของการเลือกตั้งมาตั้งแต่เป็น เรียกว่า “ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน” เลยเนอะ เรื่องของการเป็นสหภาพแรงงาน การที่คุณเป็นตัวแทนของคนงาน การเป็นสหภาพแรงงาน ก็ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของการเป็นสหภาพแรงงาน การเลือกตั้งของการเป็นกรรมการความปลอดภัยในโรงงาน กรรมการสารพัดเลยนะ อยู่ในโรงงาน มีทุกขั้นตอน อยู่ในทุกมิติเลยนะเรื่องของการเลือกตั้งเนี่ย
เพราะว่าไม่อย่างนั้น เราก็จะกลัวว่านายจ้างจะแต่งตั้งตัวแทนของตัวเองเข้ามาดูแลเรื่องของความปลอดภัย คือในโรงงานมันมีกิจกรรมหลายอย่างนะ เช่น นำเที่ยว ยูนิฟอร์ม เรื่องโรงอาหาร ก็จะมีคณะกรรมการโรงอาหาร คณะกรรมการยูนิฟอร์ม คณะกรรมการนำเที่ยว คณะกรรมการความปลอดภัย เพราะฉะนั้นคนงานก็ต้องเรียกร้องว่า “ฉันจะต้องเรียกร้องว่ากรรมการเหล่านี้ฉันจะต้องเลือกเอง” ถ้าไม่เลือกเอง นายจ้างก็ต้องเลือกตัวแทนเองมาเป็นกรรมการยูนิฟอร์ม ก็อาจจะไม่ใช่ยูนิฟอร์มที่คนงานอาจต้องการ อาจจะไม่ใช่โรงอาหารที่คนงานต้องการ กลายเป็นผลประโยชน์ที่นายจ้างจัดการเองทั้งหมด
ก็คล้ายๆ กันกับประชาชน เราก็ต้องดูว่าใครจะเป็นตัวแทนของเรา เพราะฉะนั้นนี่คือความสำคัญของการเลือกตั้ง การเป็นคนงานก็เลยต้องสนใจเรื่องของการเลือกตั้ง พอมันนำไปสู่การเมืองด้านอื่นๆ ก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง อันนี้สำคัญมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เอาเฉพาะในโรงานนะ นายจ้างก็แต่งตั้งตัวแทนของเขามาเป็นกรรมการด้านอื่นๆ ก็พอดีคนงานก็ไม่ได้สิทธิ์เสียงอะไร
+ พูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้งกับแรงงาน ตัวพี่หนิงเองก็เป็นนักสหภาพแรงงานที่ตอนนี้ออกมาตั้งพรรคการเมือง มีความคาดหวังมากน้อยแค่ไหนกับการเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องกรรมกร เรามองอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
คือพรรคเมืองเนี่ยต้องถือว่าคาดหวังมาก เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าที่ผ่านมาเนี่ย พวกเราใช้เครื่องมือที่มีทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม เดินขบวน ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ ยึดโรงงาน หรือเข้าสู่ขบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ทำมาทุกอย่าง ที่ผ่านมาเนี่ยก็มีทั้งได้และไม่ได้ แต่ว่ามันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจนเลย คืออาจจะได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ หรือบางทีไม่ได้เลยแถมยังถูกแจ้งจับติดคุกติดตารางกัน
เพราะฉะนั้นทางหนึ่งที่ดีก็คือการสร้างพรรคการเมืองของเราเอง แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแล้วก็ไม่สามารถทำได้ การมีพรรคการเมืองของกรรมกรเนี่ย ในต่างประเทศเขาก็มีนะคะ ในเมืองไทยก็เคยมีมาแล้ว แต่ว่ามันก็ไม่ได้เข้าไปสู่ระบบการเลือกตั้ง หรือว่ามันก็มีแต่ไม่ได้จริงจัง
เราคิดว่าการมีพรรคการเมืองสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็พยายามทำนโยบาย แล้วก็ทำให้มีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกให้กับคนงาน
แล้วก็มันไม่ใช่แค่คนงานอย่างเดียว คือในสังคมนี้มันประกอบไปด้วย ทั้งคนจน คนที่ไม่ได้เข้าถึงโอกาสอะไร แต่ที่สุดแล้วเนี่ย ถ้าจะเรียกตัวเองว่าคนงานก็ได้ แล้วแต่จะให้นิยาม จะเรียกว่าอะไร เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมาชีพ เป็นอะไร ก็แล้วแต่จะให้นิยามตัวเองก็แล้วกัน แต่เราก็เชื่อว่าสิ่งที่พรรคการเมืองหรือพรรคที่เราทำเนี่ยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนที่อยู่ล่างๆ
+ เป็นที่ทราบกันว่าที่ผ่านมา คุณหนิงก็ทำงานเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงมา อาจจะมีคนตั้งข้อสงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมถึงแยกออกมาตั้งพรรคตัวเอง ทำไมถึงไม่ทำงานร่วมกับพรรคที่คนเสื้อแดงสนับสนุน
พรรคเราก็เป็นพรรคที่คนเสื้อแดงสนับสนุนนะ (หัวเราะ) เพราะว่าการมีพรรคการเมือง เราคิดถึงพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของ พรรคการเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม
มีส่วนร่วมอะไรบ้าง หนึ่ง กำหนดนโยบาย สอง มีส่วนร่วมในเรื่องการกำหนดตัวแทนของตัวเอง มีส่วนร่วมในเรื่องของการระดมทุนที่จะเข้ามาทำพรรคการเมือง การทำพรรคการเมืองจะต้องมีเงิน มีทุน ฉะนั้นการหาเงินหาทุนเนี่ย เราไม่ต้องการให้ใครสักคนนึงที่รวยมากๆ แล้วก็บอกว่าเอาเงินไป แล้วก็ทำแบบนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ถึงวันนั้นคุณจะต้องโหวตแบบนี้ ตามใจฉัน เพราะฉะนั้นมันก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเจ้าของ มีนายใหญ่ มีเจ้ มีเฮีย มีอะไรก็แล้วแต่นิยามที่จะเรียกกัน
แต่เราต้องการพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องมาจากสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่เราใช้กับสหภาพแรงงาน คือสหภาพแรงงานก็เริ่มมาจากนี้ค่ะ เริ่มมาจากการกำหนดนโยบาย การกำหนดข้อเรียกร้องที่จะต่อรองกับนายจ้างก็กำหนดจากสมาชิก ถ้าสหภาพแรงงานที่เป็นสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็ข้อเรียกร้องทุกอย่างกำหนดจากสมาชิกเนี่ย มันจะนำมาสู่การสร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้างได้มากกว่าสหภาพแรงงานที่ไม่ฟังเสียงสมาชิก กรรมการก็ไปสร้างอำนาจการต่อรองของตัวเอง ที่สุดแล้วมันก็ไม่มีแรงกดดันด้านอื่น
ก็เหมือนกัน พรรคการเมืองที่จะมีอำนาจการต่อรองแล้วก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ภายใต้ที่เราต้องการอยากจะเปลี่ยนแปลงนะ ต้องการแก้กฎหมาย ต้องการเสนอกฎหมายที่เรียกว่า สิทธิ เสมอภาค เท่าเทียม ที่เป็นประชาธิปไตย พรรคการเมืองเนี่ยสามารถทำได้เลย อันนี้เราก็อยากทำพรรคเมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของจริงๆ
+ ทำไมที่ผ่านมาดูเหมือนว่าพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยถึงไม่ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามันอยู่ตรงไหน ทำไมไม่สามารถข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้
อันเนี้ยสำคัญมากเลยนะ เรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มันไม่ได้ส่งเสริม คือมันกลายเป็นว่าการที่จะมีพรรคการเมืองของคนตัวเล็กตัวน้อยหรืออะไรก็แล้วแต่ มันไปติดกรอบว่า พรรคการเมืองจะต้องมีกรอบที่ถูกขีดไว้ เพราะฉะนั้นคุณเสนออะไรมากกว่ากรอบนั้นไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นพรรคการเมืองที่พอเสนอนอกกรอบอะไรไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่คล้ายๆ กัน เมื่อไหร่ที่มันคล้ายๆ กัน ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่คล้ายกันหมด นึกออกไหมคะ มันเลยกลายเป็นว่า เวลาคนจะเลือกคนจะคิดว่า นโยบายมันเหมือนกันหมดเลย เลือกพรรคใหญ่ดีกว่า เขามีโอกาสสูงกว่าที่จะได้เป็นรัฐบาล การเป็นรัฐบาลก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะทำนโยบายนั้นได้มากกว่า ก็อาจจะมีนโยบายบางนโยบายบ้างที่สอดแทรกเข้ามาที่อาจจะต่างออกไป
+ ถ้าเกิดเรามองภาพรวมของการเมืองตอนนี้ที่สถานการณ์เหมือนแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน มันถือเป็นโอกาสหรือเป็นอุปสรรคสำคัญพรรคการเมืองเล็กๆ
คือมันไม่มีโอกาสเลยนะ เพราะว่าการแบ่งขั้วครั้งนี้มันนำไปสู่การโมฆะการเลือกตั้ง แบบว่า เราหวังมากนะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะนำไปสู่ อาจจะได้ที่นั่งในสภา แต่ก็มีการปล่อยให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ
คือความขัดแย้งครั้งนี้เนี่ยเป็นความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดเจนเลย อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกเลือกตั้งก่อน แต่โดยส่วนตัวของจิตราแล้วเนี่ย คือจะต้องเลือกตั้งแล้วนำไปสู่การปฏิรูป เพราะอยู่ๆ มันจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มันคงเป็นไปไม่ได้ เอาใครมาปฏิรูปล่ะ มาจากการแต่งตั้งหรือ ถ้าเอามาจากการแต่งตั้งแล้วก็ปฏิรูปเนี่ย หน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ใช่มั้ยคะ อันนี้สำคัญมาก
แต่ถามว่ามันเป็นโอกาสมั้ย ก็ถ้าเรามองว่าเป็นโอกาส ในแง่มุมของการเรียนรู้คนก็จะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงหน้าตามันเป็นอย่างไร แล้วที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหน้าตามันเป็นอย่างไร คุณลองเลือกดูว่าคุณจะอยู่ในสังคมที่เป็นแบบนี้หรือสังคมที่เป็นแบบนี้
+ ในมุมมองของนักสหภาพ ถ้ามองในบริบทของแรงงาน คิดว่าควรจะปฏิรูปอะไรก่อน ในบรรยากาศที่ทุกคนกำลังพูดคุยถึงเรื่องการปฏิรูปในตอนนี้
มันต้องเป็นสองอันนะคะ เรื่องสิทธิ ความเสมอภาคและเท่าเทียม อันนี้สำคัญมาก เพราะช่องว่างระหว่างสิทธิของคนมันห่างกันมากตอนนี้ คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพสูงกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง อีกอันหนึ่งคือ สิทธิการเข้าถึงโอกาส เรื่องปากเรื่องท้อง อันนี้ก็สำคัญ ก็พอกัน เพราะฉะนั้นสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มันก็ต้องย้อนกลับไปในเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ
มันสามารถทำได้มั้ย ทำได้ เราอาจจะลดงบประมาณบางอย่างที่มันไม่ได้ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น เช่น งบประมาณทหาร แล้วก็งบประมาณที่ไม่ก่อประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเราก็อาจจะมองเห็นได้ว่ามันมีอะไรบ้าง แล้วก็เอามาทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น
+ วันนี้เรามาพูดคุยกันในบรรยากาศของการเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล แล้วถ้ามองกลับมาที่คนตัวเล็กอย่างเราทุกคน หรือคุณผู้ชมที่ดูอยู่ที่บ้าน เขาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงยังไงได้บ้าง ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องของทุกสิ่งรอบตัว
ในส่วนของคนงานก็รวมตัวกันค่ะ เพื่อให้มีสหภาพแรงงาน แล้วก็เปลี่ยนแปลง นอกจากการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสถานประกอบการแล้วเนี่ย รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหมือนในต่างประเทศได้ ก็คือสร้างอำนาจการต่อรองในอุตสาหกรรมเลยนะคะ
ในขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องส่งเสริมสิทธิการรวมตัวในคนงานข้ามชาติ ส่งเสริมสิทธิการรวมตัวในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะฉะนั้นเนี่ยนายจ้างเวลาคิดจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน เขานึก อ้อ แรงงานกัมพูชาก็เข้มแข็ง แรงงานพม่าก็มีสหภาพแรงงาน จะย้ายไป บวกลบคูณหารแล้ว ไม่ย้ายดีกว่า อยู่กับเราดีกว่า อะไรอย่างนี้ค่ะ อันนี้ก็คืออยากจะเรื่องส่งเสริมสิทธิการรวมตัวในกลุ่มของคนงาน
ในส่วนของทั้งประเทศ ซึ่งอาจจะกว้างและใหญ่มาหน่อย ก็คือ เรามีคนหลากหลายมากเลยที่อยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นเรารวมตัวกัน เรื่องสิทธิการรวมตัวนั้นสำคัญมาก เรารวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง เป็นกลุ่มอาชีพเป็นกลุ่มอะไรก็แล้วแต่ สร้างอำนาจการต่อรองทางการเมือง
สร้างอำนาจการต่อรองยังไง อย่างเช่น กลุ่มชาวนาอาจจะรวมตัวกันเป็นพรรคชาวนา ซึ่งก็มีแล้ว กลุ่มคนผลิตยางก็รวมตัวกันเป็นพรรคยางพารา ซึ่งก็มีแล้ว ชาวประมงก็อาจจะรวมตัวกันเป็นพรรคชาวประมง เราก็เขียนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วก็สร้างนโยบายที่ดีๆ แล้วก็ให้คนเข้ามาเป็นสมาชิก แล้วก็เลือกพรรคการเมืองของตัวเอง เพื่อจะได้นำตัวแทนของตัวเองเข้าสู่ทางการเมือง
ไม่ต้องมาแบบ ถึงปีก็มาเดินขบวนมาร้องกับรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีก็เป็นเจ้าของโรงงาน รัฐมนตรีก็เป็นเจ้าของบริษัทยางพารา รัฐมนตรีก็เป็นเจ้าของอะไรที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราเรียกร้องอะไรไปมันก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะฉะนั้นเนี่ยคนจะต้องรวมตัวกันทุกมิติเลยนะ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง แล้วก็เข้ามาสู่ระบบการเมือง
เราต้องเชื่อว่าระบบรัฐสภา การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะนำพวกเราเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร อะไรที่เราคิดว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย อะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของการที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เราเนี่ยล่ะเอาการเมืองเข้าไปต่อสู้ ถ้าเกิดเราไม่เชื่อเรื่องการเมือง ไม่เชื่อเรื่องการต่อสู้ ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง เราก็จะมีสภาพชีวิตแบบนี้ เราก็จะเอาใครไม่รู้มานำการต่อสู้ของเราที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งนะคะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาคนที่เราเลือกขึ้นมานำการต่อสู้ของเรา
และที่สำคัญ คือ เราเลือกเขามาได้ เราก็ปลดเขาได้ การตรวจสอบสำคัญ เราเลือกเขาเข้าไป เราตรวจสอบเขาได้เราปลดเขาได้ อันนั้นต้องทำได้ แต่ถ้าเราเลือกไปแล้วเป็นตลอดชีวิตเลย ไม่สามารถปลดได้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่สามารถที่จะพูดหรือทวงติงอะไรได้ อันนั้นก็เป็นปัญหามาก ก็ไม่สามารถทำได้ค่ะ อันนี้ก็ต้องเป็นแบบนี้เนี่ยค่ะ ระบบที่ดี.