กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ Friends of the River หรือ FOR เสนอขอใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ Health Impact Assessment หรือ HIA กระบวนการภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคน ประชาชน/ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเดินหน้าโครงการ
10 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ (Friends of the River หรือ FOR) ได้เข้าพบและหารือ คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และ ผู้แทนภาคีเครือข่ายพันธกิจงานเอชไอเอเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูลและขอความร่วมมือในการใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณี โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรุงเทพมหานคร ระยะทางไปกลับ ๑๔ กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม ๗ ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท
นายยศพล บุญสม แกนนำกลุ่ม FOR กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ที่ระบุในโครงการ มุ่งไปที่การก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามูลค่าโครงการกว่า ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กทม. เร่งรัดเดินหน้าตามขั้นตอนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแบบ การประมูล จัดซื้อจัดจ้างในเดือนตุลาคมปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๖๐ ทั้งๆ ที่ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง
“ที่ผ่านมา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทำไปตามแบบพิธีเท่านั้น ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะจากการเข้าไปสอบถามและสำรวจ ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีส่วนรับรู้อย่างทั่วถึง และจากการรับฟังเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมาจากหลายภาคส่วน สะท้อนชัดเจนว่า ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาวบ้านต้องการไม่ใช่ถนนเลียบริมแม่น้ำ แต่เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ” นายยศพล กล่าว
ด้าน นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอจากเครือข่ายเพื่อนแม่น้ำที่เสนอให้นำกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาศึกษาผลกระทบจากโครงการนี้ เพื่อการสร้างทางเลือกในพัฒนาเจ้าพระยาที่ยั่งยืนบนการได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการประเมินในระดับนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาระดับชาติในหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องหารือและนำเสนอ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่จะมีการประชุมในเดือนนี้ก่อน โดยเบื้องต้นเห็นว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ควรดำเนินการร่วมกันทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ควรจำกัดเฉพาะพื้นที่โครงการใน กทม. เท่านั้น เพราะผลกระทบเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมด