คอลัมน์ : สามัญสำลัก เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร ภาพ: Thai PBS News
การใช้จ่ายอำนาจอย่างฟุ่มเฟือย หรือการสุร่ยสุร่ายถ้อยคำเยินยอสรรพคุณด้านการบริหารบ้านเมืองที่ท่านๆ เหล่า คสช. ทำกันอยู่ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นเเบบฉบับของเผด็จการ แต่สำหรับผม ของแบบนี้เป็นสิทธิของท่าน เป็นไปตามตรรกะการยึดอำนาจจากประชาชนทั้งประเทศไปอยู่ในมือท่าน ฉะนั้น อยากทำอะไร เอาที่สบายใจท่านเถอะครับ
แต่กับท่าทีของท่านที่มีต่อกลุ่มนักศึกษาซึ่งออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นมันคนละเรื่อง และผมแนะนำว่าท่านต้องรีบทบทวนตัวเองให้เร็วที่สุด ใครเป็นที่ปรึกษาเรื่องนี้ เรียกมาปรับทัศนคติด่วน โดยเฉพาะสารที่ท่านพยายามสื่อออกสู่สังคมว่า นักศึกษาไม่ได้แสดงออกเหมือนผู้อยู่ในวัยศึกษา ทว่าเป็นการแสดงออกของผู้ต้องการฝ่าฝืนกฎหมาย
ได้ยินแค่นี้ รับรองว่าท่านก็โดนบรรดานักกิจกรรมทั้งหลายถีบหน้าหงายแล้ว นี่มันเป็นเรื่องโคตรเบสิค การแสดงออก การเรียกร้อง หรือรณงค์สิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นความเว้าแหว่งในสังคม มันก็ต้องวัยนักศึกษานี่แหละ พูดแบบเพื่อชีวิตก็คือ คนหนุ่มสาวเป็นวัยที่มีพลัง และเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลง
พูดก็พูด นี่ทำให้ผมต้องย้อนนึกไปถึงตอนที่เคยคุยกับ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการหนุ่มเเห่งยุคสมัย เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน อาจารย์อธิบายปรากฏการณ์บางอย่างให้ฟังว่า ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ นั้น ไม่เหมาะแก่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา
ไม่เหมาะในความหมายของอาจารย์คือ มันไม่มีสิ่งเร้าให้คนหนุ่มสาวออกมาแสดงพลัง เพราะธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยเอื้อให้คนแสดงออกอยู่แล้ว เราจึงได้เห็นคนกลุ่มอื่นๆ ออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างหลากหลาย แถมมีการเติบโตขึ้นของเอ็นจีโอ การเติบโตของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ของชาวบ้าน รวมถึงประชาชนเองก็รวมตัวกันทางการเมืองเเล้วด้วย
อาจารย์ให้สังเกตต่อไปว่า ขบวนการนักศึกษาเกือบทั่วโลกที่เคลื่อนไหวแล้วมีบทบาทสูงๆ ล้วนเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เป็นเผด็จการทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักศึกษามีความรู้ ความกล้าหาญตามวัย ประกอบกับที่คนกลุ่มอื่นๆ ถูกปิดกั้นสิทธิจนหมด นักศึกษาจึงกลายเป็นความหวังของผู้คน
ไม่ต้องเรียนวิชาหมอดู อาจารย์ประจักษ์อาศัยบรรยากาศจางๆ ในช่วงปีนั้น พยากรณ์ถึงอนาคตอันใกล้ว่า คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวในนามนักศึกษาจะเริ่มกลับมาแสดงพลังให้เห็นมากขึ้น
ทั้งนี้ โปรดอย่าได้คาดหวังภาพในหัวว่าต้องออกมาละม้ายสมัยก่อนอย่างตอน 14 ตุลา เพราะโจทย์ของแต่ละยุคสมัยมันต่างกัน ตัวนักศึกษาเองต้องค้นหาคำตอบเหล่านี้ให้เจอ สังคมพัฒนาความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาจึงถูกเรียกร้องให้ต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงการฝึกบริหารอารมณ์ตัวเองให้บ่อย ขณะที่เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังงอกงามได้ดีเหลือเกิน
ผมถามอาจารย์ประจักษ์ต่อว่า ถ้ามีนักศึกษากลุ่มใหญ่ ซึ่งรวมถึงที่สอนอยู่ ออกมาเคลื่อนไหวให้ประเทศไทยต้องดำเนินไปในทิศทางตรงข้ามกับที่ตัวอาจารย์เชื่อ จะรู้สึกเสียใจไหม
อาจารย์ตอบว่าไม่ โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นต้น สำหรับการมีความคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง อย่างมากที่สามารถทำได้คือการสนทนาแลกเปลี่ยน แต่ไม่ควรไปยัดเยียดอะไรใส่หัวนักศึกษา สุดท้ายแล้วยังมีความเชื่อแบบไหน ต้องการเคลื่อนไหวอย่างไร นั่นถือเป็นสิทธิ แค่นักศึกษาไม่เฉยเมยกับสภาพสังคมก็น่าชื่นใจแล้ว
เเม้อาจารย์ไม่พูดตรงๆ เเต่ก็ตีความได้ไม่ยากว่า นี่คือพื้นฐานเบื้องต้นในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะมีน้ำอดน้ำทนต่อสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ยังไม่ต้องรักกันก็ได้ แค่ขอให้อยู่ร่วมกันโดยลดทอนเรื่องเศร้าให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ก็เห็นๆ กันอยู่ เวลาปี่กลองระรัว เสียงยุเสียงเชียร์ย่อมดังกระหึ่ม แต่พอมีความสูญเสีย ปัญหามักเกิดขึ้นตรงขั้นตอนการหาเจ้าภาพมารับผิดชอบนี่แหละ
ทั้งหมดทั้งมวลไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องการสื่อสารเพื่อปรับทัศนคติคนใน คสช. เสียใหม่ว่า บ้านเมืองที่มีคนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดความเห็น กระทั่ง การออกมายืนยันความเชื่อของตนนั้น ถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการปฏิรูปประเทศ คนรุ่นใหม่นั้นมาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหว แถมยังเติบโตมากับยุคข้อมูลข่าวสาร พวกเขาย่อมเป็นอีกหนึ่งพลังในการซ่อมแซมสังคม
ดังนั้น คำถามคือ บรรยากาศที่จะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างส่วนต่างๆ ได้นั้น มันควรเป็นสังคมแบบไหน ใช่การกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด หรือยังมุ่งมั่นขยันจับขยันขู่คนที่มีความคิดเเตกต่างออกไป
สุดท้าย… นี่ไม่ใช่เรื่องของการเลือกฝั่ง ไม่ใช่เรื่องของการเข้าข้างใคร แต่มันคือการยืนยันหลักบางหลัก เพื่อให้สังคมมีสิทธิและเสรีภาพ
จริงๆ ไม่พูดถึงก็ได้คำว่า สิทธิและเสรีภาพ กลัวโดนข้อหาดัดจริตคลั่งประชาธิปไตย เเต่เรียนไว้ด้วยความหวังดี พอชั้นบรรยากาศมันถูกปิดกั้นกดทับมากๆ เข้า
ผลเสียมันจะไปตกอยู่ที่ใคร