เก็บต้นแบบสารพันธุกรรม “ปลาฝาไม” ปลากระเบนใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขง

เก็บต้นแบบสารพันธุกรรม “ปลาฝาไม” ปลากระเบนใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขง

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต : เรื่อง ภาพ ทรายโขง ณ ผาถ่าน 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากนักวิจัยชาวบ้าน ชาวประมงแม่น้ำโขงดอนที่ ม.3 บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 0.3 กิโลกรัม

ทางเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงได้ประสานความร่วมมือกับทางนักวิชาการ รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) จากซากปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง

จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่าปลากระเบนเป็นปลาหายาก เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งชุมชนบ้านดอนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แก่งคอนผีหลง มีระบบนิเวศน์ย่อยที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนด้วยเพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันกับชุมชนทางสมาคมมีแผนการศึกษางานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปลากระเบน แหล่งที่พบเจอ ระบบนิเวศน์ของปลากระเบน แนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปสู่แนวคิดชุมชนเรื่องการเก็บพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลากระเบนจากชาวประมงที่หาได้นำมาเพาะเลี้ยงในระยะต่อไป ปลากระเบนเป็นปลาหายาก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับในพื้นที่มีปลากระเบนในธรรมชาติที่พบได้ทุกขนาดที่จับได้ ชุมชนเชื่อว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่งเพื่อเป้าหมายการเพาะเลี้ยงปลากระเบนโดยชุมชน ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงได้วางแผนศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับปลากระเบนในระยะแรก รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งการสำรวจ ENDA จากระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขง ประสานความร่วมมือกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และชุมชนประมงแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย

หากพูดถึงปลาหายากในแม่น้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย ทุกคนจะนึกถึงปลาบึก ปลาหนังขนาดใหญ่ที่เคยจับได้ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อันเป็นที่โด่งดังรู้จักกันทั่วโลก แต่มีปลาน้ำจืดอีกหลายชนิดที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ที่หลายคนยังไม่รู้จัก จากงานวิจัยชาวบ้านพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง พบพันธุ์ปลาอีก 10 ชนิดที่ได้หายไปจากแม่น้ำโขง คือปลาเลิม(เทพา) ปลาปึ่ง(เทโพ) ปลาหว่านอ(หว้าหน้านอ) ปลาหว่า(หว้า) ปลากะ(กระโห้ไทย) ปลาเอิน(ยี่สกไทย) ปลาก้วน(ซ่อนงูเห่า) ปลาตูหนา และปลาฝาไม(ปลากระเบนแม่น้ำโขง)

ปลาฝาไม จากงานวิจัยชาวบ้านองค์ความรู้พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2547 เป็น 1 ในพันธุ์ปลาหยายากที่พบพันธุ์ปลาจาก 96 ชนิด จัดอยู่ในหมวดของปลาท้องถิ่นใน 88 ชนิด และในปีพ.ศ. 2565 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ได้ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนในงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่จังหวัดเชียงรายพบพันธุ์ปลา 100 ชนิดเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น 90 ชนิด จากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง จากสถิติเรือหาปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ในปีพ.ศ. 2560 มีชาวประมง 266 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 151 คน ลั้งหาปลาหรือพื้นที่หาปลาเหลือเพียง 11 ลั้ง ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร ลั้งที่ยังมีชาวประมงรวมกลุ่มกันหาปลา ได้แก่ ลั้งหลักเจ็ด ลั้งบ้านสบคำ ลั้งบ้านเชียงแสนน้อย ลั้งบ้านสบกก ลั้งบ้านแซว ลั้งบ้านดอนที่ ลั้งบ้านหาดไคร้ ลั้งบ้านดอนมหาวรรณ ลั้งบ้านปากอิงใต้ ลั้งบ้านแจมป๋อง และลั้งบ้านห้วยลึก สถานการณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาฝาไม หรือกระเบนแม่น้ำโขง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จากสถิติการจับได้น้อยมาก หลายชุมชนไม่เคยจับได้อีกเลย แต่ในการทำวิจัยชาวบ้านที่ผ่านมาได้สร้างความแปลกใจให้กับทีมงานผู้ช่วยนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากชุมชนบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังคงมีการจับได้ปลากระเบนปีละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว จับได้ทั้งลูกปลาและปลาขนาดใหญ่น้ำหนักมากถึง 31 กิโลกรัม ทางตัวแทนชุมชนบ้านดอนที่ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยชาวบ้าน เป็นคณะทำงานนักวิจัยชาวบ้านในการศึกษาเรื่องสถานการณ์ของพันธุ์ปลา ทำให้มีการบันทึกสถิติปลาฝาไมหรือปลากระเบนยังคงมีการจับได้ที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง (อังกฤษ: Mekong stingray, Mekong freshwater stingray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dasyatis laosensis) ปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหารได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างโดยค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1968 โดยยะสุฮิโกะ ทะกิ นักมีนวิทยาชาวญี่ปุ่น โดยเรียกว่า Dasyatis sp. และไม่ได้มีคำอธิบายเพิ่มเติมในทางวิชาการ และตัวอย่างต้นแบบของทะกิได้สูญหายไป จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1987 ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน และจรัลธาดา กรรณสูต นักวิชาการประมงชาวไทยของกรมประมง ได้ร่วมกันอนุกรมวิธานลงในวารสาร Environmental Biology of Fishes โดยชนิดต้นแบบเป็นปลาตัวผู้ขนาดยังไม่โตเต็มที่ความยาว 23 เซนติเมตร (9.1 นิ้ว) จับได้จากแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเชียงราย เป็นปลาที่พบน้อย แต่เป็นปลาที่มีรสชาติดี จึงมักถูกจับขึ้นมาทำเป็นอาหาร และมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยมีรายงานการพบที่เป็นปลาเผือกอยู่ 3 ครั้งในช่วงกว่า 13 ปี และจากการศึกษาวงศ์วานวิทยาบนพื้นฐานของไซโตโครมบี เมื่อปี ค.ศ. 1999 พบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้กับปลากระเบนสกุลด้วยกันชนิดอื่นที่พบในอ่าวไทยด้วย มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า “ปลาฝา” หรือ “ฝาไล”

ภาพจาก สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

ปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม” เป็นชนิดปลากระเบนแม่น้ำโขง หรือปลากระเบนลาว มีชื่ออังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่ชุมชนจับได้ว่า

“ปลาฝาไม ในแม่น้ำโขง จับได้บริเวณที่น้ำนิ่ง ตามดอน หรือตามคก เช่นที่ดอนมะเต้า คกผาเส้า คกผายาง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมาผมจับได้ 8 ตัวมีขนาดตัว 3 ขีดไปจนถึง 6 กิโลครึ่ง สูงสุดที่เคยมีคนจับได้ตัว 31 กิโลกรัม ปลาฝาไมที่จับได้มีชนิดเดียว มีเงี่ยงไม บางตัวก็มี 1 อัน บางตัว 2 อัน เคยมีตัว 3 เงี่ยงก็มี ปลาฝาไมราคากิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ แอ่งน้ำนิ่งตามคก ตามดอน ปลาฝาไมจะว่ายมาแล้วเกี่ยวกับเบ็ด ส่วนน้ำบริเวณที่ใส่เบ็ดระแวงส่วนใหญ่จะเป็นพื้นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามผิวน้ำ มีติดมองไหลบ้าง แต่ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวงเป็นเบ็ดที่ใช้จับปลาฝาไมโดยเฉพาะ บ้านเรามีคนที่เคยจับปลาได้ประมาณ 8-9 คน” จากการศึกษาระบบนิเวศน์พื้นที่หาปลา ของนักวิจัยชาวบ้านที่เป็นชาวประมงบ้านดอนที่ พื้นที่หาปลาพบว่าอยู่ในเขตพื้นที่แก่งคอนผีหลง เป็นระบบนิเวศน์เฉพาะ มีลักษณะเป็นหมู่แก่งหินขนาดเล็ก ใหญ่ และดอนทรายเป็นจำนวนมาก ช่วงความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านดอนที่ ไปยังบ้านเมืองกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีระบบนิเวศย่อยตามความรู้ท้องถิ่นแบ่งเป็น 11 ระบบนิเวศน์ คือ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน ชุมชนเชื่อว่าในพื้นที่คอนผีหลงเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทำให้บ้านดอนที่กลายเป็นแหล่งหาปลาแม่น้ำโขงที่สำคัญ และจากการสำรวจความลึกบริเวณผาเผา ในเดือนมีนาคม 2553 จุดดังกล่าวมีความลึกถึง 57 เมตร และพื้นที่คอนผีหลง บริเวณปากน้ำยอนไปจนถึงบริเวณหน้าผาพระ ในอดีตชาวบ้านจะเห็นปลาบึกมาผสมพันธุ์กันในบริเวณดังกล่าว ในเวลาเช้ามืด โดยปลาตัวเมียจะหงายท้องขึ้นปลาตัวผู้ลอยขึ้นทับแล้วกดตัวเมียลงน้ำ เป็นการรีดไข่ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่แก่งคอนผีหลง

ชุมชนแม่น้ำโขงเปรียบเปรยพื้นที่เป็นบ้านของปลาในแม่น้ำโขง ปลากระเบนแม่น้ำโขง เป็น 1 ใน 8 ชนิดของปลากระเบนน้ำจืดที่พบในประเทศไทย และมีการสัณนิฐานว่าน่าจะมีปลากระเบนถึง 2 ชนิดที่พบในแม่น้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย คือปลากระเบนราหู ที่ปัจจุบันมีการจับได้ในแม่น้ำโขงทางภาคอีสานของประเทศไทย แต่ยังไม่มีรายงานการจับได้ในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ปลากระเบนน้ำจืดทั้ง 8 ชนิด(อ้างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ที่พบในประเทศไทยได้แก่

1)ปลากระเบนแม่น้ำโขง(Dasyatis laosensis)

2)ปลากระเบนราหู(Himantura polylepis)

3)ปลากระเบนขาว(Himantura signifer)

4)ปลากระเบนลายเสือ(Himantura oxyrhyncha)

5)ปลากระเบนธง(Dasyatidae)

6)ปลากระเบนธงหน้าแหลม

7)ปลากระเบนบัว(Himantura uarnacoides)

และ8)ปลากระเบนกิตติพงษ์(Himantura kittipongi)

นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ หัวหน้าคณะนักวิจัยชาวบ้านดอนที่ได้มีข้อเสนอว่า

“ทางกลุ่มประมงบ้านดอนที่อยากเก็บปลาฝาไมที่จับได้ไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลา หานักวิชาการมาช่วยกันเพาะขยายพันธุ์ สร้างเป็นปลาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกอย่างก็อยากเพาะปล่อยลงธรรมชาติด้วยเพาะยิ่งนับวันยิ่งหายากกลัวมันสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขง”

ปลากระเบนแม่น้ำโขงเป็นปลาหายากที่พบในแม่น้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย แต่ที่ชุมชนบ้านดอนที่ยังมีการจับปลากระเบนได้ในทุกๆ ปี ในช่วงน้ำลดประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี บริเวณจุดที่หาปลาอยู่ในเขตพื้นที่คอนผีหลง ซึ่งเป็นกลุ่มหินผาทีระบบนิเวศน์ย่อยสลับซับซ้อนถึง 11 ระบบนิเวศน์จากการจำแนกด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น จากข้อเสนองานวิจัยชาวบ้านเรื่องแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่จังหวัดเชียงราย ชุมชนได้มีข้อเสนอให้มีการศึกษาเรื่ององค์ความรู้ท้องถิ่นปลาฝาไม ร่วมกับนักวิชาการด้านประมงเพื่อทำการศึกษาปลากระเบน การเพาะขายพันธุ์ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและเพื่อเป็นปลาเศรษฐกิจสร้างรายได้กับชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ