ใบรับรองสิทธิ์ที่ดินแบบฉบับบ้านโนนหนองลาด : การต่อสู้ 5 ทศวรรษ เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน

ใบรับรองสิทธิ์ที่ดินแบบฉบับบ้านโนนหนองลาด : การต่อสู้ 5 ทศวรรษ เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน

20151803170937.jpg

เรื่อง/ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

เป็นเรื่องแปลกใจเมื่อรู้ว่า บ้านโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อ ปี 2556 แม้จะเริ่มตั้งหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี 2511 อีกทั้งคนโนนหนองลาดยังมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ที่ต้องต่อสู้มานานกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อยืนยันถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ในการทำมาหากินบนที่ดินที่ตนเองได้เข้ามาแผ่วถางจับจอง

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2511 มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำท่าดี ปูปลากบเขียดชุกชุม ปลูกอะไรก็งาม ปลูกข้าวรวงก็หนักแค่กอเดียวได้ข้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้นางน้อย ชาวเชียงตุง และสามี หอบลูก 3 คน อพยพจากตัวอำเภอน้ำพอง มุ่งหน้ามาบุกดินรกร้างอาศัยทำกินยังสถานที่แห่งนี้ และก็คลอดลูกชายคนเล็กที่นี่เพิ่มอีกคน เพื่อหวังเริ่มลงหลักสร้างครอบครัวในถิ่นฐานใหม่ที่ยังไม่มีใครจับจอง พร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกกว่า 30 ครัวเรือนในช่วงแรกตั้งหมู่บ้าน

นางน้อย ปัจจุบันวัย 72 ปี เล่าให้ฟังว่า ในอดีตที่ดินแถบนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งราบลาดต่ำ เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ แต่ในช่วงระยะที่มีการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อปี 2508 พื้นที่แถบนี้น้ำก็แห้งลง เพราะมีการกักเก็บน้ำในช่วงระยะเวลาของการก่อสร้างก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบเมื่อเขื่อนสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ที่ดินแถบนี้จึงสามารถเข้ามาทำนา อาศัยหาปูหาปลาหาอยู่หากินได้

ในช่วงแรกตั้งหมู่บ้าน กำนันตำบลบ้านขามเมื่อสมัยนั้น ได้เข้ามาร่วมกับชาวบ้านในกำหนดเขตพื้นที่บ้านเรือน ที่ทำกิน แต่พอกำนันคนนี้หมดวาระลงเมื่อประมาณปลายปี 2511 เมื่อมีกำนันคนใหม่เข้ามาแทน ก็เริ่มเข้ามาขับไล่บอกกล่าวกับชาวบ้านว่าเป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะ ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งหนักๆ นางน้อย บอกว่า มีเสียงปืนดังขึ้นถี่มากปานข้าวตอกแตก ชาวบ้านหลายครอบครัวเกรงกลัวก็ย้ายหนีออกไปหลายราย

20151803171252.jpg

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนบ้านโนนหนองลาด

นายสวาท อุปฮาด แกนนำบ้านโนนหนองลาด ได้เล่าขยายประวัติความเป็นมาของชุมชนให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในปี 2511 เป็นปีแรกที่มีการก่อตั้งชุมชนขึ้นมา ขณะนั้นมีพี่น้องมารวมกัน 30 กว่าครัวเรือน ในตอนนั้นกำนันตำบลบ้านขามก็ไม่ได้ห้ามอะไร และยังช่วยจัดผังบ้านให้อีกด้วย แต่พอปลายปีกำนันครบวาระ 60 ปี เมื่อกำนันคนใหม่ไม่เห็นด้วยที่มาตั้งบ้านและทำกินในพื้นที่แถบนี้ ก็มาไล่แต่คนในชุมชนไม่ยอม พอถึงปี 2514 กำนันได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ และมีการต่อสู้คดีความกันถึง 3 ศาล สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้ชาวบ้านสามารถอยู่ทำประโยชน์ต่อได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันการเป็นที่สาธารณะ ในช่วงนั้นได้มีประชากรอพยพมาเพิ่มเติมถึงกว่า 90 ครัวเรือน

ต่อมาในปี 2518 ทางฝ่ายปกครองไม่ยอม ได้คิดหาวิธีการขับไล่ด้วยการไปสร้างฝายดินกั้นน้ำบึงป่ากก ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เพื่อให้น้ำเออท่วมที่ทำกิน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปรื้อทำลายฝาย ในเหตุการณ์ครั้งนี้มีการจับกุมชาวบ้าน จำนวน 22 คน และต้องเสียค่าปรับจำได้ว่าคนละ 100 บาท

นายสวาท เล่าให้ฟังต่อว่า ถัดมาในปี 2520 ทางฝ่ายปกครองและหน่วยงาน มีการสร้างฝายปูนสูงใหญ่แข็งแรงกว่าเดิม ทำให้น้ำเอ่อท่วมที่ดินทำกิน แต่คราวนี้น้ำได้เอ่อท่วมที่นาชาวบ้านที่มี นส.3 ด้วย จึงเกิดการรวมตัวไปฟ้องร้อง จนศาลตัดสินมีคำสั่งรื้อฝาย มาถึงปี 2521 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้คนโนนหนองลาดต้องอพยพไปอยู่ตำบลบ้านบัวนานถึง 3 เดือน เมื่อน้ำลดก็อพยพกลับเข้าทำมาหากินตามเดิม และในช่วงปี 2522-2539 ก็มีการคุกคาม ข่มขู่ ไล่ให้ออกจากพื้นที่มาโดยตลอด มีการลอบยิง ตามล่าแกนนำ ตนเองก็โดนหมายหัวและถูกยิงคาเวทีมวย เพราะตอนนั้นก็เป็นนักมวยอยู่

สวาท อุปฮาด

มาถึงปี 2539 ท้องที่ท้องถิ่นใช้อำนาจ ชาวบ้านถูกคุกคามหนัก มีการไล่ล่ากันไม่ให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อจะขับไล่ให้ออกให้ได้ ถึงขนาดขนอาวุธ ขนตำรวจมาจัดการ ในช่วงนั้นชาวบ้านก็ไปพึ่งรวมกลุ่มกับสหพันธ์เกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) ร่วมกับสมัชชาคนจน มีการเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องที่หน้าทำเนียบ จนได้ มติ ครม. ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งยังไม่ทันคืบหน้าก็เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล

พอถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (ชวน 2) เมื่อปี 2543 เกิดการเจรจาครั้งแรกกับ รมว.มหาดไทย จนเกิดการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน (ที่ดินสาธารณะ) เกิดคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะจ.ขอนแก่น เกิดคณะทำงานระดับอำเภอ มีหน่วยงาน สปก.ลงมาตรวจสอบ รังวัดที่ดิน แต่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นก็เกิดการเลือกตั้งใหม่

ปี 2544 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 มีการไม่ให้ชุมนุนหน้าทำเนียบ แต่เครือข่ายปัญหาที่สาธารณะก็ไปชุมนุมใต้สะพานแถวหมอชิต กับอีก 18 กรณีปัญหา ชาวบ้านโนนหนองลาดได้ร่วมการชุมนุมอยู่ 17 วัน 17 คืน วันไหนที่มีการเข้าพบผู้มีอำนาจก็ขึ้นรถเมล์ไปนั่งโต๊ะเจรจา จนเกิดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้แนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยให้มีการปฏิรูปที่ดินให้กับชาวบ้าน แต่ท้องถิ่นยังคัดค้าน

แม้เวลาผ่านมาอีกระยะหนึ่ง เมื่อการแก้ปัญหายังไม่ชัดเจน กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านก็ยังเดินหน้าต่อ ในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2550 ได้มีคำสั่งให้รื้อมติ ครม.มาดำเนินการ มีการสั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสาร เมื่อปลัดฯจับได้ว่ามีการรายงานเป็นเท็จ จึงมีคำสั่งย้ายปลัดจังหวัด และนายอำเภอ และสั่งให้สำนักงานที่ดินลงรังวัดพื้นที่แบ่งแยกแนวเขตที่ดินสาธารณะกับที่ดินทำกินออกจากกัน ในช่วงนั้นท้องที่ท้องถิ่นจึงยอมตามชาวบ้านโนนหนองลาด นายสวาท เล่าช่วงนี้ให้ฟังอย่างมีรอยยิ้ม

ปีนั้นจำได้ว่าชาวบ้านดีใจได้ไม่นาน พอถึงปี 2551 มีช่วงหนึ่งก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวอีกเพียงไม่กี่วัน ข้าวกำลังสุกเหลืองอร่ามเต็มทุ่ง อยู่ดีๆ เขื่อนอุบลรัตน์ก็ปล่อยน้ำ วันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ท่วมนาข้าวของชาวบ้านภายใน 2 วัน จนมีการออกไปชุมนุมเรียกร้องอยู่หน้าเขื่อนอุบลรัตน์ 12 วัน จนรัฐบาลมีความเห็นให้เยียวยา และจังหวัดช่วยเหลือพันธุ์ข้าวให้กับคนโนนหลองลาด แต่เรื่องการจ่ายค่าชดเชยก็ยังไม่ได้รับมาจนถึงทุกวันนี้ นายสวาท เล่า

มาถึงปี 2552 ชาวบ้านเครือข่ายเกษตรกรบึงปากเขื่อน ได้ไปเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมกับจังหวัด มีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 1,300,000 และเครื่องสูบน้ำ 18 เครื่อง อบจ.สนับสนุนน้ำมัน 3,000 ลิตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ปีนี้ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานมีการร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ได้เป็นอย่างดี ปีนี้ชาวบ้านไม่ย้ายหนีแต่ปักหลักต่อสู้และปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำ มีการจัดการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมโดยการประสานความร่วมมือจากภาคี และประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม พอแก้ปัญหาผ่านพ้นชาวบ้านได้จัดเวทีขอบคุณเพื่อนชาวนา มีการให้รางวัลข้าว 1 ตัน กับผู้ว่า อบจ. และหน่วยงาน แต่ทั้งหมดก็ให้กลับคืนแก่ชาวบ้านเป็นกองทุน

ปี 2554 เกิดราคาข้าวตกต่ำ ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องกับรัฐบาลมีการจัดเวทีหน้าศาลากลาง 2 วัน 2 คืน คนกว่า 4,000 ออกมากดดันเจรจา และประสานตรงต่อรัฐบาล จนได้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นจากกิโลละ 5 บาท เป็น 8 บาท นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปรับเปลี่ยนการผลิตที่เป็นการพึ่งตนเอง หรือเกษตรอินทรีย์ และในปีนี้ได้เสนอของบทำถนนเข้าชุมชน ซึ่ง อบจ. ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท

ปีถัดมา 2555 เกิดความร่วมมือกับท้องถิ่น คนโนนหนองลาดให้ความร่วมมือกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมทำงานบุญใหญ่ๆ อย่างงานบุญบั้งไฟ จากที่เคยเป็นปรปักษ์ต่อกัน วันนี้กลายเป็นพี่น้องคอยช่วยเหลือกันในตำบล เกิดแผนพัฒนาชุมชนได้ถนน ได้ไฟฟ้าเมื่อปี 2556 ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่หน่วยงานมีข้ออ้างไม่ให้การช่วยเหลือ ปีนี้ชาวบ้านดีใจมากที่ได้ไฟฟ้าใช้จนมีการจัดงานฉลอง ซึ่งคนในกระทรวงมหาดไทยก็ลงมาร่วมงานด้วย

จนเมื่อปีที่แล้ว เกิดความร่วมมือในการทำแผนพัฒนาชุมชนสู่การพึ่งตนเอง โดยได้ความร่วมมือทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งจากอาจารย์และนักศึกษา เพราะชาวบ้านอยากจัดการตนเอง จึงคิดค้นรูปแบบ และแผนการทำงานร่วมกัน เรื่องศูนย์การเรียนรู้ก็เป็นสิ่งหนึ่งในแผนที่ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา กลุ่มฟ้าใหม่ คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มข.มาช่วยสร้างศูนย์เรียนรู้บ้านดินขึ้น โดยเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่กันไว้ตั้งแต่สมัยแรกตั้งหมู่บ้าน เพื่อไว้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ศึกษาตนเอง ทำหลักสูตรของตนเองทั้งด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ฐานทุนทรัพยากร และวิถีชุมชนว่าแต่ละปี ทำอะไรบ้าง มีรายรับรายจ่ายอย่างไร รวมถึง มีการร่างหลักสูตรการเรียนรู้ชุมชน เกิดอาสาสมัครครูชุมชนที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานและคนภายนอก นายสวาท เล่าให้ฟังในช่วงท้าย

20151803171458.jpg

บ.ร.ส.ช. ใบรับรองสิทธิชุมชน เอกสารสิทธิของคนโนนหนองลาด

แม้จะต่อสู้มานานกว่า 50 ปี วันนี้คนโนนหนองลาดก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ให้การรับรอง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านคาดหวัง ชาวบ้านหวังเพียงแค่ความมั่นคงในสิทธิทำกินและสามารถสืบต่อถึงลูกหลานได้โดยไม่มีใครมาขับไล่ออกจากพื้นที่ในวันข้างหน้า

ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการออกแบบจัดการพื้นที่กว่า 2,400 ไร่ โดยแบ่งเป็นที่ทำมาหากิน 1,300 ไร่ และที่บึงปากเขื่อน 1,100 ไร่ ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันไว้อย่างน่าสนใจ ในรูปแบบ บ.ร.ส.ช. หรือใบรับรองสิทธิชุมชน

โดยมีรูปแบบอยู่ 4 ประเภท คือ แผนที่รับรองสิทธิ หรือ บ.ร.ส.ช.1 เป็นพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน บ.ร.ส.ช.2 เป็นการกำหนดที่สาธารณะประโยชน์  บ.รส.ช. 3 กำหนดพื้นที่หมู่บ้าน และบ.ร.ส.ช.4 เป็นพื้นที่แปลงนารายบุคคล ซึ่งมีทั้งหมด 105 แปลง ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นเพราะมีการแบ่งย่อยให้พี่น้อง ให้ลูกหลาน แต่ยังไม่ได้จัดทำผังใหม่ การทำในรอบหน้าชาวบ้านจะช่วยกันลงรายละเอียดรายแปลง เพื่อปรับฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

ซึ่งได้กำหนดกฏระเบียบการคุ้มครองสิทธิในที่ดิน ที่เป็นการร่วมกันกำหนดไว้ คือ

  1. สิทธิที่ดินต้องเป็นสิทธิรวมหมู่ การกระทำใดๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบของชุมชน โดยคณะกรรมการชุมชนเป็นคนควบคุม
  2. ที่ดินแปลงใดที่ไม่ใช้ประโยชน์ จะต้องแจ้งใหคณะกรรมการได้รับรู้ ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่ไม่ใช่ญาติใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
  3. ที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ คณะกรรมการชุมชนจะพิจารณาการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยจะแบ่งผลผลิตให้เจ้าของที่ดินไม่เกิน 20% ของส่วนรวม 80%
  4. ห้ามซื้อขายจ่ายโอนให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติหรือสมาชิกเด็ดขาด และการซื้อขายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการชุมชน
  5. การซื้อขายที่ดินจะต้องเป็นไปตามราคาประเมินของคณะกรรมการ โดยจะมีการประเมินราคาทุก 4 ปี
  6. ที่ดินเป็นสาธารณะประโยชน์ของชุมชนห้ามบุกรุก และทำประโยชน์โดยบุคคลเด็ดขาด ยกเว้นได้รับมติเห็นชอบโดยสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของชุมชน
  7. ผู้ใดทำผิดระเบียบข้อบังคับของชุมชนถือว่าหมดการเป็นสมาชิกภาพของชุมชน และจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากชุมชน
  8. ให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อวัตถุประสงค์ เป็นกลไกในการแลกเปลี่ยนซื้อขายในกรณีที่สมาชิกมีความจำเป็น เป็นกองทุนในการสนับสนุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน
  9. คณะกรรมการอำนวยการของชุมชนได้มาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกชุมชนจำนวน 7 คน มีภาระหน้าที่ 4 ปี

ถึงแม้ว่า บ.ร.ส.ช. ใบรับรองสิทธิชุมชน และกฏระเบียบจำนวน 9 ข้อ ของคนโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะเป็นสิ่งที่ไม่มีกฏหมายใดๆ รับรอง แต่ก็เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เป็นการจัดการฐานทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อไม่ให้ที่ดินหลุดมือ และสามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้ทำกินต่อไป

20151803171528.jpg20151803171530.jpg20151803171532.jpg20151803171534.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ