ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ริมถนนมักกะสัน มีเรื่องราวบันทึกประวัติศาสตร์แรงงานหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่แรงงานไพร่ทาสจนถึงแรงงานยุคปัจจุบัน ภายในอาคารหลังเล็กๆ บรรจุห้องประวัติศาสตร์แรงงานจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจเต็มไปหมด แต่ที่เห็นทีไรก็สลดหดหู่ก็คือ นิทรรรศการโศกนาฏกรรม “โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์”
ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ถนนพุทธมฑลสาย 4 อ.สามพราน จ.นครปฐม อาคาร 5 ชั้น 4 หลัง อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ณ ชั้นล่างของอาคาร 1 ทำให้คนงานกว่า 1,400 ชีวิตหนีตายอลหม่าน
โชคไม่เข้าข้างใครสักคน
ด้วยความที่อาคารแห่งนี้เป็นโรงงานตุ๊กตา มีเศษผ้า และวัสดุไวไฟเป็นจำนวนมาก ไฟจึงลุกลามอย่างรวดเร็ว และด้วยโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน เพียง 15 นาทีของการเกิดเพลิงไหม้ อาคารแห่งนั้นก็ถล่มลงมาในพริบตา
188 คน คือจำนวนผู้เสียชีวิต
469 คน คือตัวเลขของผู้ได้รับบาดเจ็บ
ผลการสอบสวนพบว่า ต้นเพลิงเกิดจากความประมาทของพนักงานที่สูบบุหรี่ในโรงงาน นอกจากนั้นอาคารที่ถล่มมาอย่างรวดเร็วก็พบว่า เกิดจากโครงสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากมีการใช้โครงเหล็กสำเร็จรูปซึ่งไม่ทนไฟมาก่อสร้างอาคารเพื่อประหยัดต้นทุน
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ภาคแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีมาตรฐานความปลอดภัยโรงงานเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
หลายปีหลังจากการเคลื่อนไหว คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ตุ๊กตาเคเดอร์เป็น “วันปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”