ฟังเสียงประเทศไทยออกเดินทางมาภาคเหนือ ที่วัดแม่สรวยหลวง วัดเก่าแก่ของพื้นที่อายุกว่า 100 ปี มาฟังเสียงคนยวนแม่ซ่วย 5 หมู่บ้าน เพื่อพูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจชุมชนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
แม่สรวยอำเภอที่มีทั้งภูเขาสูงและพื้นที่ราบ มีลำน้ำแม่สรวย และลำน้ำแม่ลาวไหลผ่าน คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย และท่องเที่ยว มีประชากร 78,787คน เป็นผู้สูงอายุเกิน 58 ปีขึ้นไป จํานวน 15,894 คน คิดเป็นร้อยละ 20.17
งานศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอำเภอแม่สรวย พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ความสัมพันธ์ของครอบครัวและสภาพชุมชนค่อนข้างดี มีส่วนร่วมทำกิจกรรมพอสมควร รัฐหรืออปท.ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือ เบี้ยผู้สูงอายุทุกเดือน
แม่สรวยมีการทำงานด้านผู้สูงอายุและเชื่อมต่อกับชุมชน มีต้นทุนหลายอย่าง ทั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ 8 แห่ง ที่นี่เคยเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเป็นชุมชนที่อยู่ใต้เขื่อนจึงการทำงานเรื่องทุนชุมชนกับการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของผู้สูงอายุ เยาวชน วัด รัฐ และเอกชน ในการศึกษา และทำแผนที่จุดเสี่ยงภัยในลำน้ำแม่สรวย พร้อมสำรวจต้นทุนท้องถิ่น •มีทุนชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุตลอดชีพตำบลบ้านดู่ กลุ่มหมอยาเมืองแม่ซ่วย (วัดแม่สรวย) สมุนไพรพื้นบ้าน มที่ทำเรื่องอาหารและเกษตรอินทรีย์ พิพิธภัณฑ์วัดแม่สรวยหลวง โรงเล่นเรียนรู้ และการท่องเที่ยวล่องแพ ชมธรรมชาติ เที่ยวเขื่อน ชิมกาแฟ
จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ชุมชนจะต้องมาช่วยกันคิดในการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นในสังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถอยู่ได้ และดึงศักยภาพของผู้สูงอายุไปช่วยชุมชนเพื่อช่วยฝึกหัดเด็กหรือผู้ที่สนใจให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้สืบทอดทักษะวัฒนธรรม และสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพของคนทุกวัยในสังคม ภายใต้ภาพอนาคต 3 ภาพ
ภาพที่1 สังคมคน 3 วัย
ชุมชน และท้องถิ่นมีการทำงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีการเชื่อมต่อกัน เกิดโรงเรียนผุ้สูงอายุ หรือการส่งเสริมอาชีพ กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ชุมชนมีความเข้มแข็งจะเชื่อมคน 3 วัย เข้าด้วยกัน โดยมีวัด บ้าน โรงเรียน และอปท. เป็นแกนหลัก คนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของต้นทุนชุมชนพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน โดยเชื่อมโยงกับผู้สูงอายุและภูมิปัญญาที่มีอยู่ เป็นผู้ประกอบการ แต่ยังคลอบคลุมเฉพาะกลุ่ม ทำให้ธุรกิจบางส่วนเติบโต แต่บางส่วนอาจถูกละเลย สามารถสร้างานได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่มาก คนรุ่นใหม่ยังคงออกไปทำงานข้างนอก รัฐพยายามจัดสวสัดิการและสังคมรองรับ แต่ยังเป็นแบบการสงเคราะห์
ภาพที่2 ธุรกิจในสังคมสูงวัย
ชุมชน ท้องถิ่นเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่บางคนที่เห็นโอกาสสามารถต่อยอดภูมิปัญญา หรือพัฒนาเป็นธุรกิจ เช่น รับดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจด้านสุขภาพ ยาสมุนไพร โดยมีคนในชุมชนบางส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นลูกจ้าง หรือจัดการวัตถุดิบ ทำให้รายได้ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่ม มีความพยายามส่งเสริมการอยู่ร่วมกันมากขึ้น แต่คนรุ่นใหม่ยังไปเรียน หรือทำงานอกชุมชน คนที่มีรายได้เพียงพอพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย รัฐพยายามเข้ามาช่วย แต่ทำได้แค่บางส่วน การสนับสนุนยังเป็นแบบเฉพาะกลุ่มไม่กระจายตัว
ภาพที่3 ต้นทุนสู่ SE รองรับสังคมสูงวัย
ชุมชน ท้องถิ่นเห็นคุณค่าและตระหนักถึงสังคมผู้สูงอายุ โดยการพัฒนาต้นทุนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร สมุนไพร วิถีเกษตรกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยการทำงานของคนรุ่นใหม่ ร่วมกับผู้สูงอายุ อปท. เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ สามารถดึงให้คนรุ่นใหม่กลับมามีงานทำในพื้นที่ตนเอง รัฐมีนโยบายและงบประมาณที่ทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่สอดคล้องกับพื้นที่ มีศูนย์บ่มเพาะในการเป็นพี่เลี้ยง และทุนในการสนับสนุน ทำให้เกิดการกระจายของผู้ประกอบการชุมชน มีการนำผลกำไรส่วนหนึ่งในการประกอบการมาพัฒนาชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่เหมาะสม ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายวัย