คนภูเก็ตรวมพลังสวัสดิการชุมชน “เปลี่ยนเมือง สร้างสุขภาพดี สังคมมีสุข”

คนภูเก็ตรวมพลังสวัสดิการชุมชน “เปลี่ยนเมือง สร้างสุขภาพดี สังคมมีสุข”

เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตรวมพลัง

ภูเก็ต / เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต 18 องค์กร  ร่วมกันจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนครั้งที่ 14  “รวมพลังสวัสดิการชุมชนเปลี่ยนเมือง  สร้างสุขภาพดี  สังคมมีสุข” เสนอแนวทางสร้างกองทุนสวัสดิการยั่งยืนประสานกับธุรกิจเพื่อสังคม  นำข้าวสารจากชัยภูมิ  ผลไม้จากพัทลุงมาขายคนภูเก็ต  นำส่วนต่างร้อยละ 2  มาช่วยเหลือคนยากลำบาก   ขณะที่ ‘ดร.กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช.พร้อมหนุนชุมชนทุกมิติ  ตั้งแต่พัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้เติบโตมีคุณภาพ  ดูแลคนป่วย  ผู้สูงอายุ  สร้าง “หมอชุมชน” ประจำตำบล 

‘18 ปี  จัดตั้งกองทุนสวัสดิการทั่วประเทศแล้วกว่า 5,900 กองทุน

กองทุนสวัสดิการชุมชน  เริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ  มีกองทุนสวัสดิการชุมชนนำร่องทั่วประเทศจำนวน  99  กองทุนในปีนั้น   มีหลักการสำคัญ  คือ  สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เพื่อเป็นกองทุนดูแลช่วยเหลือสมาชิกในยามที่เดือดร้อนจำเป็น  เจ็บป่วย  หรือเสียชีวิต

ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีนโยบายสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน  โดยรัฐบาลได้สมทบงบประมาณผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถสมทบงบประมาณเข้ากองทุนได้เช่นกัน  ในอัตรากองทุน 1 ส่วน  :  รัฐบาล 1 ส่วน  :  อปท. 1 ส่วน  เพื่อให้กองทุนเติบโต  ช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง

นับแต่ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2548 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ประมาณ  5,900 กองทุน  สมาชิกรวมกันประมาณ 8 ล้านคน  เงินกองทุนสะสมรวมกันประมาณ 20,000  ล้านบาท

            ขณะเดียวกัน  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนา  ยกระดับกองทุน  เช่น  นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เก็บบันทึกข้อมูล  เพื่อให้เกิดความโปร่งใส  ตรวจสอบได้  นำเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนบางส่วนไปลงทุน  ทำให้เกิดดอกผลเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสได้ทั่วถึง  เช่น  ซื้อพันธบัตรของรัฐบาล  ซื้อสลากออมสิน  หรือลงทุนในวิสาหกิจชุมชน  เช่น  ขายข้าวสาร  น้ำดื่ม  ฯลฯ

ส่วนในระดับประเทศ  เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการของชุมชน พ.ศ…..เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ  มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ) รวมทั้งการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่นำเงินมาสมทบหรือสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ  ฯลฯ  เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเติบโต  มีความยั่งยืน

2
การแสดงของสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน

สวัสดิการชุมชนเมืองภูเก็ตรวมพลัง “เปลี่ยนเมือง  สร้างสุขภาพดี  สังคมมีสุข” 

วันนี้ (26 สิงหาคม)  เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต 18 องค์กร  ร่วมกันจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 14  “รวมพลังสวัสดิการชุมชนเปลี่ยนเมือง  สร้างสุขภาพดี  สังคมมีสุข”  ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต   มีนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  เป็นประธานการจัดงาน

ผู้เข้าร่วมงาน  เช่น  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  ผู้บริหารสำนักงาน พอช. ภาคใต้   พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต  ผู้แทนหอการค้าจังหวัดภูเก็ต  ภาคประชาสังคม  ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  และสมาชิกกองทุนฯ ประมาณ 500 คนเข้าร่วมงาน

นายเรวัต  อารีรอบ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)  กล่าวว่า  ปีนี้ อบจ.ภูเก็ตสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน  รวมทั้งการจัดงานในวันนี้จำนวน 400,000 บาท  และปีหน้าจะสนับสนุนอีกจำนวน 500,000 บาท เพราะค่าเงินอาจจะเฟ้อ  เพื่อสนับสนุนให้กองงทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตมีความเหนียวแน่น  มีความรัก  สามัคคีกัน  โดย อบจ.จจะช่วยกันดูแลจังหวัดภูเก็ตต่อไป

3
นายเรวัต  นายก อบจ.ภูเก็ต

นางวารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตว่า  ในปี 2548 คนภูเก็ตกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้ง  ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นมา เพื่อนำเงินสมทบจากสมาชิก  และหน่วยงานรัฐ  มาช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก  สมาชิกที่เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ประมาณ 20 กรณี  เริ่มแรกมีเพียง 2 กองทุน 2 พื้นที่   ในปีต่อๆ มาจึงขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนออกไป

ในปี 2553  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนครบทั้ง 18 อปท.ในจังหวัดภูเก็ต (อบต.เทศบาล)  ขณะเดียวกันในปีนั้น  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  ได้สนับสนุนให้มีการสมทบงบประมาณผ่าน พอช.เข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในอัตรา 1 ต่อ 1 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถสมทบงบประมาณเข้าสู่กองทุนได้  ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ภูเก็ตได้สมทบงบประมาณให้แก่เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนภูเก็ตปีละ 200,000 บาท  และล่าสุดในปี 2566 จำนวน 400,000 บาท

จนถึงปัจจุบัน  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเต็มพื้นที่  รวม  18 กองทุน  ใน 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต  คืออำเภอเมือง  ถลาง  และกะทู้  สมาชิกทั้งหมด 17,569 ราย ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า  31,876 ครั้ง/คน  รวมเป็นเงินมากกว่า 50,551,000 บาท  จำนวนเงินกองทุนคงเหลือ รวม 28 ล้านบาทเศษ

ตัวอย่างเช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลราไวย์  อำเภอเมือง  ก่อตั้งในปี 2550  ให้สมาชิกสมทบเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 2,145  คน  (ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลประมาณ 100 คน) มีเงินกองทุนประมาณ 2,575,000 บาท  มีสวัสดิการ  เช่น  เกิด  ช่วยเหลือ 2,000 บาท  เจ็บป่วยตั้งแต่ 1,000-6,000 บาท  เสียชีวิต 5,000-25,000 บาท  เกิดไฟไหม้ภัยพิบัติ  ช่วยเหลือตามจริง  ไม่เกิน 10,000 บาท  นอกจากนี้ในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 ช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บป่วยโควิด  รวมเป็นเงินประมาณ 700,000 บาท  ฯลฯ

4
นางวารุณี  ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต

 “กินเปลี่ยนเมือง”  ขายข้าวสาร-อาหาร  นำรายได้ 2 % ช่วยสวัสดิการผู้ยากลำบาก

นางวารุณี  ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  กล่าวถึงการจัดงาน “รวมพลังสวัสดิการชุมชนเปลี่ยนเมือง  สร้างสุขภาพดี  สังคมมีสุข”  ว่า  เนื่องจากภูเก็ตไม่มีพื้นที่ทำนา  คนภูเก็ตต้องซื้อข้าวจากที่อื่นกิน  จึงมีแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อสังคม  โดยร่วมมือกับบริษัท SE ปากพนัง  วิสาหกิจเพื่อสังคม  นำข้าวสารจากชาวนาที่จังหวัดชัยภูมิ  เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ปลอดสารพิษ  นำมาขายให้แก่สมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  และหักรายได้ส่วนต่างจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายนำมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตเพื่อนำไปช่วยเหลือสมาชิกที่มีความยากลำบาก  หรือผู้ด้อยโอกาส  กลุ่มเปราะบางต่อไป  โดยเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมา  คนภูเก็ตซื้อข้าวสารจากที่อื่นมากินตลอด  แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปของข้าวสารว่ามาจากไหน  เราจึงประสานกับบริษัท SE ปากพนัง  ธุรกิจเพื่อสังคม  นำข้าวสารอินทรีย์จากชัยภูมิมาขายเพื่อให้คนภูเก็ตได้กินข้าวดี         มีความปลอดภัย  สุขภาพก็จะได้ดี  รายได้จะนำมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ  เพื่อนำไปช่วยเหลือคนยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สังคมก็จะมีสุข”  ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนบอกถึงที่มาของการจัดงานครั้งนี้

5

นายณรงค์  คงมาก  บริษัท SE. ปากพนัง  บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม  กล่าวว่า  ในจังหวัดภูเก็ตมีบริษัทที่ค้าข้าวสารรายใหญ่อยู่ 2  ราย  มีรายได้จากการขายข้าวสารประมาณปีละ 1,000  ล้านบาท  หากสมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตที่มีสมาชิกประมาณ 18,000 คน  กินข้าวสารของเครือข่ายฯ ตนเชื่อว่ากองทุนสวัสดิการจะมีเงิน  สามารถดูแลสมาชิกได้  ไม่ต้องรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

“คนภูเก็ตไม่มีพื้นที่ทำนา แต่เราจะเอาที่นาจากชัยภูมิและพัทลุงประมาณ 2 หมื่นไร่มาผลิตเป็นข้าวสารให้คนภูเก็ตกิน  นอกจากนี้ก็จะเอามังคุด  แก้วมังกร  สละ  อาหาร  จากพัทลุงมาขายที่ภูเก็ต  เพื่อช่วยหลือเกษตรกร  ส่วนกองทุนสวัสดิการชุมชนก็จะมีรายได้ร้อยละ 2 บาท”

เขาอธิบายว่า  ข้าวสารที่นำมาจำหน่าย  ขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม  ราคา 200 บาท  กองทุนสวัสดิการชุมชนจะได้ส่วนต่างหรือผลกำไรถุงละ 4 บาท  นอกจากนี้ยังนำผลไม้จากพัทลุงมาขายที่ห้างเซ็นทรัลภูเก็ตเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  ขายเพียงไม่กี่วัน  มีรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรพัทลุงถึง 500,000 บาท  และแบ่งรายได้ 2 เปอร์เซ็นต์มาให้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้  บริษัท SE ปากพนัง  จะร่วมกับ พอช.และสภาเกษตรกรแห่งชาติ  ขยายโครงการกินเปลี่ยนเมืองสู่กลุ่มจังหวัดที่สอง  คือ  สุราษฎร์ธานี   ศรีสะเกษ  และลำปาง  ผ่านกลไกบริษัทประชารัฐ  และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนต่อไป

“โครงการ ‘กิน  เปลี่ยน  เมือง’  จะเป็นทางเลือกใหม่ของการจัดสวัสดิการชุมชน  บนฐานระบบนิเวศน์เศรษฐกิจและทรัพยากรชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่เต็มแผ่นดิน  ด้วยการเพิ่มพลังปัญญาปฏิบัติให้แก่เครือข่ายกองทุนสวัสดิการและขบวนองค์กรชุมชน”  นายณรงค์กล่าว

พอช.พร้อมหนุนชุมชนตั้งแต่เด็ก-ผู้สูงวัย สร้าง “หมอชุมชน” ประจำตำบล

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “บทบาทสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต่อการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง”   มีเนื้อหาโดยสรุปว่า  พอช.ได้ร่วมงานกับพี่น้องชุมชนทั่วประเทศ  รวมทั้งงานสวัสดิการชุมชน  แต่ปัจจุบันเรายังขาดเรื่องกฎหมายกองทุนสวัสดิการชุมชนมารองรับหรือสนับสนุน  เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว  จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

6
ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล

นอกจากนี้ พอช.ในขณะนี้กำลังขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กทั่วประเทศ  ประมาณ 60 แห่ง  เพื่อใช้เป็นศูนย์ในการพัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพ  มีพัฒนาการที่ดี  มีไอคิวดี  เพราะที่ผ่านมาเราดูแลศูนย์เด็กเล็กไม่ดี  ดูแลเด็กไม่ดี    ไอคิวจึงต่ำกว่าเด็กต่างประเทศ  ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้  ซึ่ง พอช.จะขยายเรื่องศูนย์เด็กต่อไป  โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตจะทำทุกตำบล

“โครงการต่อไปที่ พอช.จะทำ  คือ นักบริบาลชุมชน  เพื่อดูแลผู้สูงอายุ  ดูแลผู้ป่วยติดเตียง  เพราะหากดูแลไม่ดี  จะให้ทำเจ็บป่วยมาก  เสียค่าใช้จ่ายเยอะ  โดยเราจะทำร่วมกับ อสม. และ รพ.สต.  จัดอบรมให้มีนักบริบาลชุมชน  เพื่อไปดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม  มีค่าตอบแทนให้ผู้ดูแล  โดยจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพราะถ้าเราดูแลไม่ดี  ครอบครัวก็จะหมดค่าใช้จ่ายเยอะ”

ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าว และว่า  โครงการต่อไปที่จะทำคือ “หมอชุมชน”  โดยตนได้คุยกับมูลนิธิแพทย์ชนบทแล้ว  โดยจะทำร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน  ลักษณะเป็น “หมอทางไกล” หรือ Telemedicine  หากตำบลไหนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ  ก็จะมีหมอ 1 คน  ทำงานร่วมกับ รพ.สต.  รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ พอช.จะทำกับชุมชน  เช่น  โครงการป่าชุมชน  โครงการธนาคารปูม้า  การจัดการขยะ  โดยประชาชน  ชาวชุมชนจะต้องเป็นแกนหลักในการทำโครงการ  แต่โครงการต่างๆ เหล่านี้จะไปพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้  เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด  โดยต้องพึ่งพาตัวเอง  ใช้เงินกองทุนที่ชุมชนมีอยู่  รวมทั้ง พอช.จะประสานกับภาคธุรกิจเพื่อมาสนับสนุนชุมชน  แต่ชุมชนจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง  เพื่อทำโครงการให้เกิดผลงอกเงย  ไม่ใช่เงินลงมาแล้วหมดไป

“โครงการต่างๆ เหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีพี่น้อง  โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง  และหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว  พอช.ก็จะร่วมกับรัฐบาลเพื่อสนับสนุนเรื่องสวัสดิการชุมชนต่อไป รวมทั้งเรื่องกฎหมายสวัสดิการชุมชน   และต่อไปเราจะจัดงานสวัสดิการชุมชนในระดับประเทศ  เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อไปสำหรับทุกคนที่ทำเรื่องสวัสดิการ”  ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  จากปี 2548 ที่ พอช.สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศประมาณ 5,900 กองทุน  มีสมาชิกรวมกันประมาณ 8 ล้านคน  เงินกองทุนรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท   ในจำนวนนี้เป็นเงินของพี่น้องประชาชนประมาณ 75 %

อย่างไรก็ตาม  การสนับสนุนเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนของรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดน้อยลง  ซึ่งพี่น้องเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนควรจะใช้โอกาสนี้แปรวิกฤตเป็นโอกาส  เช่น  การทำธุรกิจชุมชนแบบ “กิน เปลี่ยน เมือง”  การเชื่อมโยงข้าวจากจังหวัดชัยภูมิสู่ภูเก็ต  เพื่อเอาเงินรายได้มาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ  เป็นต้น

“สิ่งที่ พอช.จะช่วยหนุนเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนต่อไปก็คือ  การหนุนเสริมเรื่องการบริหารจัดการ  การพัฒนาเทคโนโลยี  เพื่อให้กองทุนมีความเข้มแข็ง  มีความน่าเชื่อถือ  โดยในปีนี้  พอช.ได้รับรองมาตรฐานกองทุนไปแล้ว 1,000 กองทุน  และปีหน้าจะรับรองอีก 1,000 กองทุน  เมื่อกองทุนไปสัมพันธ์  ติดต่อกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนก็จะทำให้กองทุนได้รับการยอมรับ  มีความน่าเชื่อถือ”  ผอ.พอช. กล่าว

7
นายกฤษดา  ผอ.พอช.

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการของชุมชน  เพื่อให้กองทุนสวัสดิการมีสถานะเป็นนิติบุคคล  สามารถประกอบธุรกิจ   หรือลงทุนได้

รวมทั้งการขยายฐานสมาชิกกองทุนในปัจจุบันประมาณ  8 ล้านคน  ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสในการเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการ  และได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น

ประการต่อไป  ในอนาคตโอกาสที่ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามาสนับสนุน  มาลงทุนร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อนำไปสู่การลดหย่อนภาษี   โดยเร็วๆ นี้  พอช.ได้รับเชิญจากบีโอไอให้ไปคุยกับภาคธุรกิจเอกชน  โดย พอช.จะเอาเรื่องราวดีๆ ของชุมชนไปนำเสนอ  หากภาคเอกชนสนใจจะมาสนับสนุนหรือลงทุนร่วมกับภาคประชาชน  พอช.ก็จะมีบทบาทสนับสนุนชุมชน

“และที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ  ตอนนี้ พอช.กำลังปรับโครงสร้างการทำงานใหม่  โดยในการทำงานแต่ละจังหวัด  พอช.จะให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องในจังหวัด  นับแต่นี้เป็นต้นไป  เครือข่ายองค์กรชุมชนจะไม่ใช่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ พอช.  แต่จะทำงานเพื่อตอบโจทย์การทำงานเพื่อคนในจังหวัดนั้นๆ   โดยการสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อทำงานร่วมกัน  ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ  ชีวิตความเป็นอยู่  ในทุกมิติ  เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น”  นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.  กล่าวในตอนท้าย

8

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ