“ชาวแก่งหางแมว-ช้างป่า-อาสาสมัครฯ” เรื่องเล่าผ่านเลนส์ จากขอบป่าจันทบุรี

“ชาวแก่งหางแมว-ช้างป่า-อาสาสมัครฯ” เรื่องเล่าผ่านเลนส์ จากขอบป่าจันทบุรี

“อาสาพิทักษ์ช้างป่าภาคตะวันออก สถานการณ์ ปัญหาและความเปลี่ยนแปลง” ผ่านการเดินทางของนักเล่าเรื่องผ่านเลนส์ “ภานุมาศ สงวนวงษ์” แห่ง Thai News Pix 

กิตตินัย พระโนราช หรือช่างแมน อาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว มองหาช้างป่าใกล้แนวป่า 

บทสนธนาของคนคุ้นเคย บอกเล่าประสบการณ์เฉียดตายจากช้างป่า กลายเป็นเรื่องราวสนุกสนานเฮฮาที่เอามาเล่าทบทวนความทรงจำทุกครั้งที่ได้ออกมาพบเจอกันของกลุ่มอาสาพิทักษ์ช้างป่าในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หนึ่งในป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน

ป้ายเตือนระวังช้างป่าข้ามถนน ถูกนำมาติดตั้งไว้ริมททางสาย 4009
ชาวบ้านที่เข้ามาทำสวน พยายามถ่ายภาพช้างป่า หลังรับแจ้งจากทีมอาสาฯ ว่าพบเห็นช้างป่าอยู่ใกล้แนวป่า

ปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่รอบป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว และ จ.ฉะเชิงเทรา  สร้างความเดือดร้อนและความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างและคนในพื้นที่ด้วยกันมายาวนานนับสิบปี แม้มีความพยายามของภาครัฐในการแก้ปัญหา ทั้งการทำคูกันช้างหรือการสร้างแนวป้องกันเพื่อแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่พบว่าระยะเวลาที่ล่าช้าและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้มาตรการต่างๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีเท่าที่ควร ขณะที่ยังพบว่าทุกๆ ปี มีประชาชนที่อาศัยและทำกินอยู่ใกล้เขตป่าอนุรักษ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากช้างอยู่อย่างต่อเนื่อง

ช้างป่าตัวหนึ่งใช้งวงพ่นดินขึ้นบนหลัง ระหว่างออกจากที่นอนในป่า อาสาฯ สังเกตุว่าช้างป่าตัวนี้ออกมาหากินตัวเดียว แยกตัวออกจากโขลงที่หากินอยู่ในบริเวณเดียวกัน
ทีมอาสาฯ พร้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) พูดคุยกันระหว่างวางแผนเข้าไปตามรอยช้างป่า
ทองหล่อ ปรีชาชาติ ประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว ขับรถยนต์ตรวจตราบริเวณสวนของชาวบ้าน หลังได้รับแจ้งว่ามีช้างออกมาหากินในพื้นที่ ต.พวา

แม้ว่าทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าที่ออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ช้างป่าจะเคลื่อนผ่าน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่พบว่ากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นมีจำนวนไม่มาก ทำให้ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทำให้กำลังสำคัญในการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าในพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มอาสาพิทักษ์ช้างป่าที่ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าฯ ในแต่ละหมู่บ้าน

“ที่อื่นผมไม่รู้นะ แต่ที่นี่ลดลงไปเยอะ”

นพรัตน์ สอิ้งทอง รองประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว 
นพรัตน์ สอิ้งทอง รองประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว พร้อมทีมอาสาฯ นั่งกินข้าวร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกไปเฝ้าระวังช้างป่า

นพรัตน์ สอิ้งทอง รองประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว  เล่าถึงปัญหาช้างป่าในพื้นที่จากช่วงกว่าสิบปีก่อนหน้านี้ที่แต่ละปีจะมีช้างป่าลงมาหากินพืชไร่พืชสวนและสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ขณะที่ในปัจจุบันจำนวนช้างที่ลงมาในพื้นที่ลดลงและสถานการณ์ปัญหาช้างป่าค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการจัดตั้งอาสาพิทักษ์ช้างป่าขึ้นมาช่วยกันดูแลชาวบ้านในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งหลายคนเริ่มต้นจากการเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าก่อนจะผันตัวมาเป็นอาสาฯ ช่วยดูแลชาวบ้าน โดยปัจจุบันทุกหมู่บ้านในเขต อ.แก่งหางแมว จะมีกลุ่มอาสาฯ มากบ้างน้อยบ้างรวมตัวกันเพื่อออกมาตรวจตราหลังรับแจ้งเหตุจากชาวบ้าน เพื่อเฝ้าระวังและผลักดันไม่ให้ช้างป่าสร้างผลกระทบกับสวนผลไม้ รวมถึงทำลายทรัพย์สินและทำอันตรายชาวบ้าน แต่ก็ยอมรับว่าทัศนคติของคนในพื้นที่มีความสำคัญมากเพราะบางแห่งเจ้าของพื้นที่หนึ่งต้องการให้ช้างออก แต่เจ้าของพื้นที่ข้างเคียงไม่ยอมให้ช้างไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมหนึ่งของปัญหาการทำงานของกลุ่มอาสาฯ ว่าไม่ได้อยู่ที่ช้างเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่คนด้วย

“สมัยก่อนคนในพื้นที่ก็ไม่ชอบช้าง เพราะช้างไปทำของเขาเสียหาย ต่อมามีอาสาฯ มีการแจ้งเตือน ความเสียหายก็ลดน้อยลง ลดปัญหาในพื้นที่ลงไปได้มาก ซึ่งรวมถึงทัศนคติของคนในพื้นที่ดีขึ้น หากย้อนไปหลายปีก่อน เจ้าของพื้นที่บางแห่งไม่ยอมให้อาสาฯ เข้าพื้นที่ แต่พอช้างเข้าไปในพื้นที่ก็เกิดความเสียหาย ต่อมาก็ยอมและให้มีการนำช้างผ่านพื้นที่ไปได้โดยมีทีมอาสาฯ เข้าไปดูแล เจ้าของที่ก็มีการเตรียมการล่วงหน้า ความเสียหายก็น้อยลง”

นพรัตน์ เล่าเสริมว่า อาสาฯ แต่ละคนจะเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมของช้างป่า แล้วนำไปบอกต่อกันว่าช้างป่าแต่ละตัวที่พบเจอนั้นนิสัยอย่างไร เช่น หากมีการไปพบว่าช้างตัวนี้มีความดุร้ายก็จะเอาลักษณะของช้างมาเล่าต่อให้คนในชุมชนฟัง ถ้าช้างผ่านมาอีกครั้งชาวบ้านจะได้ระมัดระวังไม่เข้าใกล้ ก็จะช่วยไม่ให้เกิดการสูญเสียได้ ขณะที่ในปัจจุบัน เมื่อมีจำนวนอาสาฯ มากขึ้น ก็เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทั้งในเฟสบุ๊ค กลุ่มไลน์หรือวิทยุสื่อสารซึ่งทำให้สามารถแจ้งเตือนให้กับอาสาฯ พื้นที่ติดต่อกันล่วงหน้าจะได้รับช่วงดูแลช้างต่อกันไป

อย่างไรก็ตามรองประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่ามองว่าปัญหาเรื่องงบประมาณเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาของรัฐล่าช้าทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ขณะที่ช้างป่าเองก็เรียนรู้จากคนและปรับตัวชาวบ้านจึงต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพื่อปกป้องผลผลิตในสวนและรักษาชีวิตของคนในครอบครัวดีกว่ารอให้ทางราชการมาช่วยเพราะทำได้เร็วกว่า

“ทำแบบนี้ทุกคนมองว่าเราได้เงินเดือน แต่เปล่าเลยเราไม่ได้เงินเดือน คนนู้นเอาไปร้อยคนนี้ร้อย บางคนไปด้วยกันก็ต้องถามว่าน้ำมันรถมีมั้ย ถ้าไม่มีก็ต้องเรี่ยไรช่วยกัน ถามว่ามีความสุขมั้ย เรามีความสุข แต่บางบ้านก็ไม่เข้าใจเรา เขาหาว่าเราเอาช้างไปบ้านเขา เขาก็ด่าเรา”

กิตตินัย พระโนราช หรือช่างแมน อาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว

กิตตินัย พระโนราช หรือช่างแมน อาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว เล่าว่าเขาเจอช้างครั้งแรกระหว่างที่ออกมาตัดยางในสวนและได้ยินเสียงหักไม้ของช้างป่าที่ออกมาหากินในสวนข้างๆ ตอนนั้นเขามือไม้อ่อนจนทำอะไรไม่ถูกเพราะความกลัว กว่าหนึ่งปีในงานอาสาฯ .. ช่างแมนและแก้ว แฟนสาว อยู่ในทีมเดียวกับทองหล่อ ทุกๆ วันนอกจากงานประจำในสวนยางแล้ว เขาและแก้วจะขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปเฝ้าระวังช้างและดูแลชาวบ้านในพื้นที่ ต.พวา และใกล้เคียงอยู่เสมอ จนกลายเป็นความเคยชิน แม้บางวันจะเหนื่อยแต่เมื่อได้รับแจ้งว่ามีคนเจอช้างก็อดไม่ได้ที่จะออกไปทำหน้าที่เช่นเคย .. “ชาวบ้านมาขอบคุณก็รู้สึกดี ถามว่าเราก็ไม่ได้อะไร แต่พอเราเห็นรอยยิ้มก็รู้สึกดี รู้สึกภูมิใจ” ช่างแมนเล่าถึงความรู้สึกเมื่อภารกิจเฝ้าระวังช้างป่าให้กับชาวบ้านสำเร็จลง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาและแฟนสาวยังคงสวมชุดลายพราง คาดหัวไฟและออกจากบ้านไปดูช้างทุกค่ำคืน

อาสาพิทักษ์ช้างป่าขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปตามสวนผลไม้ของชาวบ้าน หลังได้รับแจ้งว่ามีช้างป่าเดินผ่านมาทางสวนลองกองของชาวบ้านในช่วงค่ำ
แม้ว่าอาสาฯ และเจ้าหน้าที่หลายคนจะมีปืนเป็นอาวุธประจำกาย แต่การใช้ปืนยิงขู่ช้างหรือแม้แต่การใช้ลูกบอลจุดให้เกิดเสียงดัง จะใช้เฉพาะเวลาจำเป็นจริง ๆ  เท่านั้น หนังสติ๊กจึงกลายเป็นอาวุธคู่มือที่เหล่าอาสาฯ พกติดตัวเวลาออกเดินผลักดันช้าง ร่วมกับแสงไฟจากไฟฉายแรงสูงติดศีรษะ
อาสาพิทักษ์ช้างป่าเดินสำรวจรอยทางเดินช้างป่า
อาสาพิทักษ์ช้างป่าส่วนไฟสำรวจช้างป่าที่ออกมาหากินในสวนผลไม้ของชาวบ้าน
มณเฑียร นาเมฆ หรือพี่หนู อาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว

มณเฑียร นาเมฆ วัย 55 ปี อาสาพิทักษ์ช้างป่าในพื้นที่ ต.พวา อ.แก่งหางแมว เล่าประสบการณ์จากมุมมองของคนทั่วไปที่เข้าใจว่าอาสาฯ แต่ละคนมีรายได้ แต่จริงๆ แล้วทุกคนก็มีหน้าที่การงานและมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ แต่จะใช้เวลาหลังจากเสร็จงานของตัวเองออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน มณเฑียรยืนยันว่าอาสาพิทักษ์ช้างป่ามีความสำคัญกับการจัดการปัญหาช้างป่าในชุมชน เพราะถ้าไม่มีอาสาฯ ชาวบ้านก็จะต้องหาวิธีป้องกันกันเอง เช่นการใช้รั้วไฟฟ้าซึ่งกันได้บ้างไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับกำลังไฟ ขณะที่หากเป็นสวนทุเรียนใหญ่ที่มีคนแก่อยู่เฝ้าก็ต้องใช้ไฟฟ้าขึง ซึ่งอาจจะเอาไม่อยู่ และจะทำให้เกิดเป็นประเด็นว่าช้างเสียชีวิตมากขึ้น และความเสียหายของชาวบ้านก็จะมีมากขึ้นด้วย

“พี่คิดว่าจะทำจนกว่าตัวเองจะทำไม่ไหวนะ ลูกก็ไม่ว่า สามีก็ไม่ว่านะ เพราะว่าสามีเป็นผู้ช่วย(ผู้ใหญ่บ้าน) เรารู้ว่าเขาทำงานเหนื่อยเราก็ทำงานแทนเขา เป็นตัวแทนให้กันได้ ถ้าคนในครอบครัวเข้าใจมันก็โอเค ไม่มีปัญหา”

มณเฑียร นาเมฆ อาสาพิทักษ์ช้างป่า ต.พวา อ.แก่งหางแมว

ทุก ๆ วันช่วงเย็นถึงค่ำทีมอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมวจะเตรียมความพร้อมหากมีชาวบ้านโทรมาแจ้งว่ามีการพบเจอช้างหรือได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่าก็จะรวมตัวกันออกไปเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างออกจากพื้นที่ชุมชนโดยมีการประสานความร่วมมือกับอาสาฯในพื้นที่ข้างเคียงผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อผลักดันช้างป่าออกจากชุมชนลดผลกระทบและความสูญเสียของคนและช้างให้มากที่สุดแม้หลายครั้งจะมีความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิต

“ต้องเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ ถ้าถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัวทุกคนล่ะ…มันไม่คุ้มหรอก ถามว่าแล้วใครจะออกมาเรียนรู้ตรงนี้ แล้วเล่าให้คนอื่น เล่าให้ลูกหลานเราฟังว่าช้างตัวนี้จะต้องเดินเส้นนี้จนกว่าชีวิตมันจะหาไม่” นพรัตน์ สอิ้งทอง รองประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่าแก่งหางแมว ทิ้งท้ายถึงสาเหตุที่ยังทำหน้าที่อาสาฯ จนถึงมุกวันนี้ ก่อนเปิดอ่านข่าวช้างป่าบนหน้าเฟสบุ๊คของเพื่อนอาสาฯ ในพื้นที่

ทองหล่อ ปรีชาชาติ ประธานอาสาพิทักษ์ช้างป่า เปิดไฟฉายบนหัวท่ามกลางความมืดมิดในยามค่ำคืน เพื่อมองหาและเฝ้าระวังช้างป่าให้กับชาวบ้านในพื้นที่แก่งหางแมว เช่นเดียวกับทุกๆ คืนตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา

เรื่องและภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ Thai News Pix

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ