เมื่อครั้งวัยเยาว์เรามักจะถูกตั้งคำถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ?” ซึ่งรูปแบบของคำตอบที่ได้รับก็คืออาชีพ หน้าที่การงานที่มั่นคง อาทิ หมอ พยาบาล ครู ทหาร ตำรวจ วิศวกร นักบิน (ไม่ใช่พระ) แอร์โฮสเตส ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ เชื่อขนมกินได้เลยว่า เราจะได้คำตอบลักษณะนี้ โดยเฉพาะคนในช่วง Gen Baby Boomer ไล่ลงไปถึง Gen X และ Y รวมทั้งคำตอบจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานเป็น
ใครบ้างทำนาแล้วอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นกระดูกสันหลังของชาติ หรือใครที่ทำงานรับจ้างแบกหามแล้วอยากให้ลูกเป็นจับกังเหมือนตน แม้กระทั่งผู้เขียนมีเพื่อนเป็นลูกหมอลำแต่ที่บ้านก็ส่งเสียให้เขาได้ร่ำเรียนสูงกว่า เพื่อถีบตัวเองออกจากวัฏจักร ‘เต้นกิน รํากิน’ ดังนั้น เมื่อผู้ใหญ่อวยพรให้ลูกหลานก็จะบอกว่า “จงตั้งใจเรียนหนังสือ เพื่อโตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”
ทว่า เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ ‘Digital Disruption’ : การเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ได้เข้ามามีบทบาทกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต พฤติกรรม วัฒนธรรม ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมากมาย รวมถึงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของผู้คนที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารเดิมถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้ง Online streaming, Social network, Media/platforms และ Applications ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ และจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้
ถึงกระนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลก็ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการเพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมในการแสวงหาอาชีพหน้าที่การงาน และการสร้างรายได้ โดยไม่ต้องเข้าคิวรอที่จะเป็นเจ้าเป็นนายเหมือนกันหมด นอกจากนี้ยังเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่มาพร้อม ‘Digital Disruption’ หรืออาชีพเก่าก็เกิดการยอมรับมากขึ้น มายาคติหรือการดูถูกดูแคลนลดลงไปมาก ดังเช่นอาชีพ ‘หมอลำ’ รวมถึงธุรกิจและอาชีพที่แตกแขนงจากหมอลำด้วย เช่น นักดนตรี นักประพันธ์เพลง แดนเซอร์ คอนวอย ถ่ายทอดสด รถแห่ Sound Engineer ทำ MV เพลง และช่อง YouTube เป็นต้น เนื่องจากสามารถสร้างงานทำเงิน ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังสร้างฐานะและชื่อเสียงตามมา ซึ่งหลายคนไขว่คว้าที่จะไปยืน ‘มือถือไมค์ไฟส่องหน้า’ อยู่ตรงจุดนั้น
หมอลำอีสานอินดี้ ที่มาพร้อมการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิทัล
ธวลธรรม นาทันใจ หรือ มีน อายุ 21 ปี เด็กหนุ่มจากอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คือหนึ่งในห่วงโซ่สายพานการผลิตของอาชีพหมอลำ ซึ่งสามารถทำรายได้ระหว่างเรียน เริ่มจากการเล่นดนตรีตามร้านอาหารและร้านเหล้าในเมืองอุดรธานี
“ปกติแม่จะให้เงินอาทิตย์ละ 1,000 บาท ซึ่งผมคิดว่ามันไม่พอใช้อย่างแน่นอน จึงคิดอยากหารายได้เสริมก็เลยมีรุ่นพี่มาชวนไปเล่นเบส เขาให้เป็นรายชั่วโมงๆ ละ 370 บาท เยอะนะครับเล่นชั่วโมงเดียว ส่วนมากผมจะเล่นช่วง 4 ทุ่มครึ่ง ถึง 5 ทุ่มครึ่ง หรือถ้าเลทไปถึง 6 ทุ่ม เขาก็จะเพิ่มเงินให้ และถ้านักร้องได้ทิปก็จะเอามาแบ่งกัน เฉลี่ยแล้วก็ตกประมาณ 400 บาทต่อวัน”
มีน เป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านการเล่นดนตรีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ เบส พิณ ซึ่งเขาเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เริ่มจากน้าซื้อพิณให้เป็นของขวัญ แต่ไม่รู้จะไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่ไหน ก็เลยลองเปิดเข้าไปดูในช่อง YouTube และฝึกตามอย่างจริงจังจนสามารถเล่นได้
“ตอนนั้นผมไม่รู้จักตัวโน้ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที อะไรพวกนี้เลยครับ ผมมีโทรศัพท์ 1 เครื่อง กดเข้าไป YouTube แล้วค้นหาว่าใครเล่นดนตรีอะไรบ้าง แล้วผมเจอทองเบส ทับถนน ซึ่งเป็นทายาทของพ่อทองใส ทับถนน เล่นพิณ ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันเท่มากอยากทำได้เหมือนเขา หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกตาม YouTube โดยจะมีสองอาจารย์ก็คือ อาจารย์ทองใส ทับถนน และอาจารย์หนุ่มภูไท ที่ผมดูและฟังเสียงแล้วเล่นตามมือท่าน”
คงมิอาจปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ‘การยกอ้อ ยอครู’ ของลูกศิษย์ต่ออาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา แต่ด้วยความศรัทธา มีนถือว่าตนได้กราบคารวะเป็นศิษย์ทางออนไลน์กับอาจารย์ทั้งสองท่านนับตั้งแต่บัดนั้น กระทั่งได้นำวิชาความรู้ด้านการเล่นพิณไปรับจ้างทำมาหากินในเวลาต่อมา
“ตอนอยู่ ม.5 มีคนมาจ้างไปเล่นแห่ต้นเงิน เล่นงานบวช และงานบุญต่างๆ ในชุมชน ได้รอบละ 100-300 บาท ถึงแม้ว่ามันไม่เยอะเราก็ดีใจมาก เพราะเป็นรายได้ และความรู้สึกตอนนั้น คิดว่ายากจะทำอะไรสักอย่างที่ได้เงินเป็นของตนเอง”
ธวลธรรมไม่หยุดฝันแค่นั้น เขาตั้งใจว่า ถ้าจบ ม.6 จะสอบเข้าเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องจากมีรุ่นพี่ที่รู้จักแถวหมู่บ้านเคยไปเรียนและแนะนำมา
“ผมชอบมากอยากไปเรียนรู้กับอาจารย์ เกี่ยวกับการเล่นพิณตามที่ผมตั้งเป้าไว้ ไม่ใช่แค่การมานั่งดูแล้วก็ฝึกตาม เพราะถ้าได้ไปเรียนและฝึกหัดต่อหน้าก็คิดว่าเราคงจะเก่งกว่านี้อีก นอกจากนี้ยังคิดไปไกลถึงการเล่นกับวงหมอลำ ซึ่งตอนนั้นผมใฝ่ฝันมากจนอยากยึดอาชีพนักดนตรีเป็นหลักเลยครับ”
แม้ไม่ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตามที่วาดฝันไว้ แต่มีนก็ยังอยู่ในเส้นทางของนักดนตรีรับจ้าง หาเงินส่งตัวเองเรียนและช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ที่สำคัญการเรียนด้านนิเทศศาสตร์ ก็เป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้วิชาการถ่ายภาพ ได้เข้าใจการทำงาน Production และทดลองทำ MV เพลง รวมถึงได้รู้จักเครือข่ายคนทำอาชีพด้านนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้อีกด้วย
“ช่วงโควิดร้านเหล้าปิด ทำให้ผมไม่ได้ไปเล่นดนตรี แต่พอโควิดซางานก็บางลง ผมจึงคิดว่าจะเอาตัวเองรอดยังไงดี ก็เลยมาจับงานเกี่ยวกับสื่อ ถ่ายรูป ทำ MV เพลง เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ซึ่งส่วนมากเขามีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ค่ายเพลงก็เกิดขึ้นเยอะที่ไม่ได้เป็นค่ายใหญ่ และใน Social เพลงไหนที่ติดตลาดก็จะมีคนนำมา Cover ซึ่งงาน MV งานแรกของผมได้ 3,000 บาท สำหรับผมก็ความรู้สึกมันได้ตังค์เยอะอยู่นะ และผมก็มี Cover เพลงลงในช่อง YouTube ของตัวเองด้วย”
“นอกจากนี้ผมก็รับงานเดิน Gimbal ถ่ายทอดสดการแสดงหมอลำหรือคอนเสิร์ต ซึ่งรายได้แล้วแต่งาน คือถ้าเป็น Mini คอนเสิร์ต จะ Live ถึงประมาณตี 2 ตี 3 ได้ครั้งละ 1,500 บาท ถ้าเป็นวงใหญ่หรือคณะหมอลำจะ Live ตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า ได้เงิน 2,000 บาทต่อครั้ง แต่จะลำบากอดหลับอดนอนหน่อย” พอกล่าวจบเขาก็หัวเราะร่วน
ด้วยพื้นฐานของมีนที่เคยเป็นนักดนตรีมาก่อน และมี Connection ในแวดวงนี้ ทำให้ทุกวันนี้ คนรู้จักมีนในฐานะช่างภาพ คนทำ MV มากกว่าการเป็นนักดนตรีด้วยซ้ำ
อนึ่ง ชายหนุ่มผู้นี้ยังมีความฝันอีกว่า เมื่อเรียนจบเขาอยากจะมี Studio สำหรับทำ MV ทำค่ายเพลง และทำงาน Production เป็นของตัวเอง
“อาชีพในอนาคตของผมก็คือ อยากทำค่ายเพลงที่เหมือนซีรีส์อีสาน เพลงอินดี้อีสานที่เกี่ยวกับหมอลำ รับทำ Production พวกไลฟ์สด นี่คืออาชีพที่ใฝ่ฝันของผม และจะพยายามให้มันไปถึงตรงนั้นให้ได้” ธวลธรรม กล่าวอย่างจริงจังและหนักแน่น
จักรวาลหมอลำกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าผลผลิตหลายพันล้าน
งานวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิง ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมหมอลำสามารถสร้างผลผลิตรวมมูลค่ามากถึง 6,613.1 ล้านบาท โดยเกิดการจ้างงานรวมทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 39,197 คน การจ้างงานเฉพาะในส่วนของการจัดแสดงหมอลำ ประมาณ 4,856 คน อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงอย่างน่าใจหายเช่นเดียวกัน โดยผลผลิตรวมลดลงเหลือมูลค่า 1,141.0 ล้านบาท ส่วนการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบเหลือ จำนวน 7,184 คน และการจ้างงานเฉพาะในส่วนของการจัดแสดงหมอลำเหลือ ประมาณ 1,449 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดผลกระทบจากการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5,400 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานประมาณ 32,000 คน
การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลกและการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกสาขาอาชีพ ฉะนั้นการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น อาณาจักรหมอลำก็ไม่อาจละเว้นกฎเกณฑ์นี้ ขณะเดียวกันผู้ที่สามารถปรับตัวได้ก่อนก็มีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ส่วนใครที่ตามไม่ทันก็อาจจะต้องตกขบวนรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail: HSR)
ในงานวิจัยยังชี้ให้เห็นอาชีพใหม่ที่ขยายจากธุรกิจหมอลำ โดยเฉพาะการปรับตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ดังนี้ อาชีพที่เกี่ยวกับหมอลำโดยตรง ได้แก่ 1.) บริหารห้องสตูดิโอสำหรับการถ่ายทอดสดหมอลำออนไลน์ 2.) ช่างเทคนิคผลิตผลงาน (Production house) 3.) ทีมถ่ายทอดสดและตัดต่อ ทั้งการแสดง Onsite และ Online 4.) ช่างตัดชุดหมอลำและชุดการแสดงโชว์ 5.) นักจัดการเพจและสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook YouTube TikTok) 6.) นักออกแบบการแสดง 7.) นักออกแบบกราฟิกดีไซน์ 8.) ร้านเช่าชุดการแสดง 9.) ยูทูบเบอร์ 10.) ทีมรับเหมาจัดทำเวที เครื่องเสียง และแสง 11.) นักแสดงประเภท Dancers แบบ Freelance และ 12.) วงดนตรีแบบ Freelance
นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริม (บางคนเป็นอาชีพหลัก) ที่ควบคู่กับธุรกิจหมอลำ คือ 1.) จำหน่ายน้ำปลาร้าปรุงสุก 2.) จำหน่ายเครื่องสำอาง 3.) จำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง 4.) จำหน่ายอาหารแห้งและอาหารสำเร็จรูป 5.) ถ่ายแบบเสื้อผ้าหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ และ 6.) รับรีวิวผลิตภัณฑ์
จากข้อมูลที่แจกแจงมา ทำให้เราพบว่าอุตสาหกรรมหมอลำและธุรกิจต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ความรื่นเริง บันเทิงสุข หากแต่ความเป็นหมอลำได้แทรกเข้าไปทุกอณูของการดำเนินชีวิตตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้ามุ้งนอน ทั้งการดื่มกิน เสื้อผ้าหน้าผม รวมถึงการมีอิทธิพลทางความคิด ทัศนคติ มุมมอง และเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งมันคือ Soft Power ที่กำลังเป็นกระแสนิยม และไม่เฉพาะคนอีสานเท่านั้น แต่มันยังถูกขยายไปสู่ระดับประเทศและสร้างการยอมรับในระดับสากลด้วย
จากหมอลำออนไลน์ สู่การผสานวัฒนธรรม
เราได้เดินทางมาถึงยุคหมอลำออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการทางสังคมเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหมอลำสามารถกลับมาเปิดทำการแสดงหรือเดินสายทำมาหากินได้ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจและคณะหมอลำรายใหม่ได้โลดแล่นบนเส้นทางสายนี้ หนึ่งในนั้นคือ ‘อีสานนครศิลป์’ คณะหมอลำจากเมืองดอกคูณเสียงแคน
“ผมมองว่าวัฒนธรรมทุกภาคมันสามารถศึกษาและสื่อสารกันได้หมด เหมือนบ้านผมมีมโนราห์ ก็สามารถนำมาผสมผสานกันได้ครับ” ชายผิวคล้ำรูปร่างสันทัด กล่าวด้วยสำเนียงที่ไม่คุ้นหูคนในชุมชนนัก
เชิดสกุล แดงประเสริฐ หรือพี่โอ๋ อายุ 40 ปี เป็นชาวจังหวัดปัตตานี ได้ข้ามน้ำ ข้ามทะเล ด้วยระยะทางประมาณ 1,500 กิโลเมตร ผ่านมโนราห์ ลิเก ลำตัด เพื่อมาเป็นแดนเซอร์บนแผ่นดินที่ราบสูง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะ ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจสำหรับผู้ที่พบเห็นอยู่ไม่น้อย
“ผมเป็นคนที่ชอบในเรื่องของการเต้นการแสดงอะไรแบบนี้อยู่แล้วครับ แล้วมีโอกาสไปเปิดเจอในเพจวงหมอลำว่า เขาเปิดรับสมัครแดนเซอร์ ตอนแรกก็หวั่นใจอยู่ว่า เขาจะรับหรือเปล่า หนึ่งเราเป็นคนใต้ สองอายุเราเยอะแล้ว แต่ก็ตัดสินใจลองมาสมัครดู เดินทางมาจากปักษ์ใต้เลยครับ ซึ่งวันแรกที่มาสมัครเขาก็รับเลย”
พี่โอ๋ ยังบอกด้วยว่าตนมีพื้นฐานของการเป็นแดนเซอร์อยู่แล้ว เพราะเมื่อก่อนเคยทำงานกลางคืน อยู่ตามผับ ตามบาร์ จึงชอบงานแสดงและการได้เอ็นเต็อร์เทนคนดู ส่วนปัญหาอุปสรรคก็มีบ้างในเรื่องภาษา และการอยู่การกิน
“แรกๆ เรื่องของการใช้ชีวิต การกินอยู่หลับนอนมันจะยากหน่อย อีกเรื่องหนึ่งคือผมคนใต้ฟังภาษาอีสานจะไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ผมมาเรียนรู้เอา ฟังกลอนลำเอา จากการที่เราเต้นแล้วก็ได้เห็นศิลปินเขาซ้อมเพลง ก็เริ่มซึมซับเข้าไป เริ่มเข้าใจได้บ้าง”
นอกจากมีรายได้จากการเป็นแดนเซอร์แล้ว หนุ่มปัตตานียังรับจ๊อบพิเศษในการทำหน้าที่ดูแลศิลปิน ยกลัง เก็บของ กางเตนท์ และมีรถขายน้ำและเครื่องดื่มเดินทางร่วมไปกับวง เพื่อขายของหน้างานด้วย
“ผมพัฒนามาจากปีแรก คือเป็นแดนเซอร์มีรายได้วันละ 1,000 – 2,000 บาท แต่ปีนี้ผมเอารถขึ้นมาจากใต้เลยเพื่อที่จะขายน้ำ ขายเครื่องดื่มหน้าวงเลยครับ คุณแม่ก็ขึ้นมาอยู่ด้วย เพราะว่าเป็นห่วงท่านๆ อายุเยอะแล้ว อยากให้ท่านมาสนุกกับพวกน้อง ๆ แดนเซอร์ ที่นี่ทุกคนน่ารักมากครับ”
ชายหนุ่มจากแดนสะตอผิวคล้ำตาคม จากความตั้งใจเดิมคือต้องการมาทำตามฝัน แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นการสร้างอาชีพและความผูกพันให้กับเขา
“ผมชอบวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่เขาต้องการจะสร้างคน สร้างงาน และสร้างอาชีพ และผมมองว่าหมอลำเป็นอาชีพที่มั่นคง ถ้าเราใช้ความพยายาม ใช้ความอดทน ผมว่าคุ้มค่าแน่” เชิดสกุลกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สิทธิ และสวัสดิการของหมอลำ ที่รัฐต้องเปิดผ้าม่านกั้ง
แม้ว่าอาชีพแดนเซอร์จะมีรายได้ซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงในหลักหมื่นบาทต่อเดือน หรือบางคนพอจบฤดูกาลเดินสายทำการแสดงสามารถเก็บเงินได้มากถึง 400,000-500,000 บาท เพื่อนำไปสร้างฐานะและใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่สูงกว่าเงินเดือนของพนักงานออฟฟิศด้วยซ้ำ ทว่าเขาเหล่านั้นก็ยังส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้มี ‘สิทธิ และสวัสดิการ” ที่ควรจะได้รับการดูแลและคุ้มครองในการประกอบอาชีพด้วย
ในงานวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการสร้างความยั่งยืนของหมอลำอีสาน ดังนี้
- การยกระดับให้หมอลำเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เป็นองค์กรนิติบุคคล มีการจดทะเบียนที่เป็นระบบ
- สิทธิ สวัสดิการที่พึงมีขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด ให้แก่บุคลากรในคณะหมอลำ
- จัดให้มี กองทุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม (ธุรกิจหมอลำและศิลปินหมอลำ) หรือในลักษณะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับองค์กรที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลดภาระผู้ประกอบการหมอลำต้องไปกู้เงินนอกระบบ
- จัดให้มี Morlum Academy บ่มเพาะศิลปินหมอลำมืออาชีพ ธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวกับหมอลำ และธุรกิจการออกแบบและจัดการอุตสาหกรรมบันเทิง
- ประกาศเมืองที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมให้เป็น “มหานครแห่งหมอลำ (City of Morlum)”
ทั้งนี้ ความสอดคล้องกับ เดชาพรรดิ์ สายมะโน ครูสอนเต้นวงอีสานนครศิลป์ ซึ่งได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“ตอนนี้หมอลำเปิดกว้างมากแม้กระทั่งไปออนทัวร์ต่างประเทศก็มี ซึ่งเป็นอีกทางเลือกของ Soft Power คนต่างประเทศก็จะรู้จักมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐน่าจะเข้ามาดูแลตรงนี้ด้วย ยกให้เป็นอีกส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ประเทศเราและให้การดูแล หรือกระทรวงวัฒนธรรมด้วย เพราะหมอลำส่วนใหญ่ขายความเป็นประเพณี หมอลำบางวงเขาจะตั้งเป็นรูปแบบบริษัทแล้ว ก็อยากให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วย ดูแลเรื่องสวัสดิการสังคม ความเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาล อันนี้จะโอเคมากสำหรับชีวิตของคนเป็นหมอลำ”