ฟังเสียงประเทศไทย : “ปะนาเระ”กับอนาคตเศรษฐกิจชายเเดนใต้

ฟังเสียงประเทศไทย : “ปะนาเระ”กับอนาคตเศรษฐกิจชายเเดนใต้

ที่นี่ปะนาเระ อาหารทะเลสด สะอาดปลอดภัย

“ปะนาเระ” คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ต่างคุ้นกันดีว่าเป็นพื้นที่ ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเล สด ปลอดภัย และราคาสูงกว่าที่อื่น  เพราะ “จับมาแล้วขายเลย

แต่หากย้อนไปในอดีต พื้นที่นี้ก็ประสบปัญหาปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง สาเหตุเพราะการเข้ามาของอวนรุนและอวนลาก  รวมถึงเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปรับจ้างทำงานในประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกัน พื้นที่ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี ครองอันดับ 1 ใน 10 จังหวัดประชากรรายได้น้อย ต่อเนื่องกว่า 18 ปี

มาวันนี้พื้นที่ปานาเระ จ.ปัตตานีเปลี่ยนไป มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่เข้มแข็ง เกิดเป็นชมรมประมงพื้นบ้านอ.ปะนาเระ ที่ชาวประมงพื้นบ้านพยายามปรับวิถีการทำประมงให้สอดรับกับธรรมชาติ ทำเรื่้องการการฟื้นฟู อนุรักษ์ เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูทรัพยากรเเบบมีส่วนร่วมของชาวประมง พัฒนาอาชีพการเเปรรูปอาหารทะเล ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ที่ยาวนานมากว่า 19 ปี

ที่สำคัญต้นทุนทางทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์  จะพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า สร้างโอกาสและขยายฐานเศรษฐกิจที่เอื้อต่อผู้คนทุกระดับ และสามารถแก้โจทย์เศรษฐกิจปากท้องในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้อย่างไรและนี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย ออกเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ปะนาเระ จ.ปัตตานี

วันนี้เราชวนตัวแทน ชาวประมง  กลุ่มแปรรูปผู้ประกอบการ ภาคเอกชน รวมถึงนักวิชาการ  กว่า 30 ชีวิต มาล้อมวงพูดคุยมองภาพอนาคตประมงพื้นบ้านกับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ กันที่ศาลาหน้าหาดปานาเระ เป็นหมู่บ้านชาวประมงหลายร้อยหลังคาเรือน จุดใกล้ที่จอดเรือและที่สำคัญใกล้กับโรงเรียนชาวเล มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ “ฟังเสียงประเทศไทย : ฟังเสียงปะนาเระ กับโอกาสทางเศรษฐกิจในชายเเดนใต้

เรามียังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทายจากพื้นที่ของพี่น้องประมงพื้นบ้านในชายเเดนใต้ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

อ.ปะนะเระ เป็นอำเภอหนึ่งในจ.ปัตตานี มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งเขา ป่า นา เล และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาชีพหลักของคนในชุมชนคือการทำประมง เกษตร และส่วนหนึ่งไปเป็นแรงงานที่ประเทศมาเลเซีย

สำหรับปะนะเระ มาจากภาษามลายูท้องถิ่น  หมายถึง  ชายหาดที่สามารถตากอวนและลากเรือขึ้นฝั่งได้  ปัจจุบันชายหาดปะนาเระ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนโดยรอบและกว่าร้อยละ 80  ชุมชนชายฝั่งทะเลปะนาเระ ทำประมงขนาดเล็ก  ใช้เครื่องมือทำประมงที่มีความหลากหลายตามฤดูกาลของชนิดสัตว์น้ำ  และส่งขายตลาดปลาสดปะนาเระ

หากย้อนไปในอดีต พื้นที่นี้ก็ประสบปัญหาปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุเพราะการเข้ามาของอวนรุนและอวนลากของเรือประมงขนาดใหญ่

ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ ชาวประมงพื้นบ้านพยายามปรับวิถีการทำประมงให้สอดรับกับธรรมชาติ ทำเรื่้องการการฟื้นฟู อนุรักษ์ โดยใช้ธนาคารปูม้า หมึก และกั้งกระดาน เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูทรัพยากรเเบบมีส่วนร่วมของชาวประมง ทำแนวเขตกั้นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก 

ทำให้สัตว์น้ำเริ่มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง  รวมถึงสร้างแหล่งเรียนรู้ โรงเรียนชาวเลบ่มเพาะเยาวชนในพื้นที่ในเรื่องความสำคัญของท้องทะเล

ตลอดจนเกิดการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเเปรรูปอาหารทะเล  ในชุมชนโดยกลุ่มเเม่บ้าน เเละคนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เเละที่สำคัญชาวบ้านที่สามารถยังทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่าง ๆ นับสิบหน่วยงาน

หากพูดถึงอาหารทะเลจากปะนาเระเเล้วที่นี่ขึ้นชื่อในชายเเดนใต้  ถือว่าขายได้ราคาสูงกว่าที่อื่น  เพราะ “จับมาแล้วขายเลย” ได้ทั้งความสด ความปลอดภัยไร้สารพิษ และการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย

จทย์สำคัญที่กำลังเผชิญ

  • ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมประมงไทยพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และการทําประมงมีความซับซ้อนขึ้น แต่นโยบายประมงของไทย รวมทั้งกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมและดูแลการทําประมงหลังจากได้รับใบเหลืองจาก IUU     เป็นเน้น  “จัดระเบียบการประมง”  ซึ่งกระทบกับประมงพื้นบ้านที่ไม่สามารถทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งได้  
  • สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ที่ยาวนานมากว่า 19 ปี ส่งผลเศรษฐกิจการจ้างงาน แรงงานในชายแดนใต้ออกจากชุมชนไปทำงานประเทศมาเลเซียเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำให้ขาดแคลนแรงงานที่สืบทอดการทำประมงต่อจากครอบครัว  โดยพื้นที่ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี ครองอันดับ 1 ใน 10 จังหวัดประชากรรายได้น้อย ต่อเนื่องกว่า 18 ปี ทำอย่างไรให้สามารถแก้โจทย์เศรษฐกิจปากท้องของชุมชน 
  • ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง พื้นที่ทำการประมงและจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง

โอกาสและข้อท้าทายสำคัญ 

  • พื้นที่อ.ปานาเระ มีความหลากหลายสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เเละการท่องเที่ยวเชิงอาหาร  ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถการพัฒนาอาชีพ ทักษะและเกิดการสร้างงาน ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมาตรฐาน อย.และรับฮาลาล ขยายตลาดไปได้  
  • ปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะมีทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้อุณหภูมิ และกระแสน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น  ส่งผลกับการย้ายถิ่นของปลา ทำให้ชาวประมงจับได้น้อยลงและส่งผลให้ราคาปลาสูงขึ้น สอดคล้องกับสภาเศรษฐกิจโลก ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า
  • โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ 
  • เน้นส่งเสริมคนรุ่นใหม่ใส่ใจในชุมชน รู้จักท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากร พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อยใจของคนในพื้นที่เเละพื้นที่ใกล้เคียงแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสร้างระบบการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ดี ซึ่งสวนทางกับความต้องการบริโภค  องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ 
  • คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการอาหารทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2593 ซึ่งเป็นข้อท้าทายสำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน คู่ขนานไปพร้อมๆ กับคุณชีวิตของผู้คน

3 ฉากทัศน์ กับโอกาสทางเศรษฐกิจในชายเเดนใต้

ฉากทัศน์ 1 :   Panare Check In (ชุมชนประมงกับภาคบริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล)

  • ผลผลิตจากการทำประมงในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการทำประมงเกินศักยภาพ ทำให้ปลาเศรษฐกิจหลายสายพันธุ์หายไป เป็นปัจจัยทำให้ประมงพื้นบ้านมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการฟื้นฟูดูแลทะเลมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการจับ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดตามแต่ละช่วงฤดูกาล รวมถึงการคัดแยกเลือกเฉพาะขนาดที่เหมาะสม ตลอดจนกระบวนการเก็บรักษาและการไม่ใช้สารเคมี เพื่อสร้างมาตรการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • มีกฎกติกาและกำหนดเขตห้ามล่าและดูแลพื้นที่ของชุมชน เช่น แนวปะการังที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล ที่มีสำคัญต่อระบบนิเวศรวมไปถึงการดูแลรักษาชายฝั่ง เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของคนในชุมชน พัฒนาศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้มีมูลค่า กระจายสู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ใกล้เคียง เกิดโรงเรียนที่มีหลักสูตรการประมงที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หลักสูตรเรื่องประมง  หลักสูตรการฟื้นฟู  หลักสูตรบ้านปลา หลักสูตรการจัดการสิ่งเเวดล้อมและขยะทะเล และหลักสูตรการสร้างอาชีพ
  • นอกจากนี้สร้าง Fisherman’s Village Resort  ด้วยการโชว์ของดีวิถีประมงท้องถิ่น ดึงเสน่ห์ความเป็นชุมชนประมง ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลสดๆ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่  สร้างตลาดที่สามารถรองรับคนรุ่นใหม่ให้มีงานมีรายได้ที่มั่นคง
  • แต่ฉากนี้ ต้อง Upskill พัฒนายกระดับทักษะคนในชุมชนให้สูงขึ้น สอดคล้องกับแผนที่วางไว้ รวมถึง Reskill ชาวบ้าน ชาวประมงในชุมชน เพื่อการสร้างทักษะใหม่ๆที่จำเป็นต่องานบริการ  และมีการโซนนิ่งพื้นที่ (Zoning) การท่องเที่ยวที่เหมาะสม คนภายนอกจะเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น จำเป็นเตรียมแผนการรับมือ ทั้งการจัดการทรัพยากรและการจัดการขยะ เเละเกิดการสนับสนุนความรู้และงบประมาณจากหน่วยงานท้องถิ่น ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง  และที่สำคัญต้องเเก้กฎหมายเเละนโยบายการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมง พื้นบ้าน (ซึ่งต้องใช้เวลานาน เเละขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเเต่ละสมัย

ฉากทัศน์ 2 :   Panare Premium Product (ชุมชนประมงกับการผนึกกำลังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าและมีคุณภาพ)

  • เป็นฉากทัศน์ที่แสดงถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาและผลิตผลทางทะเลจากชุมชนประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ลดน้อยลง แต่จะร่วมสร้างให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงได้อย่างไร โดยใช้เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่เวทีตลาดที่กว้างขึ้น เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้และความสนใจให้กับผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและวิถีชีวิตของชุมชนปานาเระ
  • ในฉากทัศน์นี้ ชุมชนประมงต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน ได้แก่ (1) สถาบันวิชาการวิจัยและพัฒนา ให้คำแนะนำและการอบรมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเหมาะสมกับความต้องการของตลาด (2) นักออกแบบ ได้ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีหีบห่อที่สวยงาม เพิ่มคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ (Perceived value) และสื่อถึงเรื่องราวของชุมชนประมงได้ (3) การตลาดออนไลน์ โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของชุมชนประมง เห็นถึงข้อดีและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ เชื่อถือและพอใจในผลิตภัณฑ์ และแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับผู้อื่น เช่น การสร้างเพจ เว็บไซต์ บล็อก วิดีโอ รีวิว คอนเทนต์ เป็นต้น (4) สตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่ ได้ใช้ความรู้และทักษะในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการจัดส่งผลิตภัณฑ์ (5) หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน การขยายช่องทางการจำหน่าย การประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ การจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น
  • ความท้าทายสำคัญที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งของฉากทัศน์นี้ คือ (1) การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic value) ที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่ที่ออกไปใช้แรงงานนอกพื้นที่ได้กลับเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชนอย่างไร และ (2) จะมีกระบวนการสร้างความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไร ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชนประมงจนได้รับความสนใจและความไว้วางใจจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มยอดขายและรายได้ให้กับชุมชนประมง ชุมชนประมงได้เพิ่มคุณค่าของผลผลิตทางทะเลของตัวเอง และส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและวิถีชีวิตของชุมชนได้อย่างแท้จริง

ฉากทัศน์ 3 : Panare Next Step (ชุมชนประมงกับการปรับตัวก้าวทันสภาวะเปลี่ยนแปลงด้วยเศรษฐกิจแบบ BCG)

  • ฉากทัศน์นี้มีเป้าหมายการทำประมงให้มีความยั่งยืน และสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio Economy, Circular Economy, และ Green Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่หมุนเวียนได้ การลดการใช้ทรัพยากรไม่หมุนเวียน และการสร้างความสอดคล้องกันระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • โดย (1) ปรับวิถีการทำประมงตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เช่น เลือกสัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพอุณหภูมิและความเค็มของน้ำ เปลี่ยนพื้นที่การประมงให้ไม่กระทบกับอุทกภัย หรือใช้เครื่องมือจับปลาที่ไม่ส่งผลทำร้ายทรัพยากร (2) จัดเก็บข้อมูลของชุมชน เช่น ผลผลิต ต้นทุน ผู้บริโภค เพื่อวิเคราะห์และวางแผนการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดที่มีความยั่งยืน เช่น ผ่านการรับรองมาตรฐาน อ.ย.และฮาลาล หรือการสร้างเครือข่ายการตลาด (3) หนุนเสริมศักยภาพของคนในชุมชนให้สามารถจัดเก็บข้อมูล
  • โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำ และให้การฝึกอบรมและสนับสนุนในการใช้งาน (4) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมอุตุนิยมวิทยา หรือสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างองค์ความรู้ในการจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ การป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์น้ำ หรือการป้องกันและจัดการกับขยะทะเล และ (5) เผยแพร่และส่งต่อความยั่งยืนไปยังคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เช่น ผ่านโครงการการเรียนรู้ที่ผูกพันกับชุมชน ถ่ายทอดเกี่ยวกับการประมงที่ยั่งยืนสร้างเป็นต้นแบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงของจังหวัดปัตตานีต่อไป
  • ฉากทัศน์นี้ไม่ง่ายอาจต้องใช้เวลาและการสร้างองค์ความรู้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และจำเป็นต้องผลักดันในเชิงนโยบายร่วมกันหลายภาคส่วน  แต่ถ้าทำได้ก็จะมีความยั่งยืนในระยะยาว

เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น เราชวนอ่านข้อมูลจากคีย์เเมน

สะมะแอ เจ๊ะมูดอ อดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมทำงานขับเคลื่อนงานด้านประมงมา30 กว่าปี เริ่มปี35 เหตุที่ลงมาทำงานตรงนี้เพราะมีเครื่องมือที่เข้ามาทำประมงหลากหลาย มาทำลายสัตว์น้ำหน้าบ้านเรา มีเรือคราดหอย มีเรืออวนลาก อวนรุน  เราก็ตัดสินใจวต้องดำเนินการแก้ไข โดยการจัดตั้งเป็นชมรมประมงขึ้น เเละรวมตัวกันได้ประมาณ 7 จังหวัด เเละเริ่มจัดเป็นองค์กรเรียกว่าสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้  ภารกิจหลักก็คือหาเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเจอมีปัญหาเดียวกัน ทั้งฝั่งอันดามันเเละฝั่งอ่าวไทย เเละขยายการทำงานเพิ่มเครือข่ายมีพี่น้องในพื้นที่ ภาคตะวันออกเเละ ภาคกลาง เกิดการรวมตัวกันขยับเป็นสมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลพี่น้องทั้งหมด ทั้งเรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับประมงเเละเรื่องกฎหมาย สิ่งที่เราพบจากการทำงาน ก็คือเรื่อง กฏหมาย ที่เหลื่อมล้ำ กฎหมายไม่สามารถที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

ผมก็อยู่หน้าทำเนียบ 99 วัน จนจังหวัดปัตตานียกเลิก เครื่องมือ อวนรุน ได้งบประมาณจากรัฐมาปรับเปลี่ยนเครื่องมือในการให้เลิกใช้ เคลื่องมือ อวนรุน เเละผลักดันจนสำเร็จทั่วประเทศ

ต่อมาเราเจอกับ พรบ.ประมง IUU เข้ามาบอกว่าถ้าคุณทำประมงแบบนี้ คุณไม่สามารถส่งสินค้าไปยังประเทศยุโรปได้ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่เหมาะกับสถานการณ์ประมงในปัจจุบัน แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องการกระจายอำนาจ จากพรบ.2558 ก็ได้ระบุไว้ว่า ต้องมีมีคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ  มีคณะกรรมการนโยบายประมงประจังหวัด มีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งเราพยายามผลัดดันในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เเละอีกสิ่งที่เรากังวล คือคำนิยามของประมงพื้นบ้าน ซึ่งอยากให้มันครอบคลุม ประมงพื้นบ้าน คือผู้ที่ทำการประมงในเขตทะเล  อนาคตต้องพยายาม ผลักดันแก้ไขกฎหมาย และนโยบายซึ่งเปลี่ยนตลอด

ตราบใดที่เรายังเข้มแข็ง หากมีนโยบายที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ซึ่งสู้กติกา ชุมชน ไม่ได้

กติกาชุมชนก็คือ พี่น้องร่วมกันกำหนด ออกเเบบตกลงกัน คุณห้ามจับปลาตรงไหน เขตอนุรักษ์ตรงไหน เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับทะเลหน้าบ้าน

สุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี กล่าวว่าหากมองอนาคตในอีก5 ปี ตอนนี้อเรายังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ภายใต้กฎหมายไม่นิ่ง ถ้ากฎหมายสอดคล้องกับการทำงานกับชุมชน ทั้งเรื่องการฟื้นฟูอนุรักษ์ ภาพอนาคตประมงน่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ชัด 

การทำงานด้านทะเลท้าทายเพราะมองไม่เห็น ทำงานกับท้องทะเลเหมือนเอางบประมาณไปละลายน้ำ ไม่เหมือนกับทำงานด้านป่าไม้ ด้านการเกษตรอื่นๆ ที่เรายังมองเห็น

หากย้อนไปก่อหน้านี้ทำไมปลาน้อยลง แสดงว่าทะเลเสื่อมโทร มันเกิดวิกฤตก็โทษชาวประมง เเต่ไม่ได้แยกว่าประมงพานิชย์หรือประมงพื้นบ้าน ดังนั้นก็ต้องมาทำงานร่วมกัน อะไรที่สามารถเเก้ได้ไม่กระทบกับประมงพื้นบ้านก็ต้องมาคุยกัน อันไหนประมงพื้นบ้านแก้กฎหมายกระทบประมงพาณิชย์ไหมก็ต้องคุยกันหาจุดร่วมเพื่อหาทางออกร่วมกัน

จะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและคิดว่าถ้าเครื่องมือบางเครื่องมือถ้าต้องยกเลิกก็ต้องยกเลิก ต้องจำกัดจำนวนก็ต้องจำกัดจำนวน ชนิดสัตว์น้ำเราต้องกำหนด เพื่อเป็นพื้นฐานว่าสัตว์น้ำขนาดเล็กจับไม่ได้ เราต้องดึงเอาข้อมูลทางวิชาการมาใช้

เราคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องบูรณา ถ้าเราบูรณาการจริงๆ มองว่าหาทางออกได้ แต่ตอนนี้เรามีกฎหมายที่ทับซ้อนกันหลายหน่อยงานซึงเกิดปัญหา ผมมองว่าทุกชุมชนพร้อมที่จะทำงานกับรัฐ เเละกิจกรรมที่ส่งเสริมประมงในบางกิจกรรมต้องทำต่อเนื่อง เช่น ซั่ง ต้องทำทุกปีเพื่อฟื้นฟูทะเล

อีกอย่างการ วางปะการังเทียม จะตั้งบริเวณชายฝั่งไม่ได้ ต้องไปอยู่นอกเขต 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ของประมง พาณิชย์ ทั้งเรือปั่นไฟ เรือลาก กลับกลายให้เป็นเเหล่งผลิตพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนมันเกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการซึ่งต้องมาบูรณาการ พื้นที่บริเวณไหน โซนไหนที่เหมาะสม

หากเรามองห่วงโซ่อาหาร กว่าที่สัตว์น้ำจะโตขึ้นมา มันก็เป็นอาหารให้กับสัตว์ตัวใหญ่กว่า แต่ว่าถ้าเราจับสัตว์น้ำตัวเล็ก และสัตว์น้ำตัวใหญ่มันจะกินอะไร  เเละถ้าปลาตัวเล็กไม่มีบริเวณชายฝั่ง ปลาตัวใหญ่ก็ไม่มี  ดังนั้น เราก็ต้องดูแลบริเวณชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ เเละชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านทะเล เราต้องช่วยกัน

อาอีซะฮ์ ตีมุง กลุ่มสตรีประมง ปะนาเระ มองว่าคนในพื้นที่ค่อนข้างมีเยอะ ทุนทรัพยากรทีมีเยอะ ทั้งในเรื่องของอาหารทะเล เเหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงทรัพยากร บุคคลคน แต่ปัญหาก็คือนโยบายภาครัฐมีเงื่อนไขมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ไม่สามารถทำงานให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่

หากเรามองถึงเศรษฐกิจชุมชน คนที่นี่มีศักยภาพในเรื่องของฝีมือในเรื่องการประกอบอาหาร แต่ทำไมต้องไปเป็นเชฟ ที่ประเทศมาเลเซียไม่สามารถอยู่กับพื้นที่ได้  ในช่วงโควิดคนเหล่านี้กลับมาเยอะมาก เราเห็นพลังคนในพื้นที่  แต่เอ๊ะทำไมพอโควิดหายไป เราก็ไม่ค่อยเห็นคนกลุ่มนี้ เขาต้องยอมไปเช่าร้านที่มาเลเซียเพื่อที่หาจะหารายได้  ตอบโจทย์ชีวิต

 สิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุด ก็คือลูกหลานคนในพื้นที่  ทำไงให้ลูกหลานคนในพื้นที่กลับมาอยู่บ้าน

โจทย์สำคัญพื้นที่ไม่มีตลาดงานรองรับเขา ซึ่งงบประมาณที่ทุ่มลงมาก็ไม่น้อยเราเสียดาย

เราฝันว่าวิสาหกิจชุมชนจะไปได้ไกลเพราะเรามีฝีมือแต่ว่ามีเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการขอ มาตรฐาน ฮาลาล อย. เยอะมากเกินความสามารถของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  เราไปถึงการตั้งเป็นโรงงานที่จะสามารถสร้างงานให้คนในพื้นที่ได้ และชุมชนสามารถจัดการได้

มองเป็นฉากทัศน์แรก เพราะว่าคนในปะนาเระที่มีอาชีพหลัก คือ ประมงพื้นบ้าน มีทรัพยากรอาหารทะเล  เป็น พ่อค้าแม่ค้าที่มีฝีมือ เราต้องขยับในเรื่องทักษะที่หลาย ปรับการเปลี่ยนวิธีคิด เติมทักษะการเป็นผู้ประกอบการในการให้บริการ ทั้งหมดต้องพัฒนาศักยภาพ

จุฑารัตน์ ไลวานิช ผู้ประกอบการอาการแปรรูปกล่าวว่า เรามีทะเลที่สวแต่ทำไมคนไปกระบี่ ตอบเลยว่าเขาครบ หมายความว่ามีท่องเที่ยว มีร้านอาหาร  มีที่พัก เชื่อว่าวันหนึ่งมันคงดีกว่านี้แน่นอน เพราะถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกัน เราก็จะมีครบเหมือนกัน

เราทำแกงไตปลาชื่อ แกงไตปลาตานีลิเชียส เราอยากจะโชว์ความอร่อย ความเป็นของอร่อยของดีปัตตานี แต่เเกงไตปลาใครๆก็มี เเล้วแต่เราพิเศษอย่างไร เราอยากยกระดับให้เป็นโอท็อป 5 ดาว ซึ่งมันไม่มีอะไรง่ายเลย ทุกอย่างมันต้องมาจากความอดทน เราก็พัฒนามาเรื่อยๆตอนแรกเราโพสขายในโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่า บางครั้งคุณภาพไม่ดี เสียบ้าง เนื่องจากการขนส่ง จากนั้นเราก็พัฒนาร่วมกับนักวิจัของมอ. ปัตตานี มาช่วยกันพัฒนาจนออกมาเป็นแกงไตปลาตานีลิเชียส เรามองหาทรัพยากรในพื้นถิ่นใช้ปลาทูน่าก็คือเป็นปลาโอดำในพื้นที่ปัตตานี ซึ่งเรามีทรัพยากรที่ดีที่เป็นฐานวัตถุดิบในพื้นที่ มอ.ปัตตานีมีเครื่องสเตอริไลซ์ ใครๆก็ใช้ได้ ส่วนการออกแบบเราก็มีน้องๆจากคณะวิทยากรสื่อสารมาออกแบบด้วยกัน ซึ่งเรามีทรัพยากรที่ดีอยู่เเล้ว  

ปลาหายากขึ้นทุกวันจริงๆแต่ว่าเราวางแผนการผลิตสำคัญ ทุกอย่างมันมาจากการวางแผนทั้งหมด ทั้งวัตถุดิบ โรงงาน  แน่นอนปลาลดลงเราต้องวางแผน เราโชคดีว่าเรายังอยู่ใกล้พื้นที่ประมง

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินเล่าให้ฟังว่า ความโชคดีอย่างหนึ่งของผมตอนผมเป็นเด็ก ผมก็มีโอกาสออกเรือกับน้าไปหาปลา ผมได้เรียนรู้ชีวิตวิถีของชาวประมง ผมกลับมามองอีกมุมหนึ่งในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะ แล้วก็ได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ เวลาน้าหาปลามาคัดเลือกที่ขายได้ ส่วนที่ขายไม่ได้เอามากิน บางชนิดกินไม่ได้ก็ทิ้ง บางชนิดกินได้ แต่ในตลาดไม่ซื้อแต่มันอร่อย มีกุ้งบางชนิด มีปลา ปูบางชนิด ที่ไม่มีอยู่ในตลาด เลยถามว่าแล้วทำไมไม่ขาย เขาตอบกลับมาว่าเขาไม่กินกัน  เป็นคำถามนึงที่เราสนใจ

พอเราศึกษาในวงวิชาการด้านอาหารในปัจจุบัน เขาพูดถึงก็คืออธิปไตยทางอาหาร เราเพิ่งจะได้ยิน มันสวนทางกับคำว่าความมั่นคงทางอาหาร ตอนนี้ทั่วโลกพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร  เนื่องจากว่าทรัพยากรธรรมชาติลดลงเรื่อยๆ

ความมั่นคงทางอาหาร เป็นมุมมองจากคนข้างบนที่มองลงมา เช่น ปูดำน้อยลงคนข้างบนก็มีนโยบายลงมา ส่งปูม้า ส่งปูดำ มาทำให้ชาวบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่มันแย้งกันกับ อธิปไตยทางอาหาร ที่ใส่ใจเรื่องความหลากหลาย แต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาในการจัดการกับอาหารทะเลแตกต่างกัน

เวลาเราได้ปลาอะไรก็ตาม ภูมิปัญญาเหล่านี้ช่วยทำให้เกิดการแปรรูปทรัพยากรให้เกิดดความหลากหลาย นี่แหละ คือ อธิปไตยของอาหาร ซึ่งมันย้อนแย้งกับความมั่นคงทางอาหาร ถ้าปลาทูน้อยลงทำไมเราไม่กินปลาอื่น หมายถึงว่าสิ่งที่ขาดก็ไปชดเชย   ภาพกว้างในตลาดของอุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องการอะไร ชาวประมงก็จะหาสิ่งนั้นไปซัพพอร์ต แต่ขณะเดียวกันถ้าเราลองคิดกลับกันว่าจับอะไรก็ควรกินอย่างนั้น ก็จะเป็นการสร้างความยั่งยืนทางอาหารอย่างแท้จริง

เป็นที่มาของว่าทำไมผมถึง ทำอาหาร เป้นเชฟเทเบิ้ลจากทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นที่ที่คนไม่ค่อยกินก็เอาทรัพยากรเหล่านั้นมาแปรรูปทำให้มันกินได้

 วิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่ มีมูลค่าอยู่แล้ว และเอาสิ่งที่ไม่มี มูลค่าเลยทำให้มันมีมูลค่า  ผมคิดว่า อันนี้ จะมา สู่ ความยั่งยืน ได้ จริงๆ

ระบบนิเวศก็จะถูกจัดการด้วยการกินของมนุษย์ กระบวนการของการสร้างอาหารของผม ใช้ศิลปะเข้าไปการรังสรรค์ให้เมนูมันน่ากินขึ้น เช่นประเทศญี่ปุ่นทำไมญี่ปุ่น กินซูชิคำเล็กๆ เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติทำให้ เขาเกิดภาวะขาดแคลนอาหารก็เลยใช้วิธีการสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ หรือ ศิลปะ เข้า มาช่วยในการกินอาหาร ทำให้อาหารนั้นกินแล้วอิ่มท้อง

ซูชิ คำเล็กๆ ที่เราเห็นหนึ่งคำเกือบ 500 บาท ทำไมมันถึงมีราคาแพงกว่าปลา 1 กิโล ทั้งๆที่ไม่มีอะไรนอกจากข้าวหนึ่งคำกับปลาหนึ่งชิ้น เราก็ต้องมาคิดทบทวนเขาใช้กระบวนการอะไร ในการพัฒนาตัวอาหาร เเละทำให้ มันเกิดมูลค่า

ผมเลือกฉากที่ 2 เเต่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งอันเดียว คือ Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอาหารมันตอบโจทย์ เพราะการท่องเที่ยวเชิงอาหารคนที่มาเที่ยวเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเลยเห็นที่มาของอาหาร ที่พักเราไม่จำเป็นต้องมีเงินมาสร้างโรงแรม อยู่โฮมสเตย์ หรือทำบ้านพักของทุกคนสามารถ ไปนอนได้ ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงอาหาร นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเข้าไปทำงานหรือว่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวประมง เช่น ออกเรือไปด้วย ไปตก กุ้ง หา ปลา คือเพิ่มรายได้ ให้แก่ชาวประมงเป็น ส่วนที่ช่วยให้

นักท่องเที่ยงได้เข้าใจอาหารมากขึ้นว่ามันยากแค่ไหนที่จะหาอาหารมา จับอะไรได้ก็กินชนิดนั้น เป็นเปิดโลกทัศน์ให้นักท่องเที่ยว ให้สามารถกิน อาหารได้อย่างหลากหลาย นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ตอน ฟังเสียงปะนาเระ โอกาสเศรษฐกิจชายแดนใต้ ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าว่า ความอุดมสมบูรณ์จะทำให้ยืนก็คงไม่ใช่เรืองง่าย แต่ว่าผมก็เชื่อว่าเป็นความท้าทาย เพราะว่าอย่างน้อยเราได้เคยเห็นความอุดมสมบูรณ์ จากสิ่งมีชีวิตบางอย่างเราอาจจะไม่เคยกินเมื่อก่อน เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เรากินกันได้เต็มที่ พอมาวันหนึ่งสิ่งหนึ่งก็หายไปแล้วมากินสิ่งหนึ่ง  

ถ้าให้ดูลักษณะจากหน้าหาดของเรา ให้มันเป็นหน้าหาดที่เราสามารถจะทำเป็นแผนที่ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ได้ เช่นการทำแนวเขตปูม้าคือ เราเตรียมหน้าหาดตัวเองให้อุดมสมบูรณ์ได้อย่างไร ทะเลมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา มีระบบการจัดการของมัน

แต่เราเองจะไปใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า พื้นที่เหล่านี้เคยอุดมสมบูรณ์มาก่อน ไม่ใช่แค่ ปะนาเระ แต่เป็นอ่าวปัตตานีต่างอุดมสมบูรณ์มาก่อน แต่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเลถ้าบ้านของเขาไม่อุดมสมบูรณ์เขาก็จะไปที่อื่น  ถ้าเรามองว่า อากาศมันเป็นบ้านของนก แสดงว่าน้ำในทะเลก็เป็นบ้านของสัตว์ทะเลเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้วิ่งกลับไปสู่ ตรงนั้น

ผมคิดว่ามันอาจจะต้องใช้แนวคิดของเทคโนโลยีมาร่วมด้วย การเปลี่ยนแปลงของความเป็นไปของพื้นที่หน้าหาด  ถ้าเรารู้เท่าทันเราไปได้

ในทะเล ปะนาเระ วาดได้ไม่ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ปูม้าอยู่ตรงไหน ปลาตรงนี้อยู่ตรงไหน ทำเป็นแผนที่ขึ้นมาได้ไหม หมายความว่า ถ้ามันอุดมสมบูรณ์แล้วรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน  เราไปจัดการโดยการใช้วิธีการจัดเป็นเเหล่งท่องเที่ยว เราจัดการได้ ถามว่าในอนาคตข้างหน้า ผมคิดว่าไปได้แน่นอน แต่ว่าหลายๆอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปอย่าง เรื่องของ กัดเซาะชายฝั่ง ภัยพิบัติ ทั้งหลาย เรื่องคลื่น สิ่งเหล่านี้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเรียนรู้

เราทำแผนที่ทรัพยากรให้ชัด เพราะในทะเลต้องใช้ความเชี่ยวชาญ แต่มันเทคโนโลยีที่จะไปบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหน ถ้าเราเข้าใจบริบททั้งหมด โดยดึงภูมิปัญญาของพี่น้องชาวเลเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราต้องรู้เท่าทัน ในมิติของพื้นที่ มิติของสัตว์น้ำ มิติของการเปลี่ยนแปลงของโลก เเละการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถ้าเราทำให้ดีเราก็จะไปถึง ฺBCG ก็จะไปถึง SDG  คือ 1เศรษฐกิจพอเพียง 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนจะเป็น  SDG 13: Climate action เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันจะเชื่อมโยงกัน SDG 14 SDG 15 จากบนบกลงสู่ทะเล เเละไปถึงเรื่องของการจัดการ ขยะ เรื่องไมโครพลาสติก ถามว่าอะไรที่จะเป็น ตัวช่วยมอนิเตอร์ริ่งช่วยดูความเป็นไปของอ่าวหาดของเรา อาหารของของเรา ต้องมองไปหาดลึกลงไปในทะเล

ดร.สมพร กล่าวทิ้งท้าย เราต้องดึงในรูปแบบของชุดความรู้ที่มีอยู่แล้ว ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาทะเล ภูมิปัญญา บก ภูมิปัญญาเทคโนโลยี ผสมผสานองค์กรมีเครือข่ายจับมือสร้างเครือข่ายปด้วยกันจะเห็นทั้งทะเลทั้งระบบ

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง” ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่

ร่วมโหวตฉากทัศน์ : ภาพอนาคต ตอน ฟังเสียงปะนาเระ โอกาสเศรษฐกิจชายแดนใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ