ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นมาเบิ่ง

ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นมาเบิ่ง

ภาคอีสานมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ โดยมีเทือกเขาภูพานผ่าพาดตรงกลางแอ่ง จึงทำให้เกิดการแบ่งตามธรรมชาติออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง แอ่งสกลนคร เรียก อีสานเหนือ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมบ้านเชียงและลุ่มแม่น้ำโขง อยู่ตอนเหนือของภูพานถึงแม่น้ำโขง เริ่มจากจังหวัดเลย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, หนองคาย, สกลนคร, บึงกาฬ, นครพนม, และมุกดาหาร

สอง แอ่งโคราช เรียก อีสานใต้ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ตอนใต้ของภูพาน นอกจากนี้ยังแยกย่อยเป็น 2 เขต ได้แก่ 1.) ลุ่มน้ำชี ไล่ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธร และอำนาจเจริญ 2.) ลุ่มน้ำมูล คือตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ดังที่ทราบกันดีว่า ภาคอีสานมีลุ่มแม่น้ำสำคัญ 3 สาย พาดผ่าน คือ แม่น้ำโขง มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 47,161.97  ตารางกิโลเมตร มี 36 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 520 กิโลเมตร (เฉพาะผ่านภาคอีสาน), แม่น้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 49,273.86 ตารางกิโลเมตร มี 27 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 1,030 กิโลเมตร และแม่น้ำมูล มีพื้นที่รวมกว่า 70,943.01 ตารางกิโลเมตร มี 53 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 880 กิโลเมตร จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า โดยรวมภาคอีสาน มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 167,378.84 ตารางกิโลเมตร และลุ่มน้ำสาขามากถึง 116 ลุ่มน้ำ

แต่เรามักได้ยินมาตลอดว่า ภาคอีสานเป็นถิ่นทุรกันดาร ดินแตกระแหง มีแต่ความแห้งแล้ง ทำการเกษตรไม่ได้ผล ประชากรขาดการศึกษา ความเจริญเข้าไม่ถึง ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หากินกบ เขียด อึ่งอ่าง แย้ กะปอม แมงกุดจี่ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ถูกผลิตซ้ำทางความคิดและสร้างวาทกรรมว่า “อีสานแล้ง” กระทั่งนำมาสู่การพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน นับตั้งแต่ยุค พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์  ธนรัตน์ เรื่อยมาจนถึงยุค “อีสานเขียว” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโครงการโขง-ชี-มูล เมื่อช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวของการจัดการน้ำภาคอีสาน มาจนถึงปัจจุบัน

สมปอง  เวียงจันทร์ ชาวอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 74 ปี เธอได้อาศัยพึ่งพาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรในแม่น้ำมูล ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งลุ่มน้ำแห่งนี้ ตลอดจนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของธรรมชาติตามกาลเวลาแต่ละยุคสมัย

“เมืองอีสานมันบ่ได้แล้งตามเขาว่า คำว่า ‘แล้ง’ มันเป็นของนักการเมืองที่มาหาผลประโยชน์ เฮ็ดเขื่อน เฮ็ดอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และโครงการต่างๆ ก็เพื่อจะเอาเงินรัฐ เอาเงินนายทุนมาทำธุรกรรม ซึ่งมันบ่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชุมชน” แม่สมปอง สนทนาด้วยสำเนียงไทอุบล ก่อนจะอธิบายต่อ

ภาคอีสาน มีสภาพธรรมชาติและระบบนิเวศของมันอยู่แล้วว่า ฤดูแล้ง ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่ละช่วงฤดูกาลเราจะหาอยู่หากินอย่างไร หรือแม้แต่ช่วงเวลาต่างๆ คือ ก่อนทำการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ย่อมมีผูกพันและเคารพบูชาต่อธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ซึ่งหล่านี้คนอีสานเราปฏิบัติจนเป็นวิถี พิธีกรรม ความเชื่อ และประเพณี สืบทอดกันมา

“ถ้าเฮาสิไปเฮ็ดนา ปีละ 3 เทือ 4 เทือ มันก็บ่ไหว เพราะว่าดินบ่ฟื้นตัว ต้องสลับหน้านา หน้าแล้ง หน้านาว มันสิมีระยะเวลาของมัน อย่างเช่น หน้าแล้งกะได้ลงไปหาปลาในแม่น้ำมูลได้อยู่ได้กิน หน้าฝนนอกจากเพาะปลูกแล้วกะต้องหมั่นเบิ่งแยงคันนาให้สภาพมันคงที่ มีฝายขนาดเล็กนาไผนามันเพื่อกักเก็บน้ำ ส่วนหน้าหนาวกะปลูกผักริมมูลไว้กินไว้ขาย ซึ่งมันเป็นภูมิปัญญาตั้งแต่พ่อแม่เพิ่นพาเฮ็ด”

กระทั่งมีการระเบิดหินและก่อสร้างเขื่อนปากมูลปิดกั้นแม่น้ำ (ก่อสร้างปี 2533 เสร็จสมบูรณ์ปี 2537) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาด 136 เมกะวัตต์ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตการพึ่งพิงทรัพยากร และการทำมาหากินของคนในชุมชน แม่สมปอง จึงเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อน ในนามเครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“เขื่อนมีผลกระทบชัดเจน คือ หนึ่งอาชีพหาปลา ซึ่งแม่เคยเป็นแม่ค้าขายปลาตอนนี้บ่เหลือหยังแล้ว สองที่อยู่อาศัย คือหลายพันครอบครัวต้องอพยพ และสามแหล่งทำมาหากินเชื่อมต่อระหว่างโขงกับมูลถูกทำลาย สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปหมด การทำมาหากินลำบาก ชีวิตจากมื้อนั้นมาฮอดมื้อนี้เปลี่ยนแปลงไปบ่คือเก่าอีกแล้ว”

นั่นมันคือความเจ็บปวด ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านที่นี่ไม่เคยเป็นแบบนี้ พวกเขาแทบไม่เคยไปกรุงเทพฯ หรือรู้จักด้วยซ้ำ เพราะว่ามีแหล่งอาหารแหล่งทำมาหากิน หาปลาแลกข้าวแลกน้ำ และอยู่ในชุมชนได้อย่างสบาย

“แต่ก่อนบ่ได้มีปัญหาว่าต้องไปหาเงินกรุงเทพฯ บ่ได้คิดแบบนั้น แต่เดี๋ยวนี้ต้องไป เพราะสภาพปัจจุบันพวกแม่สู้แทบตาย หาเงินสิมาซ่อมบ้านเจ้าของกะบ่มี ลูกเต้านับวันพลัดพรากจากกันไป กลับมาบ้านกะบ่มีงานเฮ็ด”

ข้อมูลจากเวบไซต์ https://www.thaiwater.net ได้ประมวลผลสถิติปริมาณน้ำฝนรายปีย้อนหลังในรอบ 40 ปี คือช่วงระหว่างปี 2526-2565 ของประเทศไทย ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,248 มิลลิเมตร, ภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,393 มิลลิเมตร, ภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,226 มิลลิเมตร, ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,833 มิลลิเมตร, ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,162 มิลลิเมตร และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,679 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา มากว่าภาคเหนือและภาคกลางด้วยซ้ำ

หากนำข้อมูลเฉพาะ 3 ภาค มาเปรียบเทียบกันจะพบว่า ภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุด 1,766 มิลลิเมตร เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งปีที่ต่ำสุดคือ 2536 วัดค่าได้ 1,113 มิลลิเมตร ภาคเหนือ ปี 2554 เป็นปีที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 1,741 มิลลิเมตร ส่วนปี 2536 มีปริมาณต่ำสุดคือ 937 มิลลิเมตร และภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุด 1,533 มิลลิเมตร ในปี 2542 และต่ำสุดปี 2562 วัดปริมาณได้ 910 มิลิเมตร

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

จากนอกอีสานไม่ได้แล้งแล้ว ช่วงฤดูน้ำหลากคนอีสานยังต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัย และ ‘น้ำท่วมซ้ำซาก’ ประจำทุกปี ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีข้อสังเกตต่อปัญหาอุทกภัยในภาคอีสานว่ามี 7 สาเหตุ ได้แก่

1. ผังเมืองที่เป็นอันตราย : อุทกภัยที่เกิดขึ้นในอีสาน หลายพื้นที่มีสาเหตุมาจากปัญหาผังเมืองที่ปล่อยให้มีการถมทางน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการก่อสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ มีทั้งบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ โครงการพัฒนาของรัฐ และสถานที่ราชการ ขณะที่การสร้างถนนส่วนใหญ่ไม่มีทางระบายน้ำหรือมีแต่ขนาดเล็กมาก ทำให้ถนนกลายเป็นเขื่อนที่ยาวขวางกั้นการไหลของน้ำ

2. การเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรแผนใหม่ : จากการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำการเกษตรไปเป็นสวนยางพารา หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำนาเป็นปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งทำให้ทิศทางหรือลักษณะการไหลของน้ำเปลี่ยนไป

3. ลำน้ำถูกทำให้เป็นคลอง : การขุดลอกลำน้ำมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ระบบนิเวศสองฝั่งลำน้ำถูกทำลายต้นไม้และพรรณพืชต่างๆ ริมลำน้ำที่เคยยึดตลิ่งและดูดซับน้ำไว้ถูกขุดออก พอถึงฤดูน้ำหลากทำให้น้ำไหลจากข้างบนลงล่างอย่างรวดเร็ว และเกิดอุทกภัยกับชุมชนที่อยู่ด้านล่างด้วย

4. แม่น้ำถูกทำให้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ : สองทศวรรษที่ผ่านมา การจัดการน้ำของรัฐได้มีการสร้างพนังกั้นน้ำรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ระบบการไหลของน้ำระหว่างแม่น้ำกับพื้นที่ชุ่มน้ำถูกตัดขาดออกจากกัน นําไปสู่การเกิดอุทกภัยที่รุนแรง การสร้างพนังกันน้ำที่บังคับให้น้ำไหลไปตามลำน้ำอย่างเดียว ได้ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทางด่วนพิเศษ (super highway) ที่มวลน้ำเคลื่อนตัวจากทางตอนบนลงไปทางตอนล่างอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่จะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปี

5. สายน้ำถูกล่ามโซ่ : ในการจัดการน้ำที่ผ่านมา วิธีการหลักที่รัฐนำมาใช้ในการจัดการน้ำก็คือ การสร้างเขื่อน ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และวิธีการนี้ก็ยังไม่ได้สิ้นสุด จนทำให้ลุ่มน้ำในอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล มีเขื่อนมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปากแม่น้ำมูลที่โขงเจียม จนเรียกได้ว่าเป็นสายน้ำที่เต็มไปด้วย “สลัมเขื่อน” ขณะที่แม่น้ำสาขาเล็ก ๆ ก็เต็มไปด้วยฝาย สายน้ำบางสายมีฝายเต็มไปหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปากน้ำ เหมือนกับการล่ามโซ่ การล่ามโซ่สายน้ำจึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภัยพิบัติอุทกภัยอย่างรุนแรง

6. ไม่มีการไม่ประเมินความเสี่ยงและไม่มีแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน : เชื่อว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ในภาคอีสาน (รวมถึงเขื่อนทั่วประเทศ) ไม่มีแผนนี้หรือมีก็เฉพาะสำหรับตัวเขื่อน แต่ไม่ได้รวมพื้นที่ท้ายเขื่อนที่จะประสบกับภัยพิบัติอุทกภัย หากมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนแบบเร่งด่วนหรือกรณีที่เขื่อนวิบัติ

7. ไร้แผนเผชิญเหตุอุทกภัย การเยียวยา และการฟื้นฟู : เชื่อว่า ในภาคอีสาน ไม่มีจังหวัดไหนที่มีแผนนี้ นอกจากแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในยามปกติการขาดแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจึงทำให้ภัยพิบัติอุทกภัยสร้างความเสียหายมาก ทั้งที่สามารถเตรียมรับมือและลดปัญหาผลกระทบได้

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ ยังชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นยังเชื่อมโยงกับโครงสร้างของอำนาจในการจัดการภัยพิบัติในระดับชาติ ที่รวมศูนย์และผูกขาดการจัดการภัยพิบัติไว้ที่รัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้การจัดการภัยพิบัติอุทกภัย (ที่บ่อยครั้งไม่มีการจัดการ) ไม่ตอบสนองต่อปัญหาอุทกภัยในอีสานที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

จากแม่น้ำมูลไล่ขึ้นไปแม่น้ำชี ที่บ้านดอนแก้ว ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ อมรรัตน์  วิเศษหวาน หรือ แม่มร เอาไว้เมื่อช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 2564 ปัจจุบันแม่มรอายุ 60 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน จนทำให้ข้าวนาปีที่กำลังออกรวงรอการเก็บเกี่ยวต้องจมอยู่ใต้น้ำ

อมรรัตน์  วิเศษหวาน

แม่มรเล่าว่า บริเวณนี้มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะและมักประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี หากเป็นสมัยก่อนน้ำจะท่วมแบบไปเร็ว ไหลเร็ว ระยะเวลา 7-15 วันก็ลด คนโบราณจึงจะบอกว่าปล่อยให้น้ำท่วมไปเลย เพราะน้ำยิ่งท่วมข้าวก็ยิ่งงาม เหมือนเป็นการใส่ปุ๋ยให้ข้าว และด้วยภูมินิเวศที่เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ เมื่อก่อนการทำนาปีและนาปังต่อ 1 รอบฤดูกาลผลิต จะได้ข้าวเปลือกมากถึง 40-45 ตัน

“ช่วงข้าวเป็นราคาไทบ้านบางคนเอาขายได้เงินเป็นล้าน ปลดหนี้สินได้อย่างสำบาย นอกจากนี้ยังเหลือเก็บไว้กินในเล้าข้าวบ่เคยเดือดร้อน ส่วนเรื่องแนวอยากแนวกินกะเบิ่งลงไปทางน้ำตามวัง ตามกุด หาปู หาปลา หลังเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วกะสิมีที่ดินริมกุดตรงน้ำชีอยู่ 2 แปลง ไทบ้านได้พากันลงไปปลูกผักปลูกหมี่ เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินตลอดทั้งปี” แม่มร เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำชีเมื่อครั้งอดีต

แต่ทุกวันนี้น้ำไหลมาช้า กว่าจะมาถึงข้าวก็เริ่มโตเต็มที่และออกรวง ซึ่งเป็นช่วงจังหวะพอดีกับน้ำไหลมารวมท่วมขังเกิดการระบายช้า แช่นานเป็น 1-2 เดือน ข้าวจึงตายหมด หรือแม้ว่าข้าวยังไม่สุกดีแต่ไม่มีทางเลือกชาวนาที่นี่จำเป็นต้องเล็มเกี่ยวข้าวแย่งขึ้นจากน้ำ เพื่อหวังว่าเอามาตากให้แห้ง แล้วนำมาตี ได้สัก 1-2 กระสอบก็ยังดี

“ตรงนี้เป็นพื้นที่นาเสี่ยง ปีได๋น้ำบ่ท่วมกะดีไป แต่ปีได๋ท่วมกะสิเป็นอย่างที่เห็น สูญเสียทั้งต้นทุนและทุกอย่าง ถึงฮู้ว่ามันเป็นแบบนี้เฮากะยังเฮ็ด เพราะมันเป็นอาชีพของเฮา บรรพบุรุษของเฮาพาเฮ็ด ถ้าให้ไปขายของกะเจอปัญหาโควิด คนตกงานลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน น้ำกะยังมาท่วมซ้ำเติมกันอีก” แม่มร กล่าวอย่างคับแค้นใจ

พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง-ชี-มูล โดยลุ่มน้ำชีเริ่มมีการก่อสร้างเขื่อนเมื่อประมาณ ปี 2535-2536 จนมาแล้วเสร็จในปี 2543 จำนวน 6 ตัว ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธรพนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย เมื่อเขื่อนพยายามทำหน้าที่กักเก็บน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามพิมพ์เขียวการจัดการน้ำภาคอีสาน แต่อีกด้านหนึ่งกลับเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมแผ่ขยายเป็นอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อพืชผลทางการเกษตร ความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน และแหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนมาเบิ่ง แล้งจั่งได๋ อยู่นี่น้ำท่วมมา 15 ปีแล้ว อยากให้มาเบิ่งเด้ ผู้ได๋มันเว้า มันว่า”

แม่มรเปล่งเสียงตะโกนด้วยความอุกอั่ง ราวกับว่ามันถูกขย้อนออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ ขณะที่ตัวเองพยายามยืนทรงตัวอยู่ในน้ำสูงระดับหน้าอกเพื่อลอยคอเกี่ยวข้าว โดยที่มือขวาถือเคียว และอีกมือข้างคอยประคับประคองรวงข้าวที่เปียกชุ่มน้ำอย่างประคบประหงม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ