จากยุคเฟื่องฟูของรัฐธรรมนูญ 2540 แนวคิด “สื่อชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” เกิดขึ้น ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง มาสู่ปี 2555 ที่ กสทช. จัดให้มีการมาขึ้นทะเบียนทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน พบว่ามีวิทยุขนาดเล็กมาขึ้นทะเบียนถึง 7,000 – 8,000 สถานี
มาสู่ปัจจุบัน ปี 2566 สื่อชุมชนผ่านวิกฤติการเมือง ผ่านเงื่อนไขการออกใบอนุญาต ผ่านช่วงโควิดที่สะเทือนกันไปทุกภาคส่วนของสังคม จนคงเหลือวิทยุทดลองออกอากาศเพียงครึ่งหนึ่ง
ก่อนที่ใบอนุญาตทดลองออกอากาศวิทยุทั้งหมดจะสิ้นสุดลง ในอีกไม่ถึง 2 ปี สื่อชุมชนจะดำรงหรืออยู่รอดอย่างไร กสทช. จะต้องมีแผนในการขออนุญาตแบบไหน และการปรับตัวไปสู่การทำวิทยุออนไลน์จะเป็นคำตอบหรือไม่… นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนตัวแทนนักจัดรายการวิทยุและผู้ที่อยู่ในแวดวงของสื่อท้องถิ่นกว่า 60 คน มาพูดคุย
ขอ 3 คำ อนาคตสื่อชุมชนไทย และนี่คือคำสำคัญสะท้อนความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ที่อยากเห็นอนาคตของสื่อชุมชนจากมุมมองของผู้เข้าร่วม
คุณเองก็สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้
000
– เส้นทางสื่อชุมชน –
ก่อนที่จะไปพูดคุยกัน ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกันก่อนด้วยชุดข้อมูลความเป็นมาของสื่อชุมชน…
กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นปี 2473 มีการเปิด “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” ที่วังพญาไท และต่อมาในปี 2484 ในยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” โดยใช้เพื่อนำเสนอข่าว ประกาศราชการ รวมถึงปาฐกถาของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการวิทยุเชิงธุรกิจ โดยออกอากาศในระบบ เอฟ.เอ็ม และในปี 2493 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. การโฆษณากระจายเสียง ส่งผลให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของเครื่องรับวิทยุโดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางราชการ
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 จนเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสื่อ มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ “คลื่นความถี่” เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประชาชนเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น ได้ร่วมกันกระจายการรับรู้ไปยังชุมชนระดับท้องถิ่น ผ่านเครื่องขยายเสียงเคลื่อนที่หรือหอกระจายข่าว
ภายหลังมีการตรา “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543” ได้มีการจัดแบ่งคลื่นวิทยุเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งระบุให้ภาคประชาชนเข้าถึงคลื่นความถี่วิทยุได้ร้อยละ 20 รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคประชาชนใช้คลื่นความถี่หากชุมชนมีความพร้อม
การแบ่งสรรในการใช้คลื่นความถี่นี้ เป็นการกำหนดขอบเขตการใช้คลื่นชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก และนำไปสู่การเกิดวิทยุกระจายเสียงเพื่อชุมชน ที่เรียกว่า “วิทยุชุมชน” ในราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544
แนวคิดของสื่อชุมชน
ประชาชนในหลายพื้นที่ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักพัฒนาองค์กรเอกชน ได้ขยายความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยุชุมชน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้ “วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
แนวคิดเกี่ยวกับวิทยุชุมชน มีอยู่หลากหลายแง่ เมื่อพิจารณาเป้าหมายของวิทยุชุมชนที่มุ่งตอบสนองในสิ่งที่วิทยุกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองให้ได้ มีอยู่ 4 แง่มุมดังนี้
1. วิทยุชุมชนเป็นสื่อทางเลือก ที่ประชาชนเป็นเจ้าของไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ โดยยึดหลักการ ไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจและผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีโฆษณา ไม่พูดวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม
2. วิทยุชุมชนเป็นสื่อชุมชน ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้สึกร่วมในชุมชน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบสองทาง
3. วิทยุชุมชนเป็นสื่อภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปความเป็นเจ้าของสื่อวิทยุ จากที่เคยเป็นของรัฐ กลับกลายมาอยู่ในมือของประชาชนคนธรรมดา
4. วิทยุชุมชนเป็นสื่อสาธารณะ มีอิสระจากอิทธิพลของรัฐและกลุ่มทุน โดยรายได้หลักมาจากประชาชนในรูปแบบของ “ค่าธรรมเนียม”
สื่อชุมชน ในสถานการณ์รัฐประหาร
หลังจากนั้นกรมประชาสัมพันธ์กลายเป็นหน่วยงานเดียวที่ดําเนินการกับวิทยุชุมชนตามลําพัง โดยออกแบบ “โครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชน” และรับสมัครวิทยุชุมชนเข้าร่วมโครงการ ช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีเครื่องส่งกำลังไม่เกิน 30 วัตต์ ในระบบ เอฟ.เอ็ม. โดยที่เสาอากาศสูงไม่เกิน 30 เมตร รัศมีกระจายเสียงไม่เกิน 15 กิโลเมตร และอนุญาตให้มีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที
จากเกณฑ์ดังกล่าวได้เกิดการจัดตั้งและออกอากาศวิทยุชุมชนทั่วประเทศมากกว่า 6,000 สถานี
อย่างไรก็ตาม การเกิดของวิทยุชุมชนสอดคล้องกับกระแสความต้องการเสรีภาพในการสื่อสารตามระบอบของสังคมประชาธิปไตย การขยายตัวการเมืองและธุรกิจ ทำให้มีผู้ใช้ช่องทางสื่อวิทยุชุมชนเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพในการเลือกนำเสนอเนื้อหาที่ไม่มีอยู่ในสื่อกระแสหลัก บ้างก็เป็นการใช้สื่อวิทยุเพื่อแสวงหากำไรทางธุรกิจ บ้างก็ใช้สร้างฐานเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เดิมวิทยุชุมชนส่วนใหญ่ที่เคยนำเสนอข่าวประจำวัน ผันมาเป็นวิทยุชุมชนที่สังกัดสีทางการเมือง ทำให้เกิดโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง สร้างความไม่สบายใจให้กับรัฐเป็นอย่างยิ่ง และต้องการ “ปิดสถานี” เพื่อแก้ไขปัญหา
ในปี 2550 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 47 แสดงเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อที่ชัดเจน เกิด พ.ร.บ. ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ทำให้สถานะภาพของวิทยุชุมชนมีความชัดเจนขึ้น ว่าเป็นผู้ประกอบการประเภทชุมชนโดยมีกฎหมายรองรับ และในปี 2554 ได้จัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
แต่ก็ยังไม่วายเกิดการปราบปรามและปิดกั้นวิทยุชุมชนหลังการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง สถานีวิทยุชุมชนต้องปิดตัวลงกว่า 47 สถานี และมีผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนถูกออกหมายจับและดำเนินคดีรวม 49 ราย อีกทั้งยังเตือนไปยังสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้นำเสนอเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ล่วงเลยมาถึงการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศอย่างเป็นทางการฉบับแรก ๆ ชี้เป้าไปที่สื่อมวลชน โดยสั่งการให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุทั้งประเทศระงับการออกอากาศทันที จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
แต่มีรายงานจากหลายพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยสื่อที่กระทำ “ผิดกฎหมาย” เกือบ 3,000 แห่งถูกสั่งปิด แต่ถ้าต้องการดำเนินกิจการต่อ ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตใหม่และแบกรับภาระค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อแห่ง ซึ่งวิทยุชุมชนหลายแห่งไม่มีกำลังจ่ายจึงทำให้สื่อระดับท้องถิ่นลดจำนวนลง
ปี 2560 เป็นปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการทำประชามติ ขณะที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ 103 ที่ออกมาปี 2557 ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. ยังคงมีผลบังคับใช้ เพื่อควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องระมัดระวังตัวเอง โดยเฉพาะประเด็นตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลต่อความโปร่งใส ส่งผลต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
นอกจากนี้สื่อมวลชนยังอยู่ในภาวะยากลำบากจากผลกระทบที่รุนแรง คือ Digital Disruption จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเสพสื่อออนไลน์ที่ฟรีและเร็วกว่า บริษัทสื่อขนาดใหญ่ปรับลดขนาดองค์กร ลดพนักงาน หลายสื่อถึงคราวอวสาน
ความทายหลังยุคโควิด-19
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง
2. ผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม
สำหรับผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม ซึ่งเคยเป็นวิทยุชุมชนมาก่อน ปัจจุบันมี 3,930 คลื่น
กสทช. ออกหลักเกณฑ์การทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จัดระเบียบใหม่ให้สามารถออกอากาศได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ถือเป็นการนับถอยหลัง “วิทยุชุมชน” โดยที่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะได้ไปต่อหรือไม่?
แต่ทั้งนี้บริการวิทยุกระจายเสียงที่ส่งผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นอีกหนึ่งทางที่น่าสนใจ โดยข้อมูลจากบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ระบุว่า วิทยุออนไลน์สามารถออกอากาศเนื้อหาในรูปแบบรายการสดเหมือนกับการรับฟังผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียง มีช่วงเวลาการรับฟังสูงตลอดทั้งวัน
ส่วนพอดคาสต์ หรือรายการเผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากรายงาน Digital Stat 2021 ฉบับเดือนเมษายน ที่ระบุว่าในต้นปี 2021 คนไทยชอบฟัง Podcast สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก จากสัดส่วนผู้ใช้งานกว่า 48.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมด
ซึ่งนี้คือความท้าทายรูปแบบใหม่ของสื่อชุมชนที่อาจจะเป็นทางรอดในที่สุด
000
– 4 มุมมอง ทิศทางการไปต่อของวิทยุชุมชนไทย –
จากชุดข้อมูล ถึงเวลาร่วมมองสถานการณ์ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อหาทางออกไปพร้อมกัน กับแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน
- ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
- สุเทพ วิไลเลิศ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน
- อุทัย อัตถาพร นายกสมาคมเสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม
- นทธัญ แสงไชย จาก Salmon Podcast
สถานการณ์วิทยุชุมชนในปัจจุบัน
ดร.ธนกร ศรีสุขใส กล่าวถึงสถานการณ์วิทยุชุมชน ในวันที่ออนไลน์เข้ามาว่า วิทยุชุมชนยังมีเสน่ห์อยู่ ออนไลน์บางครั้งไม่เห็นตัวตน เพราะมันไปทั่วโลกและกว้างไกลเกิน แต่วิทยุชุมชน
บอกเล่าเรื่องราวในชุมชนมีความใกล้ชิดกับชุมชน ผมเห็นตัวอย่างหลายกรณีที่ทำได้ดีและอยู่รอดได้ บางทีพูดเรื่องอาชีพเรื่องกีฬาทำให้คนที่ปวดเมื่อยตามตัวลุกขึ้นมาเต้น และความที่คนทำอยู่ในชุมชน คนฟังก็อยู่ในชุมชน เปิดเพลงสนุก ขยับที่บ้านเสร็จมีการนัดเจอกัน ดังนั้นสื่อวิทยุชุมชนยังมีคุณค่ากับชุมชน
บางสถานีคุยกับชาวบ้าน บอกใครมีผลไม้ดี ๆ ให้เอามาขาย ขายผ่านทางสถานีเลย ดีเจบางคนเก่งมากทำให้คนชนชั้นกลางในเมืองที่ขับรถอยู่อยากช่วย ไม่ได้คิดว่าถูกหรือแพง และดูแลกันเองในชุมชน นำข้อมูลข่าวสารจากข้างนอก ช่วยเหลือ สื่อสารสองทาง
กสทช. กำลังทำเกณฑ์ใหม่ เป็นแผนวิทยุใหม่ด้วย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการอยู่ คิดว่าคงกำหนดเวลาให้ลงล็อคกันพอดี เพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปรับตัวทัน อาจจะไม่นานที่จะต้องเปลี่ยนจากระบบทดลองเป็นระบบใบอนุญาต โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ
อุทัย อัตถาพร กล่าวต่อว่า ความท้าทายของสื่อชุมชนในวันนี้ที่บอกว่าอยู่ไม่ไหว คือ 1. รายได้ไม่มี หลายสถานีอาศัยวัด เป็นที่ทำการออกอากาศเช่น สถานีบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ถ้าหลวงพ่อไม่สนับสนุนก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เนื่องจากค่าไฟแพงสถานีวิทยุต้องใช้ไฟฟ้า ค่า Ft แพงขึ้นมาก เดือนนึงค่าใช้จ่ายของวิทยุชุมชนอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท ยังไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน ขายสินค้า OTOP เพื่อที่จะเอาเงินมาหนุนช่วยกันในชุมชน กำไรก็ไม่มากอยู่ลำบาก
เวลาไปตรวจคลื่นไม่ได้ตรวจฟรี ต้องเสียเงินให้บริษัทที่ได้รับการอนุญาตจาก กสทช. ไปตรวจคลื่นทุกปี เราพยายามช่วยเหลือตัวเอง พึ่งตัวเองอาจจะไปคุยกับท้องถิ่นอย่างเทศบาล อบต. และอบจ. มีข้อเสนอว่าทำเป็นนโยบายของท้องถิ่นเลยได้ไหม ว่าให้เอาเงินส่วนหนึ่งมาสนับสนุนสื่อชุมชน
ด้าน ธนกร ศรีสุขใส เสริมต่อว่า กสทช. กำลังทำเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนวิทยุชุมชนที่มีความพร้อม ซึ่งกองทุนถูกต่อว่าทุกปีว่าวิทยุชุมชนไม่เคยได้ทุน จึงคิดว่าจะไปหารือกับสมาคมที่เป็นชมรมวิชาชีพแล้วจะมาทำ MOU จัดหลักสูตรการเขียนโครงการ ลงไปติวให้ ซึ่งกองทุนอยากจะไปสอนเรื่องการเล่าเรื่องที่เป็นตำนาน ในท้องถิ่นทุกท้องถิ่นมีของดีเยอะมาก ทั้งเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน สินค้าโอทอป ของกิน ที่เที่ยว ของใช้ ถ้าสามารถนำนวัตกรรมสื่อมาปรุง และนำเสนอออกไป สื่อท้องถิ่นก็จะยิ่งมีคุณค่ามาก กองทุนก็จะไปร่วมมือด้วย
สุเทพ วิไลเลิศ กล่าวว่า กสทช. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีการประกาศหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการส่งเสริม และสนับสนุนบริการชุมชน ซึ่งหมายถึงวิทยุชุมชน และทีวีชุมชนสื่อท้องถิ่นในระดับท้องถิ่น อีกประกาศหนึ่งก็คือประกาศว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตรายการทั้งทีวีและวิทยุซึ่งแน่นอนว่าประกาศฉบับนี้เปิดกว้างสำหรับกลุ่มวิทยุที่จะทดลองยื่นขอทุนด้วยเช่นเดียวกันอันนี้น่าจะเป็นโอกาสอีก 1 โอกาสที่ ทำให้การประกอบกิจการหรือการผลิตรายการในวิทยุกระจายเสียงได้รับการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง
อีกทั้งจะมีการริเริ่มแผนเกี่ยวกับการให้อนุญาตวิทยุระบบดิจิตอลภาคพื้นดินจะเป็นเหมือนระบบทีวีดิจิตอลที่เราใช้ อาจจะมีข้อดีในแง่ของระบบส่งสัญญาณที่ไม่ต้องมีสถานีไม่ต้องมีเครื่องส่งแบบเดิมแต่ก็จะต้องส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเคเบิ้ล เพื่อส่งไปยังโครงข่ายในการให้บริการอีกครั้ง
นทธัญ แสงไชย ในฐานะผู้ผลิตสื่อเสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ กล่าวว่า จุดร่วมอย่างหนึ่งคือ เราเป็นสื่อเสียงเหมือนกัน หลายคนที่มาทำ Podcast มาจากคนที่เคยทำ หรือฟังสื่อวิทยุเช่นเดียวกัน แต่ธรรมชาติของ Podcast กับ ธรรมชาติของวิทยุก็มีความต่างกันอยู่ อย่างแรกคือ วิทยุรันแบบสด ส่วน Podcast ฟังแบบแห้ง สามารถมาย้อนฟังได้ เป็นคอนเทนต์แบบ Evergreen กลับมาฟังซ้ำได้ แม้แต่รายการข่าวก็เคยทำ เนื้อหาข่าวแบบ Current แต่ก็มาวิเคราะห์ทำเป็นคอนเทนต์ Evergreen ว่าเราได้อะไรจากเนื้อหาข่าวนี้ คนสามารถมาย้อนฟังได้เรื่อย ๆ
ด้วยความที่ธรรมชาติค่อนข้างต่างกัน วิธีคิดก็จะต่างกันนิดหน่อยอย่างคนที่ทำออนไลน์อาจจะได้เปรียบ มีข้อกฎเกณฑ์น้อยกว่า แต่อาจจะได้รายได้หลายช่องทางมากกว่า เราต้องพยายามไปหลายแพลตฟอร์ม เช่น Youtube Facebook และ Spotify
การกำกับเนื้อหาบทแพลตฟอร์มออนไลน์
ธนกร ศรีสุขใส มองว่า ประเทศไทยค่อนข้างยาก ไม่รู้ว่าจะกำกับ OTT อย่างไร เข้าใจว่าปัญหาเรื่องเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ แต่ละประเทศเจอปัญหาเดียวกัน เขาออกกฎหมายมาฉบับหนึ่ง แพลตฟอร์มที่เป็นต่างประเทศรับผิดชอบ ถ้าคุณจะมาใช้แพลตฟอร์มในประเทศนี้ ต้องมีตัวแทนรับผิดชอบเนื้อหา ที่สามารถร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนเนื้อหาดี ๆ ขณะเดียวกันต้องรับมือกับเนื้อหาที่แย่ ๆ ในโลกออนไลน์ทำได้ มาตรการทางกฎหมายที่จะมากำกับดูแลก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน กฎหมายต้องออกมาให้ทันสมัย จะมาใช้ พ.ร.บ.คอมอย่างเดียวไม่มีทางทัน
นทธัญ แสงไชย มองประเด็นนี้ว่า การกำกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ค่อนข้างยาก เพราะแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มมีการกำกับของตัวเอง
ด้าน สุเทพ วิไลเลิศ มองว่า ด้วยความที่ติดตามนโยบายของ กสทช. การกำกับเนื้อหาออนไลน์ในขณะนี้ กสทช. ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ได้มีบทบาท หรือมีอำนาจหน้าที่ในการที่จะเข้าไปกำกับหรือจัดสรรการให้อนุญาต
ถ้าเรามองพิกัดในมิติโอกาสของสื่อชุมชน ในการพัฒนาตัวเอง การพัฒนาสื่อชุมชนของตัวเองไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์จะด้วยรูปแบบของ Podcast หรือเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สามารถกระทำได้เลย ไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร อาจจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่การดำรงอยู่ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นทธัญ แสงไชย เสริมต่อว่า องค์ความรู้หรือทักษะบางอย่าง ถ้าปรับมุมมองนิดนึง เริ่มทำ Content 1 ชิ้น และมองเห็นได้ว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง มันก็จะเห็นภาพรวมได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง อาจารย์ยอดทำวิทยุ แต่รายการมีความเป็นคอลัมน์จบในตัว สามารถตัดออกมาเป็น podcast ในแต่ละตอนได้ ถ้าเรามองเห็นภาพรวม podcast คนฟังเป็นตอน ๆ ตอนใหม่อาจจะมาฟังอีกทีสักวันสองวันค่อยมาฟังหรือบางคนอาจจะฟังต่อไปเลยก็แล้วแต่คนฟัง ทุกวันนี้มีรายการแบบนี้อยู่เยอะ
ธนกร ศรีสุขใส เสริมต่อว่า ลองติดตามดูว่า กสทช. หรือกองทุนสื่อเปิดให้ทุนแล้วหรือยัง มีหลักเกณฑ์อะไรที่เข้ากับองค์กรเราไหม หรือมีการเปิดให้ติวเขียนโครงการหรือไม่ อันนี้เป็นตัวช่วย แต่ตัวช่วยที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหา ที่บอกว่าคนทำสื่อทำ Content ต้องยึดโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของเขาด้วย หรือจะตั้งตัวเองเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือก็ทำได้ ทุกอย่างต้องการการปรับตัว
ปิดท้ายด้วย อุทัย อัตถาพร กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่สุดคือเราต้องตั้งหลักที่ตัวเราเองก่อน สิ่งที่สังสรรค์ สิ่งที่จะอยู่ข้างนอก มีทั้งบวกและลบ ถ้าเราตั้งหลักไม่ดีก็อาจจะเจอกระแสการบริโภคพัดพาไป แต่ถ้าเราตั้งหลักได้แยกแยะได้ เรามีชุดความรู้มีข้อมูลเราสื่อสารบอกกล่าว ว่าโลกมันเปลี่ยน และการเปลี่ยนนี้เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทั้งในเรื่องของการสื่อสาร
คลิกอ่านบทความ : “วิทยุชุมชนไทย” ความท้าทายและทางไปต่อ หลังหมดระยะทดลอง
000
– 4 ฉากทัศน์ อนาคตสื่อชุมชนที่อยากให้เป็น –
หลังได้ฟังมุมมองจากแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน เรามีฉากทัศน์ทิศทางการไปต่อของสื่อชุมชนที่น่าจะเป็นไปได้มาให้ทุกคนได้ลองอ่านกันดู และลองโหวตเลือกกันว่าอนาคตสื่อชุมชนแบบไหนที่คุณอยากจะให้เป็น
ฉากทัศน์ที่ 1 พี่มากพระโขนง
ผู้ผลิตสื่อในประเทศ และผู้ให้บริการการเผยแพร่เนื้อหา (broadcaster) ในระดับชาติร่วมมือกันในการทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ข้อมูล โดยร่วมกับองค์กรกำกับอย่างกสทช. เพื่อสร้างกฎระเบียบควบคุมดูแลการดำเนินงานของสื่อภายในประเทศ ด้านหนึ่งเพื่อควบคุมการเติบโตของ global platform อย่าง Alibaba, Facebook, Youtube, Google, Microsoft, eBay ฯลฯ ทำให้มีความสมดุลในอุตสาหกรรมสื่อ ตลาดผู้ชมในประเทศ ผู้ผลิตสื่อในประเทศ และผู้ให้บริการการเผยแพร่เนื้อหา (broadcaster) ระดับชาติ ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับประเทศ และยังทำงานแบบร่วมผลิตกับ global platfrom เพื่อสร้างส่วนแบ่งรายได้
ฉากทัศน์ที่ 2 Avenger Team
ตลาดสื่อถูกควบคุมกำกับโดย global platform โดยอาศัยจุดแข็งของการมีฐานข้อมูลผู้ชมจำนวนมากในระดับโลก ที่นำมาสู่การหารายได้แบบ Personalised Ads (โฆษณาที่ส่งตรงถึงบุคคล) ทำให้รายได้ทั้งหมดตกไปอยู่ที่แพลตฟอร์มต่างชาติ ผู้ชมเลือกบริโภคสื่อคุณภาพสูงจาก global platform เป็นหลัก เนื่องด้วยเทคโนโลยีอัลกอลิทึม และ AI ที่มาแนะนำตามความสนใจ ผู้ผลิตสื่อในประเทศ และผู้ให้บริการการเผยแพร่เนื้อหา (broadcaster) ระดับชาติ ต้องปรับตัวมาเน้นการทำแพลตฟอร์มขนาดเล็กของตนเอง ซึ่งจะเน้นไปที่การทำข่าว และเนื้อหาเฉพาะท้องถิ่น รายได้จากโฆษณาและความสัมพันธ์กับลูกค้าจะลดลงตามยอดคนดู-คนฟัง และไม่มีฐานข้อมูล
ฉากทัศน์ที่ 3 ร่างทรง
ผู้ผลิตสื่อในประเทศ และผู้เผยแพร่เนื้อหา (broadcaster) ระดับชาติ ปรับตัวเข้าสู่โลกของการสื่อสารแบบ digital first ได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว โดยเน้นการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศของตัวเอง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล data analytics ซึ่งทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อสร้างโควต้าการสื่อสารเนื้อหาท้องถิ่นที่ไม่ใช่การกีดกัน
global platform มีบทบาทหลักเฉพาะเนื้อหาที่มาจากทั่วโลก โดยรายได้หลักมาจากโฆษณาเฉพาะกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตรงกับฐานผู้ชมหลัก
ฉากทัศน์ที่ 4 มู่หลาน
ตลาดสื่อถูกควบคุมกำกับโดย เจ้าของเนื้อหาระดับโลกที่เข้ามาพัฒนา platform ของตัวเอง โดยอาศัยจุดแข็งเรื่องการผลิตเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย และอาศัยจุดอ่อนจากการเติบโตของตลาด OTT อย่าง Netflix, Hulu, Disney+ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ต้องจ่ายค่า สมัครสมาชิกอย่างกระจัดกระจาย และไม่ตรงกับความต้องการ ทำให้ OTT ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกชะลอการเติบโต ผู้ผลิตสื่อในประเทศ และผู้ให้บริการการเผยแพร่เนื้อหา (broadcaster) ระดับชาติ ต้องปรับตัวมาเน้นบทบาทของการเป็นผู้ผลิตเนื้อหาท้องถิ่นคุณภาพสูง เพื่อป้อนให้กับ เจ้าของเนื้อหาระดับโลก โดยคงบทบาทหลักเพียงการผลิตและเผยแพร่ข่าว
ฉากทัศน์ไหนที่คุณอยากให้เกิดขึ้น ชวนร่วมโหวตไปกับเรา
000
ชมบทสนทนาฟังเสียงประเทศไทย ตอน เสียง สื่อ ชุมชน ในยุคความท้าทายใหม่ แบบเต็ม ๆ ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้