จากเชือกมัดควายสู่ฮีโร่น้ำท่วม

จากเชือกมัดควายสู่ฮีโร่น้ำท่วม

เชือกไนลอนจากเดิมที่เอาไว้มัดควายในนาแต่ยามน้ำท่วมเชือกเหล่านี้จะถูกนำมาขึงเป็นเครื่องมือกำหนดทาง

ภาพเชือกไนลอนขนาดเท่าเชือกมัดควายความยาวหลากสี  เพราะมีหลายเส้นมาต่อกันแล้วนำมาขึงเป็นความยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตรในหลายจุดตามถนนในหมู่บ้านของตำบล  ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นเส้นทางของน้ำไปเรียบร้อยแล้ว  นี่คือนวัตกรรมที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลไร่ใต้  อ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานี  ช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเอาไว้ดึงในยามที่เกิดภาวะน้ำท่วม  การขึงเส้นเชือกมีวัตถุประสงค์ 2 ประการหลักๆคือ  หนึ่ง เอาไว้เป็นเส้นเชือกเพื่อดึงเรือ  ทั้งเรือหาปลาของชาวบ้านและเรือท้องแบนหรือหรือเรืออื่นๆตามที่ระดมกันมาในช่วงภาวะน้ำท่วมเพื่อให้เรือพุ่งไปข้างหน้าแทนการพายซึ่งต้องต่อสู้กับความเชี่ยวของน้ำ  และประการที่สอง  การขึงเชือกทำให้สามารถควบคุมทิศทางของคนและเรือได้ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดตัดถนนสี่แยกน้ำตรงนั้นจะไหลเชี่ยวมาก  เพราะถนนในช่วงน้ำท่วมก็คือทางของน้ำๆดีๆนี่เอง  ดังนั้นถ้าชาวบ้านใช้เรือหรือเดินลุยน้ำผ่านตรงจุดนี้น้ำจะไหลเชี่ยวถ้าไม่เกาะเชือกทั้งคนและเรือก็มีสิทธิ์ไหลไปตามน้ำ

“เชือกขึงดึงเรือ”  จริงๆแล้วไม่ใช่นวัตกรรมอะไรที่ซับซ้อนหรอก  และคนคิดรูปแบบว่าต้องใช้เชือกมาช่วยดึงและกำกับเส้นทางในช่วงน้ำท่วมจริงๆแล้วเขาเองก็ไม่รู้ว่ามันคือนวัตกรรม  รวมถึงถ้าตอนนี้จะไปตามหาคนแรกที่คิดรูปแบบนี้ก็หาไม่เจอ  เพราะมันเป็นความพยายามในการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติน้ำท่วมชุมชน  อันที่จริงปรากฏการณ์เหล่านี้มันคือความพยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในท่ามกลางการจัดการที่โกลาหลไม่รู้ใครเป็นใคร  ดังนั้นใครคิดอะไรออกและหยิบจับอะไรได้ก็จะช่วยกัน  แต่ถ้ามองในแง่โครงสร้างการบริหารจัดการ  ปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนได้ถึงความไม่มีระบบของรัฐในการสนับสนุนชาวบ้านว่าถ้าพวกเขาต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วม แต่ละพื้นที่ต้องจัดการอย่างไร  ที่สำคัญเหตุที่เชือกที่นำมาขึงมีหลายสีต่อกัน ก็เพราะเชือกแต่ละเส้นมาจากเงินต่างกระเป๋าของชาวบ้านที่ไม่สามารถเบิกงบแม้แต่บาทเดียวได้จากหน่วยงานไหน  ทั้งที่ประชาชนเสียภาษีทุกเช้าค่ำ  แต่พอภัยพิบัติมาพวกเขากลับถูกเมินเฉยให้ช่วยตัวเอง

ทั้งเรือท้องแบนและเรือหาปลาคนพายต้องได้จับเชือกเหล่านี้ในระหว่างเดินทาง

ที่เล่ามาทั้งหมดในเบื้องต้น  ไม่ได้บอกว่าให้หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ชาวบ้านเอาไปซื้อเชือก  หากแต่อยากบอกว่านี่คือบางตัวอย่างของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ว่าพวกเขามีแนวทางในการจัดการตัวเองในเบื้องต้นอย่างไร  โดยเสียงบอกเล่านี้เราได้ยินจากการจัดเวทีระดมความคิดเห็นรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำภาคอีสาน  ซึ่งถูกจัดขึ้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้  อ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยตำบลไร่ใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีย้อนหลัง  เริ่มตั้งแต่ ปี 2556, 2557, 2562 และล่าสุดปี 2565 

“มีคนบอกว่า  ช่วยไม่ได้ที่ชาวบ้านตำบลไร่ใต้เลือกมาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเอง  รู้ว่าน้ำท่วมยังมาอยู่อีก  เรื่องนี้ผมอยากเถียงมาก  เพราะจริงๆแล้วบรรพบุรุษพวกเราไม่ได้พามาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม  แต่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำโดมใหญ่  ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืชและปลา  และน้ำท่วมหนักและถี่ก็เพิ่งเกิดในช่วง 10 ปี ย้อนหลัง  เพราะพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติถูกถม และที่สำคัญเขื่อนหลายๆเขื่อนในหลายแม่น้ำก็ถูกสร้างขวางทางน้ำ  และเมื่อน้ำระบายไม่ดีมันก็ท่วม  นี่แหละคือสาเหตุของมัน  ไม่ใช่เรามาแย่งที่อยู่ของน้ำ”  ประเวช  จันทร์จิตร  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้  เล่าความรู้สึกในใจในช่วงกล่าวต้อนรับและเปิดงาน  แต่คำบอกเล่านั้นมีอารมณ์ปนความคับแค้นข้างในด้วยเพราะสังคมบางส่วนที่ไม่เข้าใจหาว่าบรรพบุรุษพามาอยู่ในที่น้ำท่วม

สุเวช จันทร์จิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้

ตำบลไร่ใต้มีเนื้อที่โดยประมาณ 104 ตารางกิโลเมตร  มีประชากรประมาณ 8,000 คน ตั้งขนาบแม่น้ำลำโดมใหญ่ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูล  แบ่งการปกครองออกเป็น 15 หมู่บ้าน  ในช่วง 10 ปี ย้อนหลัง  ที่นี่เผชิญเหตุน้ำท่วมแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง  ไล่มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2556 ได้เกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ของตำบล จำนวน 14 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 15 หมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านกว่า 1,200 คน ต่างได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งไร่นา บ้านเรือน ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายอย่างมาก  และชาวบ้านคิดว่าคงไม่มีเหตุการณ์ไหนจะรุนแรงเท่านี้อีกแล้ว  และความถี่ของสถานการณ์คงมีไม่บ่อยนัก  หากแต่ถัดกันปีเดียว คือปี 2557 น้ำได้ท่วมซ้ำและท่วมเร็วมากกว่าเดิม  แม้ความรุนแรงจะไม่เท่าปีก่อน แต่ก็ถือว่ามีการท่วมที่เกิดขึ้นปีต่อปี

กระทั่งในเดือนกันยายน ปี 2562 ด้วยอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิกิ  ส่งผลให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 4 กันยายน 2562 ผลที่เกิดขึ้นคือปริมาณน้ำท่วมสูงจนทำลายสถิติปี 2556 และคิดว่าครั้งนี้คงรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์  รวมทั้งการท่วมครั้งนี้มีความรุนแรงในวงกว้าง  เพราะไม่ใช่เฉพาะชุมชนตำบลไร่ใต้  หากแต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆในจังหวัดอุบลราชธานี  โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก   และ 23 อำเภอจากทั้งหมด 25 อำเภอก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคราวนี้เช่นกัน ส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวมประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท 

และอีก 3 ปีถัดมาคือล่าสุดปี 2565 จากอิทธิพลของพายุโนรูในช่วงปลายเดือนกันยายนคาบเกี่ยวมาถึงเดือนตุลาคม น้ำได้ท่วมหนักอีกรอบ  ส่งผลความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดกว่า 6,000 ล้านบาท  และในส่วนของตำบลไร่ใต้เองปริมาณน้ำท่วมคราวนี้  ได้ทำลายทุกสถิติของชุมชนที่เคยมีมาก่อน  นับเป็นความรุนแรงและก่อให้เกิดข้อกังวลหลายด้านต่อชาวบ้าน  จนเกือบจะเป็นภาพจำไปแล้วว่า  ในทุกๆเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกๆปี เหตุการณ์น้ำท่วมจะวนมาซ้ำอีกหรือไม่  ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มีความต่างจากอดีตอย่างมาก  เพราะในครั้งอดีตแม้จะเคยเกิดน้ำท่วม  แต่ก็เป็นเพียงการไหลบ่าประกอบกับความรุนแรงและความถี่ไม่ได้เกิดบ่อยเหมือนเช่นทุกวันนี้

เรือหาปลาถูกใช้ในยามน้ำท่วม ในขณะที่ช่วงปกติเรือเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ใต้บ้านเรือน
เพราะผลจากเขื่อนและโรงงานทำให้น้ำในแม่น้ำไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

ฉะนั้นเวทีในครั้งนี้  จึงเป็นเสมือนการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ในการรับมือน้ำท่วมในทุกครั้งที่ผ่านมา  และพยายามมองไปข้างหน้าว่าเราจะต้องทำอย่างไร  ทั้งการอยู่กับน้ำที่ต้องยอมรับว่าอนาคตน้ำจะท่วมบ่อยและถี่ขึ้น  ดังนั้นชาวบ้านต้องปรับตัวอย่างไร  ที่สำคัญรัฐส่วนกลางที่มีทั้งอำนาจและงบประมาณจะเข้าใจมิติน้ำท่วมชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน  เพราะในสถานการณ์น้ำท่วมนั้นมีข้อมูลยิบย่อย  เรื่องราวเล็กๆน้อยๆที่เป็นเรื่องจุกจิกซึ่งต้องอาศัยผู้นำระดับชุมชนเท่านั้นที่จะทำความเข้าใจและแก้ปัญหาได้  เช่น  ปัญหาคนแก่ไม่อยากออกจากบ้านในช่วงน้ำขึ้น  หรือชาวบ้านหลายหลังคาเรือนไม่เชื่อข้อมูลและคาดการณ์ไม่ถึงว่าน้ำจะท่วมสูง  จึงไม่ยอมอพยพสิ่งของออกมา  หรือการแย่งเรือท้องแบน  ปัญหาไฟฟ้าดับ  ไฟฟ้าช๊อต  และเรื่องอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน  ซึ่งคนต้องรับหน้าที่และเข้าใจพร้อมทั้งแก้ปัญหาในทุกเรื่องคือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ส.อบต.  คณะกรรมการหมู่บ้าน  อสม.  และเหล่าบรรดาจิตอาสาที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบ “ไม่มีงบประมาณ”  

“ปัญหาคือหรือรัฐส่วนกลางกระจุกตัวอำนาจ  ไม่ยอมกระจายการตัดสินใจมาให้ท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชนบริหารจัดการ  ต้องรอการอนุมัติจากส่วนกลาง  ซึ่งไม่ทันท่วงทีที่จะรับมือกับปัญหา”  เสียงสะท้อนจากหลายคนในเวทีที่พูดประเด็นนี้  และแน่นอนคำว่า “อำนาจ”  ความหมายที่ซ้อนอยู่ในคำนี้ก็คือ “เงิน”  ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนไม่มีเงินหรืองบประมาณจากรัฐในการรับมือเพื่อแก้ปัญหา  ดีที่ชาวบ้านมีความสามัคคีเป็นทุนเดิม  และเมื่อภัยมาทุกคนก็จะมีน้ำใจต่อกันและกัน  เราจึงได้เห็นภาพการช่วยเหลือทั้งคนในชุมชนกันเองและคนนอกชุมชนที่เข้ามาช่วย  แต่รู้ไหมว่าบางปัญหานั้นกว่าการช่วยเหลือจะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะในกรณีที่คนนอกจะเข้ามาช่วยปัญหามันได้ผ่านไปแล้ว  ชาวบ้านสูญเสียข้าวของไปเยอะแล้วความช่วยเหลือถึงเข้ามาถึง  เพราะในช่วงที่น้ำขึ้นหรือช่วงที่น้ำอยู่ในระดับสูง  คนจากข้างนอกไม่มีทางที่จะเข้าไปหาชุมชนที่เดือดร้อนได้  เพราะอุปสรรคในช่วงน้ำท่วมนั้นเยอะเหลือเกิน  โดยเฉพาะเส้นทางจราจรที่คนในชุมชนเท่านั้นถึงจะรู้ว่าต้องไปทางไหนถึงจะหนีน้ำได้  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็สะท้อนถึงระบบการสื่อสารที่ยังเป็นปัญหา

“น้ำมาจากทางไหนบ้างเราก็ไม่รู้  แม้ว่าเราจะรู้ว่าเราเป็นหมู่บ้านปลายน้ำที่น้ำจากด้านบนต้องไหลมาอยู่แล้ว  แต่เราก็ไม่มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าน้ำจากด้านบนที่ถูกปล่อยมามีปริมาณเท่าไหร่”  อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้ใหญ่บ้านที่เอ่ยถึงระบบการแจ้งเตือน  โดยเฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นชลประทานหรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  และแม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะบอกว่ามีการแจ้งข้อมูลตลอด  แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็แปลความหมายยากเหลือเกิน  เพราะเป็นศัพท์เฉพาะทางเทคนิค  เช่น  คำว่า มวลน้ำ, ปริมาณน้ำไหลลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  หรือศัพท์อื่นๆที่คล้ายกัน ซึ่งชาวบ้านฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ  แม้จะเป็นระดับผู้นำชุมชน  เช่น  ผู้ใหญ่บ้าน  หรือ ส.อบต.  ซึ่งมีความจำเป็นที่ทุกคนต้องนำข้อมูลมาสื่อสารต่อ  และเมื่อไม่เข้าใจศัพท์ก็ได้แต่คาดเดาและเตือนกันแบบภาษาชาวบ้าน  

บรรยากาศเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมที่ อบต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

“เงินทุกบ้านทุกสตางค์ที่ช่วยกันทั้งในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด ล้วนแต่เป็นเงินของชาวบ้านเอง โดยเฉพาะผู้นำที่ต้องเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเรือ ค่าอาหาร เครื่องดื่มในการจัดเวรยาม หรือค่าน้ำมันเรืออพยพ และช่วงน้ำลดก็ต้องจ้างรถไถมาตักดินที่เป็นตะกอนถมถนนให้สามารถใช้ได้ปกติ เราต้องออกเงินเองทุกบาท” วริษา คูณผล ผู้ใหญ่บ้านไร่กลาง หนึ่งในผู้นำที่เข้าร่วมเวทีได้สะท้อนปัญหาเพิ่มเติมถึงการจัดการในหมู่ชุมชนกันเองที่ต้องระดมทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นภาวะวิกฤติในแต่ละปี  และต่อเรื่องนี้ พนา ใจตรง ตัวแทนพรรคก้าวไกลและในฐานะผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทีมผู้จัดได้เชิญเข้ามารับฟังปัญหา ได้นำเสนอในเวทีในช่วงหนึ่งว่า “จริงๆแล้วราชการมีงบส่วนกลางที่ตั้งไว้แล้ว โดยจังหวัดสามารถอนุมัติเงินเอามาช่วยเหลือน้ำท่วมได้เป็นเงินตั้ง 40 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าปีที่แล้วผู้ว่าฯ ไม่สั่งอนุมัติ ก็เลยกลายเป็นว่าชาวบ้านไม่มีเงินช่วยเหลือกัน”  

พนา ใจตรง (ซ้าย) ตัวแทนพรรคก้าวไกล ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ (ขวา) ที่ปรึกษาประเด็นการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมอีสาน

ถ้าเป็นจริงดังที่ผู้ช่วย ส.ส.พูด  ก็เป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจมาก  เพราะแม้ว่าจะมีเงิน  แต่ปัญหาก็อยู่แค่การเซ็นต์อนุมัติเพียงไม่กี่วินาทีของผู้ว่าราชการ  เพราะถ้ารัฐส่วนกลางเข้าใจปัญหาและยอมให้อำนาจรวมถึงเงินกับผู้นำท้องถิ่นมาจัดการแบบเข้าใจปัญหาตัวเอง  เรื่องราวแบบ “นวัตกรรมเชือกหลากสี”  คงไม่เกิดขึ้น

สุดท้ายเราหวังว่าเรื่องนี้จะดังไปถึงรัฐสภา  และเราดีใจมากที่มีตัวแทนพรรคการเมืองมารับฟังปัญหาพร้อมทั้งหอบเอาเอกสารที่เราเรียบเรียงในเวทีเพื่อส่งให้ผู้แทนราษฎรไปเสนอต่อ  ให้เรื่องของชาวบ้านเป็นวาระสำคัญที่นักการเมืองและคนกำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ