“วิทยุชุมชนไทย” ความท้าทายและทางไปต่อ หลังหมดระยะทดลอง

“วิทยุชุมชนไทย” ความท้าทายและทางไปต่อ หลังหมดระยะทดลอง

ก่อนหมดอายุการให้อนุญาตการทดลองออกอากาศในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ได้เวลาทบทวนบทบาทสื่อชุมชนเพื่อชุมชน อย่างวิทยุชุมชน และโอกาสใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ในช่วงเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ที่ต้องปรับตัว 

จุดตั้งต้นการพูดคุย ชวนทุกคนมาช่วยกันคิด ร่วมกันมอง หาทางออกไปด้วยกัน กับบทบาทในการสะท้อนประเด็นปัญหาของสื่อชุมชน ที่มาพร้อมกับความหวัง และข้อท้าทายในการเดินหน้าต่อของสื่อในท้องถิ่น

ร่วมกับคนทำวิทยุชุมชนและสื่อท้องถิ่นกว่า 60 คน จากทั่วประเทศ พร้อมทั้งวิทยากรที่อยู่ในแวดวงของสื่อเสียงทั้งเก่าและใหม่ ที่มาล้อมวงพูดคุยกันถึงทิศทางการไปต่อ ในวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย : ความท้าทายของสื่อชุมชน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)

00000

วิทยุชุมชน คือ หนึ่งในสื่อที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารทั้งเรื่องราวจากภายในสู่ภายนอก และจากภายนอกสู่ภายในให้กับคนในชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 วิทยุชุมชนได้เกิดขึ้นบนฐานแนวคิดที่ว่า “สื่อชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ซึ่งมาพร้อมกับการเรียกร้องถึงสิทธิในคลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารของชุมชน 

ก่อนที่จะเจอกับจุดพลิกผันจากความร้อนแรงทางการเมืองไทยในปี 2549 จนทำให้สถานีวิทยุชุมชนต่างต้องทะยอยกันปิดตัวลง หลังจากนั้นในปี 2555 ทาง กสทช. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน ทำให้มีวิทยุชุมชนขนาดเล็กสนใจมาลงทะเบียน เพื่อทดลองออกอากาศกว่า 7,000-8,000 สถานี  

แต่ระยะเวลากว่า 10 ปี ของการทดลองออกอากาศ วิทยุชุมชนเองต่างต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เป็นบททดสอบ ไม่ว่าจะเรื่องของการเมือง โรคระบาด และการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ล้วนมีผลกระทบต่อการอยู่รอดและของวิทยุชุมชน จนทำให้ขณะนี้สถานีวิทยุชุมชนในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงแค่ 4,000 สถานีเท่านั้น

– บทบาทของวิทยุชุมชนไทย –

ภูริวัชญ์ ลิขิตสกุลเดช วิทยุชุมชน ต. โพสังโฆ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า สื่อชุมชนในความหมายของตน คือ การสื่อสารให้คนในพื้นที่ หรือคนในท้องถิ่นได้รับทราบทุกสถานการณ์ เริ่มตั้งแต่ วิทยุชุมชน ตั้งแต่สมัย 30 วัตต์ รัศมี 35 กิโลเมตร พื้นที่การสื่อสารกับขุมชนทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ ถ้าเทียบกับสมัย 20 ปี ที่แล้ว เราเริ่มวิทยุตั้งแต่ ปี 2540 เริ่มเรียนรู้ 

สถานีผมเปิดปี 2545 เราขยับจากวิทยุชุมชน ปัจจุบันมาเป็นวิทยุธุรกิจ มันมีเงื่อนไข หรือข้อจำกัดในการทำวิทยุชุมชน เราหนีตายมา คิดว่าจะรอด สุดท้ายรุ้งริ้ง แต่คิดว่ายังไปได้ เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า วิทยุอยู่ได้เพราะสปอนเซอร์ แต่ปัจจุบันสปอนเซอร์ถูกลงไปที่โซเชียลมีเดียหมด วิทยุก็จะลำบาก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ค่าไฟไม่ใช่ปัญหาของวิทยุ แต่ปัจจุบันค่าไฟเป็นปัญหาของวิทยุ อันนี้ไม่ใช่แค่ความท้าทายของสื่อชุมชนอย่างเดียว ต้องฝากรายการฟังเสียงประเทศไทยด้วย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นใจนิดนึง

ชุมพล แสงวัน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สำหรับผมเป็นสื่อชุมชนที่ทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เล่าเรื่องราวของคนในพื้นที่เขตติดพรมแดนพม่า 3 อำเภอ การสื่อสารนอกจากจะเป็นการสื่อสารภายในชุมชนแล้วยังต้องการที่จะสื่อออกมาให้คนภายนอกรู้ถึงแรงกดขี่หรือแรงกดดันที่คนในชุมชนได้รับ รวมถึงสิทธิต่างๆของคนภายในชุมชนได้รับ เป็นสิ่งที่ต้องสื่อออกไปให้คนสังคมภายนอกได้รับรู้  

ในเรื่องของการสื่อสารเมื่อเราอยู่บน Platform มันไม่มีค่าใช้ เราไม่ต้องเสียค่าไฟ ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ เหมือนสถานีวิทยุชุมชน เราอาจจะต้องมีค่าอินเทอร์เน็ตเล็กน้อย แต่มันสามารถสื่อสารได้บนพื้นฐานที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป ตอบโจทย์และสามารถสร้างรายได้โดย Content หรือบางครั้งการสื่อสารที่สื่อออกไปเราจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เขาติดตามข่าวสารจากเรา ผมคิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นทางรอดที่เราเลือกที่จะทำได้

เราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องมีรายได้จากการขายสปอนเซอร์ หรือการรับโฆษณาต่าง ๆ เนื่องจากในมุมมองผม สื่อชุมชนต้องมีอิสระสูง และถ้าเรามีสปอนเซอร์ความอิสระจะไม่มี เมื่อเราต้องการความอิสระสิ่งที่เราจะอยู่รอดได้หรือมีรายได้ก็คือเราจะต้องสร้าง Content ที่สามารถสื่อสารให้คนที่ต้องการเสพสื่อของเราสนใจ และติดตามพร้อมที่จะสนับสนุน Content แบบนั้นเรื่อย ๆ

โต๊ะแชร์ จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า อยากให้ช่วยให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ไปต่อในนามของนักจัดรายการ ผมทำเพจ ทำ tiktok ปัจจุบันจะรายการวิทยุก็จะไลฟ์ในเพจ ถ้าใน tiktok เนี่ยเราก็จะวิทยุเป็นหลัก แต่จะมีเปิดให้ขอเพลง แล้วก็จะมีการไปโพสต์ใน Facebook ก่อนที่จะจัดรายการว่า วันนี้เราจะคุยประเด็นอะไร ก็จะมีคนมาฟังเรา

ก่อนที่จะเป็นนักพูดเราต้องไปฟังทุกสถานีในบ้านเรา ผมเป็นนักฟังมาก่อนก่อนจะเป็นนักพูด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน จะมีภาษามลายูกลาง มลายูท้องถิ่น และภาษาไทย อยากให้มีวิทยุชุมชนแบบที่ชาวบ้านมีอยู่ ไม่อยากให้เป็นแบบอื่น เพราะอยากให้อนุรักษ์ไว้เนื่องจากว่าชาวบ้านเคยสะท้อนมาว่าถ้าไม่มีวิทยุแบบนี้ พ่อ แม่อาจจะถูกหลอกจากลูก เวลาใช้ภาษาไทยอาจจะมีนักจัดรายการแปลเป็นภาษาเข้าใจกับชาวบ้าน บางคนจะใช้ภาษามลายูกลางแล้วก็จะมีนักจัดรายการวิทยุบางคนเอาไปแปลเป็นภาษาท้องถิ่นให้ชาวบ้านเข้าใจอีกที

– อดีตและความท้าทายในปัจจุบัน ที่วิทยุชุมชนกำลังเผชิญ –

อุทัย อัตถาพร นายกสมาคมเสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม กล่าวว่า สถานการณ์วิทยุชุมชนในอดีตที่ผ่านมา วิทยุชุมชนได้ทำหน้าที่ในการบริการชุมชน ทำโดยชุมชน เพื่อชุมชน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านด้วยการสื่อสารข้อมูล เรียกได้ว่าแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ แบบเดียวกับอสม. เน้นการเอาปัญหาชุมชนมาพูดถึงว่าเราจะแก้ปัญหายังไงสิ่งเล็ก ๆ เราจะขยายผล หรือว่าต่อยอดอย่างไร 

เรามีกลุ่มเยาวชนกลุ่มสตรีในหมู่บ้านในชุมชนเราทำกันเอง บางครั้วเจ้าของสถานีก็ไปเกี่ยวข้าว ไปทำไร่ทำนา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสนับสนุน ทั้ง ๆ ที่วิทยุชุมชนมีการดูแลอยู่หลายกระทรวง ทุกกระทรวง ทบวง กรม ใช้บริการของวิทยุชุมชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาชัดเจนมากปัญหาเรื่องของภัยพิบัติและเหตุร้ายต่าง ๆ ที่หนองบัวลำภู ถ้ายังจำกันได้กรณีกราดยิ่งเด็ก ๆ วิทยุชุมชนทำหน้าที่สื่อสารกระจายข่าวทันที 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงสถานการณ์วิทยุชุมชน ในวันที่ออนไลน์เข้ามาว่า วิทยุชุมชนยังมีเสน่ห์อยู่ ออนไลน์บางครั้งไม่เห็นตัวตน เพราะมันไปทั่วโลกและกว้างไกลเกิน แต่วิทยุชุมชนจริง ๆ ในหลายประเทศไม่ได้รับรู้มาก หรือว่าไม่ได้ disruction มาก บ้านเราถ้าเจน X ขึ้นไป วิทยุชุมชนยังเป็นเพื่อนของผู้สูงอายุหรือคนเฒ่า คนแก่ ถ้าเราอยู่ในวัยทำงานที่อยู่ในเจน X เราก็ใช้ฟังในรถ 

วิทยุชุมชนยังมีเสน่ห์ แทนที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากส่วนกลาง ซึ่งขาดความหลากหลายในชุมชนวิทยุชุมชนบอกเล่าเรื่องราวในชุมชนมีความใกล้ชิดกับชุมชน ผมเห็นตัวอย่างหลายกรณีที่ทำได้ดีและอยู่รอดได้ บางทีพูดเรื่องอาชีพเรื่องกีฬาทำให้คนที่ปวดเมื่อยตามตัวลุกขึ้นมาเต้น และความที่คนทำอยู่ในชุมชน คนฟังก็อยู่ในชุมชน เปิดเพลงสนุก ขยับที่บ้านเสร็จมีการนัดเจอกัน  ดังนั้นสื่อวิทยุชุมชนยังมีคุณค่ากับชุมชน ยังคงอยู่กับชุมชนและจะไม่มีวันตาย 

เป็นการสื่อสารสองทางจากข้างนอกไปข้างใน ข้างในไปข้างนอก ซึ่งมีหลายสถานี ได้รับสปอนเซอร์จากต่างประเทศ จากคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ ทำการสนับสนุนเข้ามา บางสถานีคุยกับชาวบ้าน บอกใครมีผลไม้ดี ๆ ให้เอามาขาย ขายผ่านทางสถานีเลย ดีเจบางคนเก่งมากทำให้คนชนชั้นกลางในเมืองที่ขับรถอยู่อยากช่วย ไม่ได้คิดว่าถูกหรือแพง และดูแลกันเองในชุมชน ช่วยเหลือ สื่อสารสองทาง เราอยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีไลน์กลุ่ม  ในชุมชนก่อนที่จะมีไลน์กลุ่มก็มีวิทยุชุมชนแจ้งข่าวบอกกัน  นำข้อมูลข่าวสารจากข้างนอก เช่น โรคภัย โรคติดต่อ ต้องดูแลรักษากันอย่างไร 

– แหล่งรายได้ และข้อท้าทายของวิทยุชุมชน –

สุเทพ วิไลเลิศ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน กล่าวว่า วิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน ธุรกิจ หรือสาธารณะที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และมีสถานะของการทดลองออกอากาศถือเป็นสื่อชุมชนหรือสื่อท้องถิ่นที่เป็นดอกผลของการต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40 ซึ่งเป็นโจทย์หรือหมุดหมายสำคัญของการเกิดสื่อเหล่านี้ 

ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าทรัพยากรขึ้นความถี่เป็นของหน่วยงานรัฐทั้งหมดเอกชนจะเข้ามาได้คือต้องผ่านการสัมภาษณ์หรือเช่าเวลาดังนั้นการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นต้นทางของการเกิดสื่อชุมชนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ สาธารณะ เรียกได้ว่าเป็นสื่อชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องขยายไปถึงทีวีชุมชนด้วยเป็นหลักการที่อยู่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2543 ถึง 2553 

โจทย์ของกฎหมายที่ออกแบบมาแบบนี้มีความแตกต่างกันเรื่องของการจัดประเภทของการบริการ และการได้มาซึ่งสิทธิ์ของการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่ที่ผ่านมาคลื่นที่มีอยู่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการจัดสรรหรือคืนคลื่นความถี่เพื่อมาจัดสรรใหม่ แต่ระหว่างนั้นเกิดสื่อท้องถิ่นเหล่านี้ขึ้น โดยใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญจัดตั้งสถานีวิทยุขึ้นมา แบบที่ไม่ได้มีองค์กรกำกับ อันนี้เป็นปัญหาเมื่อมีองค์กรกำกับแล้วจึงจำเป็นต้องมีการแจ้งจดทะเบียน แล้วก็จัดการให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญจนนำมาถึงจุดที่เป็นคำถามอยู่ในใจของทุกท่านก็คือ ถ้าเป็นวิทยุทดลองอากาศแล้วจะต้องยุติการออกอากาศในปี 2567 หรือไม่

นอกจากโจทย์เรื่องของการดำรงอยู่ในเรื่อง สถานะทางกฎหมาย ต้องย้อนกลับมาว่าที่ประกอบการที่ผ่านมานับ 10 ปี อยู่กันมาได้อย่างไร เงื่อนไขการประกอบกิจการของธุรกิจอาจจะหารายได้จากการโฆษณาได้แต่ก็มีปัญหาในแง่ของการแข่งขัน ยิ่งมีสื่อใหม่ ๆ อย่างสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาทำให้มีทางเลือกให้กับประชาชนทั้งในเมืองและท้องถิ่น อันนี้เป็นโจทย์ที่ทำให้รายได้ลดน้อยลง และยิ่งเจอปัญหาโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้สถานีวิทยุล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

ส่วนวิทยุชุมชนเอง เดิมทีมีการจดทะเบียนอยู่ 600 สถานี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 161 สถานีที่ทดลองออกอากาศ ตัวอย่างบางสถานีที่เห็นมีความเข้มแข็งสามารถระดมทุนจากชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรี่ยรายผ้าป่า หรือรับบริจาคจากต่างประเทศก็มี เพราะว่าปัจจุบันวิทยุชุมชนที่ทำอยู่มีการใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ กรณีแบบสาธารณะในปัจจุบันที่เป็นวิทยุขนาดเล็กในท้องถิ่น เป็นการทดลองออกอากาศมีประมาณ 600 สถานี

– ทิศทางไปต่อของวิทยุชุมชน หลังหมดระยะทดลอง –

ธนกร ศรีสุขใส กล่าวในประเด็นนี้ว่า กสทช. กำลังทำเกณฑ์ใหม่ เป็นแผนวิทยุใหม่ด้วย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการอยู่ คิดว่าคงกำหนดเวลาให้ลงล็อคกันพอดี เพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปรับตัวทัน อย่าง กสทช. ที่ดูแลกิจการวิทยุอยู่ ก็ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผมในฐานะอนุกรรมการวิทยุเห็นว่ามีการพยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัญหา ข้อจำกัด และความต้องการของผู้ประกอบกิจการจริง ๆ เพราะฉะนั้นพยายามนำข้อเรียกร้องต่าง ๆ มาออกหลักเกณฑ์กติกาหลังจากสิ้นสุดการทดลองประกอบกิจการ 

ที่ผ่านมามีความยากในการบริหารจัดการเพราะว่าสถานีวิทยุเกิดขึ้นก่อนก่อนที่จะมี กสทช. จะไปออกหลักเกณฑ์อะไรที่จำกัดสิทธิ์ทำได้ยากมาก ยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ ทุกวันนี้กลายเป็นพัฒนาการ ซึ่งเวลาเป็นตัวจัดการ แต่ปัจจุบันธรรมชาติของธุรกิจสื่อหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกันหมด 

แน่นอนว่าจำนวนจะลดลง อาจจะไม่นานที่จะต้องเปลี่ยนจากระบบทดลองเป็นระบบใบอนุญาต แต่ 2 ประเภทนี้ไม่รู้จะยุบรวมหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ชุมชนต้องทำโดยชุมชน สถานะไม่จำกัด หลักการเหมือนกัน เนื้อหาจะต้องบริการสาธารณะ และไม่มีโฆษณา ซึ่งน่าจะใช้วิธีการบิวตี้คอนเทสไม่ใช่การประมูลแต่พิจารณาจากคุณสมบัติ

อุทัย อัตถาพร นายกสมาคมเสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม กล่าวต่อว่า ความท้าทายของสื่อชุมชนในวันนี้ที่บอกว่าอยู่ไม่ไหว คือ 1. รายได้ไม่มี หลายสถานีอาศัยวัด เป็นที่ทำการออกอากาศเช่น สถานีบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ถ้าหลวงพ่อไม่สนับสนุนก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เนื่องจากค่าไฟแพงสถานีวิทยุต้องใช้ไฟฟ้า ค่า Ft แพงขึ้นมาก เดือนนึงค่าใช้จ่ายของวิทยุชุมชนอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท ยังไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน ขายสินค้า OTOP เพื่อที่จะเอาเงินมาหนุนช่วยกันในชุมชน กำไรก็ไม่มากอยู่ลำบาก 

ในทางเศรษฐกิจลำบาก แต่ในทางของการสื่อสารเรียกได้ว่าปรับตัว วิทยุชุมชนมีการปรับตัวผ่านสื่อช่องทางอื่น ๆ ไม่ได้ฟังจากวิทยุอย่างเดียว ฟังจากมือถือก็ได้หรือดูจากมือถือก็ได้ อยู่ต่างประเทศก็สามารถดูได้ทุกวันนี้วิทยุไปไกลมีหลายช่องทางในการสื่อสาร แต่ยังคงเอกลักษณ์อย่างภาษาถิ่น มีกรณีที่กรุงชิงเจอกับพายุพัดถล่ม กรุงชิงระดมความช่วยเหลือจากน้ำพัด ไม่มีใครสามารถเดินทางเข้าไปได้โดยกู้ภัยวิทยุออกอากาศสื่อสาร 

วิทยุมีการปรับตัวโดยที่คุณค่าดั้งเดิมยังคงมีอยู่ เรามีทั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน เจ้าอาวาส โดยเฉพาะชายแดนใต้จังหวัดยะลา วิทยุชุมชนมีความหมายมาก มีการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ มีการแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี บอกข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด เพียงแต่ว่าคุณค่าเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับความเป็นมูลค่าได้อย่างไรบ้าง เราพยายามช่วยเหลือตัวเอง พึ่งตัวเองอาจจะไปคุยกับท้องถิ่นอย่างเทศบาล อบต. และอบจ. 

มีข้อเสนอว่าทำเป็นนโยบายของท้องถิ่นเลยได้ไหม ว่าให้เอาเงินส่วนหนึ่งมาสนับสนุนสื่อชุมชน ซึ่งจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องมีระบบการเงินช่วย เพราะลำพังสื่อวิทยุชุมชนหายใจโรยริน นอกเหนือจากการจัดสรรใบอนุญาตให้ทดลองช่วงเวลาจะต่อใบอนุญาตมีรายจ่ายที่ต้องเสียเพราะว่าเวลาไปตรวจคลื่นไม่ได้ตรวจฟรี ต้องเสียเงินให้บริษัทที่ได้รับการอนุญาตจาก กสทช. ไปตรวจคลื่นทุกปี 

ธนกร ศรีสุขใส เสริมต่อว่า การตรวจคลื่น จะมีการตรวจคลื่นการแพร่แปลกปลอม ถ้าเกิดว่าตรวจเสร็จแล้ว ส่งไปที่แลป ก็จะมีค่าขนส่งอีก แต่ต้องบอกว่าคนทำวิทยุจริง ๆ ไม่ว่าจะทำประเภทไหน คนส่วนใหญ่ทำเพราะมีความสุข ไม่ค่อยมีใครทำ เพราะต้องการเงิน มันไม่มีทางที่จะได้รายได้เป็นกรอบเป็นกำส่วนใหญ่คนที่อยู่เป็นเพราะว่าผูกพันกับกลุ่มเป้าหมาย  

กสทช. กำลังทำเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนวิทยุชุมชนที่มีความพร้อม ซึ่งกองทุนถูกต่อว่าทุกปีว่าวิทยุชุมชนไม่เคยได้ทุน จึงคิดว่าจะไปหารือกับสมาคมที่เป็นชมรมวิชาชีพแล้วจะมาทำ MOU จัดหลักสูตรการเขียนโครงการ ลงไปติวให้ รวมทั้งไปขอความร่วมมือให้สนับสนุนวิทยุชุมชน เพราะว่าเป็นความเข้มแข็งและเป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ซึ่งกองทุนอยากจะไปสอนเรื่องการเล่าเรื่องที่เป็นตำนาน  ในท้องถิ่นทุกท้องถิ่นมีของดีเยอะมาก ทั้งเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน สินค้าโอทอป ของกิน ที่เที่ยว ของใช้ ถ้าสามารถนำนวัตกรรมสื่อมาปรุง และนำเสนอออกไป สื่อท้องถิ่นก็จะยิ่งมีคุณค่ามาก กองทุนก็จะไปร่วมมือด้วย

– การรับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ บนความท้าทายของสื่อใหม่ –

สุเทพ วิไลเลิศ กล่าวว่า ตามนโยบายของ กสทช. ในขณะนี้นอกจากการเตรียมแผนหรือการจัดสรรคลื่น FM สำหรับวิทยุขนาดเล็ก หรือวิทยุท้องถิ่นก่อน 2567 จะมีเรื่องการริเริ่มแผนเกี่ยวกับการให้อนุญาตวิทยุระบบดิจิตอลภาคพื้นดินจะเป็นเหมือนระบบทีวีดิจิตอลที่เราใช้ อาจมีข้อดีในแง่ของระบบส่งสัญญาณที่ไม่ต้องมีสถานีไม่ต้องมีเครื่องส่งแบบเดิมแต่ก็จะต้องส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเคเบิ้ล เพื่อส่งไปยังโครงข่ายในการให้บริการอีกครั้ง      

ส่วนเรื่องของโอกาสที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พูด ในแง่ของเนื้อหาและการผลิตรายการรวมถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น แต่สำหรับ กสทช. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีการประกาศหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการส่งเสริม และสนับสนุนบริการชุมชน ซึ่งหมายถึงวิทยุชุมชน และทีวีชุมชนสื่อท้องถิ่นในระดับท้องถิ่น อีกประกาศหนึ่งก็คือประกาศว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตรายการทั้งทีวีและวิทยุซึ่งแน่นอนว่าประกาศฉบับนี้เปิดกว้างสำหรับกลุ่มวิทยุที่จะทดลองยื่นขอทุนด้วยเช่นเดียวกันอันนี้น่าจะเป็นโอกาสอีก 1 โอกาสที่ ทำให้การประกอบกิจการหรือการผลิตรายการในวิทยุกระจายเสียงได้รับการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง

ธนกร ศรีสุขใส เสริมต่อว่า สำหรับตัวรับสัญญาณ หลายประเทศกำลังทดลอง เพราะว่าวิทยุดิจิตอลตัวรับสัญญาณเปลี่ยนไป ไม่สามารถใช้ตัววิทยุในระบบปัจจุบันรับได้ อันนี้คือความยากเพราะถ้าเทียบกับการออกอากาศออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตต้นทุนน้อยกว่า อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เบื้องต้นระบบเดิมอาจจะต้องทำควบคู่กับออนไลน์ ไม่ว่า Content จะเป็นอย่างไรรูปแบบการเผยแพร่หรืออวกาศต้องทำแบบมัลติแพลตฟอร์ม 

ผมเคยเจอคนหนึ่งบนเครื่องบิน เป็นคนนครศรีธรรมราช ไปอยู่ออสเตรเลีย ส่งเครื่องแกงจากนครศรีธรรมราชไปเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพราะว่าเปิดร้านข้าวแกงอยู่ที่นั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นฝรั่งแล้วก็มีคนเอาเรื่องนี้ไปเล่าในวิทยุ และคนที่อยู่ต่างประเทศก็ฟังกันเรียกว่ามีเสน่ห์ ซึ่งเราต้องค้นหาเอกลักษณ์ หรือเรื่องราวแบบนี้ให้เจอ ถึงจะสนุก

นทธัญ แสงไชย Station Director จาก Salmon Podcast ในฐานะผู้ผลิตสื่อเสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ กล่าวว่า จุดร่วมอย่างหนึ่งคือ เราเป็นสื่อเสียงเหมือนกัน หลายคนที่มาทำ Podcast มาจากคนที่เคยทำ หรือฟังสื่อวิทยุเช่นเดียวกัน แต่ธรรมชาติของ Podcast กับ ธรรมชาติของวิทยุก็มีความต่างกันอยู่ อย่างแรกคือ วิทยุรันแบบสด ส่วน Podcast ฟังแบบแห้ง สามารถมาย้อนฟังได้ เป็นคอนเทนต์แบบ Evergreen กลับมาฟังซ้ำได้ แม้แต่รายการข่าวก็เคยทำ เนื้อหาข่าวแบบ Current แต่ก็มาวิเคราะห์ทำเป็นคอนเทนต์ Evergreen ว่าเราได้อะไรจากเนื้อหาข่าวนี้ คนสามารถมาย้อนฟังได้เรื่อย ๆ 

ด้วยความที่ธรรมชาติค่อนข้างต่างกัน วิธีคิดก็จะต่างกันนิดหน่อยอย่างคนที่ทำออนไลน์อาจจะได้เปรียบ มีข้อกฎเกณฑ์น้อยกว่า แต่อาจจะได้รายได้หลายช่องทางมากกว่า เราต้องพยายามไปหลายแพลตฟอร์ม เช่น  Youtube Facebook และ Spotify 

แต่ทุกที่ไม่ได้มีรายได้ให้เราจะมีก็แค่ Youtube ที่ทำออกมาแล้วสุดท้ายก็คล้ายกับการเป็น Youtuber สุดท้ายการทำสื่อเสียง ก็ต้องไปเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์อื่น ๆ เช่นกัน แม้แต่วิทยุ FM ตอนนี้ก็ต้องมีภาพให้ดูว่า ดีเจทำอะไรกันอยู่ หรือแม้แต่ Podcast เองก็ต้องมีภาพ เพราะคนไทยชอบดูภาพ เราเองไมได้เป็นเจ้าของคลื่น แต่ก็จะมีบางที่ที่เขามีรายได้ เมื่อเรามียอดถึงจุดที่เขาจะจ่ายให้   

– การกำกับเนื้อหาที่ไม่ล้ำเส้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ –

ธนกร ศรีสุขใส มองว่า ประเทศไทยค่อนข้างยาก ไม่รู้ว่าจะกำกับ OTT อย่างไร เข้าใจว่าปัญหาเรื่องเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ แต่ละประเทศเจอปัญหาเดียวกัน คือเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ มีทั้ง Fake News ภาพสุดโต่ง บูลลี่ แต่ต้องชื่นชมทางยุโรปว่าเห็นปัญหานี้แล้วคิดเร็ว ปีที่แล้ว 2022 เขาออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเรียกว่า Digital services act 2022 กองทุนกำลังศึกษา และนำสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

สาระสำคัญของ Digital services act 2022 คือ ให้แพลตฟอร์มที่เป็นต่างประเทศรับผิดชอบ ถ้าคุณจะมาใช้แพลตฟอร์มในประเทศนี้ ต้องมีตัวแทนรับผิดชอบเนื้อหา ที่สามารถร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนเนื้อหาดี ๆ ขณะเดียวกันต้องรับมือกับเนื้อหาที่แย่ ๆ ในโลกออนไลน์ทำได้ มาตรการทางกฎหมายที่จะมากำกับดูแลก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน กฎหมายต้องออกมาให้ทันสมัย จะมาใช้ พ.ร.บ.คอมอย่างเดียวไม่มีทางทัน

นทธัญ แสงไชย มองประเด็นนี้ว่า การกำกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ค่อนข้างยาก เพราะแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มมีการกำกับของตัวเอง เราจะไม่ล่วงละเมิดกฎของแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่า กสทช. หรือหน่วยงานอื่นเข้ามา จะมาดูแล หรืออำนวยความสะดวกอะไรบ้าง 

อุทัย อัตถาพร เสริมต่อว่า 1. ผู้ฟังมีส่วนในการกำกับการผลิตสื่ออยู่แล้ว 2. เวลา กสทช. กำหนดผังออกอากาศ เขากำหนดอยู่แล้วว่า ต้องทีพื้นที่สำหรับเนื้อหาข่าวสารกี่เปอร์เซ็นต์  พื้นที่ฟังเพลง พื้นที่ธรรมะ พื้นที่วาไรตี้ กี่เปอร์เซ็นต์ เขากำหนดไว้อยู่แล้ว เราไม่สามารถเปิดเพลง 24 ชั่วโมง ในรายการของทุกสถานีจะมีภาคบังคับ  แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนที่รับฟังมีการตอบรับอย่างไร บางคนขอเพลงมาแล้วไม่ได้ก็โวยวายมา มันมีการสื่อสารกันสองทาง อันนี้คือความน่ารักของสื่อชุมชน  ในเชิงนโยบายเราก็ดูว่าอะไรสร้างสรรค์ ทำเพื่อประชาชน  อะไรที่สร้างความแตกแยก ไม่เหมาะสม เราเซ็นเซอร์ตัวเอง เราเน้นการให้ข้อมูลอย่างเช่นเรื่องการเมืองไม่ใช่ว่า พูดไม่ได้ การเมืองเราพูดว่า 14 พฤษภาคมมีการเลือกตั้งมีหลายพรรคการเมืองแต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนจะเลือกพรรคไหนก็เป็นสิทธิ์เสรีภาพของแต่ละคน  

สุเทพ วิไลเลิศ เสริมต่อว่า ด้วยความที่ติดตามนโยบายของ กสทช. การกำกับเนื้อหาออนไลน์ในขณะนี้ กสทช. ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ได้มีบทบาท หรือมีอำนาจหน้าที่ในการที่จะเข้าไปกำกับหรือจัดสรรการให้อนุญาต 

การประกอบกิจการในออนไลน์ อย่าง OTT เราเห็นปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก อันนี้เป็นโจทย์สำคัญส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาไปทั่วโลกถ้าเรามองพิกัดในมิติโอกาสของสื่อชุมชน ในการพัฒนาตัวเอง การพัฒนาสื่อชุมชนของตัวเองไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์จะด้วยรูปแบบของ Podcast หรือเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สามารถกระทำได้เลย ไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร อาจจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่การดำรงอยู่ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นทธัญ แสงไชย ขยายความต่อว่า สื่อชุมชนทำ Content อยู่แล้ว มีอุปกรณ์ มี Content อยู่แล้วเพียงแต่ว่าอาจจะต้องเอา Content นี้ไปแตกยอดให้มากที่สุด อย่างผมทำ Podcast อาจจะพูดแทนวิทยุได้ไม่ทั้งหมด แต่ผมทำ Podcast ผมก็เอาเนื้อหา Podcast ไปทำออนไลน์ ทำหนังสือ ถ้าเราลงแรงที่จะทำสื่อเสียงในวิทยุชุมชนแล้ว สิ่งนี้สามารถแตกออกไปทำอย่างอื่นได้อีกหรือเปล่า เพราะว่าทุกวันนี้ ทุกคนไลฟ์อยู่แล้ว แต่ยังมีอย่างอื่นที่เราสามารถทำออกไปได้อีกหรือเปล่า ซึ่งอาจจะทำให้จากที่ได้ 1% เราอาจจะได้ 200% 

– พลิกเนื้อหาจาก Local สู่ Global –

สุเทพ วิไลเลิศ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพ ถ้าทำจากออนไลน์เข้ามาจะต่างจากชุมชนที่ทำจากชุมชนขึ้นไป สิ่งที่ต้องเรียนรู้ คือศักยภาพ หรือทักษะ รวมทั้งมุมมองในการข้ามพรมแดนไปสู่สื่อใหม่ ยกตัวอย่าง คลิปรายการเสียงของอาจารย์ยอดที่ทุกคนอาจจะได้ฟังวันนี้ ขึ้นไปอยู่บน YouTube แต่ที่ผ่านมาถูกเผยแพร่ในสถานีวิทยุท้องถิ่นและเป็นที่รู้จักอย่างทั่วไป แต่ที่ยกตัวอย่างเพราะว่ารายการในลักษณะแบบนี้มีความหลากหลายจำนวนตอนสามารถฟังแบบ on demand หรือจะหยุดแล้วค่อยกลับมาฟังก็ได้ อันนี้คือความแตกต่างจากสถานีวิทยุที่เราออกอากาศไปแล้วแบบเรียลไทม์ นี่คือรูปธรรมของการดึงจากรายการที่มีอยู่ไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มอื่น ในช่องทางที่หลากหลาย อันนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เราจะสามารถพัฒนาได้ 

สิ่งที่ชุมชนมี แต่ไม่ใช่ว่าวิทยุไม่ทำ อาจจะทำแต่ไม่สามารถดึงออกมาให้ภายนอกเห็นได้ เช่น กรณีรายการศิลปะวัฒนธรรมการร้องเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นทั้งสิ้น แต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกันเรื่องราวเหล่านี้ที่ผ่านมาถูกเก็บซ่อนไม่ได้ถูกนำมาขยายให้รู้จักหรือกรณีเพลงที่ผ่านมา เพลงลูกทุ่งดังขึ้นมาได้จากครูเพลงในท้องถิ่นทั้งสิ้น แต่ก็ดังอยู่ในระดับประเทศได้ วิทยุชุมชนหรือตัวสื่อชุมชนเหล่านี้ ทำอย่างไรถึงจะนำของดีเป็นสื่อของชุมชนออกมาเผยแพร่ ซึ่งวันหนึ่งอาจจะขยับไประดับประเทศก็ได้

นทธัญ แสงไชย เสริมต่อว่า องค์ความรู้หรือทักษะบางอย่าง ถ้าปรับมุมมองนิดนึง เริ่มทำ Content 1 ชิ้น และมองเห็นได้ว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง มันก็จะเห็นภาพรวมได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง อาจารย์ยอดทำวิทยุ แต่รายการมีความเป็นคอลัมน์จบในตัว สามารถตัดออกมาเป็น podcast ในแต่ละตอนได้ ถ้าเรามองเห็นภาพรวม podcast คนฟังเป็นตอน ๆ ตอนใหม่อาจจะมาฟังอีกทีสักวันสองวันค่อยมาฟังหรือบางคนอาจจะฟังต่อไปเลยก็แล้วแต่คนฟัง ทุกวันนี้มีรายการแบบนี้อยู่เยอะ

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส มองว่า หลายคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่าเงินทุนอาจไม่ใช่ตัวแปรเดียว และอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของคนทำวิทยุชุมชน เพราะต้องบอกว่าข้อดีมี ข้อจำกัดก็มี ข้อดี คือ มันสดเปิดช่องทางการสื่อสาร 2 ทาง สามารถจัดรายการออนแอร์แล้วก็ไลฟ์ Facebook มี LINE เด้งเข้ามา มีการสื่อสารเข้ามา รับรู้ feedback ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าสื่อออนไลน์ไปแพลตฟอร์มต่างประเทศหลาย ๆ แพลตฟอร์ม บางครั้งระบบ Algorithm ที่จะช่วยดูว่า Content ไหนโดนหรือไม่โดนกับกลุ่มเป้าหมายเรา อาจจะไม่ตรงซะทีเดียว 

ทางกองทุนสื่อเราอยากสร้างเครื่องมือ เพราะว่าเราอยากจะสนับสนุนวิทยุชุมชน เพราะว่าเราเห็นเสน่ห์ เห็นโอกาส เราอยากมีโมเดลต้นแบบ เราคิดคล้ายกับกสทช. เพราะว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เงินทั้งหมดมาจากเงิน กสทช. เราอยากให้ทุนกับวิทยุชุมชน ซึ่งต้องหาโมเดลและสื่อต้องปรับตัวในหลาย ๆ ส่วน ข้อแรกคือคนทำสื่อเองต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ โลกเปลี่ยนเร็วความรู้เปลี่ยนเร็ว ความรู้ทางโลกเหมือนกัน เราเคยเชื่อเดิม ๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้ววันนี้เรามาเชื่อแบบนี้พูดแบบนี้ อาจจะไม่มีคนฟัง จะต้องอัพเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องหาความรู้ใหม่ ๆ และต้องหาตัวช่วย ถ้าทำวิทยุแล้วอยากจะทำสื่อเสียง เราทำเองคนเดียวอาจจะไม่มีทางทำได้ แต่เรามีคนใกล้ตัวมีคนในชุมชนอาจจะเป็นต้องเป็นลูกหรือเป็นหลานเรา เชื่อว่าอยากมีคนทำเยอะ

อีกทั้งตัวช่วยที่เป็นหน่วยงานลองติดตามดูว่า กสทช. หรือกองทุนสื่อเปิดให้ทุนแล้วหรือยัง มีหลักเกณฑ์อะไรที่เข้ากับองค์กรเราไหม หรือมีการเปิดให้ติวเขียนโครงการหรือไม่ อันนี้เป็นตัวช่วย แต่ตัวช่วยที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหา ที่บอกว่าคนทำสื่อทำ Content ต้องยึดโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของเขาด้วย หรือจะตั้งตัวเองเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือก็ทำได้ ทุกอย่างต้องการการปรับตัว 

อุทัย อัตถาพร กล่าวว่า เราต้องรู้ว่าคนสนใจเรื่องอะไร หรือว่าเจอกับปัญหาเรื่องอะไร อย่างเช่นตอนนี้เจอปัญหาเรื่อง Call Center เจอปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ แก๊งมิจฉาชีพอาละวาดสื่อวิทยุต้องบอกเล่าให้เฝ้าระวังในเรื่องนี้ ไม่ได้บอกอย่างเดียว คนจัดเองก็โดนหลอกด้วย บางคนโดนไป 600,000 กว่าบาท วิทยุบางคนสั่งเสื้อได้กางเกงอันนี้คือสิ่งที่เผชิญร่วมกัน ตรงนี้สื่อพยายามช่วยกัน เราปรับตัวเองรู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันตัวเอง รู้เท่าทันมิจฉาชีพ

– การจัดสรรเงินทุน เพื่อก้าวต่อของวิทยุชุมชน –

ดร.ธนกร ศรีสุขใส มองว่า ก่อนหน้านี้ กสทช. เคยทำโมเดลนำร่อง 10 สถานี ที่เอาเงินไปสนับสนุน ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลตั้งต้นกองทุน กทปส. มี user ด้านการกระจายเสียงที่เรารวบรวมมาหลายปี มีเงินจำนวนหนึ่งที่แน่นอนว่าต้องเอามาสนับสนุน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ กสทช. จะสนับสนุน และกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์จะสนับสนุน ซึ่งกองทุนพร้อมที่จะเดินไปหา กสทช. ตลอดเวลาเพื่อที่จะคุยกันในการดูแลพี่น้องวิทยุชุมชน  

– โอกาสไปต่อของวิทยุชุมชนจากฉากทัศน์ 4 ข้อ –

ประเด็นนี้ ดร.ธนกร ศรีสุขใส มองว่า ถ้าขาดการสนับสนุน และนโยบายที่จริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เราจะถูกครอบงำโดยแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในประเทศจะอ่อนแอ แต่เรามี Passion ว่าจะไม่ยอม เราต้องทำให้เกิด เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยง Platform ระดับโลกได้แต่ความคิดที่อยากจะให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มกลางเหมือนที่รัฐบาลมีระบบข่าวการในการเก็บข้อมูลของภาครัฐ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ 

และสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือจะต้องทำ Local Content ให้มีเสน่ห์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้าง Soft Power ขึ้นมาให้เป็นทางเลือกกับผู้ประกอบการที่อยู่ระดับภูมิภาคด้วย ถ้าเราเข้มแข็งและตั้งใจเราจะสามารถสร้างฉากทัศน์ที่ 5 ได้

อุทัย อัตถาพร กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่สุดคือเราต้องตั้งหลักที่ตัวเราเองก่อน สิ่งที่สังสรรค์ สิ่งที่จะอยู่ข้างนอก มีทั้งบวกและลบ ถ้าเราตั้งหลักไม่ดีก็อาจจะเจอกระแสการบริโภคพัดพาไป แต่ถ้าเราตั้งหลักได้แยกแยะได้ เรามีชุดความรู้มีข้อมูลเราสื่อสารบอกกล่าว ว่าโลกมันเปลี่ยน และการเปลี่ยนนี้เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทั้งในเรื่องของการสื่อสาร

ดังนั้นทุกมิติสังคมไทยมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้อย่างไร โดยที่เราไม่ตกเป็นทาสของปัจจัยภายนอก 

หน่วยงานอย่าง กสทช. ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จะต้องผ่องถ่ายชุดทำงานใหม่ ที่จะทำงานให้สมูต และฟังเสียงของคนที่ทำงานวิทยุชุมชน ว่าต้องการอย่างไร ถ้าเราออกแบบวางแผนในเชิงนโยบาย โดยไม่เข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคของคนทำก็จะไม่ตรงจุด และไปไม่ได้ ดังนั้นจะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

นทธัญ แสงไชย กล่าวว่า ไม่อยากตัดบทบาทของ กสทช. ออก เพราะการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ดีมากอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน การเข้ามาของ Global platform สามารถที่จะพัฒนา หรือสร้างองค์ความรู้บางอย่างให้กับกลุ่มคนทำงานในประเทศได้เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ของต่างชาตินั้นดีกว่า มองว่าเราสามารถนำ Local Content หรือ Content ท้องถิ่นในไทยเข้าไปได้ ขณะเดียวกัน กสทช. ก็ยังมีบทบาทอยู่ 

เราเองก็มี Data ในมือ ขณะเดียวกันโลโก้ Content ต่าง ๆ ก็ได้ไปสู่สายตาของคนระดับโลกสิ่งที่ตามมาอาจจะได้เม็ดเงินที่มาสู่คนทำงานเหล่านี้ แล้วก็ได้ Soft Power ที่คนเห็นแหล่งท่องเที่ยว เห็นวัฒนธรรมของไทย คนก็อยากจะเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น  

เราอยากให้มี scenario ที่ทุกคนวิน ๆ เพราะว่า Platform ได้ Content บางอย่างไปเราได้องค์ความรู้บางอย่างจากการทำงานภาครัฐเองก็ไม่ต้องเหนื่อยมากกับการกำกับดูแล 

ทิ้งท้ายด้วย สุเทพ วิไลเลิศ มองว่า สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของ กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 2 ตัวแนวนโยบายต่าง ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันหรือไม่ แม้ว่าตัวอำนาจหน้าที่จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับฉากทัศน์ทั้ง 4 เทียบกับกาแฟ ความเข้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ คิดว่าจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากฉากทัศน์ที่ 1 เพื่อพัฒนาไปสู่สเต็ปต่อไปเนื่องจาก Global platform ที่เข้ามาแน่นอนว่า เป็นเหมือนน้ำลาย ที่เราไม่สามารถหยุดยั้งได้

ดังนั้นโจทย์คือเราจะทำอย่างไรที่จะผนึกกำลังมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวองค์กรกำกับ ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง ทำอย่างไรที่จะมีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้การผลิตสื่อในประเทศไทยมี Content ที่สามารถนำไปสู่ต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกัน คนผลิตสื่อในประเทศไทยเองก็มีความรู้ความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่เป็นอยู่ และต้องบอกว่าที่ กสทช. ดำเนินการอยู่ มีความคิดที่จะทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ แต่เป็นไปในลักษณะเริ่มต้นที่ TV และไปถึงวิทยุรวมถึงสื่อ podcast และสื่อเสียง ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยเอง ที่คนไทยสามารถเข้าไปดูฟรีทีวีทุกช่องได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่พยายามจะดำเนินการและทดลองอยู่  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ