‘คนเมืองลุง’ หิ้วปิ่นโตร่วมงาน “สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข” ครั้งที่ 2

‘คนเมืองลุง’ หิ้วปิ่นโตร่วมงาน “สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข” ครั้งที่ 2

คนพัทลุงร่วมประกาศเจตนารมณ์ “พัทลุงมหานครแห่งความสุข”

ม.ทักษิณ  จ.พัทลุง / ‘คนเมืองลุง’ หิ้วปิ่นโตร่วมงาน “สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข” ครั้งที่ 2  ผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน  ระดมสมอง-ความต้องการ  เพื่อกำหนดอนาคตตนเอง  เตรียมนำข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมขับเคลื่อน  8 ประเด็นหลัก  ครบทุกมิติชีวิต  ตั้งแต่เรื่องการศึกษา  เศรษฐกิจเกื้อกูล ระบบนิเวศที่ยั่งยืน  อาหารปลอดภัย  สมุนไพร  สุขภาพชุมชน  ความมั่นคงด้านสวัสดิการชุมชนและที่อยู่อาศัย  ภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม  การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตพัทลุง  จ.พัทลุง  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุง  ร่วมกับภาคีเครือข่าย   เช่น สสส.  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง  จัดงาน ‘สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข’ ครั้งที่ 2  โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม  ภาคธุรกิจ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  ในจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมงานกว่า 600 คน  โดยผู้เข้าร่วมงานต่างพากันหิ้วปิ่นโตมาร่วมงาน “หิ้วชั้นมาชันชี” หรือนำปิ่นโต (หิ้วชั้น) มาแบ่งปันกันกินและร่วมพูดคุย  ตกลง (ชันชี) กำหนดอนาคตของตนเอง

2
ร่วมกันรับประทานอาหารจากปิ่นโตที่หิ้วมาจากบ้าน

“คนเมืองลุง…หิ้วชั้นมาชันชี”

ภาพของพี่ป้าน้าอาที่หิวปิ่นโตจากบ้านมาร่วมงานดูแปลกตา เพราะที่นี่ไม่ใช่วัดหรือสถานที่จัดงานบุญประเพณี  แต่เป็น ‘หอประชุม’ ของมหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตพัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ‘สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข’ ครั้งที่ 2  โดยมีตัวแทนชุมชนตำบลต่างๆ ในจังหวัดพัทลุงเข้าร่วมงานกว่า 600 คน  จนหอประชุมแน่นขนัด

เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน  ปิ่นโตหลายร้อยเถา  มีทั้งน้ำชุบ  น้ำพริก  ไข่ต้ม  ไข่พะโล้ ทอดมัน ปลาแห้งทอด  ผัดเผ็ดไก่  แกงส้ม  แกงเลียง  แกงไตปลา  ผัดสะตอ  ผักพื้นบ้านต่างๆ  ข้าวสวย  ขนมจีน  พร้อมทั้งขนมต้ม  ขนมใส่ไส้  ฯลฯ  หลากลานตาได้ถูกนำมาวางเรียงรายบนโต๊ะ  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมตักไปรับประทานกันอย่างอิ่มหนำ  เป็นวัฒนธรรมการแบ่งปัน  เกื้อกูลกัน  ไม่เลือกเขา  เลือกเรา  ใครที่ไม่ได้หิ้วอะไรมา ก็มาฝากท้องที่นี่ได้

3
ส่วนหนึ่งของอาหารจากปิ่นโตที่หิ้วมา

                สมภา  ใจกล้า  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุง  กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาครั้งนี้  เป็นผลต่อเนื่องมาจากการขับเคลื่อนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุง  ตั้งแต่ปี 2562  เพื่อให้ภาคประชาชน  คนพัทลุง  ได้กำหนดอนาคตของตนเอง  มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด  เป็นแผนที่เกิดจากการบูณาการร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัด

“สภาองค์กรชุมชนถือเป็นพื้นที่กลาง  ในการชวนกลุ่ม หรือองค์กรต่างๆ ในตำบลมาร่วมพูดคุยกันว่าในตำบลมีปัญหาอะไร   มีความต้องการในการแก้ไขอย่างไร แล้วยื่นข้อเสนอการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตามที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดเอาไว้  อันไหนที่เราทำได้เอง  เราก็จะทำเอง  ส่วนในระดับจังหวัดสภาองค์กรชุมชนได้ใช้บทบาทพื้นที่กลางนี้  เพื่อทำให้ภาคประชาชนมีตัวตนในการกำหนดพื้นที่ในการพัฒนาจังหวัด  ทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุงได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ  ทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในจังหวัด” ผู้แทนสภาฯ  กล่าว

4
การแบ่งกลุ่ม  พูดคุยเพื่อตกลง หรือ “ชันชี” ข้อเสนอเพื่อนำมาขับเคลื่อน “พัทลุงมหานครแห่งความสุข”

“เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต”

สมภาบอกด้วยว่า  นับแต่การขับคลื่อนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุงในปี 2562 จนได้แผนงานที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน และนำมาขับเคลื่อนต่อจนเป็น “แผนชุมชนสู่การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการจังหวัดพัทลุง” โดยมีกลไกการขับเคลื่อน คือ “สภาเมืองพัทลุง” ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน  คือ

  1. หน่วยงานรัฐทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง 2. ภาคส่วนเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า 3. ภาคส่วนของนักวิชาการ ม.ทักษิณเป็นหลัก 4. ภาคส่วนของประชาชน ประชาสังคม  ตัวแทนของสภาองค์กรชุมชน  องค์กรชุมชนต่างๆ  และ 5. ภาคส่วนของท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง

 “พอมีครบทั้ง 5 ภาคส่วน เราก็คุยกันว่าถ้าเราจะขับเคลื่อนพัทลุง เป้าหมายสำคัญ หรือฝันร่วมของคนพัทลุงคืออะไร จนท้ายที่สุดทุกคนก็มีมติร่วมกันว่า พัทลุงจะเป็น ‘มหานครแห่งความสุข’  โดยมีการจัดงานสมัชชามาแล้ว 1 ครั้ง  ปีนี้เป็นครั้งที่ 2  โดยมีหลักคิด  คือ  1. พัทลุงต้องเป็นเมืองที่เติบโตบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน  2. พัทลุงต้องเกื้อกูล แบ่งปัน  ทุกคนต้องได้รับผลประโยชน์ในการพัฒนาร่วมกัน 3. การเติบโตนั้นต้องเป็นการเติบโตที่สร้างสรรค์   4. ต้องยั่งยืนในกระบวนการทำงาน  ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่เอาเงินนำหน้า เห็นคุณค่าของท้องถิ่น เพราะเงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต”  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุงกล่าวถึงความเป็นมาในการจัดงาน

นายพา  ผอมขำ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง  กล่าวว่า  คนพัทลุงต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของตนเอง  ในอดีตคนพัทลุงจะสอนกันว่า “ให้เรียนสูงๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าคน  นายคน”  แต่ตอนนี้เราควรจะต้องเปลี่ยนใหม่  คือ “เรียนเพื่อนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่น  เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น  และเป็นการศึกษา  การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

5
กลุ่มเกษตรกรจาก ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน นำพืชผัก  ผลไม้  อาหารปลอดภัยที่ปลูกแบบผสมผสานแซมในสวนยางมาโชว์

ระดมสมอง 8 ประเด็นหลัก 

การจัดงานสมัชชาในวันนี้  มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้แทนประชาชน  กลุ่มองค์กรชุมชนในจังหวัดพัทลุงได้ระดมความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ  เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและนำไปขับเคลื่อนต่อไป  โดยมี 8 ประเด็นหลัก  ประกอบด้วย  1.ด้านการศึกษา การเรียนรู้  2.การสร้างเศรษฐกิจเกื้อกูล 3.การสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน  4.อาหารปลอดภัย  สมุนไพร  และสุขภาพชุมชน  5.การสร้างความมั่นคงด้านสวัสดิการชุมชนและที่อยู่อาศัย  6.ภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรม 7.การออกแบบพื้นที่พิเศษของจังหวัดพัทลุง และ 8. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

1.ด้านการศึกษา  ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  จัดตั้งสภาการศึกษาภาคประชาชน  จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อพัทลุงที่ยึดโยงความต้องการของคนพัทลุง  จัดตั้งกองทุนหรือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาพัทลุง  การจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น  ฯลฯ

2.การสร้างเศรษฐกิจเกื้อกูล ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  ผลักดันให้เกิดการจัดทำผังเศรษฐกิจชุมชน  พัฒนาระบบการตลาดที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต  ผู้จำหน่ายย  ผู้บริโภค  และฐานทรัพยากรชุมชน

3.การสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ผลักดันให้เกิดการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ดิน  น้ำป่า  นา  ทะเล  หรือเกษตรผสมผสาน  จัดทำแผนพัฒนาทะเลสาบสงขลาแบบมีส่วนร่วม  ผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา-พัทลุงอย่างมีส่วนร่วม  ฯลฯ

4.อาหารปลอดภัย  สมุนไพร  และสุขภาพชุมชน ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  ผลักดันให้เกิดมาตรฐานอาหารอาหารปลอดภัย  เช่น  ข้าว  อาหาร   ส่งเสริม Green Outlet  ผลักดันให้เกิดคลังตำรายาพัทลุง  อนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น  โรงเรียนอาหารปลอดภัย  ฯลฯ

5.การสร้างความมั่นคงด้านสวัสดิการชุมชนและที่อยู่อาศัย  ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  ผลักดันรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและระบบสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน  ส่งเสริมการยกระดับกองทุนชุมชนสู่สถาบันการเงินชุมชน  ฯลฯ

6.ภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรม ที่ประชุมมีข้อเสนอ  เช่น  ผลักดันให้เกิดหลักสูตร ‘พัทลุงศึกษา’  ในโรงเรียน  ให้เทศบาล/อบต. ค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่น  และผลักดันให้มีศูนย์ส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น  ให้ อบจ.พัทลุง   ม.ทักษิณ  ร่วมรณรงค์กับภาคเอกชน   รณรงค์ขอใช้พื้นที่เรือนจำกลางพัทลุงที่จะย้าย  พัฒนาให้เป็น ‘ลานบ้าน  ลานเมือง  ลานวัฒนธรรมของประชาชน’  ฯลฯ

7.การออกแบบพื้นที่พิเศษของจังหวัดพัทลุง  มีข้อเสนอเช่น   จัดตั้งสภาพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อออกแบบผังการพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน  สร้างลานความร่วมมือในการออกแบบระบบเกษตร  อาชีพ  ฯลฯ

  1. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่ประชุมมีข้อเสนอ เช่น จัดตั้งสภาการท่องเที่ยว  พัฒนาศักภาพผู้ประกอบการ  จัดทำฐานข้อมูลท่องเที่ยว  จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ

ทั้งนี้ข้อเสนอจากที่ประชุมทั้ง 8 ประเด็นนี้  มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ มาร่วมรับฟังและรับข้อเสนอจากภาคประชาชน  เช่น   นายฉัตรชัย  อุสาหะ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

6
ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมอบข้อเสนอจากภาคประชาชน

ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเส้นทางสู่เป้าหมาย “พัทลุงแห่งความสุข”

นายสมภา  ใจกล้า  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า   ข้อเสนอจากที่ประชุมทั้ง 8 ประเด็นนี้  คณะทำงานจะรวบรวม  นำมาสังเคราะห์  เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  และนำข้อเสนอนี้ยื่นในนามสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุง  ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 27 ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง  นอกจากนี้ก็จะสร้างพื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่รูปธรรมในประเด็นต่างๆ ทั้ง 8 ประเด็น  เช่น  ด้านการศึกษา  จะจัดการศึกษาแบบไหน  อย่างไร ?  เพื่อให้คนพัทลุงมีความสุข หรือสร้างพื้นที่ต้นแบบอาหารปลอดภัย  การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน  ฯลฯ  และนำไปขยายผลให้เต็มพื้นที่จังหวัดพัทลุงต่อไป

7
ผู้เข้าร่วมสมัชชาปักธงข้อเสนอจากภาคประชาชนลงบนต้นกล้วยเป็นสัญลักษณ์

ทั้งนี้มาตรา  27 พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

(2) เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม”

ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมงานสมัชชา ได้ร่วมกันประกาศ ‘ปฎิญญาคนเมืองลุง’  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า…

“การพัฒนาประเทศหลายปีที่ผ่านมา  พวกเราไม่มีส่วนร่วมในการกำหนด ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม  ประเพณีวัฒนธรรม  ความเชื่อและภูมิปัญญาถูกทำลาย  ชุมชน  วิถีสั่นคลอน  และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น…..

…พวกเราจึงได้มาร่วมกัน  เปิดเวทีสภาของคนเมืองลุง  สภาแห่งการมีส่วนร่วมของการพัฒนาทุกภาคส่วน  ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดและร่วมปฏิบัติการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน  เพื่อก้าวไปสู่ ‘พัทลุงมหานครแห่งความสุข’ ในทุกๆ ด้าน ทุกมิติ และพร้อมส่งมอบแผ่นดินแห่งความสุขนี้ให้กับลูกหลานพัทลุงรุ่นต่อไป”

8

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ