เสียงก้อนสะอื้น “ตาศักดิ์” จากเหมืองโปแตชด่านขุนทดโคราช

เสียงก้อนสะอื้น “ตาศักดิ์” จากเหมืองโปแตชด่านขุนทดโคราช

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จู่ ๆ Facebook ก็เด้ง Feed รูปคุณตาคนหนึ่งที่ยืนมองผืนดินว่างเปล่า เห็นผืนนา แหล่งน้ำ คอกวัว และวิวทิวทัศน์ความเป็นอีสานคลาสสิก มันควรจะเป็นภาพสวย ๆ ที่เราเคยเห็นบ่อยตามช่างภาพมืออาชีพที่ถ่ายไปลงขายภาพในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยคำค้นว่า “ชาวนา”

แต่พออ่านข้อความ ความจริงกลับสวนทาง

“วีระศักดิ์  ทองอุไร พ่อเฒ่าชราวัย 75 ปี แห่งบ้านซับมะขาม ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ยืนเหม่อมองทุ่งนาของตัวเอง หลังจากไล่ต้อนฝูงวัวออกจากคอกเหมือนเช่นทุกวัน

.

พ่อเฒ่ารูปร่างสูงโปร่ง หน้าคม ผมขาว ย้อนอดีตให้เราฟังอีกว่า ทุ่งนาผืนนี้มีจำนวน 29 ไร่ ครอบครัวได้ทำนาปลูกข้าวสืบทอดกันมาทุกปี จะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 150 กระสอบ ซึ่งเหลือกินยังได้ขาย เพราะบริเวณนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นแหล่งน้ำซับซึม ถึงช่วงน้ำหลากปลาก็จะแหวกว่ายมารวมกันอยู่ที่นี่ ข้าวปลาจึงอุดมสมบูรณ์ไม่เคยขาดเขิน

.

“ตรงนี้คือบ่อน้ำซับซึ่งเป็นน้ำจืดที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เมื่อตอนเป็นหนุ่มตากับเพื่อนบ้านได้ช่วยกันขุด จนคนแถวนี้ทั่วทั้งตำบล ได้มาตักและหาบไปดื่มกินและใช้อาบ”

.

ตาศักดิ์ ยืนอธิบายด้วยภาษาโคราชอยู่ริมบ่อน้ำซับเก่าสีดำเข้ม ที่ไม่เหลือแม้กระทั่งร่องรอยของวัชพืชในน้ำ แต่เรายังสังเกตเห็นน้ำผุดขึ้นมาตลอดเวลา

.

ตรงนั้น (ชี้มือไปที่โรงงานเหมืองซึ่งสามารถมองเห็นแนวต้นสนที่ถูกปลูกเป็นรั้วกั้นอย่างชัดเจน) เรียกว่า โนนหนองผักแว่น น้ำจากที่นั่นจะไหลลงมารวมกันที่นี่

.

หลังจากมีการทำเหมืองแร่โพแทชได้ 3-4 ปี ที่นา 29 ไร่ ของตาศักดิ์ ก็ค่อยๆ เสื่อมโทรมลง คือเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ต้นข้าวที่เคยเขียวขจีกลับยืนต้นตาย ดินเค็ม น้ำเค็มสีดำเข้ม จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ส่วนปูปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ก็หายสนิท มิหนำซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ดินทรุดวัวติดหล่มตายไปแล้ว 4 ตัว

.

เล่ามาถึงตรงนี้ด้วยความอุกอั่งคั่งแค้นตาศักดิ์จึงได้ปล่อยโฮชุดใหญ่ออกมา ทำให้ผมสตั๊นจนถามต่อไปไม่ถูก ครั้นพอจะหันไปปรึกษากับน้องๆ ช่างภาพว่า ‘เอาไงต่อ’ ทุกคนกลับหลบสายตาและหันหลังให้ผม ขณะที่มีเสียงสะอื้นให้ได้ยิน

.

ผมตั้งสติได้จึง เดอะโชว์ มัส โกออน ไปพร้อมกับปาดน้ำตาคุยกัน…

.

“บริษัทเขามาแจกปุ๋ยฟรี แต่ที่นาของตามีสภาพอย่างที่เห็น แล้วจะให้เอาปุ๋ยมาใส่อะไรล่ะไอ้นายเอ้ย”  ตาศักดิ์ กล่าวด้วยสุ้มเสียงแหบพร่า ทิ้งท้าย

 #เหมืองแร่โพแทช #ภาคอีสาน
.

นี่คือตัวอักษรความเรียงจากความรู้สึกรู้สา ความรู้ร้อนรู้หนาว ของ เดชา คำเบ้าเมือง นักสื่อสารเพื่อสังคมผู้ถูกสถาปนาให้ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี พร้อมการสื่อสารขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในภาคอีสาน รวมถึงการต่อสู้คัดค้านการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ จ.อุดรธานี มาตุภูมิของเขา และผืนดินอีสานทั้ง อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

ตัวอักษร และภาพถ่ายที่ตราตรึงจนสามารถดึงก้อนน้ำลายขึ้นมาจุกใจที่ลำคอ บอกเล่าผ่านภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือที่ขมขื่นบนผืนดินแห่งนี้ที่เคยสวยหวานเหมือนความฝันเมื่อคราก่อนกับการย้อนไปแค่ 4 ปีที่แล้ว ที่นี่เคยเป็นพื้นที่ทำนากว่า 29 ไร่ และหล่อเลี้ยงครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน จนมีการก่อสร้างเหมืองเกิดขึ้นในพื้นที่ ทรัพยากรที่เคยสมบูรณ์ก็เริ่มเสื่อมสภาพลง จนไม่สามารถทำนาได้อีกต่อไป

ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่อ๋อง เดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมืองและผู้ที่ติดตามสถานการณ์โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่เข้ามาในอีสาน โดยเฉพาะเหมืองแร่ อย่างต่อเนื่อง พี่อ๋องเป็นคนถ่ายภาพชุดนี้ และ โพสสเตตัสนี้ ผ่านไปเพียงแค่ชั่วข้ามคืน มีคนกดแชร์ไปกว่า 1,000 แชร์

“ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้รับ Feed back เยอะขนาดนี้ ก่อนหน้านี้เขียนกลอนโพสต์ไปมีคนมากดถูกใจ 100 กว่าคนก็คิดว่าจะไม่เขียนแล้ว แต่อีกใจก็อยากเขียนเหมือนกัน มันเป็นความตั้งมั่นในจิตใจ ตั้งแต่กลับมาจากพื้นที่แล้ว พอตัวเองว่างเลยลองเขียนดู แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเยอะขนาดนี้ พอเขียนไปแล้วมานั่งกินข้าวตอนเย็น ภรรยาบอกว่ามีคนแชร์เกือบ 200 คนแล้ว เลยตกใจเอามือถือมาดู เห็นเลยว่ายอดคนดูยอดกดไลค์เด้งแจ้งเตือนตลอดเวลาไม่เคยเจอมาก่อน บอกเลยว่าไม่ได้ตั้งใจจะเขียนดราม่าอะไร ตั้งใจสื่อสารสิ่งที่เราเจอไปก็แค่นั้น จนถึงเช้าคุณแชร์ไปเกือบ 1,000 คนรู้สึกทำตัวไม่ถูก”

เดชา คำเบ้าเมือง เล่าให้ฟังหลังจากที่เรายกหูโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยด้วยประเด็นคำถามแรก รู้สึกอย่างไรที่มีคนแชร์ไปเยอะขนาดนี้ รวมถึงยังได้พูดคุยถึงที่มาที่ไป ในการหยิบเอาเรื่องนี้มาคุย มันเกิดมาจากอะไร เดชา เล่าว่า วันหนึ่งมีน้องที่เคยทำงานด้วยกันที่องค์กรชื่อว่า โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ หรือ PPM ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกาะติดปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ และทำงานรณรงค์ เคลื่อนไหว ตลอดจนผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ ได้โทรมาชักชวนให้ไปช่วยสื่อสารเรื่องราวผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

“มันไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ของการลงพื้นที่แค่ 2-3 วัน แต่มันคือการสั่งสมและเป็นต้นทุนเดิมจากการทำงานชุมชนของผมมาเกือบ 20 ปี ทำให้มีมุมมอง มีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาของชุมชน อีกอย่างคือที่บ้านผมก็กำลังจะมีเหมืองแร่โปแตชเช่นกัน จึงทำให้ผมมีความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกแบบนั้น ตอนแรกทาง PPM ติดต่อมาว่าอยากให้ไปช่วยสื่อสารเรื่องราวของพื้นที่นี้ ก็กังวลใจว่าจะไปดีมั๊ย เพราะมองว่าตัวเองไม่ได้มีศักยภาพในการผลิตหรือทำโปรดักชั่นขนาดนั้น เลยถามว่าทางองค์กรมีความคาดหวังขนาดไหน, เห็นสื่อใหญ่ลงไปบ่อยแล้วจะให้ไปทำอะไร ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าถึงแม้จะมีโปรดักชั่นใหญ่ลงไป แต่เขามองว่าไม่มีใครสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหมืองแร่โปแตชได้ดีและลึกซึ้งเท่ากับผม”

เดชา กล่าวกับผม พร้อมกับเสริมว่าพอลงพื้นที่ไปเห็นอารมณ์ชาวบ้าน เห็นกระบวนการ ขั้นตอน การต่อสู้กรณีเหมืองแร่โปแตช เลยเข้าใจชาวบ้านในตรงนี้มาก ตอนสัมภาษณ์คุณตาศักดิ์ ก่อนบันทึกเขาอารมณ์ดีมาก บอกว่าไม่ได้เป็นอะไร แต่พอถามไปเรื่อย ๆ ตาศักดิ์ร้องไห้ปล่อยโฮออกมา จนพวกเขาตกใจ เห็นเลยว่าภายในของชาวบ้านเป็นทุกข์มาก สายตาทีมงานแต่ละคนแทบไม่มองหน้ากันเลยหลบสายตากันไปหมด

“แต่ที่สังเกตเห็นคือส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่มาแชร์ อาจจะเป็นเพราะเรื่องความไม่เป็นธรรม เรื่องความเท่าเทียมที่มันเชื่อมกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ และเริ่มมีคนที่มีอิทธิพลทางความคิดเข้ามาแชร์คนก็เลยรู้จักกันมากขึ้น และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พูดในเชิงข้อมูลมากนัก ก็เลยไม่ได้มีการโต้แย้งอะไรกันในโพสต์”

สำหรับพื้นที่พบแร่โปแตชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ

ข้อมูลจากข่าวคณะโฆษก รัฐบาลไทย  โครงการเหมืองแร่โปแทชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน

ส่วนเหมืองโปแตช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ความเคลื่อนไหวจากพื้นที่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดนครราชสีมา อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ศูนย์ดำรงธรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ด่านขุนทด เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 200 คน ในกรณีปัญหาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โดยรับว่าจะนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้นำเสนอหรือตั้งคำถามไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ