เครื่องอัลตราซาวด์ท้องโค-กระบือ ความหวัง พลังใจเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ

เครื่องอัลตราซาวด์ท้องโค-กระบือ ความหวัง พลังใจเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ

“จากวันนั้นที่น้ำท่วม วันที่เขาไร้ความหวัง วันที่ไม่คิดว่าใครจะเห็น แค่เพียง Thai PBS เผยแพร่ข่าวออกไป ต่อให้เราจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ยังมีคนที่ฟังเสียงของพวกเราบ้าง จริง ๆ แล้ว ชาวบ้านเขาไม่คิดว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือ ได้รับหญ้าอาหารสัตว์เลย มันไม่มีหวังจริง ๆ ค่ะ ตลอดเวลาที่เดินลุยน้ำ เขาไม่คาดหวังเลยว่าจะได้อะไร ขอแค่มีใครได้ยินเสียงเขาบ้างก็พอ…”  ภัทรภร วิไลมงคล นักข่าวพลเมืองสำนักงานสภาเกษตรกร บอกเล่าความรู้สึกผ่านข้อความส่งทางไลน์ พร้อมส่งพลังให้กับทีมประสานงานข่าวพลเมือง ถึงการร่วมเปิดพื้นที่การสื่อสารผ่านช่องทางของไทยพีบีเอสในช่วงสถานการณ์ท่วมใหญ่ จากอิทธิพลพายุโนรูในลุ่มน้ำมูลเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา กับ Thai PBS ผ่าน C-site ถึงผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในลุ่มน้ำมูลขาดแคลนอาหาร หญ้าแห้ง-ฟางแห้ง ในพื้นที่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ณ ขณะนั้น

กลุ่มเกษตรกรได้รับเครื่องอัลตราซาวด์แม่วัว แม้วันนี้ผ่านมาเกือบขวบปีหลังน้ำท่วม เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ยังมีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันในการดูแลสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นเงินทุนสะสมเก็บออมของครอบครัว ภายใต้การดูแลร่วมกันของหน่วยงาน ทั้งสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการสนับสนุนเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อตรวจโค-กระบือ ที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ว่าหลังมีการผสมน้ำเชื้อแล้ว โค-กระบือ ที่เลี้ยงนั้นตั้งท้องหรือ

 เครื่องมือปศุสัตว์สำหรับเกษตรยุคใหม่ในชุมชน วิศณ์ ประสานพันธ์ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในกองกำลังนักสื่อสารภาคพลเมืองในพื้นที่ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ปักหมุดรายงานว่า องค์การบริหารส่วนตำบลกู่ จ.ศรีสะเกษ ได้มอบเครื่องอัลตราซาวด์ มูลค่า 42,000 บาท เพื่อใช้ตรวจภายในโค-กระบือของกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อยั่งยืนศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแม่พันธุ์โคเนื้อ ในการเพิ่มอัตราการตั้งท้อง เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องอัลตราซาวด์มีเพียงเครื่องเดียว ไม่เพียงพอกับการให้บริการของกลุ่มเครือข่ายที่รับผิดชอบใน 2 อำเภอ ทั้งอำเภอขุขันธ์ และอำเภอปรางค์กู่

พสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกู่ จ.ศรีสะเกษ

“การให้การสนับสนุนเรื่องปศุสัตว์ เพราะว่าในพื้นที่ ต.กู่ ของเรามีพี่น้องทำการเกษตร เรื่องการทำนา อาชีพเสริม คือ ปศุสัตว์ ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ทุกครัวเรือนได้ทำมานาน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล ให้การสนับสนุนเรื่องนวัตรกรรมอัลตราซาวด์ เพื่อให้พี่น้อง เกษตรกรของเราได้นำไปในการช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน อาชีพปศุสัตว์ ในการต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มผลผลิต เพื่อความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรต่อไป” พสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกู่ จ.ศรีสะเกษ เห็นความสำคัญ และประโยชน์ในการนำเครื่องอัลตราซาวด์ ไปทดลองใช้จริงกับโคที่ได้ผสมผสมพันธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่พบการตั้งท้องและเพื่อรู้ผลมดลูกของวัวที่มีปัญหา

มูล แหวนเงิน กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อยั่งยืนศรีสะเกษ

“ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ จากการผสมเทียมไปแล้วรู้ว่าวัวท้องไม่ท้อง การที่เรามีเครื่องนี้ช่วยได้มากค่ะ ตอนนั้นมีวัวอยู่ประมาณ 21 ตัว ในตอนนี้มีวัว 29 ตัว ซึ่งมีการผสมพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้ทราบว่าวัวตั้งท้องอยู่ 3-4 ตัว เราเอาเครื่องนี้มาตรวจรังไข่ดูว่าวัวมีความพร้อมที่จะผสมไหม ถ้าไข่เล็กอาจจะผสมไม่ได้” มูล แหวนเงิน กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อยั่งยืนศรีสะเกษ เล่าถึงการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องอัลตราซาวด์ ทำให้รู้ถึงการตั้งท้องหลังจากการผสมเทียมไปแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขได้ทันเวลา เเละยังสามารถตรวจระบบสืบพันธ์ว่ามีความพร้อม ในการที่จะตั้งท้องของโคให้มีประสิทธิภาพ

เครื่องอัลตราซาวด์โค-กระบือ เป็นวิธีการหนึ่งในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา การปรับปรุงการผลิตโคเนื้อ ในการเพิ่มผลผลิตลูกโคของเกษตรกรในเครือข่าย นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ยังมีการตัดหญ้า และใบข้าวมาเป็นอาหารวัว โดยอาศัยความร่วมมือเกื้อกูลกัน ทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษา และส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค-กระบือให้ได้มาตรฐาน

พลังการสื่อสารในมือคุณ
“…อย่างน้อยก็ยังมีคนที่ฟังเสียงของพวกเราบ้าง จริง ๆ แล้ว ชาวบ้านเขาไม่คิดว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือ…” ตัวอักษรมีเสียง และมีพลังมากพอให้นักสื่อสารได้ชื้นใจขึ้นอีกเท่าทวี กับการเปิดพื้นที่สื่อสารให้พลเมืองร่วมบอกเล่าเรื่องราวผ่านช่องทาง ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส ซึ่งมากกว่าการมียอดผู้อ่าน ผู้ชม แต่พื้นที่ที่เปิดกว้างจะเป็นส่วนสำคัญการันตีว่า “ทุกเสียงจะถูกนับ ถูกได้ยิน” โดยเฉพาะเสียงคนเล็กคนน้อยผ่านนักข่าวพลเมืองที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน บันทึกภาพ เสียง บอกเล่าเรื่องราวส่งต่อเพื่อขยายสู่สาธารณะ ผ่านการทำงาน “มือสมัครใจ” ที่ไม่นิ่งดูดาย รู้ร้อน รู้หนาวกับเรื่องราวรอบตัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ