มาลอง….แล้วจะรัก(ษ์)

มาลอง….แล้วจะรัก(ษ์)

มาเมืองลอง จังหวัดแพร่ เมืองเล็กที่มีเสน่ห์ แต่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือ ในอดีตลองมีบทบาทสำคัญในการเป็นเส้นทางการค้าทางบก และทางน้ำผ่านลุ่มน้ำยม ไปยังอุตรดิตถ์ น่าน ลำปาง เมืองหน้าด้านสำคัญระหว่างสุโขทัยและล้านนา แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แร่เหล็กคุณภาพดีจากบ่อเหล็กลอง ไม้สัก ของป่า และวัตถุดิบต่างๆ ก่อนที่จะส่งไปค้าขายที่เมืองใหญ่อย่างหริภุญชัย (ภูเดช แสนสา,2553) เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และทรัพยากร มีพ่อครู แม่ครูหลายท่านได้เก็บรวบรวม พัฒนาและถ่ายทอดภูมิปัญญาของพื้นที่ให้รู้จักเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น แม่ครูประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ สิ่งทอ จากศูนย์เรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง และการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ให้ได้เข้าไปศึกษาเลยจะชวนมากินเมี่ยงและเยี่ยมชมเมืองลองกัน

ภาพมุมสูงอำเภอลอง จังหวัดแพร่

มาลอง…เช็คอินที่สถานนีรถไฟบ้านปิน สถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนผสมเรือนปั้นหยาแบบไทย

เริ่มต้นกันที่สถานีรถไฟบ้านปิน จุดเช็คอินอันเป็นที่นิยมของหลายคน เป็นสถานีรถไฟที่มีความโดดเด่นแปลกตา ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2457 ในสมัยรัชกาลที่6 ด้วยสไตล์ “เฟรมเฮ้าส์” แบบบาวาเรียน (Bavarian Timber Frame House) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียนของเยอรมัน ผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทย โดยใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และไม้สักในพื้นที่แพร่ ตัวอาคารเป็นตึกสองชั้น สีเหลือง ประดับด้วยไม้ลายฉลุ จนกลายเป็นสถานีไฟฟ้าที่มีเอกลักษ์เฉพาะตัวแห่งเดียวในไทย

สถานีรถไฟบ้านปิน ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่

ระหว่างรอรถไฟก็สามารถซื้ออาหารว่าง ‘เมี่ยง’หรือใบชาหมัก ซึ่งมีการห่อเป็นคำ ๆ ห่อด้วยใบตองเป็นคำ แล้วร้อยเป็นพวงด้วยใบมะพร้าว ทำให้พกพาง่าย ขายทั้งแบบเปรี้ยวและแบบหวาน มีไส้เมี่ยงที่ประกอบด้วย น้ำตาลเคี่ยวปรุงรสด้วยขิง เกลือ และอาจมีการใส่มะพร้าวคั่วลงไปรสชาติหวานอม มัน อมฝาดทำให้กินง่ายขึ้น และไม่ต้องบ้วนน้ำทิ้ง

มาลอง…ศึกษาเรื่องราวของ’เมืองแพร่แห่ระเบิด

มาลองชิมกาแฟและศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ และเมืองลอง ที่ร้านกาแฟแห่ระเบิด นอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้แล้ว ที่นี่ยังมีงานศิลปะ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่เจ้าของร้านอย่างคุณเชษฐา สุวรรณสาได้ศึกษาเรื่องราวของชุมชน และที่มาของ ‘เมืองแพร่แห่ระเบิด’ กับซากระเบิด 3 ลูก ที่ถูกนำไปถวายให้แก่วัดแม่ลานเหนือ วัดศรีดอนคำ และวัดนาตุ้ม เพื่อทำเป็นระฆัง เพราะเคาะดูแล้วมีเสียงดังกังวาน ชาวบ้านจึงได้นำใส่เกวียนแห่ร่วมกับครัวทาน นำฆ้อง กลอง มาตีกันอย่างสนุกสนาน จึงเกิดคำว่า “แพร่แห่ระเบิด”

หลงรัก…ความทรงจำแห่งอดีตเมืองลอง เมืองแพร่ และผ้าโบราณ 

“ร้านรูปฉลองศิลป์” อดีตร้านถ่ายรูปเก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 โดยคุณฉลอง พานิชพันธ์ ที่เคยเปิดร้านเปิดร้านอยู่ที่ลำปาง และย้ายมาเปิดกิจการใหม่ที่จังหวัดแพร่ ในสมัยที่เมืองลองยังไม่มีไฟฟ้า ที่นี่มีภาพถ่ายแห่งความทรงจำ บันทึกที่เก็บเรื่องราวในอดีตของคนในพื้นที่ไว้มากมาย รวมถึงพัฒนาการของอุปกรณ์ถ่ายภาพ ตั้งแต่กล้องไม้สามขา ฟิล์มเป็นกระจกแผ่น จนพัฒนาเป็นฟิล์มแผ่นพลาสติก และฟิล์มม้วนตามลำดับ รูปที่ได้จะเป็นแบบขาว-ดำ ภาพถ่ายที่นี่ถ่ายด้วยแสงธรรมชาติ และส่วนใหญ่จะถ่ายนอกสถานที่ จึงจะมีเรื่องราวของประเพณีท้องถิ่น และรูปบุคคล ซึ่งลูกชายอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ได้เปลี่ยนที่นี่มาเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ห้องภาพฉลองศิลป์’ จากการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล

อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ผู้เปลี่ยนร้านถ่ายภาพเป็น พิพิธภัณฑ์ห้องภาพฉลองศิลป์

อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ก็ยังเป็นบุคคลที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ซึ่งภายในจัดแสดงผ้าโบราณเมืองลอง ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก “เมืองลอง” ผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ และวิธีการเก็บผ้าแบบโบราณ รวมถึงจิตรกรรมเวียงต้า ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้หลายแผ่นที่ประกอบเป็นฝาผนังของช่างพื้นบ้านในอดีต เดิมอยู่ในวัดต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่ อีกทั้งยังจุดจำหน่ายผ้าลายท้องถิ่นให้ได้เลือกหากัน โดยเฉพาะผ้าตียจกเมืองลอง ที่ยังคงมีการสืบทอดการทออยู่จนถึงปัจจุบัน

หลงรัก…ขนมจีนน้ำย้อยอาหารอร่อยคู่เมืองลอง

เที่ยงมาก็มาลองขนมเส้นน้ำย้อยหรือขนมจีนน้ำย้อย อาหารขึ้นชื่อของพื้นที่ วันนี้เรามาที่ร้านเก่าแก่ของพื้นที่ ร้านขนมเส้นน้ำย้อยครูอินสม ซึ่งคณุอินสมเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ขนมเส้นน้ำย้อย มาจาก เส้นขนมจีนทำเองที่บีบสด ๆ นำมาล้าง ก่อนสะเด็ดน้ำ จึงจะเห็นน้ำหยดย้อยออกมาจากเส้นขนมจีน ก่อนนำมาเสิร์ฟ กินคู่กับน้ำพริกที่ทำจากพริกป่น กระเทียมเจียว หอมแดงเจียว และพรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลหรือผงปรุงต่าง ๆ พร้อมกับน้ำเงี้ยวซึ่งมีทั้งน้ำเงี้ยวใส หรือน้ำเงี้ยวน้ำข้นที่ปรุงรสแล้ว และผักลวก ถั่วผักยาว ผักบุ้ง เข้ากันได้ดี หากใครมาแล้วไม่ได้ชิมถือว่ามาไม่ถึงเมืองลอง

หลง…เสียง ‘ซึง’ ที่โฮงซึงหลวง

หากได้เดินเข้ามาในซอยเล็ก ๆ ของบ้านดอนทราย ตำบลห้วยอ้อ หลายครั้งก็จะได้ยินเสียงซึงแว่วมาตามลม เพราะที่นี่คือที่ตั้งของ ‘โฮงซึงหลวง’ สถานที่รวบรวมความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา และผลิตเครื่องดนตรี โดยเฉพาะเรื่องของซึง เครื่องสายสำหรับดีดที่คนเหนือคุ้นเคยกันดี ซึ่งที่นี่ทำจากไม้สักซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ โฮงซึงหลวงแห่งนี้ก่อตั้งโย ครูบอม จีรศักดิ์ ธนูมาศ ครูภูมิปัญญาล้านนาด้านดนตรี สามารถเข้าไปเยี่ยมชม เรียนดนตรีพื้นที่บ้าน เรียนรุ้วิธีการผลิตเครื่องดนตรี หรือซื้อติดไม้ติดมือกลับกันมาได้

หลงรักเมืองเล็ก ๆ ที่ยังคงร้านอาหารโบราณ

ช่วงค่ำก็สามารถเข้าตัวเมืองลองมาชิมก๋ยวเตี๋ยวไข่ป้าจีน ร้านโบราณที่เปิดมาแล้วกว่า 60 ปี ที่อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ห้องภาพฉลองศิลป์ ที่นี่จะมีสองเมนูหลัก คือ ก๋วยเตี๋ยวไข่ ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำใส รสชาติกลมกล่อม สามารถเลือกหมูชิ้น และเครื่องใน พร้อมไข่ได้ และผัดไทย ใส่ไข่ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ รสชาติกลมกล่อม

รักษ์…ต้นทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นและสืบต่อทอดเพื่อเมืองลอง

นี่คือส่บางส่วนของต้นทุนทางภูมิปัญญาของเมืองลอง ที่ใครได้มาเที่ยวแล้วจะตกหลุมรักเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ แต่คนในพื้นที่ก็ยังมีโจทย์เรื่องของการรักษาภูมิปัญญา ต้นทุนท้องถิ่น เหล่านี้ให้คงอยู่และสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงดึงลูกหลานให้กลับมาในชุมชนเพื่อสืบต่อความรู้เหล่านี้ชวนคิดถึงภาพที่จะเป็นไปได้ในการสืบสานภูมิปัญญาของพื้นที่กับ ฟังเสียงประเทศไทย อนาคตภูมิปัญญญาเมืองแพร่ ส่งต่ออย่างไร

ภาพอนาคตในอีก  5 ปีข้างหน้า ภูมิปัญญาคนสูงวัยเมืองแพร่ ส่งต่ออย่างไร

ภาพอนาคตที่ 1 ใครใคร่โตก็โต จัดการตามศักยภาพของชุมชน

การทำงานและส่งต่อความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้สูงอายุสู่ชุมชนเป็นไปแบบธรรมชาติ ตามศักยภาพและเงื่อนไขของแต่ละชุมชน ชุมชนบางส่วนที่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและมีความเข้มแข็งให้การยอมรับ ยกย่องพ่อครูแม่ครู แต่ยังอาจีไม่มาก มีการจัดการความรู้และเก็บรวบรวมภูมิปัญญาของตนเองไว้ แต่ยังไม่เป็นระบบ มีเชื่อมโยงกับกิจกรรมเชิงท่องเที่ยว อาจมีคนภายนอก หรือนักท่องเที่ยวสนใจบ้าง ในช่วงที่มีกิจกรมหรืองานเทศกาลต่าง ๆ  แต่ภูมิปัญญายังไม่ถูกยอมรับในการศึกษากระแสหลัก คนรุ่นใหม่และเยาวชนยังไม่ให้ความสนใจ และส่วนหนึ่งยังออกไปเรียน ไปทำงานนอกชุมชน ยังไม่มีการต่อยอดหรือขยายเป็นหลักสูตรท้องถิ่น  ภูมิปัญญาบางส่วนจึงสูญหายไปพร้อมกับผู้สูงอายุ หรือหายไปเพราะไม่เข้ากับยุคสมัย

ภาพอนาคตที่ 2 พื้นบ้านเชื่อมสากล ใช้เทคโนโลยีมาจัดการภูมิปัญญา

ชุมชน ครูภูมิปัญญา ท้องถิ่น เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและพยายามเข้ามาเก็บรวบรวมภูมิปัญญา โดยมีรัฐหรือหน่วยงานวิชาการมาสนับสนุนและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน เกิดเครือข่ายด้านครูภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ที่พยายามผลักดันความรู้สู่หลักสูตรท้องถิ่นแต่ยังเป็นไปได้ช้า เนื่องจากหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนยังอยู่ในระบบของส่วนกลาง ความรู้ด้านภูมิปัญญาส่วนใหญ่จึงถูกส่งต่อโดยใช้สื่อออนไลน์ จนเกิดศูนย์เรียนรู้กระจายตรงส่วนต่าง ๆ แต่ยังไม่ทั่วถึง คนรุ่นใหม่บางส่วนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจะเห็นโอกาสเชื่อมโยงภูมิปัญญากับการจัดการเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ และคุณค่าให้กับพ่อครูแม่ครูได้บางส่วน รัฐสนับสนุนช่วยจัดกิจกรรม เพื่อให้พื้นที่ของชุมชนในการแสดงและเผยแพร่ความรู้ แต่ยังไม่ต่อเนื่อง ภูมิปัญญาที่ขายได้จะถูกส่งต่อ แต่ภูมิปัญญาบางส่วนจะหายไป บางส่วนที่เป็นปัจเจกยกระดับไปสู่ภูมิปัญญาแบบสมัยใหม่

ภาพอนาคตที่ 3 นวัตกรรมวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมและพัฒนา

ชุมชนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมาเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดภูมิปัญญา ต่อยอดจากฐานของตนเองสู่การการจัดการและรวบรวมองค์ความรู้โดยการมีส่วนร่วม พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของผู้ถ่ายทอดความรู้ไปพร้อม ๆ กัน ภูมิปัญญาที่ไม่เข้ากับยุคสมัยจะหายไป แต่ภูมิปัญญาหลายส่วนจะถูกปรับใช้ เพื่อสร้างมูลค่า จากการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน รัฐและท้องถิ่นสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการมีกฎหมายและนโยบายที่ให้อำนาจและงบประมาณ มีการส่งต่อความรู้ไปสู่โรงเรียน พัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ที่เชื่อมกับความรู้กระแสหลัก รัฐเข้าสนับสนุนไปสู่การต่อยอดสร้างอาชีพ ให้คนรุ่นใหม่สามารถยกรับดับภูมิปัญญาไปสู่อาชีพได้ มีกองทุนสวัสดิการ ในดูแลพ่อครูแม่ครู เกิดหนุนเสริมอย่างต่อเนื่องให้เกิดพื้นที่กลาง ที่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่เคลื่อนไหวด้านศิลปะวัฒนธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ร่วมโหวตภาพความน่าจะเป็นในอนาคต “ภูมิปัญญาคนสูงวัยเมืองแพร่ ส่งต่ออย่างไร

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับฟังเรื่องราว ภูมิปัญญาคนสูงวัยเมืองแพร่ส่งต่ออย่างไร “ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่ง “เสียง”แลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อร่วมหาทางออกให้กับ “ประเทศไทย” กับรายการฟังเสียงประเทศไทย วันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2565 เวลา 17.30 – 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ