แก้สมการบ้านบนดอย ป่าอมก๋อย-กาแฟ-ข้าวโพด

แก้สมการบ้านบนดอย ป่าอมก๋อย-กาแฟ-ข้าวโพด

สังเกตว่าหากเราขับรถผ่านไปแถวอำเภอ “อมก๋อย” จังหวัดเชียงใหม่ จะไม่ค่อยเห็นจุดชมวิวโล่ง ๆ ข้างทางมากเท่าในเขตอำเภออื่น ๆ   เนื่องด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของอมก๋อยนั้นหนาแน่นไปด้วยป่า และพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า   มากขนาดไหนก็คือหากคิดตามสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมด   ชาวชุมชนมีเอกสารสิทธิเพียงแค่ร้อยละ 0.56   หมายความว่าคนเกือบจะทั้งหมดในอมก๋อยนั้นอยู่อาศัยในเขตป่า

สวนกาแฟที่ปลูกแซมป่าดั้งเดิมในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

หากคิดบนฐานที่ว่าพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ให้ต้นไม้ได้เติบโต สัตว์ป่าอยู่อาศัย เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร  คนจะถูกนับเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นศัตรูตัวอันตรายที่กิจกรรมในการดำรงชีวิตทั้งหลายจะทำให้ป่าเสื่อมโทรม ทางออกเดียวเมื่อตั้งสมมติฐานแบบนี้คือการแยกคนให้แยกขาดออกจากป่า   แต่ทางแก้ปัญหานี้ฟังดูช่างย้อนแย้งเมื่อมีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่า ชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นประชากรหลักของอำเภออมก๋อย หลายชุมชนอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ ก่อนที่จะถูกประกาศว่าเป็นป่าโดยรัฐ  

นับว่าเป็นเรื่องแปลก หากชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่กับป่ามาหลายร้อยปีและหลายต่อหลายชั่วอายุคน จะไม่รู้วิธีการอยู่ร่วมกับป่าอย่างสันติ  เพราะเมื่อป่าเสื่อมโทรมคนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบก็คือพวกเขาเอง

เมื่อพบว่าในหลายพื้นที่มีปัจจัยพื้นฐานของชุมชนคล้าย ๆ กัน คือคนต้องอาศัยอยู่ร่วมกับป่า การไล่คนออกจากป่าดูจะไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน การแสวงหาจุดร่วมของคนกับป่าจึงเป็นความจำเป็นที่ผู้คนในแต่ละพื้นที่ต้องหาจุดสมดุลร่วมกัน

วิชช์ จันทร์ประเสริฐ 
ผู้ก่อตั้งธุรกิจ กาแฟอมก๋อยรักษ์ป่า เพื่อหวังสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่อำเภออมก๋อยจากต้นทุนจากธรรมชาติที่มีอยู่

แล้วคนในป่าทำมาหากินอย่างไร?

ที่อมก๋อยเราจะไม่เห็นไร่ข้าวโพดกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาริมทางหลวงที่นี่เช่นในบางอำเภอในพื้นที่ภาคเหนือ  กว่า 7 ปีมาแล้วที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นมีการขอความร่วมมือห้ามชาวอมก๋อยปลูกข้าวโพด (ได้มีการติดต่อเพื่อยืนยันข้อมูลกับทาง Facebook Page เทศบาลตำบลอมก๋อย ว่าการขอความร่วมมือเกิดขึ้นในปีใดระหว่างปี พ.ศ.2557 หรือ พ.ศ.2559 เพราะตัวเลขในรูปถ่ายไม่ชัดเจน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ปีปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2566)

การห้ามปลูกข้าวโพดนี้เพื่อลดปัญหาหมอกควัน PM 2.5   ซึ่งในระยะหลังเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกฤดูฝุ่น แม้สาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5 มีหลากหลายที่มาก็ตาม     ชุมชนที่อยู่อาศัยทำมาหากินในเขตป่ามักถูกทำให้ตกเป็นจำเลยเสมอมา   อย่างไม่จำว่าต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ภาพของชาวเขาชาวดอยโค่นต้นไม้ใหญ่เพื่อปลูกข้าวโพดถูกทำให้เป็นภาพจำโดยสื่อ และคนเมืองแยกไม่ออกว่าอันไหนคือไร่ข้าวโพด อันไหนคือการทำไร่หมุนเวียน เอาเป็นว่าถ้าเห็นภูเขาในป่าที่ต้นไม้แหว่งไปก็ทึกทักว่าเป็นไร่ข้าวโพดไปเสียหมด  

ไร่หมุนเวียนของชาวชุมชนที่อาศัยร่วมกับป่าในอมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ลาดชันเหมาะกับพืชบางชนิด

ข้าวโพด มักถูกทำให้เป็นจำเลยที่ 1 แม่โดยการเก็บสถิติใน ปี พ.ศ.2565 นั้นข้าวเสียด้วยซ้ำที่เป็นพืชซึ่งทำให้เกิดจุดความร้อนในการเผาสูงสุดในประเทศไทยจากการเก็บสถิติเมื่อ วันที่ 1 มี.ค. 2566  สำหรับพื้นที่ลาดชันแบบในอำเภออมก๋อยไม่เหมาะในการปลูกข้าว (แต่ดีต่อข้าวดอย ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นต่าง ๆ) แต่ปลูกข้าวโพดได้   ด้วยข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกง่ายขายคล่อง ใช้แรงงานน้อย มีตลาดรับซื้อแน่นอน แต่การปลูกบนพื้นที่สูงและลาดชันมักมีปัญหาการขจัดซากต้นข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในปีต่อไป วิธีการจัดการที่ง่ายสุดก็คือการเผา และเกษตรกรยังได้ธาตุอาหารกลับลงไปยังดินด้วย   แต่ผลเสียคือทำให้เกิดฝุ่นควันทั้ง PM10 และ PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ป้ายประกาศจากหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ห้ามคนอมก๋อยปลูกข้าวโพด ติดประกาศบริเวณสี่แยกหอมด่วน
เครดิต: เทศบาลตำบลอมก๋อย และเพจส่องกล้องมองอมก๋อยโพสต์ทาง Facebook Page เมื่อ 24 สิงหาคม 2559

ทั้ง ๆ ที่ PM 2.5 เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงสถิติ ในหลายครั้งผู้คนในสังคมกลับใช้ความเชื่อนำทางและชี้นิ้วหาคนผิดไปที่ผู้คนบนดอย อย่างไม่ค่อยเหลือพื้นที่ให้ได้อธิบายต่อสังคมสักเท่าไหร่

แล้วถ้าคนอมก๋อยไม่ปลูกข้าวโพด เขาจะปลูกกันอะไรดี?

จริง ๆ พืชเศรษฐกิจของคนที่นี่ก็มีหลากหลาย แต่กาแฟคือหนึ่งในความเป็นไปได้ที่เปิดช่องเล็ก ๆ ให้คนและป่าได้อยู่ร่วม

ต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นพืชชั้นบน กาแฟสามารถปลูกไล่ระดับลงมาเพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมากนัก กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่กับป่าได้ดี

จุดเด่นของกาแฟ คือเป็นพืชที่ชอบอยู่ใต้ร่มไม้ หากปลูกกลางแจ้งมักจะไม่งาม ให้ผลผลิตที่คุณภาพด้อยกว่ากาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้   ในที่นี้สามารถเป็นได้ทั้งป่าไม้ดั้งเดิมและสวนป่าที่ปลูกขี้นใหม่   ลักษณะภูมิประเทศที่มีความลาดชันเป็นเนินเขาของอำเภออมก๋อยสร้างอัตลักษณ์ในรสชาติของกาแฟ

ก่อนการเก็บเกี่ยวกาแฟ แต่ละลูกค่อย ๆ ทยอยสุก เกษตรกรค่อย ๆ ทยอยเก็บ

ทั้งสวนกาแฟยังเป็นมรดกที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ คนรุ่นใหม่จะอยู่ในชุมชนได้ต้องมีอาชีพรองรับ  หากเกษตรกรปลูกแซมต้นกาแฟกับป่าหรือสวนที่ตนทำอยู่ ต้นกาแฟจะมีอายุได้อีกหลายสิบปี   แต่ความท้าทาย คือ ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชเศรษฐกิจแล้วการกำหนดราคาก็เป็นไปโดยพ่อค้าคนกลางตามกลไกการตลาด บางปีราคาดี บางปีราคาแย่ เป็นเรื่องเหนือการควบคุมคาดเดาของเกษตรกรและผู้แปรรูปรายย่อย 

วรพงศ์ เก่งประสานกุล 
เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้ปลูกกาแฟ บ้านขุนตื่น ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ความพยายามจะเพิ่มมูลค่ากาแฟ โดยเปลี่ยนจากการปลูกในเชิงปริมาณมาเป็นกาแฟที่เน้นคุณภาพ ทั้งในแง่การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ปลูก การเก็บผลผลิต และการแปรรูป หากเกษตรกรและผู้ผลิตสามารถเติมความใส่ใจในทุกกระบวนการจะส่งผลให้ได้กาแฟคุณภาพ เนื่องจากกาแฟอมก๋อยนั้นปลูกในพื้นที่ห่างไกล แร่ธาตุในดินสร้างสรรค์รสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเจาะฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ชื่นชอบในรสชาติของกาแฟที่มีลักษณะเฉพาะ   คอกาแฟผู้เชี่ยวชาญถึงขนาดชิมปุ๊บก็รู้ปั๊บว่า

“นี่แหละ…กาแฟอมก๋อย” 

ขอขอบคุณ: กาแฟรักษ์ป่าอมก๋อย 

ที่มาข้อมูล:

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ