บุกอมก๋อย : อ่านไฟ เพื่อเข้าใจฝุ่น

บุกอมก๋อย : อ่านไฟ เพื่อเข้าใจฝุ่น

ข้อเขียน “ไฟอมก๋อย” เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของบัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 เวลา 05:53 น. เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจฝุ่นควันไฟป่าและคำถามถึงการบริหารจัดการมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือที่กำลังจะมาถึง

1. อมก๋อย เป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมบอกเล่าความซับซ้อนของปัญหาไฟ ฝุ่นควัน มลพิษ ของพื้นที่ภาคเหนือ

2. อมก๋อย ห่างจากเมืองเชียงใหม่กว่า 200 กิโลเมตร กันดารและไกลสุด เป็นเขตดอยสูง ที่ตั้งตัวอำเภอ 800 ม. รทก. จากนั้นก็ไต่ดอยสูง ๆ ต่ำ ๆ บนชั้นความสูง 1,000 – 1,500 ม. รทก. สูงกว่าดอยสุเทพ

3. ด้วยความสูงขนาดนี้ อากาศก็ดีสิครับ คนที่นั่นจึงไม่ค่อยรู้สึกว่ามลพิษอากาศฝุ่นควันเป็นปัญหา / ตอนที่อากาศในเวียงเชียงใหม่แย่สุด บนดอยสุเทพ-ปุยก็ไม่ได้แย่มาก เพราะฝุ่นจะอวลหนาแน่นในระดับพื้นดิน นี่คือดอยใกล้เวียงที่สุดนะ ดังนั้นอมก๋อยจึงเป็นโอเอซิสในยามฤดูฝุ่นได้

4. ประชากรชาวอมก๋อยส่วนใหญ่สุดเป็นชนเผ่า ยากจน แถมรุงรังกับปมที่ทำกิน เพราะพื้นที่แทบทั้งอำเภอไม่มีที่ราบและเอกสารสิทธิ์ ส่วนใหญ่ก็เขตป่าสงวน ไม่รู้ป่ารุกคน-คนรุกป่า รุงรังไปหมด มันจึงง่ายที่หากจะหยิบข้อกฎหมายป่าไม้มาจัดการ หากเกิดขัดแย้งกับรัฐ

5. ที่ราบไม่มี หมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งบนที่ลาดชันภูเขา ดังนั้นที่ทำกินก็ต้องอยู่บนเขาสูง แปลงทำกินจึงเป็นไร่หมุนเวียน คนที่ราบนึกไม่ออก ทำไมต้องเผา ทำไมอบต. ไม่เอาเครื่องจักรไปช่วย อันว่า แปลงที่ทำกินของเขาอยู่บนดอย ห่างจากบ้านชนิดต้องไปค้างคืนบนนั้น 2-3 คืน ดูแลจัดการไร่ แล้วกลับลงมา เดินอย่างเดียว มันจึงต้องใช้ไฟเผา เพื่อจัดการพื้นที่เกษตร

6. ชาวเผ่าที่นั่นส่วนใหญ่ปลูกข้าวกินเองและพืชอื่น ๆ แบบพอขาย เอ่อ พืชเชิงเดียวที่โด่งดังสำหรับชาวเวียงเชียงใหม่เมื่อ 10-20 ปีก่อนคือ กะหล่ำ

7. อมก๋อยเป็นอำเภอปลอดข้าวโพด นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมากเพราะมันเป็นมติร่วมของกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 ตำบล เขาเห็นว่าข้าวโพดทำลายนิเวศเกินไป ข้าวโพดมาเขาหัวโล้นทันที แต่วิถีเดิมคือไร่หมุนเวียนอีกปีแปลงนั้นก็เริ่มเขียว อีกสามปีเป็นป่า แต่ไร่หมุนเวียนก็เป็นจำเลยอยู่ดี เพราะภาพถ่ายของการเผาใหม่ ๆ มันแรงส์ และจนท.รัฐก็รู้ความดราม่านี้ บินโฉบถ่ายรูป ชนชั้นกลางในเมืองพร้อมชี้นิ้วประณามทันที

8. ความขัดแย้ง จึงบังเกิดขึ้นง่าย ๆ เขาไม่เข้าใจเรา – เราไม่เข้าใจเขา

9.เขา (อมก๋อย) ไม่เข้าใจเรา (คนเมือง) ก็คือ เขารู้ว่าในเวียงมีปัญหามลพิษนะ ดูทีวี.ก็เห็นคนเดือดร้อน เห็นข่าวว่ามันเป็นอันตรายสุขภาพ ทราบหมด แต่เขาเชื่อว่า ฝุ่นควันมาจากในเมืองนั่นแหละ ไม่ได้มาจากอมก๋อยเขตชนบท แต่สังคมชี้นิ้วโทษเขา ซ้ำยังมีมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ห้ามแต่คนยากจนที่ทำไร่ปีละครั้ง ปลูกข้าวเลี้ยงตัวเองกินทั้งปี แต่นโยบายรัฐ ไม่ไปห้ามแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นในเมืองใด ๆ เลย

10. เรา (คนเมือง) ไม่เข้าใจเขา (อมก๋อย) ก็คือ ไม่เข้าใจภูมิประเทศนิเวศภูเขาและเงื่อนไขรุงรังของรัฐไทยในปัญหากรรมสิทธิ์ที่ทำกินเขตป่า perception ของคนเมืองต่อคนดอยก็คือ พวกนี้รุกป่า ทำลายป่า แถมเผาดะ ตัวการใหญ่ของปัญหา

บัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจเชียงใหม่

11. คนอมก๋อยเผาเฉพาะแปลงไร่หมุนเวียนที่ทำกิน จะมีการกันแนวไฟ ไม่ให้ลามเข้าแปลงเก่ามิฉะนั้นแปลงเก่าจะเสียหายไปด้วย มีป่าอนุรักษ์ ป่าจิตวิญญาณ

12. ประเด็นท้าทายของนยบ.การบริหารจัดการ อาจแบ่งเป็น สองส่วนคือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรทำกิน และการบริหารไฟในป่า (ที่มีคนไปหาของป่า จุดแล้วลาม แกล้งเผา หรือไฟลามมาจากเขตอื่น ฯลฯ) ซึ่งที่สุดแล้วมักจะดับกันไม่ได้

13. มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สังกัดกรมอุทยาน ปีที่แล้วไหม้หนัก เขตดังกล่าวมีจนท.ดูแล แต่ไม่เพียงพอ นี่เป็นโจทย์ของรัฐ

14. พื้นที่ป่าสงวนราวล้านกว่าไร่ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดับไฟของกรมป่าไม้โดยตรง เพราะถ่ายโอนภารกิจแล้ว มีแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้โครงการ รวมแล้วประมาณ 30 นาย ดูแลป่าล้านกว่าไร่อมก๋อยไม่พอแน่นอน

15. ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การบริหารจัดการไฟในเขตเกษตรทำกิน (ไร่หมุนเวียน) มีปัญหาตรงที่นโยบายส่วนกลางกำหนดห้ามเผาเด็ดขาดจน 30 เม.ย. ชาวบ้านทำไม่ได้ เพราะต้องเผาให้สมบูรณ์ตามวิถีของเขา / และก็มีปัญหาตรงการจัดการไฟพื้นที่ป่าแท้ ๆ ล้านกว่าไร่ ไม่มีเจ้าภาพจริงจัง ไม่มีจนท.ดับ ใช้แรงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านชาวบ้านเกณฑ์ไป

16. อบต. 6 แห่งที่นั่นก้าวหน้ากว่าที่อื่น เพราะเขาอยู่กับป่า เขาเลยจัดสรรเงินงบประมาณที่น้อยนิด (เพราะอบต.ที่นั่นยากจน) ให้กับหมู่บ้านไปจัดการไฟ หมู่ละ 5 พันบาท ซึ่งก็มีปัญหาจริง ๆ เพราะบางหมู่บ้านเล็กนิดเดียวไม่ถึง 100 ครัวเรือน ได้ไป 5 พัน อีกหมู่บ้านแบ่งเป็น 6 หย่อมบ้าน ก็ได้ไปเท่า ๆ กัน จัดสรรไม่พอ

17. ในเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่พอ ใช้แรงชาวบ้าน แต่ได้งบไปจัดการแค่ 5 พัน ตลอด 3 เดือน การจัดการจึงระโหยโรยแรง ลาดตระเวนไม่ได้ อาหารการกิน ไฟข้ามเขตมา ไฟมีคนไปหาของป่าจุดลุกลาม ไฟที่ต้องห้ามไม่ให้เกิด ควรจะระดมพลังของชาวบ้านไปดับ แต่ไม่มีแรงหนุน อบต.ก็ให้ได้แค่นี้ ส่วนอำเภอ บางปีไม่ได้งบ บางปีได้มาน้อย จัดสรรให้นิดเดียว

18. ป่าอมก๋อยเลยเกิดไฟไหม้เป็นลำดับสามของจังหวัด รองจากฮอดและแม่แจ่ม

19. ปัญหาไฟและมลพิษฝุ่น มีหลายมิติซ้อน ๆ มิติที่สำคัญอีกอย่าง คือความไม่รู้ ของทั้งคนในพื้นที่และคนนอกที่ไม่เข้าใจ เอาง่าย ๆ แค่นิเวศภูมิอากาศของแอ่ง ในฤดูนั้นลมพัดจากทิศใต้/ตะวันตก ไม่เพียงเท่านั้น อากาศไม่ยก การระบายอากาศลดลงเหลือแค่ 2-3 กิโลเมตร จากพื้นดิน ดังนั้น ทุก ๆ มลพิษที่เกิดก็สะสมมากขึ้น ระบายไม่ออก ไอ้ที่เคยระบายได้ อย่างฝุ่นควันไอเสียเมืองก็ระบายไม่ได้ ส่วนในป่าก็มีเผา ผสมกันไป

20 . จากข้อ 19. ที่จริงเราทุกคนในแอ่งนั่นแหละที่เป็นตัวการปัญหา เพราะมลพิษฝุ่นควันมาจากกิจกรรมของมนุษย์ จำได้ไหม โควิดเกิดใหม่ ๆ เมืองใหญ่ล็อกดาวน์ มลพิษpm2.5 ลดลงวูบ ๆ ทั้งปักกิ่ง เดลฮี หรือกระทั่งกรุงเทพฯ ในแอ่งเชียงใหม่ลำพูน การจัดการต้นกำเนิดทุกต้นกำเนิดจึงจำเป็นมากๆ ในระหว่างที่อากาศปิด เกิด inversion อากาศไม่ยกตัวต่อเนื่องก.พ. – เม.ย.

21. แหล่งกำเนิดทุกแหล่ง จึงไม่ได้หมายถึงไฟเพื่อการเกษตร/ไฟทำกินแค่แหล่งเดียว เพราะรถยนต์ ปากปล่อง โรงงาน โรงบ่ม โรงโม่ ปิ้งย่าง หรือกระทั่งเมรุเผาศพ ล้วนเปรียบได้กับกองไฟแหล่งกำเนิดพิษ ใหญ่น้อยลดหลั่นกัน … นี่เป็นหน้าที่ของประชาชน ช่วยกันสะกิดและเปลี่ยนสายตามอง

22. ส่วนรัฐเอง ก็ต้องส่องกระจก ไม่ใช่นายมา ก็เอาฮ.บินไปไล่จับผู้ร้าย เดือนเมษาง่ายมากเพราะรู้กันดีว่าชาวบ้านต้องเผาไร่หมุนเวียนตามที่เขาทำกันมา จับตอนนั้นยังไงก็มีคนผิดแน่นอน แต่รัฐเองเคยมองเห็นไหมว่า พื้นที่ 2 ล้านไร่ ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบล้านกว่าไร่ เขตป่าสงวนมีเจ้าหน้าที่ธุรการอื่น ๆ แค่ 30 นาย ยังไงก็ดูแลไฟในป่าไม่ไหว ปกครองก็ไม่สนใจว่าท้องถิ่นมีงบประมาณไหม ปล่อยเขาขวนขวายหาทำกันเองมา 6-7 ปี กับงบน้อยนิด

23. มองเห็นปัญหาอมก๋อย ก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมแม่ฮ่องสอนจังหวัดนิดเดียวจึงไหม้หนักสุดในภาคเหนือ 1.7 ล้านไร่ … เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าภาพดูแลพื้นที่ กับงบประมาณไม่ถึงด้วยใช่ไหม…

24. จังหวัดภาคเหนือตอนบนไฟไหม้รวม 8 ล้านกว่าไร่ เอาแค่เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน รวมกันครึ่งหนึ่งของเก้าจังหวัด คือ ไหม้ไป 4 ล้านกว่าไร่ นี่คือโจทย์ของมลพิษฝุ่นภาคเหนือ ที่แตกต่างจากใต้ อีสาน และภาคกลาง กรุงเทพฯ ยาบางขนานใช้ครอบจักรวาลไม่ได้ การไม่สนใจใยดี จู่ๆ โผล่มาต้นเดือนเมษา สั่งไล่ล่าหาผู้ร้ายก็ไม่ใช่การแก้ตรงจุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ช่วงนี้เข้าสู่ปลายฝน หลายพื้นที่ในภาคเหนือจึงต้องเร่งมือในการเตรียมความพร้อมในการับมือฝุ่นควันไฟป่า คุณพชร คำชำนาญ ปักมาจากบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เล่าความคืบหน้าของการติดตั้งถังน้ำดับไฟ เพื่อสร้างอากาศที่บริสุทธิ และลดฝุ่นควัน PM2.5 (8 ต.ค.63) #กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

ถังน้ำดับไฟ'รูปธรรมในการจัดการไฟป่าบ้านดอยช้างป่าแป๋ (8 ต.ค.63)

ช่วงนี้เข้าสู่ปลายฝน หลายพื้นที่ในภาคเหนือจึงต้องเร่งมือในการเตรียมความพร้อมในการับมือฝุ่นควันไฟป่า คุณพชร คำชำนาญ ปักมาจากบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เล่าความคืบหน้าของการติดตั้งถังน้ำดับไฟ เพื่อสร้างอากาศที่บริสุทธิ และลดฝุ่นควัน PM2.5 (8 ต.ค.63)#กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Wednesday, 7 October 2020

ไปดูความร่วมมือสร้างอากาศสะอาดที่ จ.เชียงใหม่ ทีม WEVO สื่ออาสา เล่าว่าตัวแทนชาวบ้านจาก 22 ชุมชน ตัวแทนฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 6 ตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และภาคประชาสังคม มาร่วมลงนามความร่วมมือและทำแผนจัดการฝุ่นควันไฟป่าปี 2564 (8 ต.ค.63) #กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

ร่วมลงนามแก้ปัญหาฝุ่นควันอมก๋อย จ.เชียงใหม่ (8 ต.ค.63)

ไปดูความร่วมมือสร้างอากาศสะอาดที่ จ.เชียงใหม่ ทีม WEVO สื่ออาสา เล่าว่าตัวแทนชาวบ้านจาก 22 ชุมชน ตัวแทนฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 6 ตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และภาคประชาสังคม มาร่วมลงนามความร่วมมือและทำแผนจัดการฝุ่นควันไฟป่าปี 2564 (8 ต.ค.63)#กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Wednesday, 7 October 2020

รายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จากข้อมูลดาวเดียมประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ