“ภัยพิบัติ” คือปัญหาสังคม ?

“ภัยพิบัติ” คือปัญหาสังคม ?

น้ำท่วม-น้ำแล้ง นับว่าเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาสาร อย่างในปี 2565 เป็นปีที่ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ซึ่งเป็นสองสายน้ำหลักสำคัญของภาคอีสานเกิดปัญหา น้ำท่วม หนักตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ ซึ่งในปี 2566 แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วกว่า 2 เดือน แต่ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 5 เปอร์เซ็น แต่หลายพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นจุดเสี่ยง เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงพื้นที่ประสบภัยแล้งต่างก็ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือ รวมถึงในลุ่มน้ำอีสาน ทั้งลุ่มน้ำโขง  ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำอย่างจังหวัดอุบลราชธานี ที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2565 ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 43 ปี และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบกว่า 21 อำเภอ 61,245 ครัวเรือน ทำให้การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เป็นสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันออกแบบเพื่อให้พร้อมเผชิญภัยพิบัติในพื้นที่

ภัยพิบัติอีสาน จากบทเรียนสู่การเตรียมพร้อม

ปัจจุบันทั้งสภาวะแล้ง และน้ำท่วม ดูเหมือนจะมีความถี่และมีแนวโน้มส่งผลกระทบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือ Climate change และและปีนี้ยังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านปรากฏการณ์จาก ลานีญา สู่ เอลนีโญ ทำให้ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นสิ่งที่คนลุ่มน้ำจับตามอง อยู่ดีมีแฮง และ ubon connect จึงชวนคนปลายน้ำเมืองอุบลฯ โสเหล่เพื่อมองทางออกภัยพิบัติ และเตรียมรับมือทั้งท่วม ทั้งแล้ง

บุญทัน เพ็งธรรม  เครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ ชุมชนท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บอกว่า  “ หากพูดถึงความกังวลระหว่างน้ำท่วมกับน้ำแล้ง ส่วนตัวกังวลเรื่องน้ำทำมากกว่า เพราะว่าพื้นที่อุบลฯ จะแล้งยังไงก็ต้องมีท่วมถึงที่อุบลฯ ฝนจะไม่ตก แต่ถ้ามีน้ำจากที่อื่นมาก็ทำให้ท่วมได้เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาชุมชนท่าบ้งมั่งเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมหลายครั้ง ซึ่งจากบทเรียนการเผชิญปัญหาน้ำท่วมมา ทำให้ปีนี้ก็ต้องเตรียมขนข้าวของ เตรียมแผนรับมือกันแล้ว ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็การฝึกการขับเรือท้องแบนเพื่ออพยพคนในชุมชนออกจากพื้นที่ ก็ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมค่ะ ไม่พร้อมไม่ได้ จะรอรับเหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องก้าวเราต้องขยับ”

ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังย้ำอีกว่า “ปี 2566 ก็เห็นว่าประชาชนเริ่มจะมีการเตรียมตัวเร็วขึ้นแม้ว่าจะยังไม่มีเหตุ ก็เป็นปรากฎการณ์ที่ดีที่ทุกคนเริ่มปรับตัว ผมมองว่าจะแล้ง จะท่วม ผมว่าทั้ง 2 อย่างส่งผลกระทบกับระบบนิเวศและสังคมอีสานหมด เราอย่าไปดูแคลนว่า ฝนแล้ง โลกร้อนมากขึ้นแล้วมันจะไม่กระทบ  เพราะอย่างทุกวันนี้เราก็อยู่ยากนะ เช่นเราเสียค่าไฟมากขึ้นเพราะเราต้องเปิดแอร์ หรือเกษตรกรผลผลิตเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม มันก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทุกคนก็ต้องลำบากรัฐก็ต้องมาเยียวยามันก็วนกันอยู่อย่างนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เรื่องแล้งหรือท่วม มันต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในการแก้ปัญหา เพราะมันกระทบกับทุกคน”

“ภัยพิบัติ” คือปัญหาสังคม ? เราควรทำอย่างไร

ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรค เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร และความไม่มั่นคงในชีวิต เพราะภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นเหมือนวัฏจักรแห่งความไม่มั่นคง ทำให้ผู้คนยากจนอย่างวนลูบ เผชิญปัญหาเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า การแก้ปัญหาภัยพิบัติในท้องถิ่น จึงอาจจะต้องมองผลกระทบต่อผู้คนมากขึ้น

“ปัญหาภัยพิบัติ มันคือปัญหาทางสังคม  อย่างน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่อุบลฯ จะเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบเขาแทบจะไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว เพราะน้ำมาก็ท่วมอยู่ 3 เดือน พอน้ำลดก็ฟื้นฟูเยียวยากันอีก 3-4 เดือน เริ่มตั้งหลักได้ทำงานหาเงินได้ น้ำก็มาท่วมอีก ก็ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เป็นวัฏจักรวนอยู่แบบนี้ซ้ำ ๆ เงินทุนที่ชาวบ้านมีมันก็เริ่มหายไปและก็เข้าสู่ห้วงของความยากจน เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะตั้งตัวได้ทัน กลายเป็นว่าเขามีชีวิตอยู่บนความไม่มั่นคง อยู่บนวัฏจักรแห่งความยากจน” ดร.สุรสม ย้ำถึงปัญหาภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม

นอกจากนี้ ดร.สุรสม ยังมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาภัยพิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้แก้ได้อย่างเหมาะสม

“ควรจะต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้มากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติก็คือหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ทั้งตอนเผชิญเหตุและหลังเผชิญเหตุ ซึ่งการจะรับมือภัยพิบัติให้ได้เร็ว ทันสถานการณ์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องมาเป็นข้อแรกเลย  ข้อต่อมาคือต้องแก้กฎหมายครับ ถ้าไม่แก้กฎหมายเราก็จะไปติดขัดเรื่องระเบียบ เงื่อนไขต่าง ๆ เพราะการรับมือมันไม่ใช่เฉพาะชุมชน หรือตัวเราเองที่จะต้องไปพายเรืออย่างเดียว แต่เราจะต้องมีประเทศที่มีวิธีคิดที่พร้อมจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เป็นระบบ และก้าวหน้า  หรือทันสมัย ส่วนข้อที่สาม แน่นอนว่าตัวชุมชนเองก็ต้องทำอย่างที่ชุมชนท่าบ้งมั่งทำ คือเราจะต้องมีแผนของชุมชนที่ต้องทำขึ้นมา เมื่อเจอเหตุจริง ๆ แล้วเราจะต้องปฏิบัติไปตามแผนอย่างไร อย่างที่บอกว่าเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง มันเป็นปัญหาสังคม เพราะว่าเราไม่มีกติการ่วมกันที่ชัดเจนว่าเราจะจัดการอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ สังคมควรจะมีกระบวนการออกแบบอย่างไรให้สามารถรับมือภัยพอบัติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่ใช่การทำให้น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง แต่คือการทำให้ชีวิตคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินั้น สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เร็วขึ้นหลังเผชิญภัยพิบัตินั้น ๆ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ