“ก่อนน้ำจะท่วมบ้านงิ้วเฒ่า พ่อหลวงเย็นได้เรียกประชุมชาวบ้านทั้งหมด และแจ้งว่าน้ำจะท่วมบ้านเฮาในอีกไม่กี่วันนี้ ให้แต่ละครอบครัวรีบพากันย้ายเฮือน…สังเกตดูชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เชื่อคำพูดของพ่อหลวง ต่างคิดว่าเขื่อนกั้นน้ำอยู่ไกล ไม่มีทางที่น้ำจะมาท่วมได้…
แต่แล้วความจริงก็ปรากฏ…ค่ำของวันนั้น น้ำได้เริ่มเอ่อไหลท่วมบ้านอย่างช้าๆ เสียงชาวบ้านร้องอื้ออึงร้องไห้ได้ย้ายบ้าน ย้ายของลุยน้ำในคืนนั้นทั้งน้ำตา บางคนไล่จับเป็ดไก่ในคอกเพื่อหนีน้ำ”
นั่นคือข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ ‘เล่าขานตำนานดอยเต่า’ บันทึกเหตุการณ์ในช่วงน้ำจากเขื่อนกำลังจะท่วมบ้านเรือนชาวบ้านดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ในปี 2507 หรือเมื่อราว 60 ปีก่อน บันทึกโดย ‘วิทยา พัฒนเมธาดา’ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในวันเกษียณอายุราชการในปี 2563 โดยก่อนหน้านั้นในปี 2545 ครูวิทยาได้เขียนและพิมพ์หนังสือ ‘เมืองดอยเต่าในอดีต’ ออกมาก่อน
ปากคำคนเฒ่าก่อนวันล่วงลับ
ครูวิทยา พัฒนเมธาดา วัย 64 ปี เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เรียนจบปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา รับราชการครูในจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ก่อนจะเกษียณอายุในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคมในปี 2563 ปัจจุบันใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร ทำเกษตรผสมผสานและ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เป็นศูนย์เรียนรู้อยู่ในอำเภอดอยเต่า
ครูวิทยามีความสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่อำเภอดอยเต่าที่เป็นเมืองเก่า เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ‘ชาวลัวะ’ มาก่อน นอกจากนี้ยังศึกษาด้านวัฒนธรรม ประเพณี วรรณกรรมท้องถิ่น ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่ชาวดอยเต่าประสบ นับตั้งแต่ยุคน้ำจากเขื่อนท่วมดอยเต่า จนถึงยุคปัจจุบันที่น้ำในทะเลสาบดอยเต่าเหือดแห้ง แล้วนำมาบันทึกเป็นหนังสือ 2 เล่มดังกล่าว
ครูวิทยาได้สัมภาษณ์พูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ ตระเวนไปทุกหมู่บ้าน ทุกวัดในอำเภอดอยเต่า ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา บางคนในขณะนั้นอายุเกือบ 80 ปี ปัจจุบันคนเฒ่าคนแก่เหล่านั้นได้ล่วงลับไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือเพียงเรื่องราวและตำนานที่ครูวิทยาได้บันทึกเอาไว้ ดังเช่น
ลุงเมืองแก้ว ปิยะรังสรรค์ สัมภาษณ์ในเดือนกันยายน 2544 ขณะนั้นลุงเมืองแก้ว อายุ 59 ปี บ้านอยู่ที่ตำบลท่าเดื่อ หมู่ที่ 2 อ.ดอยเต่า ในบันทึกบอกว่า ชาวดอยเต่าในอดีตมีอาชีพทำนา ปลูกข้าว หาปลา เลี้ยงครั่ง การทำนามีการลงแรงหรือ “ฮอมแฮง” ช่วยเหลือกัน บางครั้งก็มีการจ้างงาน เพื่อนบ้านไม่มีข้าวกินก็หยิบยืมกันได้ เมื่อเกี่ยวข้าวได้จึงนำมาใช้คืน
“ในปี พ.ศ.2500 ค่าจ้างแรงงานทั่วไปของคนดอยเต่าตกวันละ 5 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ข้าวสารราคาลิตรละ 2 บาท…สินค้าที่ขึ้นชื่อของดอยเต่าในสมัยนั้น คือ ข้าว ครั่ง หอม กระเทียม ปลาแห้ง ถั่วลิสง และอ้อย ใครที่เลี้ยงครั่งในสมัยนั้นจะเป็นผู้มีเงินร่ำรวย” บันทึกปากคำของลุงเมืองแก้วฉายภาพสภาพเศรษฐกิจสังคมของดอยเต่าในอดีต
ส่วนคนที่อยู่ริมน้ำปิงจะมีอาชีพค้าขายทางเรือหรือแพ ล่องตามลำน้ำปิงลงไปจังหวัดตากและปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ นำพริกแห้ง หอมแดง ชัน ครั่ง ฯลฯ ไปขาย ขากลับจะซื้อเกลือ ปลาเค็ม ปลาทูเค็ม และข้าวของอื่นๆ มาขาย
พวกที่ล่องแพไป ตอนกลับจะนั่งรถไฟกลับมาที่เชียงใหม่ เพราะการถ่อแพทวนน้ำจะลำบาก เมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลกั้นลำน้ำปิงที่จังหวัดตากแล้วเสร็จในปี 2506 – 2507 การค้าขายทางเรือจึงหมดไป…
คนดอยเต่าและเขื่อน
ชื่อ ‘ดอยเต่า’ แม้จะมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากดอยที่มีเต่าอาศัยอยู่มากมาย หรือดอยที่มีรูปร่างคล้ายเต่า แต่ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากชาวดอยเต่าในปัจจุบันก็คือ…ที่มาจากคำว่า “ดอนเต้า” (ดอนคือเนินเขาเล็กๆ เต้า หรือมะเต้า คือแตงโม) โดยมีความเชื่อตามตำนานสิงหนวัตอันเป็นตำนานเก่าแก่ของล้านนา จารึกเอาไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า…
ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ดินแดนแห่งนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นดอน โดยมีชาวบ้านนำอาหารมาถวายหลายอย่าง แต่ที่มากที่สุด คือ “มะเต้า” หรือแตงโม พระองค์จึงทรงเรียกดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมะเต้านี้ว่า “ดอนเต้า” ในเวลาต่อมาคนรุ่นหลังได้เรียกเมืองดอนเต้าคาดเคลื่อนเป็น “ดอยเต่า” จนถึงปัจจุบัน
ดอยเต่า แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอฮอด ทางราชการยกฐานะเป็นอำเภอในปี 2522 มีพื้นที่ 803 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 125 กิโลเมตร มีทั้งหมด 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน ประชากรมีทั้งคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ยอง ลัวะ รวมทั้งหมดประมาณ 27,500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนลำไย มะนาว ปลูกข้าว ประมงพื้นบ้านในทะเลสาบดอยเต่า รับจ้างทั่วไป ฯลฯ
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ลำไยและมะนาว ดังคำขวัญของอำเภอดอยเต่าว่า “มะนาวลูกใหญ่ ลำไยเนื้อหนา ดอยเกิ้งสูงสง่า ชิมรสปลาดอยเต่า” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่คือ ‘ทะเลสาบดอยเต่า’ ซึ่งเป็นผลพวงจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลปิดกั้นลำน้ำปิง ทำให้ลำน้ำปิงที่ไหลผ่านดอยเต่ากลายเป็นทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีเรือแพ เรือท่องเที่ยว ที่พัก และร้านอาหาร เปิดบริการนักท่องเที่ยว
ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จากการสำรวจในปี 2495 พบว่า ลำน้ำปิงบริเวณหุบเขาย่านรีหรือ ‘ยันฮี’ อ.สามเงา จ.ตาก มีความเหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว ยังมีประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทาน หรือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์
โดยตัวเขื่อนจะปิดกั้นลำน้ำปิงที่ไหลลงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวจากตัวเขื่อนที่ อ.สามเงา จ.ตาก ถึงอำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ ประมาณ 207 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2504 แล้วเสร็จในปี 2506 เริ่มกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าในปีถัดมา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อว่า “เขื่อนภูมิพล”
แม้เขื่อนภูมิพลจะมีประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร และการชลประทาน แต่ในอีกด้านหนึ่งเขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เดิม โดยเฉพาะชาวดอยเต่า แม้ว่าทางราชการ โดยกรมประชาสงเคราะห์จะจัดตั้ง ‘นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล’ ขึ้นมาในปี 2506 เพื่อจัดสรรพื้นที่รองรับที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวดอยเต่าเอาไว้ ประมาณ 2,400 ครอบครัว ๆ ละ 5 ไร่ แต่ผืนดินที่รองรับขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ดังหนังสือ ‘เมืองดอยเต่าในอดีต’ ของครูวิทยา บันทึกเอาไว้…
“เมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จเริ่มปิดกั้นน้ำ น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ชาวบ้านต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้ โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ เรียกกันว่า ‘บ้านอพยพแปลงที่เท่านั้นเท่านี้’ โดยจัดหมวดหมู่ว่า หมู่บ้านแปลง 1, หมู่บ้านแปลง 2 … แปลงที่เป็นเลขคี่จะตั้งด้านซ้ายมือของถนนแม่ตืน – ดอยเต่า – ฮอด ส่วนด้านขวาเป็นเลขคู่….
ในการอพยพราษฎรจะได้ค่าชดเชยที่ดินเดิมไร่ละ 400 บาทในขณะนั้น แต่ไม่ได้มีการพูดถึงว่า ส่วนใหญ่จะได้ไม่ครบ เพราะเนื่องจากการรับเงินชดเชยจะต้องไปรับที่อำเภอจอมทอง ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นลำบาก ทุรกันดารมาก การจ่ายก็เป็นอย่างไม่มีระบบ ราษฎรจึงต้องใช้วิธีให้ผู้อื่นไปรับแทน โดยให้ค่าตอบแทน ทำให้ได้รับเพียงไร่ละ 350 บาทบ้าง 375 บาทบ้าง บางรายได้น้อยกว่านี้ก็มี…” (สัมภาษณ์พ่อจู ไชยวงศ์ ตำบลโป่งทุ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ตอนนั้นพ่อจูอายุ 78 ปี)
ข้อมูลจากหนังสือยังบอกเล่าปัญหาสำคัญในการอพยพชาวบ้านครั้งนั้นว่า… “ในการจัดพื้นที่ให้กับราษฎรที่อพยพขึ้นมาจากเขตน้ำท่วม เข้าใจว่าด้วยความที่ไม่เคยพบปัญหา บวกกับมีปัจจัยทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้การจัดพื้นที่ การจัดสาธารณูปโภคให้กับผู้อพยพเป็นไปอย่างขลุกขลัก หลายหมู่บ้านไม่มีน้ำใช้ จนหลายหมู่บ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่อื่น เช่น บ้านหนองบัวคำเดิม ได้อพยพไปอยู่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ในขณะนั้นราษฎรที่อพยพขึ้นมาในสภาพที่เรียกได้ว่า ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ มองไม่เห็นอนาคต ที่ดินที่รับจัดสรรก็ไม่สามารถจะทำการเพาะปลูกได้ เหตุเพราะสภาพดินขาดความสมบูรณ์ น้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกไม่มี ผนวกกับพื้นที่ที่เป็นที่สูงลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สามารถจะทำคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก รัฐทำได้เพียงนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกกันเป็นครั้งคราว…”
“แต่ก่อนบ้านเฮา ดอยเต่าเมินมา ลำบากหนักหนา น้ำตาเฮาไหล”
ชาวบ้านดอยเต่าที่ต้องอพยพบ้านเรือนออกจากที่ทำกินเดิมมีประมาณ 2,400 ครอบครัว (ข้อมูลจากนิคมฯ ระบุว่ามีพื้นที่ที่ชาวบ้านโดนน้ำท่วมจำนวน 4,861 ครอบครัว ทางราชการได้อพยพชาวบ้านส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ จ.ตาก และอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ดอยเต่า จำนวน 1,711 ครอบครัว) นอกจากนี้ผลพวงที่ตามมาก็คือ เมื่อชาวบ้านไม่มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงต้องลักโค่นต้นสักที่เคยมีอุดมสมบูรณ์แปรรูปขายให้แก่นายทุน จนดอยเต่าที่เคยมีป่าสักหนาแน่นกลายเป็นป่าราบ
เมื่อป่าหมดชาวบ้านก็หันไปทำงานรับจ้างสารพัด จนได้ชื่อว่าดอยเต่ามีแรงงานอพยพมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ บ้างก็ต้องขายที่ดินให้กับนายทุนและคนต่างถิ่น ไปหากินยังถิ่นใหม่ เพราะที่ดินทำกินไม่เห็นผล ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ไม่ค่อยสนใจต่อการแนะนำหรือเสนอแนะของเจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบอาชีพการเกษตร
“เกิดความรู้สึกทางลบแก่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น หลายคนเกิดความท้อแท้ละเลยไป จนมองว่าราษฎรดอยเต่าเกียจคร้าน ไม่เอาจริงกับการประกอบอาชีพ และในความรู้สึกนึกคิดลึกๆ ของจิตใจคนดอยเต่ามีความรู้สึกว่ารัฐบาลและข้าราชการทอดทิ้งละเลย หลอกลวง ขาดการดูแลที่ดีพอ ทั้งๆ ที่ชาวดอยเต่าได้สละที่ดินเดิมอันอุดมสมบูรณ์ อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อเก็บกักน้ำสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม”
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบที่คนดอยเต่าได้รับจากการสร้างเขื่อนในช่วงนั้นจากการสัมภาษณ์ พูดคุยกับชาวบ้าน และมุมมองของครูวิทยา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม
บุญธรรม จันทร์หม้อ ชาวดอยเต่า ตำบลบ้านแอ่น บอกว่า พ่อแม่เคยเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านตำบลบ้านแอ่นเมื่อก่อนอยู่อาศัยริมน้ำแม่ปิง เป็นพื้นที่ราบริมน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว ปลูกพืชผลต่างๆ และหาปลา ทำมาหากินได้ไม่อดอยาก แต่เมื่อสร้างเขื่อนฯ แล้วเสร็จ ในปี 2507 น้ำเริ่มท่วมพื้นที่ในดอยเต่า ชาวบ้านแอ่นจึงต้องอพยพมาอยู่ในที่ดินปัจจุบัน โดยนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ มาตอนแรกลำบากมาก เพราะเป็นที่ดอนไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ชาวบ้านต้องช่วยกันขุดบ่อน้ำ…
ขณะที่บทเพลง “หนุ่มดอยเต่า” ที่โด่งดังในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา (ปี 2528) สะท้อนปัญหาต่างๆ ในอดีตของชาวดอยเต่าออกมาได้อย่างแจ่มชัด แต่งโดย ‘เทพธารา ปัญญามานะ’ ดังเนื้อหาตอนหนึ่งว่า…
“ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ ทำงานเซาะเบี้ยหาเงิน ลำบากเหลือเกิน ตากแดดหน้าดำ ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ มันแสนชอกช้ำ ทำงานหาเงิน
ไอ้หนุ่มดอยเต่า มันเศร้าหัวใจ๋ กิ๊ดมากิ๊ดไป มันน้อยใจ๋แต๊เล่า แต่ก่อนบ้านเฮา ดอยเต่าเมินมา ลำบากหนักหนา น้ำตาเฮาไหล พอถึงหน้าฝน เหมือนคนมีกรรม ไฮ่นาที่ทำน้ำท่วมทั่วไป
อดอยากแต๊เล่า ดอยเต่าเฮานี้ เอ็นดูน้องปี้จะไปพึ่งไผ พอถึงหน้าหนาว ก็หนาวก็เหน็ด เดือนหกเดือนเจ็ด ก็ฮ้อนเหลือใจ๋ หน้าแล้งแห้งน้ำ จะทำจะใด จะไปตี้ไหน น้ำกินบ่มี…”
(ติดตามอ่านตอนต่อไป ‘ดอยเต่าโมเดล’ (2) จากยุคน้ำท่วม-น้ำตา สู่ ‘บ้านมั่นคง’ และการพัฒนาทุกมิติ’)
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และการสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)