รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจ พลิกฟื้นคลองเปรมประชากร ‘คลอง 6 แผ่นดิน’…และน้ำพระทัยจากในหลวง

รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจ พลิกฟื้นคลองเปรมประชากร ‘คลอง 6 แผ่นดิน’…และน้ำพระทัยจากในหลวง

สภาพชุมชนและคลองเปรมประชากรด้านถนนแจ้งวัฒนะก่อนการพัฒนา

คลองเปรมประชากรเป็นคลองสายแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5   มีพระราชดำริให้ขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2413  เพื่อเป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน  เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร  ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรี อยุธยา  ระยะทางประมาณ  50 กิโลเมตรเศษ  มีความกว้างประมาณ 12 เมตร

โดยมีพระราชประสงค์เพื่อย่นระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ  กับกรุงเก่า (อยุธยา) เนื่องจากเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมเป็นทางน้ำอ้อมวกเวียนใช้เวลาเดินทางนาน   และเพื่อขยายพื้นที่การทำนาริมสองฝั่งคลอง   เพราะเดิมพื้นที่แถบนี้เป็นป่ารกเต็มไปด้วยโขลงช้างป่า  ไม่มีใครไปบุกเบิกถากถาง  เพราะไม่มีคลองน้ำ  เมื่อขุดคลองขึ้นมาแล้ว ประชาชนจะได้มีความสะดวกสบาย  ทั้งด้านการทำมาค้าขายและการสัญจรไปมา

ดังที่พระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า  “จะให้ราษฎรได้ความเย็นใจ  ราษฎรชายหญิง  ทั้งคฤหัฐ บรรพชิต  ลูกค้าวานิชและต่างภาษา  ค้าขายขึ้นล่องคลองนี้โดยสะดวกทุกท่าน”

            จึงโปรดเกล้าฯ จ้างแรงงานจีนมาขุด  ใช้เวลาขุด 16 เดือน  ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  จำนวน  2,544 ชั่ง     2 ตำลึง (ประมาณ 203,520 บาท)  และพระราชทานนามว่า “คลองสวัสดิ์เปรมประชากร”

            ในการขุดคลองครั้งนั้นได้มีการปักหมุดหมายริมคลองเปรมฯ จากคลองผดุงกรุงเกษมถึงพระนครศรีอยุธยา  เพื่อบอกระยะทางทุกๆ 100  เส้น  หรือ 4 กิโลเมตร  รวม  13  หลัก  แต่ปัจจุบันหลักหมุดทั้งหมดได้หายไป  เหลือเพียงแต่ชื่อเช่น  หลักสี่  (กรุงเทพฯ)  และหลักหก (รังสิต)

ขณะเดียวกันเมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป  มีการใช้รถยนต์  ใช้ถนนสัญจรไปมา  คลองเปรมประชากรก็ลดความสำคัญลง….เมื่อเมืองมีการขยายตัว  ที่ดินมีราคาแพง  จึงทำให้มีผู้คนมาบุกเบิกจับจองสร้างบ้านเรือนริมสองฝั่งคลองเรียงรายหนาแน่น  ตั้งแต่ย่านหลักสี่  ดอนเมือง  รังสิต  ปทุมธานี  คนที่มาทีหลังหรือคนที่มีครอบครัวขยายก็ปลูกบ้านลงไปในคลอง  จนกลายเป็นชุมชนต่าง ๆ  รวมทั้งหมด 38 ชุมชน  กว่า 6,000 ครอบครัว

2
ภาพถ่ายทางอากาศของคลองเปรมประชากร บริเวณดอนเมืองไปทางบางเขน ปี 2483  มีแต่ทุ่งนาและบ้านเรือนเป็นหย่อม /ภาพจาก U.of Wisconsin/facebook  : Misc.Today

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  และแผนฟื้นฟูคลองในกรุงเทพฯ

            จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  สาเหตุหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองจำนวนมาก   ทำให้ลำคลองคับแคบ  ตื้นเขิน

ในปี 2555  คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม   ตามแผนจะมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลองในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ  จำนวน 9 แห่ง  คือ  คลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  คลองบางเขน  คลองสามวา  คลองลาดบัวขาว  คลองพระยาราชมนตรี  คลองบางซื่อ คลองประเวศบุรีรมย์  และคลองพระโขนง  แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ

            ในสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ’  มีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  เป็นประธาน  เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559  โดยกรุงเทพมหานครรับผิดชอบก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ระยะทางทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร

3
สภาพบ้านเรือนริมคลองลาดพร้าว

              กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลองลาดพร้าว (ที่ดินราชพัสดุ  กรมธนารักษ์ดูแล)  จำนวน 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน    โดยชุมชนเหล่านี้จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน   และ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อการก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่

มีหลักการสำคัญ  คือ  1.ชุมชนที่รื้อบ้านแล้ว  หากอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้  ชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันในนามสหกรณ์เคหสถานเพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจากกรมธนารักษ์   เช่าระยะยาว 30 ปีในอัตราผ่อนปรน  2.หากที่ดินไม่เพียงพอ  อาจจัดหา  หรือซื้อที่ดินแปลงใหม่  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่

เริ่มรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลองเพื่อก่อสร้างบ้านหลังแรกที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  ซอยพหลโยธิน 54 (ตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ  สะพานใหม่) ในเดือนเมษายน 2559   โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ เป็นประธานในพิธี  ต่อมาในช่วงต้นปี 2560  การก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่แห่งแรกริมคลองลาดพร้าวที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญก็แล้วเสร็จ  รวมทั้งหมด 65 หลัง

(ปัจจุบัน  การรื้อย้ายเพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  ดำเนินการไปแล้ว  จำนวน  35 ชุมชน  41 โครงการ  สร้างบ้านเสร็จและมีประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว รวม 3,553  ครัวเรือน  ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว  บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ก่อสร้างเขื่อนฯ  โดยตอกเสาเข็มเพื่อเป็นฐานรากเขื่อน  รวมระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตรเศษ  จากระยะทางทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร)

4
บ้านใหม่ ชุมชนริมคลองลาดพร้าวหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  เขตจตุจักร

การฟื้นฟูคลองเปรมประชากร…น้ำพระทัยจากในหลวง

ส่วนคลองเปรมประชากรที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5   มีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร  เชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมใจกลางพระนคร ผ่านหลักสี่  ดอนเมือง  รังสิต  ปทุมธานี  และบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งเคยเป็นคลองที่มีความสำคัญด้านการคมนาคม  การขนส่งข้าวและสินค้าต่างๆ

แต่สภาพปัจจุบันกลับกลายเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่  มีสภาพไม่ต่างจากคลองลาดพร้าว  คือ   น้ำในคลองเน่าเสีย  มีบ้านเรือน  สิ่งปลูกสร้าง  รุกล้ำคูคลอง  ทำให้ลำคลองคับแคบ  ตื้นเขิน  ขยะลอยฟ่อง  กีดขวางทางไหลของน้ำ  คลองไม่สามารถช่วยระบายน้ำในยามน้ำท่วมได้  โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

ความเสื่อมโทรมของคลองเปรมประชากรดังกล่าวนี้     อยู่ในสายพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในหลวงรัชกาลที่ 10  พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของลำคลอง  ทำให้ลำคลองกลับมาใสสะอาด

โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาคลองเปรมประชากร  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560    โดยจัดทำ ‘โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร’ ขึ้นมา  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น   ประชาชนจิตอาสาร่วมกันเก็บขยะในคลอง   ขุดลอกคลอง  ปรับสภาพน้ำในคลองให้สะอาดขึ้น   รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนริมคลอง  ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

5
 ทหารและจิตอาสาช่วยกันเก็บขยะในคลอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26  กรกฎาคมที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายผลการดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ  โดยจัดทำโครงการ ‘จิตอาสาพัฒนาด้านการเกษตร’  บริเวณคลองเปรมประชากร  ต.เชียงรากน้อย  อ.บางปะอิน  จ.พระนครศรีอยุธยา  เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร  เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2566

โดยมีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  1.การปรับภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่สาธารณะบริเวณคลองเปรมประชากร   2. การปล่อยพันธุ์ปลาลงคลองเปรมประชากรและมอบพันธุ์ปลา 3. การพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้การงานอาชีพเกษตรกรรมให้แก่นักเรียนโรงเรียนวัดเปรมปรีชา และชาวบ้านในชุมชนตำบลเชียงรากน้อย  การปลูกผัก การเลี้ยงปลาดุกและกบ  ฯลฯ

6
ช่วยกันรื้อบ้านที่รุกล้ำคลองเปรมฯ เพื่อสร้างบ้านใหม่บนฝั่ง

แผนแม่บทการพัฒนาคลองเปรมฯ

                             จากโครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  2560  ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2562  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ‘แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร’  ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  ความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร

ทั้งนี้เนื่องจากคลองเปรมฯ เป็นลำคลองที่รับน้ำมาจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ  จากอยุธยา-ปทุมธานี-ลงมาถึงกรุงเทพฯ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย  คลองเปรมฯ จึงมีความสำคัญในการช่วยระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนงานหลักระยะเร่งด่วน  ปี 2562-2565  จำนวน 4 โครงการ  วงเงิน  4,448 ล้านบาท   คือ

1.กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ – สุดเขต กทม.  ระยะทางทั้งสองฝั่ง 27.2  กิโลเมตร  วงเงิน 3,443 ล้านบาท

2.กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ – คลองรังสิตประยูรศักดิ์  วงเงิน 980 ล้านบาท

  1. กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย  ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร วงเงิน 16 ล้านบาท
  2. ขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน  ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร  วงเงิน 9 ล้านบาท

นอกจากนี้  กรุงเทพมหานครยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากรลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร  สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที   ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง  เขตหลักสี่  เขตบางเขน  เขตจตุจักร  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร  

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่  รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง คือ  นนทบุรีและปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากรได้อีกด้วย!!

7
ภาพกราฟฟิก  แสดงอุโมงค์ระบายน้ำจากคลองเปรมฯ สู่แม่น้ำเจ้าพระยา

 บ้านมั่นคง’ ของคนคลองเปรมฯ

ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนั้น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  มีแผนพัฒนาเช่นเดียวกับชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ  พบว่า  มีชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในลำคลองและพื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ทั้งหมด38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร  หลักสี่   ดอนเมือง และใน จ.ปทุมธานี

โดยชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด   แต่จะต้องรื้อย้ายขึ้นมาสร้างบ้านใหม่บนฝั่ง  เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน  และจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ดินราชพัสดุ  เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”

นอกจากนี้ตามแผนงานจะมีการปรับทัศนียภาพชุมชนริมคลอง   ปลูกต้นไม้ให้มีความร่มรื่น  เพื่อให้คลองเปรมประชากรมีความสวยงาม   มีสภาพแวดล้อมที่ดี   บ้านเรือนสวยงาม  เปลี่ยนจากชุมชนแออัด  เป็น  “ชุมชนสุขภาวะดี”  ส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน  ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ-ท่องเที่ยวชุมชน  เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า) -เรือ

การรองรับที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร   พอช. ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว  และนำหลักการของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.ใช้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศมาใช้ (เริ่มโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546)  มีหลักการสำคัญ คือ “ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา”

เช่น  ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน   จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  ร่วมกันออกแบบบ้าน-ผังชุมชน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน  ทำเรื่องขอใช้สินเชื่อจาก พอช.  และร่วมกันบริหารโครงการ  ฯลฯ

ขณะที่ พอช. นอกจากจะสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน  ส่งสถาปนิกเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชนแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ครัวเรือนละ 147,000 บาท  เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูป โภคส่วนกลาง  และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท  ผ่อนระยะยาว 20 ปี

8
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านชุมชนแรกในเดือนมกราคม 2563

เริ่มก่อสร้างบ้านหลังแรกที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  ในเดือนมกราคม 2563   โดยมีพลเอกประยุทธ์  จัทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธียกเสาเอก   ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร  หลังจากนั้นการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรและการก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ก็มีความคืบหน้าเป็นลำดับ

ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2566) การก่อสร้างบ้านมั่นคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 14 ชุมชน  รวม 1,318 ครัวเรือน  ก่อสร้างแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 924 ครัวเรือน  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป  ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง  โดย กทม.ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความคืบหน้าของโครงการรวม 26%

9

บ้านใหม่  ชุมชนใหม่ริมคลองเปรมฯ  สร้างเสร็จแล้ว 14 ชุมชน 924 ครัวเรือน มีสันเขื่อนเป็นทางเดินและขี่จักรยานเลียบคลองได้

 สุพิชญา สร้อยคำ  ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่่นคงเปรมประชาสมบููรณ์ จำกัด  บอกว่า  ชุมชนเดิมมีสภาพเป็นสลัม  ชาวบ้านสร้างบ้านรุกลงไปในคลอง  บ้านเรือนทรุดโทรม  เพราะอยู่กันมานานหลายสิบปี   เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านเพราะอยากจะมีบ้านใหม่  มีชีวิตที่ดีขึ้น  จึงเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  รวมทั้งหมด 123 ครอบครัว  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ค่าก่อสร้างประมาณหลังละ 495,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 2,900 บาท  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณรวมทั้งหมด 19 ล้านบาทเศษ  และให้สินเชื่อสร้างบ้าน  รวม 53 ล้านบาท

“คนจนๆ  ไม่มีรายได้ประจำ  ถ้าเราจะไปกู้ธนาคารเพื่อจะสร้างบ้าน  คงไม่มีธนาคารที่ไหนจะให้กู้แน่ๆ  ต้องขอขอบคุณ พอช.และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยให้ชาวชุมชนคลองเปรมฯ มีที่อยู่อาศัยที่ถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  มั่นคง  ไม่ต้องกลัวถูกไล่รื้ออีกต่อไป”   แกนนำบ้านมั่นคงบอก

ไม่นานหลังจากนี้  คลองเปรมประชากรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  ทรงมีพระราชดำริให้ขุดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2413  ล่วงมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 150 ปี  ผ่านแผ่นดินมาแล้ว  6 รัชสมัย  และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา  ขณะนี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่   เพื่อให้ลำคลองกลับคืนความสมบูรณ์  ใสสะอาด  ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  สามารถเชื่อมโยงการเดินทาง  ทั้งทางรถยนต์  รถรางไฟฟ้า  ทางเรือ และจักรยาน เพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวชุมชนได้

สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า  “จะให้ราษฎรได้ความเย็นใจ  ราษฎรชายหญิง  ทั้งคฤหัฐ บรรพชิต  ลูกค้าวานิชและต่างภาษา  ค้าขายขึ้นล่องคลองนี้โดยสะดวกทุกท่าน”

10
ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นำโดยนายจุติ  ไกรฤกษ์ (ที่ 5 จากซ้าย) ร่วมกิจกรรมศิลปะที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร  เมื่อเร็วๆ นี้

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ