ฝ้ายคำ หาญณรงค์ คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
รายงานจากเวที Climate Action Zone
ศูนย์วัฒนธรรม Cenquatre ประเทศฝรั่งเศส
12 พ.ย. 2558
[1]
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 หรือ COP21 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 โดยผู้นำจาก 150 กว่าประเทศทั่วโลก เดินทางมาเปิดประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยการประกาศเจตนารมย์ยืนยันเป้าหมายเดิมที่ตกลงกันไว้ว่าจะ “สร้างข้อตกลงใหม่” เพื่อหยุดโลกร้อนไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการเจรจาของภาคประชาชนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะสิ้นสุดในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ หลังมีการขยายเวลาการพูดคุยออกมาอีกหนึ่งวัน กลับพบว่า การเจรจาไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นสำคัญที่สุด ที่ควรจะตกลงกันให้ได้ว่าแต่ละประเทศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เพื่อหยุดยั้งวิกฤติ
[2]
เพราะเริ่มตั้งต้นด้วยการที่แต่ละประเทศ มีเป้าหมายที่เรียกว่า INDCs หรือเจตจำนงค์ที่จะลดการปล่อยก๊าซภายในปี 2030 มาแล้ว …
ทั้งนี้ มีการคำนวนจากทางสหประชาชาติว่า แม้ทุกประเทศจะทำตามที่ประกาศเจตจำนงค์ไปแล้วทั้งหมด โลกก็ยังคงเดินหน้าร้อนขึ้น 2.75 – 3.9 องศาเซลเซียส
ซึ่งหมายถึง ‘เกินจุด 2 องศา’ ซึ่งระบบต่างๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเกินจุดที่มนุษย์จะปรับตัวรับได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หมายถึงประเทศหมู่เกาะหลายประเทศจะจมน้ำทะเลไปแล้ว และแม้ว่าในระหว่างการเจรจาจะมีการพยายามเพิ่มเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าในเชิงนามธรรม แต่สิ่งที่อยู่ในร่างข้อตกลงก็ยังไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายได้
[3]
สำหรับความคืบหน้าของ ร่างข้อตกลงล่าสุด ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ mitigation มีแนวโน้มอย่างแน่นอนว่า จะไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าทั่วโลกต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายเองตามความสมัครใจ และจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย (หมายถึง หากทำไม่ได้ตามเป้าก็ไม่มีบทลงโทษ)
ประเด็นนี้ ภาคประชาชนวิเคราะห์ว่าเป็นหัวใจสำคัญที่แสดงความล้มเหลวของกระบวนการ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change)
ยิ่งไปกว่านั้น มีการผลักดันคำว่า ‘net-zero emission’ หรือการลดการปล่อยแบบหักลบแล้วเหลือศูนย์ในข้อตกลง โดยภาคประชาชนมองว่า จะทำให้แต่ละประเทศสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ไม่ต้องลดการปล่อยก๊าเรือนกระจกเองทั้งหมด โดยสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกใหม่ที่ใช้คำกำกวมว่า “กลไกสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน mechanism to support sustainable development” ซึ่งกลไกตลาดคาร์บอนใหม่นี้ จะรวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
[4]
อีกประเด็นสำคัญของการเจรจาในครั้งนี้ คือหลักการความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง หรือ CBDR (Common But Differentiated Responsibilities) ซึ่งอยู่ในอนุสัญญา UNFCCC ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องมีความรับผิดชอบมากกว่า ในการลดการปล่อยก๊าซ และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยี
ประเด็นนี้เป็นความขัดแย้งในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในการเจรจาครั้งนี้ มีความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะไม่ให้มีข้อความเกี่ยวกับหลักการ CBDR นี้อยู่ในข้อตกลงปารีส ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญอีกประการที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งและภาคประชาชนแสดงความไม่พอใจ
[5]
2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักความแตกต่าง ที่มีผลต่อการเจรจา คือ
ประเด็นแรก การเงิน หรือ finance เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ’ และช่วยในเรื่องปรับตัว เป็นประเด็นที่มีการเจรจาเข้มข้นที่สุดประเด็นหนึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้จะมีการประกาศเป้าหมายเพื่อรวบรวมเงินให้ได้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะต้องรวบรวมให้ได้ภายในระยะเวลาเท่าใด และเงินนั้นจะมาจากไหน โดยตามเจตนารมย์เดิม ควรต้องเป็นเงินที่ประเทศพัฒนาแล้ว ให้ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒา แต่ในการเจรจาที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าทุกคนต้องช่วยกันหา และเงินอาจมาจาก ‘ตลาดคาร์บอน’ ซึ่งมีความผันผวนสูงด้วย
ทั้งนี้ จำนวนเงิน 1 แสนล้านเหรียญ ยังต่ำกว่าจำนวนเงินที่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ประเมินว่าทั่วโลกต้องใช้เฉพาะในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเกิดขึ้นแน่ๆ แล้ว
ประเด็นที่ 2 คือ การชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน (loss and damage) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา พยายามผลักดัน ไม่ยอมให้มีการเขียนถึงความรับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีส่วนทำให้โลกร้อนในอดีต และผลักดันให้ไม่รวม “ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ” เข้าไปในบทนี้ด้วย
สร้างความไม่พอใจกับภาคประชาชนอย่างยิ่ง เนื่องจาก ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้วในรูปแบบของภัยธรรมชาติต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงและความถี่ขึ้น
[6]
ทั้งหมดนี้ คือบทวิเคราะห์ของภาคประชาชน ว่าผลของการประชุม COP21 และข้อตกลงปารีสที่กำลังเกิดขึ้น
“การประชุมแบบนี้เหมือน นิยายวิทยาศาสตร์ เพราะเรากำลังเผชิญปัญหาที่ใหญ่มาก ต่อชีวิตมนุษย์ ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก แต่พวกที่อยู่ในที่ประชุม กลับสร้างภาษาแปลกๆ เครื่องมือแปลกๆ เพื่อทำเงิน”
เอมิลิอาโน เทราน มันโทวานิ (Emiliano Teran Mantovani) ผู้ประสานงาน OilWatch Venezuela สะท้อนเสียงนักกิจกรรมรุ่นใหม่จำนวนมากที่มารวมตัวกันอยู่ที่นี่
เมื่อถามถึงความหวังของการแก้ปัญหาโลกร้อน ปาโบล โซลอน (Pablo Solon) นักการฑูตและอดีตตัวแทนคณะเจรจาของประเทศโบลิเวีย กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าทางออกของโลกร้อนจะมาจากการประชุม COP นั่นเป็นภาพลวงตา ทางออกจะเกิดจากกลุ่มทางสังคมต่างๆ สิ่งที่ภาคประชาชนจะทำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา อาหาร การทำลายป่า พลังงาน สู้กับเขื่อนขนาดใหญ่ สู้กับโครงการปล่อยมลพิษในทุกที่
“ทางเลือกเดียวที่เรามี และความหวังเดียวที่เรามี คือสิ่งที่ประชาชนและประชาสังคมโลกจะทำต่อไป” ปาโบล โซลอน กล่าว
[7]
เมื่อข้อตกลงปารีสจะไม่สามารถช่วยหยุดโลกร้อน ให้ไม่ให้เกินจุดที่มนุษยชาติต้องการอย่างแน่นอน
ภาคประชาชนจากทั่วโลกที่รวมตัวกันหลายพันคนในกรุงปารีสขณะนี้ จึงนัดหมายกันเดินขบวน และจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รอบๆ เมืองตลอดทั้งวันเสาร์ที่ 12 เพื่อส่งสัญญาณว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนจะต้องไม่จบที่นักการเมืองและการประชุมของ UN เท่านั้น แต่จะต้องสู้กันต่อไปด้วยมือของประชาชน