เมื่อคาร์บอนเครดิตอาจไม่ช่วยลดโลกร้อน แถมชุมชนเสี่ยงเสียสิทธิจากป่าชายเลน

เมื่อคาร์บอนเครดิตอาจไม่ช่วยลดโลกร้อน แถมชุมชนเสี่ยงเสียสิทธิจากป่าชายเลน

ภาพโดย : ชัยวัณฏ์ เหมรักษ์

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ณ มูลนิธิอันดามัน มีการจัดเวที “คาร์บอนเครดิต กู้วิกฤตโลกร้อนจริงไหม ? ชุมชน ได้-เสีย อะไร ?” จัดโดย ศูนย์สร้างจิตสํานึกนิเวศวิทยา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิภาคใต้สีเขียว และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มีผู้เข้าร่วมจำนวน 120 คน จาก 6 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล กระบี่ พังงา ระนอง และ สุราษฏร์ธานี

วิทยากรประกอบด้วย ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา นำเสนอหัวข้อ ‘การเมืองของคาร์บอนเครดิต’ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ นำเสนอหัวข้อ ‘คาร์บอนเครดิต ใครได้ ใครเสีย ?’ รวมถึง ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน และ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย ชวนคิดชวนคุยในประเด็นคาร์บอนเครดิตกับชุมชน

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า “ในปีนี้อุณหภูมิโลกสูงสุด เพราะอุตสาหกรรมฟอสซิลยังคงโตขึ้น นั่นหมายความว่าข้อตกลงต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไร้ผล IPCC ประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดล้วนมาจากชุมชนที่ยากจน เนื่องจากพวกเขามีความสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้น้อยที่สุด การประเมินระบุว่ามีผู้คนจำนวน 3.3 ถึง 3.6 พันล้านที่อาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ในส่วนประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 7-10 ของโลก รัฐบาลและทุกภาคส่วนควรจะมาคุยกันว่าจะหาระบบหนุนเสริมการปรับตัวของคนเล็กคนน้อย คนยากจนอย่างไร”

คาร์บอนเครดิตเป็นการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทุนนิยมโลกไม่ยอมศิโรราบกับปัญหาโลกร้อน ไม่เปลี่ยนระบบให้สมดุลกับธรรมชาติ หลักคิดคาร์บอนเครดิตป่าไม้ผิดตรงที่เอาธรรมชาติเป็นเครื่องจักร เอาชุมชนเป็นแรงงานรับจ้าง ผลิตสิทธิการปล่อยคาร์บอนราคาถูกให้ทุนรายใหญ่ใช้เสริมความมั่งคั่งจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังอ้างว่าช่วยโลกช่วยชุมชนด้วย ประเทศไทยต้องเปลี่ยนภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือภาคพลังงาน การที่พลังงานฟอสซิลจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเสียหายย่อยยับ แต่เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ

ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ระบุว่า สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องโดย ในปี 2561 อยู่ที่ 21.37 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2562 อยู่ที่ 24.71 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2563 อยู่ที่ 25.76 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 34.34 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2565 ราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 107.23 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ
สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.)

“การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นมหกรรมของการฟอกเขียว”

สมบูรณ์ คำแหง

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า “การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นมหกรรมของการฟอกเขียว เป็นมหกรรมแย่งยึดทรัพยากรของพี่น้องโดยภาครัฐยกไปให้กลุ่มทุน ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อน แต่คือการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนที่ยังปล่อยมลพิษ ด้วยการสร้างกลไกการตลาด เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ใครยอมรับก็เท่ากับร่วมกันทำลายโลกใบนี้อย่างเห็นแก่ตัวที่สุด”

“ในเดือนกันยายน ปี 2565 ก่อนการประชุมเอเปค มีการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชน 17 บริษัท รอบแรก 44,712 ไร่ ในตอนนี้ทราบว่าหนึ่งในบริษัทที่ได้รับโควต้าป่าชายเลนมีการทำสัญญากับชุมชนและหน่วยงานรัฐไปแล้ว 110,948 ไร่ แล้วอีก 16 บริษัทที่เรายังไม่มีข้อมูลมีการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนไปแล้วรวมกี่แสนไร่” สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.)

“ในส่วนสัญญาคาร์บอนเครดิตระหว่างชุมชนกับบริษัทแห่งหนึ่ง พบว่าในสัญญามีการระบุว่าชุมชนได้รับทุนสนับสนุน 200,000 บาท ได้รับค่าดำเนินการ ในปีแรก 450 บาท ต่อไร่ และในปีที่ 2 ถึงปีที่ 30 จำนวน 200 บาท ต่อไร่ และได้รับส่วนแบ่งจากการขายคาร์บอนเครดิต 20% ส่วนบริษัทได้ส่วนแบ่ง 70% กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ส่วนแบ่ง 10% มีการระบุว่าบริษัทเป็นผู้ทรงสิทธิในผลงานหรือทรัพย์สินทางปัญญา หมายความว่าชุมชนไม่ได้เป็นเจ้าของป่าชุมชนอีกต่อไป หากจะดำเนินการใดต้องแจ้งบริษัทก่อน ไม่สามารถตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ได้อีก”

สมบูรณ์ คำแหง

“จากการคำนวณของกรีนพีซพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่มีการจัดสรรให้เอกชน 17 บริษัท ในรอบแรก 44,712 ไร่ มีส่วนแบ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในระยะเวลา 30 ปี ดังนี้ บริษัทได้ส่วนแบ่ง 70% เท่ากับ 1,524 ล้านบาท ชุมชนได้ส่วนแบ่ง 20% เท่ากับ 435 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ส่วนแบ่ง 10% เท่ากับ 217 ล้านบาท ชุมชนดูแลรักษาป่าชายเลนเป็นระยะเวลาหลายสิบปีจนเป็นป่าสมบูรณ์ แต่บริษัทไม่เคยปลูกป่าสักต้น การจัดสรรส่วนแบ่งคิดบนฐานคิดอะไร ในขณะที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ต้นไม้โตแล้ว สามารถนำไปขายคาร์บอนเครดิตได้เลย แบบนี้เป็นการชุบมือเปิบไหม” สมบูรณ์ คำแหง กล่าวทิ้งท้าย

ในเวทีครั้งนี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายช่วง ซึ่งตัวแทนชุมชนมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งคัดค้าน สนับสนุน และยังไม่ตัดสินใจ โดยมีความกังวลว่าชุมชนจะเสียสิทธิอย่างไรบ้าง

ตนดูแลรักษาป่าชายเลนมา 30 ปี หลังจากป่าชายเลนเสื่อมโทรมเพราะมีการสัมปทานเหมืองแร่ ได้รับรางวัลพิทักษ์ป่าและรางวัลป่าชุมชน ชุมชนประมงในพื้นที่จังหวัดพังงาได้เข้าโครงการคาร์บอนเครดิตกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก่อนทำ MOU ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกรมฯ และบริษัท 3-4 ครั้ง เขาบอกถึงข้อดีข้อเสีย ไม่ได้มัดมือชก ตนได้ถามว่าหากเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต จะมีสิทธิเหมือนป่าชุมชนไหม เขาบอกว่าสามารถหากุ้งหอยปูปลาได้ปกติ สามารถนำไม้มาทำคอกไก่ได้ สามารถใช้กฎกติกาของป่าชุมชน ชุมชนจะได้รับการสนับสนุนทุกปี ที่ผ่านมาป่าชายเลนดูดซับคาร์บอนทุกปีแต่ชุมชนไม่ได้รับการสนับสนุน

สมาน ทันยุภัก ผู้เข้าร่วมจากสมาคมชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา

การแก้ไขปัญหาโลกร้อนต้องเป็นธรรม หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกเขตอุทยานฯ ประกาศทับที่ หากตัดโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกใหม่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายข้อหาทำให้โลกร้อน แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้โลกร้อนกลับไม่ถูกเรียกค่าเสียหายอะไร ในส่วนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชายเลนตามข้อมูลที่นำเสนอ ชุมชนได้ส่วนแบ่ง 20% นั้นไม่ถูกต้อง ชุมชนดูแลรักษาป่ามานาน ต่อไปพี่น้องจะนำไม้ในป่าชายเลนมาใช้ได้ไหม สิ่งที่ถูกห้ามกับสิ่งที่ได้มามันคุ้มกันหรือไม่ บริษัทเอาคาร์บอนเครดิตจากชุมชนไปขายต่อ เขาได้กำไร เขาไม่หยุดปล่อยคาร์บอน ลดโลกร้อนไม่ได้

กันยา ปันกิติ ผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง

สรุป 4 ประเด็น จากเวที “คาร์บอนเครดิต กู้วิกฤตโลกร้อนจริงไหม ? ชุมชน ได้-เสีย อะไร?

1. เราตระหนักว่ากระบวนการคาร์บอนเครดิตไม่สามารถลดโลกร้อน และจะเพิ่มปัญหา สร้างความไม่เป็นธรรมแก่สังคม (ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบโดยตรง)

2. กระบวนการของรัฐไทยไม่มีธรรมาภิบาล สอบตก

3. เรารับรู้ว่าชุมชนท้องถิ่นที่รักษาป่าต่าง ๆ ต้องได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ

4. ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชน ในประเด็นคาร์บอนเครดิต ตลาดคาร์บอน

เนื้อหาและภาพประกอบโดย : บัณฑิตา อย่างดี

บรรณาธิการ : แลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ