“คลังเมล็ดข้าว” กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร

“คลังเมล็ดข้าว” กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร

“เมล็ดพันธุ์ข้าว” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต หากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ จะส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น และช่วยควบคุมต้นทุนการผลิตข้าวได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกข้าวราว 70 ล้านไร่ แต่กลับมีปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพมาโดยตลอด จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ปัจจุบันมีความต้องการใช้เมล็ดข้าวพันธุ์คุณภาพปีละประมาณ 1,364,800 ตัน แต่มีการผลิตได้เพียงประมาณ 537,000 ตัน หรือคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้เท่านั้น 

จากงานวิจัยการผลิตข้าวครบวงจรโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) บอกว่าการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเป็นปัญหาใหญ่ในการผลิตข้าวของประเทศไทย โดยมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 1 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ภาครัฐผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนอง

ความต้องการของเกษตรกรเพียงประมาณปีละ 100,000 ตัน แต่ที่ผ่านมาการผลิตข้าวของไทยยังดำเนิน อยู่ได้เพราะในท้องตลาดมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ซึ่งเมล็ด พันธุ์ข้าวที่ป้อนสู่ตลาดการค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำกลุ่มเกษตรกร หรือผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าสู่ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกต้องและได้มาตรฐานตามเกณฑ์กำหนด

ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของชาวนาบ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร จากเวทีศึกษาความต้องการพัฒนาในชุมชน ปี 2565 โดยโครงการวิจัยการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกรฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ทำให้เกิดกิจกรรมจิตอาสางานคุณค่าดำนากล้าเมล็ดพันธุ์ แนวคิดต่อยอดเป็นนวัตกรรม “คลังเมล็ดพันธุ์นาปีนาปรัง” โดยร่วมมือกับท้องถิ่น อบต.โพนงาม ชุมชน นักศึกษาวิศวกรสังคม และชาวบ้านดงสารมากกว่า 30 คน ลงแขกดำนาที่แปลงสาธิตของพี่เลี้ยง ในวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2566

“เมื่อปี 2565 ความต้องการของชุมชนครั้งแรกไม่มีอะไรเป็นพิเศษแค่อยากทานข้าวนุ่ม ๆ จากผลผลิตนาปรังแค่นี้เอง ดูเหมือนง่ายนะแค่หาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมาให้ แต่โชคชะตากำหนดให้ทุ่งพันขันมีความซับซ้อนของนิเวศน์ย่อยเล็กน้อย มีพื้นที่ลุ่มและที่กึ่งดอนสลับกันไปมา เกษตรกรจึงใช้เมล็ดพันธุ์ไม่เหมือนกัน ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะสั้น 3 เดือนขาดตลาด ซึ่งเป็นความท้าท้ายสำหรับนักวิจัยมาก”

อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการต่อยอดจัดกิจกรรมเพื่อทางออกร่วมกับชุมชนนำไปสู่แปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวนำร่อง 15 ไร่ เกิดกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีการคัดพันธุ์และเมล็ดที่เหมาะสม ด้วยแนวคิด Pro-Poor Value chain คือ การจัดการห่วงโซ่คุณค่าเกื้อกูลคนจน กล่าวคือการนำครัวเรือนยากจน 25 ครัวเรือน เข้าสู่ระบบการผลิตข้าวโดยมีพี่เลี้ยง

“ปี 2566 ได้รับทุนวิจัยต่อเนื่อง สังเกตเห็นว่าชาวบ้านดงสารโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินทั้งนาปีและนาปรัง จะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้หมุนเวียนจากนาปีไปทำนาปรัง และการแลกเปลี่ยนหรือหยิบยืมเมล็ดพันธุ์กันซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน เกิดแนวคิดต่อยอดเป็นนวัตกรรมคลังเมล็ดพันธุ์นาปีนาปรัง”

ในวันจัดกิจกรรมมีแปลงสาธิตมีทั้งหมด 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เตรียมต้นกล้าไว้ประมาณ 800 มัด คาดการณ์ว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 3,500 กิโลกรัม คลอบคลุมเกษตรกรทำนาปรังประมาณ 1,000 ไร่ หรือมากกว่า 50 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอกับเนื้อที่ทุ่งพันขัน 4,625 ไร่ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นการเกษตร เตรียมพลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมแนะนำเกษตรกรทำนาข้าวแบบประณีตจะได้ผลผลิตมากกว่า 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากเคยทำโครงการเหล่านี้และสำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้วที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นย้ำให้รักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นถิ่น

ด้านวิศวกรสังคมจิตอาสา แจ้งว่า ในทีมมีอยู่ 2 คนที่ไม่เคยทำนาเลย ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าการทำนาที่บ้านเปลี่ยนเป็นหว่านเกือบทั้งหมดนานแล้วที่ไม่ค่อยได้ดำนา รู้สึกว่าลำบากและเหนื่อยแต่ในขณะลงมือปักดำได้พูดคุยกันฟังเรื่องเล่าของแต่ละคนก็สนุกไปอีกแบบ ได้ความรู้ใหม่ เช่น การทำนาข้าวประณีต เทคนิคการดำนาพื้นที่โนน พื้นที่ลุ่ม พื้นที่นาทาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศบ้าน ๆ แบบโฮมสเตย์ สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงควาย บางบ้านมีมากถึง 70 – 100 ตัว ที่สำคัญน้อง ๆ นักศึกษาได้บริการวิชาการให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมายกับชาวบ้านอีกด้วย

ข้อดีของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร เป็นรูปแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาโดยเกษตรกร ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยการพัฒนากระบวนการผลิต มีการรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของแหล่งผลิต และมีการประชาสัมพันธ์แหล่งเมล็ดพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มโอกาสการกระจาย เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ดีในท้องถิ่น ลดต้นทุน ผลผลิตคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสรุปการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร มีข้อดีดังนี้

1) รูปแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกรเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลน เมล็ดพันธุ์ของชุมชนได้

2) สร้างประโยชน์ให้กลุ่มผู้ผลิตโดยเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์แทน การจำหน่ายข้าวเปลือก

3) มีแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์อยู่ในชุมชน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อเมล็ดพันธุ์

4) ส่งผลดีต่อการผลิตข้าวของเกษตรกรโดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากฤดูที่ผ่านมา

5) คุณภาพของข้าวเปลือกดีขึ้นมีพันธุ์ปนลดลง

6) มีแนวโน้มที่เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ของตนเองไว้ใช้ในฤดูถัดไปเพิ่มมากขึ้น

7) เกษตรกรที่ใช้เมล็ดพันธุ์มีความเชื่อมั่นในแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ในชุมชนมากขึ้นเนื่องจาก เห็นขั้นตอนการผลิตและมีเครื่องหมายรับรองอย่างชัดเจน

ที่มา : จากงานวิจัยการผลิตข้าวครบวงจรโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ขอบคุณภาพและข้อมูล

บทความ จิตอาสางานคุณค่าดำนากล้าเมล็ดพันธุ์ข้าว สู่ทุ่งพันขันกว้างไกล 4,000 ไร่

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thecitizen.plus/node/83056

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ