อยู่ดีมีแฮง : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กับพันธุกรรมพื้นบ้านจากหัวไร่ปลายนา

อยู่ดีมีแฮง : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กับพันธุกรรมพื้นบ้านจากหัวไร่ปลายนา

        

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านปี 2565 ณ จังหวัดมหาสารคาม ในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ณ บ้านสวนซุมเเซง จังหวัดมหาสารคาม อนึ่ง ภายในงานวันแรก 6 มิถุนายน 2565 มีหลากประเด็นน่าสนใจที่ทั้งนักวิชาการ เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตร หยิบยกมาพูดคุย โดยวิทยากรผู้เข้าร่วมวงเสวนาได้แก่: 

  • คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (ผอ.กนย.) กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.): แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของประเทศไทย
  • ดร.อัศมน  ลิ่มสกุล  ผอ.กลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม: ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับภาคเกษตร และแผนปรับตัวภาคเกษตรของประเทศไทย(ปัญหา ข้อจำกัดและโอกาส)
  • ดร. กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา: โลกร้อน กับเศรษฐกิจ สงคราม และความมั่นคงทางอาหาร    

นิยามของ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ นั้นไม่ใช่เพียงเรื่องโลกร้อนอย่างเดียว แต่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภาพกว้าง อาทิ การเพิ่มขึ้น/ลดลงของปริมาณน้ำฝน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ และในภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนและทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบสู่สภาพความเป็นอยู่ของประชากร

ในบริบทของประเทศไทย ความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนปริมาณฝนอาจมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งความผันผวนเหล่านี้ส่งผลให้การจัดการปริมาณน้ำฝนในภาคเกษตรยากขึ้นมาก ทั้งในส่วนของภัยแล้งในภาคอีสานที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาน้ำล้นน้ำท่วมปี 57-61 ซึ่งมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบกว่า 5 ล้านไร่ ส่วนภาคใต้เองก็เกิดน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบกับสวนยางพารา ทำให้เกิดโรคระบาดและคุณภาพของน้ำยางพาราลดลง

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของไทยในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 วิธีการหลัก คือ 1.ลดสาเหตุต้นทาง อาทิ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือการลดการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนมากเป็นเป้าหมายความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 2. สนับสนุนการปรับตัวของประชากร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและลดปัจจัยเชิงลบในระดับปัจเจก—ปัจจุบันในประเทศไทย ภาคอีสานมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งและฝนตกนอกฤดูกาล 

เกษตรกรควรปรับตัวอย่างไร? ข้อเสนอในเรื่องนี้วงเสวนาย่อยออกมาเป็น 7 ข้อด้วยกัน คือ 1.จัดทำปฏิทินการเพาะปลูก 2.ใช้ข้อมูลสภาพอากาศมาประกอบการวางแผนการเพาะปลูก เช่น แผนที่ข้อมูลความเสี่ยง 3.ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การใช้โดรนในการเกษตร เพื่อลดระยะเวลาและลดต้นทุนที่ต้องใช้ในพื้นที่เกษตร 4.พยายามกระจายความเสี่ยง อาทิ การใช้ระบบประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 5.การทำเกษตรยั่งยืนอย่างเป็นองค์รวม 6.การบำรุงดินเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรดินและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจทำให้พืชอ่อนแอ  7.สื่อสารกับตลาดให้ตระหนักถึงต้นทุนที่ภาคเกษตรใช้ไปในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจและการสนับสนุนจากผู้บริโภคในระยะยาว

นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรที่น่าสนใจในหลากมุมมอง อาทิ

  • เกษตรกรจากจังหวัดสกลนคร—กล่าวว่า ฝนตกไม่ตามฤดูกาล ทำให้การทำนายากขึ้น ถ้าตกแล้วไม่มีแดดการทำเกษตรก็ไม่ดี การปรับตัวทำได้อย่างเดียวคือรอดินฟ้าอากาศ รอน้ำลดแล้วค่อยปักดำ  
  • เกษตรกรจากจังหวัดร้อยเอ็ด—ฝนตกก็ตกหนัก พอแล้งก็แล้งหนัก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมพื้นบ้านชัดเจน อาทิ ข้าวก่ำก็สีไม่ก่ำดำเหมือนเดิม การปรับตัวคือต้องคัดสายพันธุ์ให้ดีขึ้น 
  • เกษตรกรจากจังหวัดยโสธร—มีผลกระทบชัดเจน สภาวะอากาศแปรปรวนทำให้ไม่รู้จะปรับตัวอย่างไร เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน ทำให้วางแผนการเพาะปลูกไม่ถูก 
  • เกษตรกรจากจังหวัดฉะเชิงเทรา—ปกติจะเก็บพันธุ์ข้าวให้พอดีกับแต่ละฤดูกาล แต่พอฝนตกเยอะทำให้นาเสียหาย ทำให้ต้องหว่านหลายรอบ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บในระยะแรกปรับตัวไม่ได้เลย ไม่รู้จะต้องทำยังไงกันดี ปัจจุบันพยายามเก็บพันธุ์ที่ทนร้อนทนแล้งมากขึ้น และมองว่าการปลูกพืชให้หลากหลาย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง และพันธุ์พื้นบ้านก็มีความทนต่อสภาพอากาศอยู่แล้ว

กล่าวโดยสรุปคือ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง อาจต้องคิดเป็นระยะสั้นและระยะยาว และสาเหตุใหญ่ที่สุดของโลกร้อน มีจุดเริ่มต้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากยุโรป ที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานถ่านหิน ฟอสซิลมากขึ้น และปัจจุบันก๊าซเรือนกระจก 70 เปอร์เซ็นต์ปล่อยมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งนั้น เครือข่ายเกษตรกรทางเลือกควรนำองค์ความรู้เรื่องการปรับตัวไปขยายผลกับกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เพราะการปรับตัวด้วยวิธีและเครื่องมือต่าง ๆ ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าเหมาะต่อการนำไปพัฒนาต่อ สุดท้ายภาควิชาการและเกษตรกรต้องร่วมมือการทำงาน เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุด 

ช่วงบ่ายในหัวข้อเสวนา: สถานการณ์ข้าวกับชาวนาในภาวะวิกฤต

  • พ่อวัล ชาวนานักปรับปรุงพันธุ์พยายามเอาความต้องการของท้องถิ่นมาผสมกับสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาทิ ข้าวเหนียวแดงที่ปลูกด้วยระยะเวลาที่สั้นลง
  • แม่สมัย แกนนำกลุ่มข้าวหอมดอกฮัง จังหวัดสกลนคร เริ่มจากการรวมกลุ่มในชุมชนสร้างแปลงอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า 300 สายพันธุ์ และมีเป้าหมายเพื่อรักษาป่าชุมชนไปพร้อมกัน โดยวางกรอบให้ทำนาแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และทำงานกับนักวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และเอกลักษณ์ของกลุ่มคือทำนาดำ ที่ได้ผลผลิตเยอะ และทำนาแบบโบราณ ต้นทุนการผลิตน้อยมาก แต่ราคาข้าวดี มีข้าวเหลือกิน และเอาข้าวที่เหลือขายมาเพิ่มมูลค่า ทำผลิตภัณฑ์แชมพูข้าว สบู่ข้าว ทั้งนี้ทำไปพร้อมกับการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจเรื่องราวเบื้องหลังการผลิต ทำให้เกิดแบรนด์ของข้าวหอมดอกฮังที่ผู้บริโภคไว้ใจในคุณภาพ
  • มูลนิธิข้าวขวัญ—ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยได้ออกแบบการปลูกข้าวให้สอดคล้องกับแรงงานและภูมินิเวศอยู่แต่เดิม อาทิ ข้าวเบา ข้าวหนัก หรือข้าวนาน้ำท่วม ที่เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้นสูงสุดได้ถึง 6 เมตร ซึ่งเหมาะกับที่ลุ่มน้ำท่วมขัง และจากการศึกษาของมูลนิธิข้าวขวัญคือ ข้าวแม่โพสพ หมายถึงข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ดูแลง่าย มีแต่ให้ผลผลิต ส่วนข้าวพันธุ์ผสมที่นำข้าวพื้นเมืองไปผสมกับข้าวต่างถิ่น นับเป็น ‘ข้าวแม่เลี้ยง’ ซึ่งต้องการการดูแลมากกว่า
  • กลุ่มอารยะฟาร์ม—ใจความในการพัฒนาคือต้องทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้จากการขายข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำการตลาดให้ข้าวเข้าถึงตลาด รวมถึงทำระบบบัญชีที่โปร่งใสและเข้าใจง่าย กล่าวคือ ทำยังไงให้ต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างของกลุ่มแปรเป็นเงินให้ได้ อาทิ ทำแป้งข้าวพื้นบ้าน ผงชงธัญพืชที่มีส่วนผสมเป็นข้าว เพื่อหล่อเลี้ยงกลุ่มให้ยืนระยะได้อย่างยั่งยืน 
  • อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง—ฟื้นคืนข้าวพันธุ์พื้นบ้านของนครชัยศรี ด้วยการทำวิจัยหาสายพันธุ์ข้าวโบราณมาคัดพันธุ์ แต่มันมีข้อควรระวังอยู่มาก อาทิ ระยะเวลาในการปลูกหรือภูมินิเวศที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายรัฐต้องเข้าใจบริบทภาคเกษตรอย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นชาวนาก็จะก้าวข้ามระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรปลอดภัยไม่ได้ และเราต้องตรวจสอบการใช้ทรัพยากรของรัฐว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ และตอบโจทย์การพัฒนาในภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน 

กล่าวโดยสรุปคือ สภาพความเป็นจริงของชาวนาไทยในบริบทปัจจุบัน เราไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจข้าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยได้ นโยบายเกี่ยวกับการเกษตรจึงต้องสนับสนุนในมิติการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย โดยเฉพาะการทำวิจัยเรื่องข้าวอย่างเป็นระบบนั้นจำเป็นมาก เราต้องหลุดจากตลาดข้าวคุณภาพต่ำหรือข้าวแข็ง ไปสู่การเป็นข้าวคุณภาพ หรือข้าวนุ่ม และสนับสนุนให้เป็นข้าวกระแสหลัก

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ