เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 เวลา 09.00 น. นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในชุมชน เมืองสัตหีบ โดยมี พ.จ.อ.เสนี่ย เกตุสำราญ ประธานกลุ่มคนพิการ เทศบาล เมืองสัตหีบ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมทั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสัตหีบ และกลุ่มคนพิการเทศบาลเมืองสัตหีบ ให้การต้อนรับ ณ วัดพระแม่ลูกประคำ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
เทศบาลเมืองสัตหีบ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีบทบาทหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในชุมชน เพื่อให้คนพิการได้รับการดูแลและเข้าถึงสวัสดิการของหน่วยงานอย่างครบถ้วน จำนวนคนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีบัตรประจำตัวคนพิการ ในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบ มีจำนวน 207 คน และผู้ดูแลคนพิการอีก 80 คน รวม 287 คน และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่มีความพิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวมากที่สุด ต้องการความช่วยเหลือทั้งด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เทศบาลจึงได้กำหนดเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะพัฒนาและช่วยเหลือผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และวันนี้ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวธนารี ฟุ้งภิญโญภาพ หรือ นุ้ย ตีสิบ ที่อุตส่าห์สละเวลามาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนพิการเทศบาลเมือง สัตหีบอีกด้วย
น้องนุ้ยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะนิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ โดยใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนเพียง 3 ปีครึ่ง เพราะเธอเชื่อมั่นว่า “ถ้ามีความรู้ ย่อมมีโอกาสได้งานที่ดีทำ”
ดูภายนอกน้องนุ้ยอาจจะไม่สมบูรณ์พร้อม แต่เขาก็ยังใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป สรุปว่าบุตร-หลานของท่านจะพิการหรือไม่พิการอยู่ที่ว่าการเลี้ยงดูเป็นสิ่ง สำคัญ ถึงแม้พ่อแม่นุ้ยจะเลิกกันตั้งแต่เล็ก นุ้ยอยู่กับพ่อ และพ่อพยายามเลี้ยงดูเขาให้เหมือนคนปกติทั่วไป มีคนบางคนถามว่าทำไมไม่เอานุ้ยไปทิ้งไว้ที่สถานสงเคราะห์ แต่พ่อก็ไม่ทำ พ่อมองว่าโตขึ้นนุ้ยจะไม่ได้เป็นภาระของใคร พ่อจะสอนนุ้ยเสมอว่าลูกพิการแต่ตัวแต่ไม่ได้พิการใจ คนที่มองลูกด้วยสายตาดูถูกต่างหากที่เค้า “พิการที่ใจ” นุ้ยยังเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่ได้ทำตัวเป็นภาระของใคร พ่อจึงมีความภาคภูมิใจในความสามารถของลูก พ่อสอนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า และพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่มีสิ่งไหนในโลกใบนี้ถ้าหากเพียรพยายามอย่างเต็มกำลังแล้ว จะทำไม่ได้ แม้ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ เวลา และการทุ่มเทมากกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่า พันเท่า แต่เมื่อถึงความสำเร็จ รางวัลก็จะมากกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่าพันเท่าเช่นกัน
คุณพ่อเคยพาน้องนุ้ยไปใส่แขนขาเทียมที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไปพบคุณหมอท่านหนึ่งท่านบอกว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ที่กายอุปกรณ์ แต่เป็นที่จิตใจ ทำอย่างไรให้น้องนุ้ยเป็นที่ยอมรับในสายตาของทุกคนได้ โดยที่น้องนุ้ยไม่รู้สึกว่าเค้าแปลกกว่าคนอื่น นั่นคือสิ่งสำคัญ และกายอุปกรณ์มันมีระยะเวลา อาจต้องเปลี่ยนการทำกายภาพทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งตรงนั้นพ่อไม่มีเวลาพาเขาไปเข้าคอร์สแบบนั้นตลอด เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน มันไม่ไฮเทคเหมือนสมัยนี้ คุณหมอจึงแนะนำว่าให้ธรรมชาติช่วยเหลือก็แล้วกัน ถึงวันนั้นเค้าคงไม่ต้องการกายอุปกรณ์ที่ทำให้นี้ไปก็ได้ ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่คุณหมอแนะนำ พอหลังจากนั้นพ่อก็พาเขาไปทุก ๆ ที่ที่มีคนเยอะ ๆ และบอกเขาเสมอว่าไม่ต้องไปอาย ไม่ต้องไปแคร์ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้ไปขอข้าวใครกิน และเราก็เป็นคนปกติเหมือนคนอื่นทั่วไป
ทุกวันนี้ นุ้ย ก็ใช้ชีวิตปกติเฉกเช่นคนทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น การเขียนหนังสือ พิมพ์คอมพิวเตอร์ ชงกาแฟ แปรงฟัน กินข้าว แต่งหน้า ทาแป้ง หรือแม้แต่สอยเข็ม คือเรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้กายอุปรณ์อะไรใด ๆ ช่วย แถม นุ้ย ยังเป็นคนรักสวยรักงาม อารมณ์ดี สดใส ร่าเริง ไม่เคยคิดว่าความพิการของตัวเองคือปมด้อย และทำให้ชีวิตมัวหมอง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เธอก้าวออกไปเผชิญโลกภายนอกได้อย่างเต็มภาคภูมิใจ
กำลังใจที่สำคัญของคนพิการ มาจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นหลัก คือพ่อแม่ต้องมีกำลังใจเข้มแข็งมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของคน สายตา พ่อแม่ไม่ต้องไปกลัวสายตาใคร ไม่ต้องไปแคร์เสียงใคร น้องนุ้ยเชื่อมั่นว่าสังคมไทยมีความรักความเมตตาให้กันอยู่แล้ว อาจจะมีบ้างที่คนมองเราไม่ดีก็ปล่อยเค้าไป เค้ารังเกียจก็ปล่อยเค้าไป แต่ตัวเราต้องเข้มแข็ง รวมไปถึงพ่อแม่และคนพิการเองควรพาตัวเองออกไปสู่สังคมภายนอก อย่าหลบลี้สังคมหรือให้การเลี้ยงดูบุตรที่พิการแบบเก็บอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้เจอใครเลย และถ้าเขาหมดพ่อ,แม่แล้วล่ะ เขาจะอยู่อย่างไร เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เค้าต้องออกไปเผชิญเค้าจะรู้สึกอย่างไร เค้าอาจจะรู้สึกว่าเค้าแตกต่าง และที่สำคัญอีกอย่างคือสุขภาพจิต น้องนุ้ยจึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการหลาย ๆ คน ให้ยืนหยัดด้วยความสามารถของตัวเอง เพราะนุ้ยเชื่อว่า “ความพิการทางร่างกายมิได้เป็นอุปสรรคกับชีวิตเรา
และนี่คือเรื่องราวดี ๆ ของชีวิต ที่ธรรมชาติไม่ได้ประทานความสมบูรณ์พร้อมมาให้ แต่เขากลับไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของตัวเอง… หวังว่าการพูดคุยกันครั้งนี้ จะทำให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ มีกำลังใจ กำลังสติปัญญา และไม่ปล่อยวิถีชีวิตไปตามยถากรรมในอนาคต