จากแถลงการณ์ของ แอมเนสตี้ฯ กรณีการหายตัวของบิลลี่ หกเดือนผ่านไป ยังไม่ทราบชะตากรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
หลังจากการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคตะวันตกของไทย ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลของไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทางการเร่งสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ เพื่อให้รู้ชะตากรรมและที่อยู่ของบิลลี่โดยด่วน และยังกระตุ้นให้ทางการใช้มาตรการจำเป็นทุกประการ เพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบิลลี่มาลงโทษ
คาดการณ์ว่าบิลลี่ นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง อาจถูกทำให้หายตัวไป เนื่องจากพยายามใช้ขั้นตอนทางหลักฐานเพื่อให้หน่วยงานราชการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
แน่นอนว่าตามหลักของกฎหมาย การบังคับบุคคลให้สูญหาย(ทำให้หายตัวไป) เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน และเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยร่วมลงนามกับอีกหลายประเทศไว้ และยังทำให้ครอบครัวของผู้สูญหายตกเป็นเหยื่อ ที่ต้องเฝ้ารอคนที่รักกลับคืนมา
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 มีผู้พบเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้าย ขณะที่เขาถูกควบคุมตัวโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานอีก 3 คน บิลลี่ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางจากหมู่บ้านไปพบกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการบังคับไล่รื้อและการเผาบ้านเรือนรวมถึงทรัพย์สิน โดยชุมชนกะเหรี่ยงเตรียมฟ้องคดีต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งบิลลี่ก็ได้พกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีติดตัวไปด้วย ทั้งฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยง ที่เตรียมยื่นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลังจากการหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอยของบิลลี่ผ่านมา ในเดือนตุลาคม พนักงานสอบสวนประกาศว่าค้นพบรอยเลือดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ อยู่ในรถของเจ้าหน้าที่อุทยาน จากการทดสอบเบื้องต้นคาดว่าเป็นของผู้ชาย
แต่อุทยานแห่งชาติให้เหตุผลว่า บิลลี่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันแล้ว หลังจากถูกสอบสวนกรณีครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่กลับไม่มีบันทึกการจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งกรณีของบิลลี่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ที่มักตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ขัดขวางการดำเนินงานของรัฐ หน่วยงานหรือองค์กรบางแห่งอย่างสันติวิธีเพื่อคุ้มครองชุมชนของตน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงขอกระตุ้นทางการไทยอีกครั้งเพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะหยุดวงจรการลอยนวลแล้วพ้นผิดในไทย กรณีที่มีผู้ทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและให้คุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบุคคลที่ปกป้องสิทธิเหล่านี้ด้วย
จากข้อมูลพื้นฐาน ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนมกราคม 2555 และแสดงท่าทีว่าจะมีการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา แต่ยังมีบุคคลจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดเพชรบุรี มีพรมแดนติดกับพม่า ที่ชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน
ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบยังรวมถึงคุณปู่อายุ 100 ปีของบิลลี่ นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัครสส. และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องสิทธิของชุมชน ได้ถูกสังหารระหว่างขับรถตอนกลางคืนในเดือนกันยายน 2554 โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า และเขาเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ นายทัศน์กมลซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของบิลลี่ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงในการแจ้งความว่าโดนทำร้าย และเจ้าหน้าที่ตัดไม้เถื่อนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ศาลจังหวัดเพชรบุรีจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ในช่วงปลายเดือน
ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมในชุมชนของไทย หลายคนเป็นชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชนบทหรือกึ่งชนบท ซึ่งต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำให้เกิดผลกระทบต่างๆในชุมชน ถูกสังหารจนเสียชีวิต และผู้จ้างวานฆ่ามักจะไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษ ส่วนสมาชิกในชุมชนรวมทั้งผู้นำมักตกเป็นเหยื่อการคุกคามและการทำร้ายหรือการข่มขู่ในอีกหลายรูปแบบ